The Great Influenza กับบทเรียนสำหรับกรณีไข้หวัดนก


ศูนย์กลางของความสนใจของผู้เขียน อยู่ที่พฤติกรรมของคน

ฟ้าครับ

 

ผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนใจอยากเรียนรู้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1918 ในปีนั้นเกิดไข้หวัดใหญ่ระบาดไปทั่วโลก คนล้มตายไปประมาณ 50-100 ล้านคนในคราวเดียว เรียกกันว่า Spanish flu pandemic

การระบาดใหญ่ครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากสเปน แต่เป็นด้วยโลกอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวสารทั้งในอเมริกาและยุโรป บังเอิญสเปนเป็นประเทศที่เป็นกลาง จึงรายงานข่าวอันน่าตกใจที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ได้โดยเสรี จนถึงทุกวันนี้ยังมีหลายคนที่รู้จักชื่อของการระบาดครั้งนั้น และเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่สเปน

แหล่งเริ่มต้นของไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งนั้น มีผู้เสนอไว้หลายทฤษฎี บ้างก็ว่าเกิดในจีน บ้างก็อังกฤษ มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่กระทำในภายหลัง และสรุปตรงกันว่า หลักฐานที่ดีที่สุดบ่งบอกว่า บ่อเกิดของการระบาดคือเมือง Haskell ในมลรัฐ Kansas ของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ทำให้การระบาดครั้งนั้นเลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็นคือสงคราม  ในเวลานั้นอเมริกาเพิ่งจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกขอให้ส่งทหารไปช่วยรบที่ฝรั่งเศส ไข้หวัดใหญ่ที่เริ่มระบาด เมื่อเข้าไปอยู่ที่หน่วยทหารที่แออัดยัดเยียดอยู่แล้ว ก็ถูก "ส่งออก" ต่อไปยังยุโรป...

ผู้เขียนคือ John M. Barry ใช้เวลาถึงเจ็ดปี รวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ในอดีตเมื่อศตวรรษที่แล้ว ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าอ่านมาก เห็นได้ชัดว่า งานชิ้นนี้มาจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ละเอียดดียิ่ง เป็นวิถีปฏิบัติของนักเขียนเรื่องทำนองนี้ ที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง ผมใช้เวลาและความอดทน กว่าจะอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่หนาถึง 546 หน้า และตัวหนังสือก็ค่อนข้างเล็ก

แม้จะเป็นเรื่องราวที่มีรายละเอียดมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ชวนอ่าน ขนาดที่บางช่วงบางตอนถึงกับวางไม่ลง โดยเฉพาะตอนท้าย ๆ นั่นก็คือ ศูนย์กลางของความสนใจของผู้เขียน อยู่ที่พฤติกรรมของคนครับ

คนที่เขาพูดถึงมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย ที่ทุ่มเทความพยายามอย่างหนัก มีทั้งที่ถูกทิศทางและผิดทิศทาง (เนื่องจากส่วนใหญ่สมัยนั้น เชื่อกันว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus Influenzae) และชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตของเขาเหล่านั้น นอกจากนี้ Barry ยังทำให้เราเห็นการก่อเกิดของสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น ซึ่งก่อนนั้นล้าหลังอยู่มาก มาจนมีการตั้งมหาิวิทยาลัยอย่าง John Hopkins และ Rockefeller ที่มีบทบาทระดับนำในการวิจัยทางการแพทย์ มาจนถึงทุกวันนี้

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง คือผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี Woodrow Wilson ที่นำประเทศเข้าสู่สงคราม จนถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับมลรัฐหรือเมือง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นหรือความตายของคนเรือนพันเรือนหมื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดของคนเหล่านั้น 

นโยบายปิดข่าวเพื่อรักษาความมั่นใจ กลายเป็นจุดผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด ทำให้การเตรียมตัวป้องกันล่วงหน้า (ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะสู้กับไข้หวัดใหญ่ได้ดีที่สุด แม้ในปัจจุบันนี้) ถูกละเลยไป

นโยบายปลุกระดมความรักชาติในช่วงสงคราม และให้ความสำคัญกับการทหาร ("ประเทศชาติย่อมมาก่อน") ทำให้มีการส่งทหารที่ติดเชื้อ กระจายออกไปยังต่างประเทศ เกิดการล้มตายเป็นจำนวนล้าน พยาบาลที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ก็ถูกดึงตัวไปอยู่ในค่ายทหาร และส่วนใหญ่เสียชีวิตกันก่อนที่จะมีโอกาสได้ออกมาช่วยพลเรือน...

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างใหม่ ในตอนท้ายมีบทที่เขียนเพิ่มเติมขึ้นมาในการตีพิมพ์ครั้งนี้ (ฉบับของสำนักพิมพ์ Penguin) ว่าด้วยเรื่องไข้หวัดนกด้วย ผมคิดว่า อย่างน้อยอ่านบทนี้บทเดียวก็คุ้มแ้ล้วด้วยซ้ำ เพราะเป็นการทบทวนถึงบทเรียนราคาแสนแพงในอดีต และวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน บทเรียนนี้ยังถูกละเลยอยู่เลยครับ

The Great Influenza เป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ อยากแนะนำให้อ่านครับ

 

หมายเลขบันทึก: 67685เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท