ชีวิตที่พอเพียง 3700. เล่าไว้ในวัยสนธยา 20. รอยทางเดิน



ชื่อบันทึกนี้แวบเข้ามาระหว่างเดินไปซื้อปัตตาเลี่ยนตัดผมที่ร้าน DIY ข้างบ้าน    รอยคนเดินผ่านสนามหญ้าข้างหมู่บ้านสะกิดให้ผมนึกถึงชีวิตสมัยเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลตำบลท่ายาง ๑    ที่ตั้งอยู่ติดกับ วัดโบสถ์    โดยหากเดินไปจากบ้านผมถึงวัดก่อน ชื่อเป็นทางการของวัดโบสถ์คือวัดพิชัยยาราม    ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะวัดนี้สร้างโดยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สมัยรัชกาลที่ ๒   เพราะเป็นสถานที่ตั้งกองทัพที่รบชนะข้าศึกพม่าที่ยกมาตี (๑)    เวลานี้โรงเรียนแรกของผมเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัดพิชัยยาราม    น้องสะใภ้คนหนึ่งของผมเคยเป็นครูสอนที่นี่ ได้เกษียณราชการนานแล้ว     เวลานี้ลูกสาวคนหนึ่งของเธอกำลังเป็นครูสอนตามรอยแม่      

   ผมเดินไปกลับโรงเรียนทุกวัน วันละ ๒ เที่ยว    เพราะตอนเที่ยงเดินกลับมากินข้าวบ้านแล้วจึงกลับไปเรียนตอนบ่าย    ชีวิตเด็กบ้านนอกสุขสบายกว่าเด็กกรุงที่ต้องตื่นก่อนสว่าง พ่อแม่รีบพาออกจากบ้าน ไปกินข้าวเช้าบนรถ     เพื่อเลี่ยงรถติด    การกลับมากินข้าวที่บ้านก็เพื่อกินอาหารร้อนๆ อร่อยๆ ฝีมือแม่    และช่วยให้โภชนาการดี    เพราะแม่เอาใจใส่เรื่องอาหารการกินของลูกมาก   แต่ตอนเป็นเด็กผมเป็นเด็กผอมกระหร่อง     เวลาชั่วโมงพละ ครูให้ออกไปเรียนกายบริหารกลางแจ้ง ลมพัดมาเพื่อนๆ ล้อว่า “อ้ายจาน มึงอย่าลอยไปตามลมนะ”    จนอายุ ๑๕ มาเรียนที่กรุงเทพก็ยังผอมกระหร่องอยู่    แต่พอเริ่มเป็นหนุ่ม อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รูปร่างผมสูงใหญ่และสันทัด    เพื่อนเก่ามาพบบอกว่า เดี๋ยวนี้มึง “อยู่ชับ”  เป็นภาษาถิ่นใต้แปลว่าทะมัดทะแมง  

เมื่อกว่าเจ็ดสิบปีก่อน โรงเรียนเข้าเวลา ๙.๐๐ น. ออกจากบ้านเวลา ๘.๔๕ น. ก็ทัน    เพราะเดินไปเพียงประมาณ ๔๐๐ เมตรเท่านั้น    โดยเดินไปบนทางเท้าริมถนน    โดยที่ถนนโรยลูกรัง และทางเท้าเป็นหญ้า กว้าง ๑ - ๒ เมตร    เมื่อมีคนเดินเหยียบย่ำไปๆ มาๆ ก็เกิดรอยทางเดินอย่างในรูป  

แม่กำชับแล้วกำชับอีก ว่าให้เดินริมถนน    ห้ามขึ้นไปเดินบนถนนเด็ดขาด    เพราะมีรถยนต์ที่ขับเร็ว    และมีอุบัติเหตุรถชนคนตายบ่อยๆ    ขับเร็วสมัยนั้นก็คงจะราวๆ ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง    เพราะถนนไม่ดี    ยิ่งหน้าฝนยิ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ    และเราคนเดินเท้าต้องหาจังหวะหลบตรงที่ไม่มีหลุมที่น้ำขัง    เพื่อจะได้ไม่โดนน้ำกระเด็นโดนเสื้อกางเกง เป็นสีลูกรัง     ซึ่งก็หลบไม่พ้นไปเสียทั้งหมด    พวกเรานักเรียนบ้านนอกจึงสวมเสื้อขาวลายสีลูกรังกันแทบทุกคน   ผ้าขาวโดนสีลูกรังซักสีออกได้ไม่หมดนะครับ    ยิ่งสมัยนั้นซักผ้าด้วยสบู่กรดยิ่งซักสีลูกรังไม่ออก  

เมื่อเดินนอกถนนตรงที่เป็นไหล่ทาง ซึ่งมีหญ้าขึ้นและเจ้าหน้าที่มาตัดเป็นครั้งคราว    ก็เกิดรอยทางเดินขึ้น    หากฝนไม่ตกก็เดินตามรอยนั้นได้สบาย    แต่หากฝนตกรอยทางเดินที่บุ๋มลงไปก็มีน้ำขัง เดินไม่ได้    ต้องเดินข้างๆ อย่างระมัดระวัง    ผมเข้าใจว่าผมได้ฝึกสมาธิจากชีวิตแบบนี้ด้วย

แม้น้ำไม่ขัง เมื่อฝนตกหญ้าก็งอกงาม    สารพัดชนิดของหญ้า    ตัวร้ายมี ๒ อย่างคือ “หญ้างับ” กับหญ้าเจ้าชู้    หญ้าเจ้าชู้คนรู้จักกันดี ไม่ต้องอธิบาย    แต่ “หญ้างับ” เป็นชื่อในภาษาถิ่น ชื่อในภาษากลางคือไมยราบ    ตอนเดินไปโรงเรียนผมต้องระวังหญ้าสองชนิดนี้    โดยเฉพาะ “หญ้างับ” ต้องอย่าไปเหยียบเข้า เพราะมันมีหนาม    และเราเดินไปโรงเรียนด้วยเท้าเปล่า    หากเหยียบและโดนหนามแทงจะเจ็บมาก     ส่วนหญ้าเจ้าชู้ ต้นสูงและมีดอก เดินไปโดนดอกจะติดกางเกงเมื่อครูดกับเนื่อจะรู้สึกระคาย     ยิ่งตอนโตแล้วและแต่งชุดลูกเสือ สวมถุงเท้ายาว ดอกหญ้เจ้าชู้ชอบติดมาก            

  เวลาเดินเราจะมองหาหญ้าตีไก่ (๒)  ที่มีส่วนคล้ายหัวไก่เอามาตีกันเล่น    ผลัดกันตี ของใครขาดก็แพ้    เด็กสมัยนั้นต้องหาของเล่นเองนะครับ    ไม่มีให้ซื้อ หรือจริงๆ แล้วไม่มีสตางค์ซื้อ   

ถัดจากไหล่ทางเป็นคูน้ำริมถนน    ถัดจากคูน้ำเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นรก    ก่อนถึงคูน้ำมีไม้พุ่มเตี้ยๆ ขึ้น    ที่ดาษดื่นมี ๓ อย่างคือ ผกากรอง    ต้นสาบเสือ    และต้นโคลงเคลง    สองชนิดแรกคงไม่ต้องอธิบาย    ชนิดหลังเดี๋ยวนี้กลายเป็นไม้ประดับ    แต่สมัยผมเป็นเด็กเป็นไม้ป่า และของกินเล่นสำหรับเด็กที่ไม่ค่อยมีอะไรกิน    ส่วนที่กินคือลูกของมัน (๓) รสเปรี้ยว หวาน ปนฝาด    กินแล้วปากเป็นสีม่วงเข้ม   เป็นการกินเอาสนุกมากกว่าเพื่ออิ่ม

ที่จริงรอยทางเดินอย่างในรูปที่ผมเดินมากกว่าทางเดินริมถนนคือรอยทางเดินบนหัวคันนา     หลังบ้านผม เดินไปเพียง ๒๐ เมตรเป็นนา    เป็นทุ่งนากว้างใหญ่ไปจนจรดชายทะเล    ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร   มีที่ดอนสลับเป็นช่วงๆ  บนที่ดอนมีบ้านคนด้วย    เรียกกันตามชื่อเจ้าของบ้าน เช่น ดอนตา...   ดอนยาย ...     ส่วนที่เป็นของพ่อน่าจะราวๆ ๑๐ ไร่เท่านั้น    แต่เราก็ได้ออกไปเดินเล่น  ช้อนปลากัด  ปลากริม กุ้งนา  ทงเบ็ด  จมลัน (จับปลาไหล)  เก็บผักบุ้ง  เก็บรังนกกระจาบ  ฯลฯ กันอย่างสนุกสนาน    หัวคันนานี้กว้างเพียงราวๆ ครึ่งเมตรเท่านั้น    เวลาเดินต้องตั้งสติให้ดี    มิฉะนั้นจะตกคันนา    ซึ่งผมก็ตกจนชำนาญ      

จากรอยทางเดิน นำมาสู่รอยความจำ    ทำให้ได้ระลึกถึงชีวิตที่มีความสุขสมัยเป็นเด็กบ้านนอก    เอามาเล่าไว้เพราะเด็กสมัยนี้ไม่มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตแบบนี้แล้ว    และลิ้งค์เรื่องประวัติตำบลท่ายาง (๑) ที่เพิ่งค้นพบจากการเขียนบันทึกนี้ น่าจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง    

วิจารณ์ พานิช

๑ พ.ค. ๖๓



หมายเลขบันทึก: 677581เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2020 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2020 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งนึกออก ว่าหญ้าริมทางเดินที่พบบ่อยสมัยเด็กคือ หญ้าตีนกา ที่ไม่ก่อปัญหาอะไร ต่อการเดิน จึงเผลอลืมไปวิจารณ์ พานิช๑๔ มิ.ย. ๖๓

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท