"Self Talk" เรียนรู้ร่วมคิด e.p.7- มองการเปลี่ยนผ่าน ความเสี่ยง และโอกาสในการกำหนดทิศทางสู่ New normal


เกริ่นนำ :

บันทึกนี้ เป็นบันทึกที่ผมเขียนเป็น Reflection ในแบบ "Self Talk" หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียนรู้ร่วมคิด e.p.7- มองการเปลี่ยนผ่าน ความเสี่ยง และโอกาสในการกำหนดทิศทางสู่ New normal ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้สนทนากับคุณอุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง ใครสนใจดูคลิปนี้ได้ทาง Youtube นะครับ ที่ 

;feature=youtu.be&fbclid=IwAR0enFmF4Lhj55oq5xoArqoCeQdVQHpHFv9aXegaO5qiLlJkTY9QzDynip0

Self Talk Reunion e.p.7
มองการเปลี่ยนผ่าน ความเสี่ยง และโอกาสในการกำหนดทิศทางสู่ New Normal

19.25 น. 4 มิ.ย.63

ดูคลิปจบ คั่นเวลาสูดหายใจลึกๆนิ่งๆสักหนึ่งนาที หยิบกับแกล้มปลาหมึกย่างน้ำจิ้มสามรสมาวางข้างๆคอม พร้อม “Fullmoon” ที่ค้างจากเมื่อคืนก่อนครึ่งขวด วันนี้อยากดื่มอะไรหวานๆเย็นๆบ้าง

ฝนทิ้งช่วงหลายวัน พลบค่ำอย่างตอนนี้ ฟ้าครืนๆ อากาศในบ้านปูนนี่ร้อนอบอ้าวจริงๆ แต่อีกเดี๋ยวฝนคงลงเม็ดให้สรรพสิ่งเบิกบาน
ใจเราล่องลอยไปถึงเห็ดเผาะที่น่าจะออกตามมา คิดแล้วต่อมน้ำลายทำงาน ก่อนแว้บกลับเข้ามาจดจ่ออยู่หน้าคอม

Self Talk ตอนนี้เร็วหน่อย เพราะอยากทำเวลาไปฟันดาบข้างนอก อากาศปลอดโปร่งคงฟันได้สนุก ถ้าพิมพ์เสร็จเร็วก็จะได้ไปฟันทันก่อนฝนตก

---------------------------------------------------------------------------------

คลิปนี้ เป็นคลิปที่พูดเรื่อง New Normal ต่อจาก e.p.6 แต่ลงรายละเอียดได้ชัดลุ่มลึกขึ้น คือกลับไปที่สภาวะของการรับรู้ และบริบทของการสร้างรวมถึงการใช้คำ ซึ่งตรงนี้น้อยคนนักจะให้ความสนใจตระหนัก เพราะคนส่วนใหญ่มอง New Normal ในระดับ Event มากกว่า รองลงมาก็เป็น Pattern , Structure

แต่วันนี้อาจารย์กับอุ๊พูดถึงระดับ Mental Model เลย ซึ่งเป็น System thinking in Action เลยนะ แถมเอามิติประวัติศาสตร์มา Cross เข้าไปอีก อันนี้คือกระบวนการที่ใช้ให้เราเห็นจริงเลยนะเนี่ย ไม่รู้ใครเห็นรึเปล่า

คือ เราไม่ได้ดูแต่เนื้อหาน่ะ เนื้อหานี่พออ่านได้ แต่กระบวนการนี่อ่านยาก ต้องจับสังเกตและมีหลักคิดพื้นฐานถึงจะอ่านออก แถมใจต้องนิ่งพอและมีศรัทธา

ดูไป ก็จดไปนะครับ ไม่ได้นั่งฟังตาแป๋ว วันนี้คุย New Normal ก็จริงแต่ก็ได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์สากลมาเยอะพอควร รอบนี้อาจารย์กับอุ๊คุยเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็น New Normal e.p.1 , e.p.2, ……. มาเรื่อยๆ เออ มันไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มันเกิดในเวลาและบริบทที่ต่าง คำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้จะเรียกอะไรก็ตาม แต่ถ้าดูสภาวการณ์มันก็คล้ายคลึงกัน อันนี้ดี

อาจารย์ให้หลักว่าต้องมองให้ลึกคือมองย้อนกาลเวลา และมองให้กว้างคือ มองให้ไกลให้เห็นความเชื่อมโยงของบ้านเรากับนานาประเทศที่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

อาจารย์ถามอุ๊ในนาทีที่ 12 ของคลิปว่า รู้สึกยังไงกับคำๆนี้ New Normal อุ๊ก็ตอบได้โอเคครับ แต่การถามของอาจารย์ มันก็ย้อนกลับมาถามตัวเราด้วยว่า เออ แล้วเรารู้สึกยังไงหว่า?

ถ้าเป็นคำตอบก่อนดูคลิป e.p.1-7 ก็มองว่ามันเป็นโอกาสของคนที่จะใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ หรืออาจจะทำร้ายทำลายผู้อื่นก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าใครเข้าถึง “New Normal” ได้มากกว่า คือยังมองอยู่ว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงาน ระบบเศรษฐกิจของผู้คนทุกระดับ

แต่พอได้ฟังคลิปต่างๆเรื่อยมา ทำให้รู้ว่า “การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมต้องมีหลายอย่างที่ต้องแลก” เข้าใจเลยว่า ทำไมอาจารย์ถึงย้ำนักหนาให้เราฝึกฝนภายใน การสร้าง “ตาใน” และสภาวะผู้นำ ที่ไม่รีบกระโจนงับปัญหา ไม่วิ่งวนอยู่กับวิธีคิดเดิมๆที่หยาบกระด้างและไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ที่รังแต่จะลดทอนชีวิตจิตใจ สังคม ร่างกายของตัวเราเอง

หากแต่เมื่อวิกฤตมา เราจะสามารถนิ่งพอที่จะจับจังหวะแห่งโอกาสและใช้มันเป็น อย่างที่คาร์ลอส คาสตาเนด้า ว่าไว้

“เราจึงต้องสร้างระบบที่ทนมือทนตีน” ประโยคนี้ อาจารย์พูดได้แซ่บ ผมหยุด pause คลิป แล้วรีบหยิบปลาหมึกน้ำจิ้มสามรสเข้าปากเพื่อให้ Harmony กัน
“เราจึงต้องสร้างระบบที่ทนมือทนตีน ที่ทานทนกับความเสี่ยงสารพัดจากโลกที่มาหาเรา”
เอ้อ ดีที่อาจารย์ไม่พูดว่า “จะสร้างคนที่ทนมือทนตีน”
ได้ยินอย่างนั้น อุ๊คงร้อง “อุ๊ แม่จ้าวว !!!”

--------------------------------------------------------------------------------

อีกช่วงที่สองคน อุ๊กับอาจารย์ คุยกันได้ออกรส คือ Ecology as Infrastructure

อืมม... ไม่เคยคิดมาก่อนว่า เราจะใช้สองคำนี้มาสานกันได้ เพราะทางฝั่งเทคโนโลยีครองนิยามของ Infrastructure

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การมองว่า หิ่งห้อย ก็เป็น infrastructure ได้เท่านั้น แต่ประเด็นคือ อาจารย์ชี้ให้เห็นเป็นนัยยะว่า อย่าไปติดกับดักของคำ และอย่ายอมจำนนกับการผูกขาดนิยามของใคร โดยเฉพาะถ้าใครคนนั้นมองไม่เห็นสิ่งมีชีวิต

ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเป็นมนุษย์ หรือหิ่งห้อย... ก็ไม่ควรถูกมองข้าม

-----------------------------------------------------------------------------------
ก่อนจากกัน ตอนท้ายอาจารย์ได้เน้นย้ำเรื่องของ การปรับตัวที่เราอยากใช้คำว่า “นักรบผู้เริงร่า” ในยุค New Normal e.p…… (เท่าไรไม่รู้ รู้ว่ามันมีหลายครั้งตั้งแต่มีมนุษย์เกิดมาแล้ว)

นักรบผู้เริงร่า ผู้ มีความกล้าหาญ เปี่ยมสติ เบิกบาน และ ใจบุญ (generosity ตามคำแปลของพระอาจารย์อมโรภิกขุ)
สำคัญคือ ความนอบน้อม
ที่เราคิดว่า นับวันจะยิ่งสำคัญมาก ล่าสุด การจลาจลและความรุนแรงที่ลุกลามในสหรัฐอเมริกากรณี จอร์จ ฟรอยด์ เป็นบทเรียนที่กระทบใจเราได้ดี

นี่ถ้าทรัมป์ หรือผู้นำประเทศต่างๆ ถึงจะไม่ฉลาดได้ในทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็มีท่าทีที่นอบน้อม หลายเรื่องที่รุนแรงคงจะไม่เกิด

ภาวนาให้จบด้วยดี และโลกรวมถึงผู้นำในบ้านเราได้เรียนรู้ที่จะอ่อนน้อมต่อประชาชน และความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ในมาตุภูมิแห่งนี้

ขอบคุณที่อาจารย์กับอุ๊จุดประกายฝันเรื่องการจัดให้มีพื้นที่พบปะกันในหมู่พวกเรา และผู้คนในเมืองไทย มาคุย มาโลเหล่ ล้อมวง “เรียน รู้ ร่วม คิด” ถึง New Normal ใน Local Context

ขอให้ฝันนั้นเป็นจริงในเร็ววันนี้นะครับ

20.35 น.
หมายเลขบันทึก: 677863เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2020 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2020 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท