ชีวิตที่พอเพียง 3715. ประธาน ผู้ทำหน้าที่ท้าทาย



ใน high-functioning classroom (1) ระบุหน้าที่ครูว่า ต้องทำหน้าที่ท้าทาย (challenge)   ไม่ใช่ทำหน้าที่นำ (guide)

ผมจึงได้ความคิดว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของที่ประชุมคือทำหน้าที่ “ผู้ท้าทาย” (challenger) ให้ที่ประชุมร่วมกันทำความเข้าใจตัวความสำเร็จที่ต้องการในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    รวมไปถึงทำความเข้าใจยุทธศาสตร์และมาตรการที่ใช้ ว่ามีความเหมาะสมเพียงไร    ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามย่อยลงไปว่า วิธีปฏิบัติงานที่ใช้กันอยู่ ควรมีการปรับปรุงอย่างไรบ้าง   

ผมหมั่นฝึกฝนตนเองให้ทำหน้าที่ประธานที่เป็น “ผู้ไม่รู้”    ไม่ใช่ “ผู้รู้”     เมื่อเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ครู    ที่ต้องทำหน้าที่ท้าทายศิษย์    ผมจึงคิดต่อว่า แล้วทักษะในการทำหน้าที่ท้าทายเป็นอย่างไร   

ค้นได้หนังสือ Challenging Coaching : Going Beyond Traditional Coaching to Face the FACTS น่าสนใจมาก    สาระหลักเป็นการทำหน้าที่ โค้ช แนวใหม่ ที่เขาตั้งชื่อว่า FACTS Approach    FACTS เป็นคำย่อ มาจาก Feedback, Accountability, Courageous Goals, Tension, และ Systems Thinking    คือท้าทายด้วย FACTS       

ที่จริงหนังสือเล่มนี้เน้นเสนอการปฏิรูปวิชาชีพด้านโค้ชชิ่ง    จาก traditional coaching สู่ FACTS Approach   

เขาบอกว่า โค้ชชิ่งแนวอนุรักษ์นิยม เน้นการให้การสนับสนุน (support) ด้วยการฟังอย่างมีส่วนร่วม (active listening) และการตั้งคำถามที่ทรงพลัง (powerful questioning)    เน้นช่วยเหลือหรือสนับสนุน ให้บุคคลที่มารับบริการได้ค้นพบทางออกด้วยตนเอง    โดยมีฐานมาจากศาสตร์ด้าน psychotherapy ดั้งเดิม

บัดนี้ จิตบำบัดก้าวหน้าไปไกล    แต่โค้ชชิ่งยังยึดโยงอยู่กับจิตบำบัดแบบดั้งเดิม    ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้รับบริการเป็นตัวของตัวเอง  

FACTS-based coaching เน้นความสมดุลระหว่าง support กับ challenge   คือทั้งส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง  และท้าทายให้หลุดจากตัวตนเดิม สู่สภาพใหม่    โดยใช้พลังของการกำหนดเป้าหมาย คือ ตัว C (Challenging Goal) ใน FACTS    เน้นการท้าทายให้ออกมาจาก comfort zone ของตน    

โค้ชชิ่งแนวดั้งเดิม เน้นการสนทนาอยู่ใน comfortable zone   ที่เรียกว่า zone of comfortable debate    แต่โค้ชชิ่งแนว FACTS เน้นการสนทนาใน ZOUD (zone of uncomfortable debate) โดยไม่ทำลายปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างโค้ชกับผู้รับบริการ    ที่ผมเรียกว่า constructive disagreement … ไม่เห็นพ้องอย่างสร้างสรรค์    ที่ผมอยากแปลง ZOUD zone of uncomfortable dialogue    เน้นที่การเสวนา ไม่ใช่เน้นความไม่เห็นพ้อง    และมองความไม่เห็นพ้องเป็นเส้นทางสู่การค้นพบชุดความคิดใหม่ หรือเป้าหมายใหม่

ที่จริงหนังสือเล่มนี้อธิบายแต่ละตัวของ FACTS อีกมากมาย    แต่ผมขอย้อนกลับไปที่การทำหน้าที่ประธานการประชุมแนวท้าทาย    ที่จริงๆ แล้วทำไม่ยาก    ด้วยคำถามว่า ท่านใดมีความเห็นที่แตกต่างไปจากความเห็นที่มีผู้เสนอแล้วบ้าง     อาจแตกต่างเล็กน้อย หรือแตกต่างระดับขั้วตรงกันข้ามก็ได้    เพราะการประชุมช่วงนี้อยู้ใน creativity mode    ยังไม่ถึงช่วงสรุปสู่แนวทางหรือยุทธศาสตร์การดำเนินการ         

   ประธานผู้ทำหน้าที่ท้าทาย   ทำหน้าที่ท้าทายที่ประชุมให้แสวงหา หรือเคลื่อนสู่ ชุดความคิดใหม่ๆ ที่ไม่ย่ำอยู่กับแนวคิดเดิมๆ    คือทำหน้าที่กระตุ้นการเรียนรู้ระดับ second- หรือ third-loop learning ในที่ประชุม

วิจารณ์ พานิช  

๑ มิ.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677910เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2020 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2020 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท