ฝ่าวิกฤติCOVID-19ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง


ฝ่าวิกฤติCOVID-19ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

11 เมษายน 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก [1]

ในที่สุด ครม.เห็นชอบประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ [2] แล้ว ตามเจตนารมณ์ประกาศก่อนหน้าว่า “สุขภาพนำเสรีภาพ” [3] และยกระดับฐานะวิกกฤตครั้งนี้เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข” (Public Health Emergency) [4] แกะรอยเส้นทางโควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มีไทม์ไลน์สำคัญ [5] คือ

31 ธันวาคม 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 เมื่อ 7 มกราคม 2563 WHO ประกาศพบการระบาดของไวรัสชนิดใหม่จากเชื้อไวรัสประเภทไวรัสโคโรนา หรือ 2019-nCoV (โควิด-19) เมื่อ 13 มกราคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกดินแดนจีน ที่ประเทศไทย เมื่อ 11 มีนาคม 2563 ผู้นำจีนประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น [6] จีนใช้เวลาคุมโรคนี้อยู่ประมาณ 3 เดือน มาดูต่อกันว่าไทยจะทำได้อย่างจีนหรือไม่

หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9

โดยการประยุกต์ใช้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในด้านต่าง ๆ ทั้ง (1) ด้านจิตใจ (2) ด้านสังคม (3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (4) ด้านเทคโนโลยี สรุป 13 ข้อ [7] (ต่อมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล สรุปรวมแยกย่อย 23 ข้อ) [8] คือ

(1) คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา (1.1) ระเบิดจากข้างใน (1.2) ปลูกจิตสำนึก (1.3) เน้นให้พึ่งตนเองได้ (2) ปฏิบัติอย่างพอเพียง (2.1) คำนึงถึงภูมิสังคม (2.2) ทำตามลำดับขั้น (2.3) ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด™ (2.4) บริการที่จุดเดียว (2.5) แก้ปัญหาจากจุดเล็ก (2.6) ไม่ติดตำรา (2.7) ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ (2.8) การมีส่วนร่วม และ (3) เป้าหมายคือสังคมพอเพียง (3.1) รู้รัก สามัคคี (3.2) มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่

เศรษฐกิจพอเพียงสู้วิกฤติโควิด-19

เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำลายสุขภาพมนุษย์จนถึงขั้นตาย แต่ยังทำลายเศรษฐกิจในประเทศด้วย สถานการณ์เช่นนี้เหมือนการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) [9] หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลันรุนแรง เมื่อ 17 ปีก่อน หรือ ใน “ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก” จากวิกฤตซับไพร์ม (หนี้เสีย) เมื่อปี พ.ศ. 2540 [10]ผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องชดเชยจ่ายเงินค่าตกงานให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ [11] เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แม้กระทั่งประเทศไทย [12] เป็นต้น

ในส่วนของการดำเนินชีวิตของประชาชนมีการพูดถึง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” [13]หรือ “ศาสตร์พระราชา” [14]ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เพราะ เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ด้วยหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ “เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม” [15]

เศรษฐกิจพอเพียง พออยู่พอกิน อย่าใช้ชีวิตติดหรู จะอยู่ได้อีกนาน ที่พูดมาแก้ง่ายมากก็ใช้ชีวิตแบบพอเพียงให้เป็นสิ ในหลวงท่านสอนไว้ให้อยู่อย่างพอเพียงแล้วจะอยู่รอดปลอดภัย ต้องกินต้องอยู่อย่างพอเพียงอย่างที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เคยสอนไว้ “คนไทยจะจนจะรวย จะอยู่ที่ประเทศไทยหรือจะอยู่ต่างประเทศควรอยู่กินอย่างพอเพียง” เราต้องพึ่งพาตนเอง พาตัวเองออกจากความกลัว ตั้งสติแล้วหาหนทาง ปฏิบัติให้เราอยู่รอดปลอดภัย และพอเพียงตามกำลังฐานะ และมีความรักสามัคคี ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นหนทางที่ดี เป็นกุศลจิตที่เป็นบุญกุศลในอีกสถานหนึ่ง

ศึกโควิดครั้งนี้ชาวบ้านต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพราะ ณ เวลานี้เรายังไม่รู้ว่าปัญหาโรคระบาดจะยืดเยื้อยาวนานอีกสักเท่าใด รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงจะยังคงตั้งอยู่ในประเทศเราอีกยาวนานเพียงใด แม้หลังการระบาดโรคหยุดแล้วก็ตาม คนยากจนที่ต้องไม่ถูกฝึกให้เสพติดการรับเงินแจก เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ รัฐบาลจะถังแตกไม่มีจะแจกสักวันก็ได้  ชุมชนจะอยู่อย่างไร ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ฯลฯ ที่จะตามมา หากเราไม่วางแผนให้ดี มัวแต่ไม่รับผิดชอบ ไม่ร่วมรักสามัคคีพร้อมใจการสู้ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง กินพอเพียง และ ใช้พอเพียง เท่าที่จำเป็นและประหยัดเศรษฐกิจพอเพียงคือคำตอบให้คนไทยอยู่รอดในช่วงวิกฤตนี้

ตัวอย่างการบริหารจังหวัดจัดการตนเอง

วิกฤตการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของ “การบริหารจังหวัดจัดการตนเอง” [16] ในแต่ละพื้นที่ตามบริบทของจังหวัด (เมือง) ที่แตกต่างกันไป เมืองใหญ่ เมืองเล็ก เมืองชายแดน เมืองเศรษฐกิจ เมืองปริมณฑล ฯลฯ ที่มีมาตรการการควบคุมป้องกันการระบาดของเชื้อโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่มีความอ่อนเข้มของมาตรการอย่างเหมาะสม ทำให้นึกไปถึง “กระจายอำนาจการตัดสินใจการกระจายทรัพยากร” ไปในแต่ละจังหวัด เพราะมี 76 จังหวัดที่มีวิธีรับมือกับโรคระบาดต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น การปิดหมู่บ้าน การใช้มาตรการสังคม การปรับคนไม่สวมแมสค์ การห้ามเคลื่อนย้ายประชากร (เข้าออก) ฯลฯ ทุกมาตรการล้วนคำนึงถึงผลสำเร็จ และเป็นการบูรณาการระดมสรรพกำลังทั้งองค์กร ทีมตำบล ทีมอำเภอ ทีมจังหวัด ส่วนที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ “การจัดการชุมชนโดยชุมชนของตนเอง” โดยเฉพาะความเข็มแข็งของ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” (อสม.) เหนือสิ่งอื่นใด ชุมชนใดมีต้นทุนทางสังคม ทรัพยากรมากย่อมรับมือภัยพิบัติได้อย่างพร้อมและรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่า “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9” ยังเป็นรากฐานของการพัฒนา และยังมีภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้ สังคมอยู่รอด ไม่ล่มสลายเหมือนสังคมเมือง หากกิจการร้านค้าฯปิด ขาดเงิน ขาดอาหาร ขาดปัจจัย 4 แต่พื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงยังทำให้ชุมชนเราไม่ล้มจนลุกไม่ขึ้น และยังมีที่พักพิงได้ “ตามสอนของพ่อ” เสมอมา

มองว่าในที่นี้ศูนย์กลางการตัดสินใจ ที่ไม่ดีต่อแนวคิดสังคมประชาธิปไตย หากเป็นส่วนกลางจะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหา ที่มีความละเอียดอ่อน และความหลากหลาย หรือ ความเป็น “พหุสังคม” (Plural Society) [17] ที่มีมากซับซ้อนต่างกันทางวัฒนธรรมไปในแต่ละพื้นที่ การสั่งจากบนลงล่าง (Top Down) ไม่ใช่ยุคสมัยที่สถานการณ์เปลี่ยนเป็นรายชั่วโมงเช่นนี้ เพราะมันล่าช้า และทำให้ปัญหายิ่งทวีมากขึ้น

สุ่มส่องวิธีการแก้ไขปัญหาโควิดของ อปท.

ในภาวะวิกฤติช่วงโควิดนี้ ขอมองภาพความวุ่นวายเล็ก ๆ ในสายตาของคน อปท.สักนิด ไม่มีเจตนาว่าร้าย แต่เป็นข้อสังเกตเพื่อก่อเพื่อแก้ สถานการณ์โควิด ก่อให้เกิดการบริหารงบประมาณท้องถิ่นที่น่าสนใจในหลายแง่มุม

(1) ระเบียบที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 [18]

(2) ท้องถิ่นมีงบประมาณน้อย มีอยู่อย่างจำกัด เงินสะสมหรือเงินที่ตั้งจ่าย งบกลางสำรองจ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้นมีน้อยแตกต่างกันไปตามสถานะการคลังของ อปท. บางแห่งหมดไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะท้องถิ่นไม่เคยเจอวิกฤตเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนการเตรียมตัวเตรียมการวางแผนงบประมาณส่วนนี้จึงไม่มี เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่สั่งให้ท้องถิ่นสามารถใช้เงินสะสมเป็นระยะๆ เมื่อเห็นว่าท้องถิ่นยังมีเงินในกระเป๋าของตนเองพอควร จึงทำให้ใช้งบประมาณตามนโยบายแบบสุด ๆ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตต้องใช้เงินช่วยเหลือประชาชนจึงไม่มีเงินพอใช้ เพราะขาดวินัยการเงินไม่เคยต้องระมัดระวังในการเบิกจ่ายมาก่อน

(3) ความไม่สมบูรณ์ครอบคลุมของระเบียบฯ ทำให้ท้องถิ่นต้องตีความหมาย อะไรเบิกจ่ายได้ไม่ได้ ที่ต้องไปอิงการเบิกจ่ายตามกระทรวงเกี่ยวข้องที่ขาดความชัดเจน อาทิ ความหมายอะไรคือโรคระบาด อะไรคือสาธารณภัย [19] หากเป็นสาธารณภัยแล้วจะช่วยเหลือได้เพียงใด หรือต้องรอ สถ. หรือ มท. แจ้งซักซ้อม

(4) ภารกิจอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่มากมาย จนขาดความชัดเจน ไม่ใช่หน้าที่แต่เคยชินกับระบบสั่งการและนโยบายของนักการเมืองทำให้ไม่ได้ตรวจสอบว่ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพียงใดหรือไม่ อปท.บางแห่งหลงทาง หลงอำนาจหน้าที่ หลงทางจากการควบคุมกำกับดูแลของ อำเภอ จังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด กลายมาเป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของตน สับสนในอำนาจที่ทับซ้อนปนเปกันในอำนาจของ “ราชการส่วนภูมิภาค” ที่มีบริบทความต้องการหรืออำนาจที่แตกต่างกัน การสั่งการของส่วนกลางหรือผู้กำกับดูแล หรือ การนั่งรอการสั่งการดังกล่าว หรือ การเซฟตัวเองของ อปท.โดยไม่ทำอะไร หรือ การจ้องมัวแต่หารือ ไม่เป็นอันทำงาน เพราะกลัวผิด ฯลฯ เหล่านี้มีพบเห็นทั่วไปใน อปท.

(5) ข้อจำกัดการรอแนวทาง รอหนังสือสั่งการจาก สถ.มท. ทำให้การพัฒนาขาดตอน ล่าช้า ไม่กล้าตัดสินใจ ไร้อิสรภาพในการทำงาน ในการตัดสินใจ เพราะประชาชนที่เดือดร้อนรอไม่ได้ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานส่วนกลางให้กระชับ การปล่อยอำนาจในการตัดสินให้ท้องถิ่นทำงาน ให้เขาดูแลชาวบ้านของเขาเอง มิใช่วางระเบียบเป็นกับดักทางตันไว้ เสี่ยงให้ อปท.เดินผิดทางได้ มิใช่การกระจายอำนาจเพราะบริบทของท้องถิ่นแต่ละแห่งย่อมแตกต่าง ไม่ได้สำเร็จรูปเป็นเสื้อโหลตามแบบที่ส่วนกลางคิดหรือออกแบบไว้ เพราะมีสิ่งที่ท่านมองไม่เห็นอยู่ การเว้นช่องว่างหรือมีบทยกเว้นบทเฉพาะกาลให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจคิด ตัดสินใจ และสั่งการ แก้ปัญหาปัญหาด้วยตัวเองจึงจำเป็น

(6) หน่วยตรวจสอบเป็นตัวจักรสำคัญทำให้การช่วยเหลือประชาชนชะงักงัน ท้องถิ่นไม่กล้าใช้อำนาจการตัดสินใจในการทำงานแก้ไขปัญหา หน่วยตรวจสอบก็จ้องเอาผลงาน อปท.บางแห่งตัดสินใจผิดพลาด หน่วยตรวจสอบไม่ละเว้น ต่างตีความหมายที่แตกต่างตามตัวอักษร ตามระเบียบ หาทางออกไม่เจอก็มี การตรวจแบบสร้างสรรค์แนะนำแก้ไขปรับปรุง หาทางออกให้แก่ท้องถิ่น ไม่ใช่หน้าที่ที่หน่วยตรวจสอบพึงมี การตีความหมายมุ่งเอาผลงานอย่างเดียว ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร ได้แต่หารือ และรอการสั่งการจาก สถ. มท. ความท้อ หมดกำลังใจ ไม่กล้าทำ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะท้องถิ่นอยากจะใช้งบประมาณบริหารประชาชนผู้เดือดร้อน

(7) ส่วนกลาง ผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายควรเร่งพิจารณาระเบียบกฎหมายในส่วนที่เกี่ยงข้อง โดยคำนึงถึงหลักการ “กระจายอำนาจ” มีใช่การกำกับดูแลแบบ “ควบคุมบังคับบัญชา” [20] เพราะ ท้องถิ่นมิใช่องค์กรภายใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ผู้กำกับดูแล อปท. และ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้รู้บทบาทอำนาจหน้าที่ของตน การลงตรวจสอบตรวจนิเทศน์งานพื้นที่เน้นสร้างสรรค์ แนะนำสร้างความเข้าใจในการเบิกจ่ายงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีมากแก่ อปท.

(8) เหนือสิ่งอื่นใด “การสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรท้องถิ่น” โดยเฉพาะฝ่ายประจำสำคัญมาก เพราะข้าราชการคือผู้นำนโยบายของฝ่ายบริหารการเมืองไปสู่การปฏิบัติ ในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิดนี้ โดยถือหลักสุจริตในการทำงานเป็นที่ตั้ง หากประชาชนได้รับการช่วยเหลือในด้านการยังชีพ เพราะตกงาน ขาดข้าวปลาอาหาร ยารักษาโรค ฯ ที่เป็นสิ่งจำเป็น หาก อปท.มีงบประมาณพอ และรู้อำนาจหน้าที่ของตนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องรอใครมาสั่ง เพราะหากดำเนินการถูกต้อง ก็ไม่ต้องเกรงกลัวใครมาตรวจสอบ มิเช่นนั้นประชาชนคงอดตายหมด     

ชาติรอดปลอดภัยฝ่าวิกฤติโควิดคือเป้าหมาย คน อปท. คงไม่ยอมแพ้วิกฤตินี้แน่นอนให้นึกถึง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามสอนของพ่อ” เข้าไว้

[1]Phachern Thammasarangkoon, Ong-art Saibutra, Watcharin Unarine & Waraporn Saengcha, Municipality Officer ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 30 วันเสาร์ที่ 11 - วันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 11 เมษายน 2563, https://siamrath.co.th/n/146078

[2]นายกฯ เผย “รัฐบาลยกโรคไวรัสโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ”, 7 เมษายน 2563, https://www.matichon.co.th/politics/news_2127585

[3]วรรคทองบิ๊กตู่ “สุขภาพนำเสรีภาพ” ที่มาของเคอร์ฟิว, 3 เมษายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/428055

[4]“ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ที่ WHO เพิ่งประกาศ คือ อะไร สำคัญอย่างไร, 31 มกราคม 2563, https://www.prachachat.net/d-life/news-416434

[5]In Focus: ถอดบทเรียนทั่วโลกรับมือ ‘โควิด-19’ข่าวต่างประเทศ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 1 เมษายน 2563, https://www.infoquest.co.th/2020/11052

[6]ผู้นำจีนประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น : วิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ, ThaiPBS, 11 มีนาคม 2563, https://www.youtube.com/watch?v=KX8rwtq8jvo

[7]ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ, เศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษา, โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง 2551, กรกฎาคม 2551, https://www.bodin.ac.th/e_eco/last_eco.pdf 

[8]“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กับศาสตร์พระราชา มายาคติใน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และหลักการทรงงานที่เรียนไม่รู้จบ, 9 ธันวาคม 2559, https://thaipublica.org/2016/12/sumet-sep-scg/ 

& เรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง 10 ประการ โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา, 13 มกราคม 2560, https://www.youtube.com/watch?v=-gDGJmeeZng 

& 23 หลักการทรงงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9, 12 ตุลาคม 2560, https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/39678.html 

& 54 พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา จาก ในหลวงรัชกาลที่ 9, 12 ตุลาคม 2560, https://campus.campus-star.com/variety/21901.html 

& ดร.สุเมธ เผยรับสั่งในหลวง รัชกาลที่ 9 สรุปคำสอน 27 ข้อ ชวนคนไทยน้อมนำปฏิบัติ, 13 ตุลาคม 2562, https://www.matichon.co.th/court-news/news_1711183  

[9]การระบาดของโรค SARS เมื่อ ค.ศ.2003 ซึ่งตอนนั้นจีนใช้เวลาไม่นานก็สามารถควบคุมการระบาดได้ และไม่ได้แพร่กระจายไปในตะวันตก ดู ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร, COVID-19 ศึกนี้ยาวนาน, 27 มีนาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872931?utm_source=slide_topnews&utm_medium=internal_referral 

[10]ดู เหตุการณ์ต้มยำกุ้งกับฟองสบู่แตก แตกต่างกันยังไง, 10 มกราคม 2559, https://pantip.com/topic/34659171

สรุป คำว่าฟองสบู่ (Bubble Crisis) ใช้เรียกภาวะเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูด้วยความบอบบาง(จากการปั่น ไม่แท้ เทียม)และวันที่มันมันแตกคือวิกฤต ปี 2540 ต้นเหตุมันเกิดที่เมืองไทยก็เลยตั้งชื่อให้ดูเป็นไทยว่า “ต้มยำกุ้ง” (Tom Yam Kung) ส่วนปี 2550-2551 เกิดที่อเมริกาจึงเรียกว่า “แฮมเบอร์เกอร์” (Hamburger)

แยกได้ 3 คำ ที่โยงกัน (1) ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (Economic Bubble) ปี 2540 คือภาวะที่ราคาของสินทรัพย์ เช่นอสังหาริมทรัพย์หรือหน่วยลงทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง จนเกิดอุปสงค์เทียมจากการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นวงจร และขยายตัวเหมือนฟองสบู่ โดยส่วนใหญ่ภาวะฟองสบู่นี้จะจบลงเมื่อเกิดเหตุที่ทำให้นักลงทุนเลิกคาดหวังว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีก หรือรัฐบาลออกนโยบายเพื่อดึงราคาลงสู่ภาวะปกติ (เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย) จึงทำให้การเก็งกำไรและราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงลดลง ปัญหาฟองสบู่มาจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ (2) วิกฤตต้มยำกุ้ง (Tom Yam Kung Crisis) เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน เกิด สภาวะของเศรษฐ์กิจ ที่มีการนำเงินจาก สถาบันการเงินต่างประเทศ นำมาลงทุนในประเทศมากจนเกินไป  อันเกิดจากนโยบาย เสรีทางการเงิน ในขณะที่ เงินกู้ภายในประเทศ และ เงินกู้ต่างประเทศ มันมีส่วนต่างถึง 9-12 เปอร์เซ็นต์ (3) วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) หรือ วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ  หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ปี 2550-2551 เป็น Subprime Crisis ฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ จนทุนนิยมเกือบจะล่มสลายไปจากโลก คือการที่ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป  

[11]มาตรการ 'เยียวยา' ทั่วโลก อัดเม็ดเงินสู้ 'โควิด-19', Matichon, 2 เมษายน 2563, https://www.matichon.co.th/foreign/news_2115298

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามบังคับใช้กฎหมายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 64 ล้านล้านบาท

ญี่ปุ่น รัฐบาลประกาศ Emergency response package มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านเยน เพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใช้งบประมาณสำรองของปี 2563 ในส่วนมาตรการดูแล ครัวเรือนและการจ้างงาน รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ (permanent, non-permanent) สูงสุดถึง 8,330 เยนต่อวัน และให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างแบบ self-employed ที่ได้รับผลกระทบ 4,100 เยนต่อวัน

สิงคโปร์ ประกาศมาตรการอัดฉีดเงินมูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและการจ้างงาน 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และช่วยเหลือครัวเรือน 1.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมกับเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขอีก 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีมาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงานมากมาย

ครม.อนุมัติปรับ พ.ร.บ.งบประมาณ 63 โอนงบ 8 หมื่น-1 แสนล้านใช้แก้ผลกระทบโควิด-19 พร้อมออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ และออก พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 400,000 ล้านบาท

[12]ดู “ประยุทธ์” แจงยิบกู้เงิน 1.9 ล้านล้าน คาดทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.โอนงบปี 63 กลาง มิ.ย., 10 เมษายน 2563, https://www.prachachat.net/pol...

& ครม.เคาะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน โอนงบ 63 อีก 1 แสนล้านแก้พิษโควิด, 7 เมษายน 2563, https://mgronline.com/politics/detail/9630000035857

ครม.อนุมัติปรับ พ.ร.บ.งบประมาณ 63 โอนงบ 8 หมื่น-1 แสนล้านใช้แก้ผลกระทบโควิด-19 พร้อมออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ และออก พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 400,000 ล้านบาท

& คลังเผยเงิน 5,000 บาท จ่ายแค่ 3 เดือนก่อน อีก 3 เดือนรอสถานการณ์, 8 เมษายน 2563, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3912334

กระทรวงการคลังคาดจะคัดกรองผู้ที่มาลงทะเบียน เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ลงทะเบียนล่าสุด 24.8 ล้านคนแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 12 เม.ย.2563 โดยตอนนี้มีผู้ผ่านการเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 1.68 ล้านคน ในกลุ่มนี้จะเร่งทยอยโอนเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 8-10 เม.ย.นี้ และตั้งแต่สัปดาห์หน้าจะทยอยโอนเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทุกวัน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย.นี้

[13]ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), http://www.rdpb.go.th/rdpb/visit/philosophy_of_sufficiency_economy.html 

"เศรษฐกิจพอเพียง" (Sufficiency Economy) เป็น "ปรัชญา" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน เพื่อชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนให้แก่ประชาชนทุกระดับทุกสาขาวิชาชีพมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา

[14]ศาสตร์พระราชา, 2 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.gotoknow.org/posts/622463   

[15]เศรษฐกิจพอเพียงสู้วิกฤติโควิด-19, สยามรัฐออนไลน์  24 มีนาคม 2563, บทบรรณาธิการ, https://siamrath.co.th/n/141177  

[16]ดู จังหวัดจัดการตนเอง, ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, 2554, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=จังหวัดจัดการตนเอง 

& จังหวัดจัดการตนเอง: เมื่อรากหญ้าประชาชนท้าทายอำนาจรัฐ, 10 สถานการณ์เด่นในรอบปี (เรื่องที่ 8), สุขภาพคนไทย 2556, หน้า 134-137, https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2013/thai2013_24.pdf

[17]Plural Society หรือ Pluralism คือ แนวคิดที่มองในเรื่องความหลากหลายทั้งกลุ่มคน และวัฒนธรรม

ดู พหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม, บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 28 มกราคม 2559, http://lek-prapai.org/home/view.php?id=444  

[18]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว2120 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือประชาชน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

[19]ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่า การช่วยเหลือโรคโควิด-19 หากไม่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติจะไม่สามารถใช้งบประมาณสำรองฉุกเฉินของ อปท.ได้ สรุปจากการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) วิดีโอคอนเฟอเร้นซ์ (Video Conference) ของมหาดไทยไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน 2563

ดู อปท.ทั่วประเทศส่อวุ่นหลัง มท.ตีความโควิด–19 ไม่ใช่สาธารณภัย ห้ามใช้งบกลาง, มติชน 9 เมษายน 2563,  https://www.matichon.co.th/politics/news_2130391

[20]ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ผู้เปิดประเด็นนี้แก่คน อปท. ให้รับทราบ

ดู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มิใช่สาขาราชการส่วนภูมิภาค, 26 มิถุนายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647573

หมายเลขบันทึก: 676832เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 01:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2021 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท