แช่ง (2562) ความหลอนแบบไทย กับ คติชนการสาปแช่งในประเทศไทย


[บทความภาพยนตร์] แช่ง (2562) ความหลอนแบบไทย กับ คติชนการสาปแช่งในประเทศไทย

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (25/4/2563)

แช่ง คือหนังผีสยองขวัญสามเรื่องย่อยที่รวมกันเป็นเรื่องใหญ่ ภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องการสาปแช่งในประเทศไทย โดยผ่านยุคสมัยของกาลเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย

#วิปลาส หนังเล่าเรื่องย้อนไปช่วงรัชกาลที่ 6 บาทหลวงท่านหนึ่งได้รับมอบหมายจากส่วนกลางให้ไปสืบหาสาเหตุการตายของบาทหลวงในหมู่บ้านชนบทอันห่างไกล เขามีเพียงเบาะแสเดียวคือแผ่นเสียงที่บันทึกเสียงร้องการรำละครไทยที่มีความไพรเราะจับใจ แต่ช่วงกลางเพลงมีเสียงบางอย่างน่ากลัวแทรกอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนั้นเขาได้พบกับอาถรรพ์การสาปแช่งที่มีความรุนแรงมาก หนังเรื่องนี้มีการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความเชื่อของยุคใหม่กับความเชื่อของยุคเก่า ความแตกต่างกันทางด้านศาสนา ความแตกต่างกันระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท สถานะที่แตกต่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน ความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับชาวบ้านธรรมดา ตั้งคำถามถึงความเชื่อกับความงมงายชองคนไทยดั่งเดิมกับโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวกเร็ว รวมถึงตั้งคำถามว่าเพราะอะไรทำไมประเทศชาติบ้านเมืองจึงได้พัฒนาไปอย่างเชื่องช้า โดยรวมแล้วหนังทำออกมาค่อนข้างดีมีความน่ากลัวสมกับเป็นหนังผี

#Tattoo ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความปวดร้าวบางอย่างในอดีต แต่โชคร้ายที่เธอเลือกที่จะรักษาความปวดร้สวนั้นด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นไปทั่ว แต่ทุกครั้งในตอนเช้าที่เธอรู้สึกตัว ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเธอจะต้องตายทั้งหมด หนังตอนนี้ได้นำคติความเชื่อเรื่อง "โจ" ของภาคใต้มาใช้เป็นตัวเอกในการเล่าเรื่อง หนังทำออกมาค่อนข้างพอใช้ได้ แต่การดีไซน์ผีนั้น ดูแปลกไม่ค่อยชินตาเท่าที่ควร ส่วนประเด็นหลักของเรื่องใช้เรื่องความปรารถนาทางด้านอารมณ์มาเป็นภาพรวมของเรื่องได้ดี

#สาปแช่ง ว่าด้วยเรื่องราวนักเขียนการ์ตูนคนหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่ง เขาตื่นขึ้นมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว พฤติกรรม ความคิด ความทรงจำบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม เกิดภาพหลอนตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาตอนหลับก็ฝันเห็นแต่ผี มารู้ภายหลังว่าเขาโดนคำสาปแช่งจากคนคนหนึ่ง คำสาปแช่งที่หมายจะเอาชีวิต เป็นหนังผีที่สอดแทรกอารมณ์ขันเล็กน้อย คล้ายอย่างหนังผีที่เคยประสบความสำเร็จของต่าย GTH อย่าง สามแพร่ง และ สี่แพร่ง แต่ในตอนนี้ไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปมากนัก ที่ใส่จังหวะก็ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร การออกแบบผี การสร้างจังหวะตกใจทำได้ดี ประเด็นหลักของเรื่องอยู่ที่ความสัมพันธ์ ความรักและความไว้ใจ ซึ่งความรักและความไว้ใจนั้น หากเปลี่ยนแปลไปก็จะทวีคูณความอาฆาตได้อย่างรุนแรง

โดยรวมแล้วทั้ง 3 ตอนสามารถตอบโจทย์คติความเชื่อเรื่องการสาปแช่งในสังคมไทยได้ค่อนข้างดี นอกจากความน่ากลัวและความสยองขวัญตามแบบฉบับของหนังผีแล้วหนังก็ยังสอดแทรกกับคำถามที่ย้อนกลับไปสู่สังคมได้ค่อนข้างดี

ดังนั้นในบทความภาพยนตร์ฉบับนี้ผมจึงมีความตั้งใจจะเขียนเรื่องคติความเชื่อเรื่องการสาปแช่งในสังคมไทยโดยสังเขป เพื่อเพิ่มอรรถรสในการหนังเรื่องแช่งได้อย่างมีมิติมากขึ้น และในช่วงท้ายของบทความ ก็จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสาปแช่งบางประเด็นในภาพยนตร์เอาไว้ด้วย

#การสาปแช่งในสังคมไทย

คนไทยมีความเชื่อพื้นฐานเรื่องเวรกรรมมาแต่โบราณ เนื่องจากเป็นสังคมพุทธที่เชื่อว่าเวรกรรมเป็นผลของการกระทำ อีกทั้งอิทธิพลวรรณกรรมพุทธศาสนา เช่นชาดก นิทาน ไตรภูมิมิกกถา ได้ทำให้เห็นภาพของผลที่เกิดจากกระทำที่ต่างกันอย่างชัดเจน เช่น หากทำบุญสร้างกุศล ผลนั้นจะนำไปสู่ภพภูมิที่ดี อยู่อย่างสุขสบายหลายกัลป์ แต่หากทำกรรมชั่ว จะตกไปสู่อบายภูมิที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความหิวโหย ทุกข์ทรมานไม่รู้จบ และหากกลับไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์อีกครั้ง ผู้ทำกรรมดีจะเกิดในฐานะดี ร่ำรวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ผิวพรรณดี มีมิตรดี ส่วนผู้ทำกรรมชั่วจะไปเกิดเป็นคนยากจน เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อดยาก พิการ เต็มไปด้วยทุกขเวทนา ไม่ว่าโลกจะผ่านกาลเวลาไปนานเท่าใด ผู้คนมีความรู้มากเท่าไหร่ ความเชื่อนี้ก็ยังไม่จางหาย ยิ่งปัจจุบันสังคมมีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัดทางด้านคุณภาพชีวิต คนไทยบางส่วนก็จะยอมรับสภาพนั้นและยกให้เป็นเรื่องของเวรกรรมที่เคยกระทำในอดีต นอกจากนี้สังคมไทยมีคติความเชื่อเรื่องการนับถือศาสนาผี และการรับเอาคติความเชื่อ ของศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมปนกัน ยิ่งทำให้คติความเชื่อดังกล่าวนั้นมีความเข้ม ขลัง อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนานไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตามจะไม่มีทางเสื่อมคลายลง

แต่กระนั้นการตกไปสู่ภพภูมิไม่ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ทำอะไรติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จหรือการประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายนั้น คนไทยเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของตนเองเสมอไป อาจเกิดจากการกระทำของของบุคลอื่นด้วย ส่วนหนึ่งคือการสาปแช่ง กล่าวคือเมื่อคนใดกระทำดี ให้คุณ บุคคลอื่น บุคคลนั้นนั้นก็จะได้รับคำสรรเสริญเยินย่อยกย่อง แต่หากผู้ใดกระทำผิด ไม่ว่าจะผิดต่อบุคคล ผิดสังคม ผิดต่อรัฐ ผู้นั้นก็จะได้รับการประณาม และเลวร้ายที่สุดคนที่ไม่ชอบขี้หน้ามาก ๆ ลงโทษด้วยการสาปแช่ง ซึ่งผลออกมานั้นจะเป็นจริงหรือไม่จริงนั้นก็สุดแท้แล้วแต่ เพราะมิอาจอธิบายได้ในทางหลักวิทยาศาสตร์ได้

ส่วนความหมายของ สาปแช่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า สาป หมายถึง คำแช่งให้เป็นไปต่าง ๆ ของผู้มีฤทธิ์อำนาจ เช่นเทวดา ฤๅษี แม่มด แช่ง หมายถึง กล่าวด้วยตั้งใจมุ่งร้ายเพื่อให้เขาเป็นเช่นนั้น ดังนั้นสาปแช่งจึงหมายถึงการแจ้ง ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเกิดผลร้ายตามที่หวัง โดยใช้พลังอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่นสำนวนไทยที่ว่า แช่งชักหักกระดูก หมายถึง การแช่งด่ามุ่งร้ายให้ผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างร้ายแรง ให้บาดเจ็บรุณแรงหรือทำให้เสียชีวิต

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าเราค้นพบหลักฐานการสาบแช่งของคนไทยในที่ใดบ้าง

#การสาปแช่งในศิลาจารึก

ชะเอม คล้ายแก้ว (2548, หน้า 19 – 24) ให้ความหมายของจารึก คือ เอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่าง ๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา แผ่นไม้ แผ่นโลหะ เพื่อให้เกิดการคงทนถาวรอยู่ได้นาน ความสำคัญของจารึกเพื่อ ประกาศ บันทึกเหตุการณ์ กฎหมาย หรือเล่าเรื่อง ประกาศคุณงามความดี หรือแม้แต่การสาปแช่ง เพื่อให้ผู้อื่นได้อ่านหรือให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติได้อ่าน จารึกจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นสภาพทางสังคมของบรรพชนแต่ละท้องถิ่นในอดีต แต่ละยุคสมัย ประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และธรรมเนียมประเพณีการดำรงชีวิตในสังคม เป็นต้น คำสาปแช่งที่พบในจารึก นวพรรณ ภัทรมูล (2552) ได้ยกตัวอย่างคำสาบแช่งที่พบในจารึกเช่น

#แช่งให้ตกนรกไปไหม้ในอบายภูมิ เพื่อให้ตกนรกหมกไหม้เพื่ออยู่ในแดนแห่งความทุกข์ทรมาน เช่น จารึกหินขอน (พุทธศักราชที่ 13 -14)

“ขอให้บุคคลใจทรามที่มาล่วงเกินสิ่งซึ่งข้าพเจ้าได้บริจาคแก่วรรณะทั้งสี่ จงลงไปสู่นรกโดยไม่เว้น 7 ชั่วโคตร”

#แช่งอย่าให้เกิดเป็นคน เพราะการเกิดเป็นคนหรือมนุษย์ถือเป็นกุศลสูงสุด เพราะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างบุญสร้างกุศลได้ หรือสามารถเข้าถึงนิพพานได้ เป็นการแสดงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด จารึกที่ปรากฏการแช่งดังกล่าว เช่น จารึกวัดธาตุอุปสมาราม (พุทธศักราช 2134)

“...ผู้ใดล้างอาญาให้มันเป็นหลักเป็นตอในสงสารอยู่ อย่าให้เกิดเป็นคนสักชาติ...”

#แช่งให้ป่วยให้พบกับเภทภัยอันตราย การต้องทนทุกข์อยู่กับความเจ็บป่วยคือทุกขเวทนาที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือบุคคลที่รัก เพราะนอกจากความทรมานที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยเองแล้ว ผู้ใกล้ชิดต้องทุกข์ทรมานกายใจไปด้วย ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลมากมาย หากป่วยเป็นโรคร้ายแรงสักครั้ง ทรัพย์สมบัติที่สะสมมาตลอดชีวิตอาจนำมาใช้รักษาตัวจนหมดก็เป็นได้ ด้วยความที่คนสมัยก่อนใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าป่าล่าสัตว์ เก็บของป่ามาเป็นอาหาร การเดินทางที่ต้องเข้าป่าลึกอาจจะพบกับสัตว์ร้ายหรือโจรไพร หรือแม้แต่ภัยอันเกิดจากธรรมชาติ ก็ไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น หรือแม้แต่กับปัจจุบัน อันตรายต่าง ๆ ล้วนแต่อยู่รอบตัวดังปรากฏในข่าวที่มีทุกวัน ตัวอย่างจารึกเช่น จารึกวัดสมุหนิมิต (พุทธศักราช 2319)

"ถ้าผู้ใดเบียดบังเอานาแลจังหันซึ่งเป็นของพระสงฆ์ แต่สักทะนานหนึ่งขึ้นไป พอให้โรคแปดประการ อัณณตราย 16 ประการให้บังเกิดมีแก่ผู้นั้นไปจนเข้านิพพานเถิด...”

จารึกอีกหลักหนึ่ง ที่มีความสำคัญมาก ที่กล่าวถึงการสาบานและการสาปแช่งในสมัยสุโขทัยคือ จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พุทธศักราช 1935 เนื้อหาโดยสังเขปคือ การทำสัตย์สาบานระหว่างผู้เป็นใหญ่หรือเจ้าเมืองในแคว้นสุโขทัย มีการอัญเชิญดวงวิญญาณที่อาศัยอยู่ในน้ำอาศัยอยู่ในถ้ำรวมถึงดวงวิญญาณของอดีตกษัตริย์มาเป็นพยาน ว่าจะเป็นพันธมิตรอันดีต่อกัน ประชาชนจะไม่สร้างความเดือนร้อนให้ต่างเมือง ข้าราชการจะปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่ทุจริต ถ้าใครผิดคำสาบานจะถูกสาปแช่งให้ตกนรก

"ผิผู้ใด ใครบ่ซื่อ จุ่งผีฝูงนี้หักก้าวน้าวคอเป็นพระยาเถิงเท่าเป็นเจ้าอยู่ยืน หืนตายดังวันทันดังเครียวเชียว เห็นอเวจีนรกตกอบายเวทนา เสวยมหาวิบาก อย่าได้คาดได้พบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์สักคาบ”

#จารึกคำแช่งของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

มีจารึกหลักหนึ่ง ที่หลายคนเชื่อว่านี่คือพระดำริกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จารึกบนแผ่นหินอ่อน ใกล้หัวเรือรบหลวงจำลอง ที่ศาลของพระองค์ท่าน ณ หาดทรายรี จ.ชุมพร เริ่มเผยแพร่ในปี 2528 ความว่า

"...ให้เอาคำต่อไปนี้ของกูไปประกาศให้คนรู้ว่า "กูกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ผู้เป็นโอรสของพระปิยะมหาราช ขอประกาศให้พวกมืงรับรู้ไว้ว่า แผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษได้เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิตเข้าแลกไว้ไอ้อีมันผู้ใด คิดบังอาจทำลายแผ่นดิน ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฤๅ กระทำการทุจริตก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อส่วนรวมจงหยุดการกระทำนั้นเสียโดยเร็ว ก่อนที่กูจะสั่งทหารผลาญสิ้นทั้งโคตรให้หมดเสนียดของแผ่นดินสยามอันเป็นที่รักของกู ตราบใดที่คำว่า "อาภากร" ยังยืนหยัดอยู่ในโลกกูจะรักษาผืนแผ่นดินสยามของกู ลูกหลานทั้งหลาย แผ่นดินใดให้เรากำเนิดมา แผ่นดินใดให้ที่ซุกหัวนอน ให้ความร่มเย็นเป็นสุข มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น"

เป็นจารึกที่มีความหมายชัดเจนให้คนไทยรู้จักสำนึกบุญคุณของแผ่นดิน สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์มิเช่นนั้นจะมีอันเป็นไป

อย่างไรก็ตาม พล.ร.ต. กรีฑา พรรธนะแพทย์ เขียนบทความเรื่อง บทความเรื่อง "บันทึกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ " เผยแพร่ใน วารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 96 เล่มที่ 3 มีนาคม 2556 อธิบายว่า หลังจากการตรวจสอบพระดำริดังกล่าวแล้ว ไม่ได้เป็นของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือได้ตรวจสอบกับราชสกุลอาภากรแล้ว ได้รับการชี้แจงว่า พระดำรัสดังกล่าวมิใช่พระดำรัสของกรมหลวงชุมพรฯ

#คำสาปแช่งในลิลิตโองการแช่งน้ำ

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลในสมัยอยุธยาจะประกอบขึ้นในเดือนห้าและเดือนสิบ เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์สำหรับแผ่นดิน มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบานประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฎิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่าง ๆ มาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำ ถือว่าเป็นพิธีระงับยุคเขนของบ้านเมือง (เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 หน้า 22) พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นที่แพร่หลายใน ดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จิตร ภูมิศักดิ์ (2524, หน้า 2 - 7) อธิบายว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า เป็นวรรณคดีเก่าแก่มากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย มีความสำคัญทั้งด้านวรรณคดี นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมของไทย โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช พิธีถือน้ำสาบาน เกิดขึ้นพร้อมกับสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโดยเอ่ยพระนาม “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช” มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น โองการแช่งน้ำพระพัทธ์ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มาของพิธีดื่มน้ำสาบานว่ามาจาก จารึกกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 กล่าวถึงข้าราชการ “พระตำรวจ” ถวายคำสาบานต่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปรากฏคำว่า “กัดไดถวายอายุ” แปลว่า เชือดแขนถวายชีวิต กระทำในเดือน 10 ตรงกับไทย ปรากฏคำว่า “พระพัทธประติชญา” แปลว่าสาบาน คำว่า “วทฺธ” ในจารึกเขาพนมรุ้ง 2 แปลว่า สาบาน คำว่า “สัจจปาน” คือ “สัตยปาน แปลว่า สาบาน

ในสมัยอยุธยาจะประกอบพระราชพิธีนี้ในวาระต่าง ๆ 4 วาระด้วยกันคือ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, 2539 หน้า 118 – 148) (1) เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยสิริราชสมบัติ (2) เพื่อเป็นการตรวจสอบความจงรักภักดีของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชกาลและเจ้าหัวเมือง จัดในเดือนห้าและเดือนสิบ (3) แสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินและประเทศชาติที่กำลังจะเสียสละชีวิตในการออกสงคราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังให้แก่เหล่าทหาร เพราะน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ (4) ช่วยประสานไมตรีและสร้างความมั่นคงทางการเมืองของบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำหนดปีหนึ่งนั้นให้ประกอบขึ้น 2 ครั้ง คือ ใน วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 5 และ วันแรม 13 ค่ำเดือน 10 การถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในกรุงรัตนโกสินทร์ มี 5 สมัยคือ (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, 2536 : 307) (1) ถือน้ำเมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติ เป็นพิธีจร (2) ถือน้ำสำหรับผู้ที่ได้รับราชกาลอยู่แล้ว ต้องถือน้ำปีละ 2 ครั้ง เป็นพิธีประจำท้ายพระราชพิธีพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เข้าสู่เดือน 5 ครั้งหนึ่ง และพิธีสารท เดือน 10 ครั้งหนึ่ง (3) ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งมาจากเมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่บรมโพธิสมภาร เป็นพิธีจร (4) ถือน้ำสำหรับทหารซึ่งถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือน เป็นพิธีประจำ ประกอบขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำของทุกเดือน (5) ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ ต้องถือน้ำทุกเดือน เป็นพิธีจร

ในโครงพระราชพิธีทวาทศมาสพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราปปรปักษ์ (2545 หน้า 24) กล่าวไว้ว่า

“เดือนห้าให้ตั้ง ราช พิธีมี

น้ำพระพัฒสัตย์วาที ทุกผู้

ในพระอุโบสถศรี รัตนศาส ดานา

พราหมณ์ชาติโหรารู้ แช่งน้ำชุบพระแสง”

ในสมัยรัตนโกสินทร์การพิธีถือน้ำประกอบขึ้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระมหาราชครูอ่านโองการแช่งน้ำ เมื่ออ่านโองการจบ เจ้ากรมพราหมณ์พฤฒิบาศเชิญพระแสงดาบออกจากฝัก ชุบน้ำในหม้อเงินและขันสาครทุกใบไปพร้อม กับที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ดนตรีประโคม เมื่อชุบพระแสงศาสตราเสร็จ พระมหาราชครูแห่น้ำที่ชุบพระแสงลงในเครื่องโมราเครื่องต้น เจือกับน้ำพระราชพิธีพราหมณ์ จากนั้นเจ้ากรมพฤฒิบาศรับพระขันหยกไปเท เจือปนในหม้อเงินและขันสาคร พระมหาราชครูพิธีนำน้ำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแต่เดิมผู้ที่ถือน้ำนั้นจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าหัวเมืองประเทศราชทั้งหลาย ข้าราชการเท่านั้น มาครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มที่จะถือน้ำด้วย เป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ต่อการบริหารประเทศและอาณาประชาราชทั้งหลาย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยเสร็จ จึงเป็นลำดับของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าหัวเมือง และบรรดาข้าราชกาลตามลำดับศักดินาที่มีตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ตัวอย่างคำสาปแช่ง เช่น

#แช่งให้ตายรวดเร็ว

“พนธุพวกพ้องญาติกามาไสร้ ไขว้ใจจอด ทอดใจรัก ชักเกลอสหาย ตนทั้งหลายมาเพื่อจะทำขบถ ทดโหร่ห์แก่เจ้าตนไสร้ จงเทพยดาฝูงนี้ ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี อย่าให้มีศุขสวัสดิเมื่อใด ฯ”

#แช่งให้น้ำสาบานกลายเป็นเปลวไฟตัดคอ

"บ่ซื่อ มล้างออเอา ใส่เล้า

บ่ซื่อ น้ำอยาดท้อง เปนรุ่ง

บ่ซื่อ แร้งกาเต้า แตกตา”

#แช่งให้น้ำสาบานที่ตกถึงท้องคนคิดทรยศกลายเป็นสัตว์ร้าย

“ เจาะเพาะพุง ใบแบ่ง

บ่ซื่อ หมาหมีหมู เข่นเขี้ยว

เขี้ยวชาชแวง ยายี

ยมราชเกี้ยว ตาตาว ช่วยดู ฯ”

#แช่งให้ผีมาสูบ ทำร้าย ตกนรกอเวจี

“จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย หว้ายกะทู้ฟาดฟัน คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไป่มิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี”

#แช่งให้ข้าวที่กินร้อนเป็นไฟ

“อย่ากินเข้าเพื่อไฟ จนตาย อย่าอาไศรยแก่น้ำ จนตาย”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการแต่งวรรณกรรมการแช่งน้ำขึ้นมาใหม่ ใน ในคำประกาศถวายสัตย์สาบานในรัชกาลที่ 5 เนื้อหาการแช่ง เช่น (เบญจมาศ พลอินทร์, 2423)

#แช่งให้เทวดามาเอาชีวิตไป

“ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ ตั้งอยู่ในความสัจสาบานดุจกล่าวมานี้ ขอจงภูมิเทวดา อารักษเทวดา อากาศเทวดา รุกขเทวดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวอัฐโลกบาล ท้าวทัศโลกบาลอันมีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ลงสังหารผลาญชีวิต ฯ"

#แช่งไม่ให้พบรัตนตรัย

“ครั้งสิ้นกรรมจากที่นั้นแล้ว แล้วจงไปบังเกิดในภพใด ๆ อย่าให้ข้าพระพุทธเจ้าพบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ซึ่งจะมาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เลย”

#แช่งให้ตายด้วยภัยธรรมชาติ อาวุธเทวดา และสัตว์ร้าย

“ให้ฉินทภินทะพินาศ ด้วยอุปะปีฬก, อุปเฉทคกรรมุปะฆาฏด้วยอัสนีบาตรสายฟ้าฟาด ราชสัตถาวุธดาบ องครักษ์จักรนารายณ์ กระบือเสี่ยว ช้างแทง เสือสัตว์อันร้ายในน้ำในบก จงพิฆาฏอย่าให้ปราศจากปัญจวีสติมหาภัย 25 ประการ และทวดึงส์ กรรมกรณ์ 32 ประการ”

#แช่งให้ตายด้วยโรคร้ายภายใน3วัน7วัน

“ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาธิษฐานนี้แล้ว จงบันดาลให้เกิดฝีพิษ ฝีกาลอติสารชราพาธ ฉันนะวุติโรคร้าย 96 ประการ ให้อกาลมรณภาพตายด้วยความทุกข์เวทนาลำบากให้ประจักษ์แก่ตาโลกใน 3 วัน 7 วัน"

#คำสาปแช่งในคัมภีร์นารายณ์20ปาง

คำสาปแช่งหนึ่งที่โด่งดังมากในโลกวรรณคดีที่เรารู้จักกันดีคือ การสาปแช่งของพระนารายณ์ต่อยักษ์นนทก ในคัมภีร์นารายณ์ 20 ปาง ตอน อนันตพรหมถูกสาปมาเป็นนนทุก นับเป็นคำสาปที่ค่อนข้างทุกข์ทรมานที่ไม่น้อย กล่าวคือ

ในตอนนี้เล่าเรื่องราวถึงอดีตชาติของทศกัณฐ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นยักษ์เฝ้าตีนเขาพระสุเมรุชื่อนนทก แต่ก่อนจะเกิดเป็นนนทกก็ได้เกิดเป็น อนันตพรหม ซึ่งมีความแค้นเคืองพระอิศวร เนื่องจากพระอิศรให้พระพรหมธาดาที่เกิดมาทีหลังตนนั้นไปเป็นพรหมก่อนตน อนันตพรหม จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำตัวเบียดเบียนเหล่าเทวดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้งทำใจออกห่างไม่นับถือให้ความเคารพแก่พระอิศวร ครั้งเมื่อพระอิศวรและพระอุมาเทวีเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ชลมารคเที่ยวชมป่าดง ไร่ นา สวน ชมท้องสมุทร เหล่าบรรดาเทวดาทั้งหลายก็มาประชุมพร้อมหน้าพร้อมตากันรับเสด็จ แต่อนันตพรหมไม่ยอมเข้ารับเสด็จด้วย พระอิศวรจึงมีเทวโองการสั่งให้พญาอนันตนาคราชไปนำตัวอนันตพรหมมาลงโทษ พระอิศวรจึงสาปอนันตพรหมไปเป็นอสูรนนทกเฝ้าประตูตีนเขาไกรลาส ทำหน้าที่คอยล้างเท้าเทวดาและพรหมทั้งหลายที่จะมาเข้าเฝ้าพระอิศวรทุกวันทุกเวลา เมื่อสิ้นเทวโองการเครื่องประดับของอนันตพรหมก็หายไปในพริบตา กลายเป็นยักษ์นนทกเฝ้าประตูเขาไกรลาสในทันที

เนื่องจากเป็นยักษ์ทำหน้าที่คอยล้างเท้า จึงถูกเทวดากลั่นแกล้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถูกหยิกผมเล่นบ้าง ตบหัวเล่นบ้าง จึงกลายเป็นยักษ์หัวหยิกเช่นในปัจจุบัน นนทกไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่คอยปฏิบัติถือศีลภาวนาจนได้พร เป็นนิ้วเพชรชี้ใครก็ตาย เป็นเหตุให้พระนารายณ์ต้องอวตารมาเป็นนางฟ้า ในคัมภีร์นารายณ์อวตาร 20 ปางเรียกอวตารตอนนี้ว่า "อัปสราวตาร" เรื่องจากนี้ต่อไปเป็นอย่างที่เราท่านรับรู้ว่านนทกได้สู้กับนารายณ์แปลงอย่างไร ได้พรให้ไปเกิดเป็นอสูรพรหมสิบหัว สิบหน้า ยี่สิบมืออย่างไร ไม่ขออธิบายไว้ณที่นี้ แต่ก่อนที่นนทกจะเกิดเป็นทศกัณฐ์ก็ได้เกิดเป็นอย่างอื่นก่อนที่แสนจนทนทุกข์ทรมาณคือ อุปปาติกะ กล่าวคือ

อุปปาติกะนนทก เกิดที่เชิงเขาไกรลาส กระทำบูชาพระศิวะด้วยกายดุริยางค์ คือไปเก็บเอาอศุภของตนมาเป็นเครื่องดนตรี เอากระดูกศีรษะมาทำกะลาซอ เอากระดูกสันหลังมาทำเป็นทวนซอ เอาหนังศีรษะมาถึงเป็นหนังซอ เอาเอ็นในร่างกายมาเป็นสายซอ แล้วก็สีซอถวายพระศิวะฟังทุกวัน จะนานกี่ร้อยกี่พันปีไม่อาจทราบได้ แต่เสียงเพลงที่เกิดจากอสุภนั้นมีความไพเราะยิ่งนัก พระศิวะจึงให้พรโดยถามว่าต้องการสิ่งใด อุปปาติกะนนทกจึงขอพรให้ตนไปบังเกิดเป็นอสูรเชื้อพรหมในลงกาทวีป มีสิบหัว สิบหน้า ยี่สิบมือ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก และหากตายหลวงก็ขอกลับมารับใช้พระอิศวรอีก พระอิศวรก็ประทานพรให้จึงได้ไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ ในรามาวตารต่อไป

#คำสาปแช่งในบทเพลงสมัยใหม่

ก้าวเข้ามาในยุคสมัยใหม่ การสาปแช่งก็จะปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรม บทเพลง หรือแต่คำพูด มุขปาฐะจำนวนมาก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการสาบแช่งในบทเพลงสมัยใหม่เช่น

เพลง แช่ง ศิลปิน : B-King ค่าย RS กล่าวถึงผู้ชายที่ถูกผู้หญิงหักอก จนต้องสาปแช่ง ว่า

"ให้ตกน้ำ ตกรถ ตกเรือ ตกท่าน้ำ

ตกเครื่องบิน ตกโต๊ะ ตกเตียง ตกตู้

ตกสอบ สอบตก ให้คางคกกัด

ให้งูรัด ให้โดนพัดลมบาดมือ

บาดนิ้ว และบาดแขน บาดขา

สิวขึ้นหน้า ฝ้าขึ้นหลังลามขึ้นคอ

ยังไม่พอขอให้อกหักไม่พบรัก

ทุกชาติ ทุกชาติไป"

ศิลปิน Flame ได้ระบายความเจ็บแค้นที่มีคนมาแย่งแฟนไว้ในเพลง สาปแช่งพวกชอบแย่งแฟน มีเนื้อหาการสาปแช่งดังนี้  

"ฉัน จึงขอสาป
แช่งเธอกับเขารักกันให้ตาย
โว๊ว..ฉันขอสาป แช่งคน
ที่ชอบแย่งแฟนคนอื่น
ให้กล้ำกลืน น้ำตา
ให้รักมันร้าวราน
และจะสาป ผู้คน
ที่ชอบแย่งแฟนชาวบ้าน
เจ็บปวดทรมานในชาตินี้
พวกคนใจร้ายที่ใจไม่รักดี
อย่าได้เจอะรักจริงทุกชาติไป"

ปาน ธนพร ได้เปลี่ยนเนื้อเพลงคำยินดี ของวง Klear ให้กลายมาเป็นคำสาปแช่งกอบการ "กรวดน้ำ" ใน คอนเสิร์ต "STAGE FIGHTER ROUND 2" ปี 2017 มีเนื้อหา เกี่ยวกับการเลิกรา แช่งให้อดีตคนรักไม่มีความสุข ดังนี้

"ขอให้ความรักไม่มีความสุขใจ

ไม่ว่าสิ่งไหนพังให้หมดทุกอย่าง

ขอให้ความรักเขาและเธอมีแต่จืดจาง

เมื่อเขาเคียงข้างมีแต่ความทุกข์ใจ

ขอให้ความรักไม่เป็นดั่งที่ฝัน

ให้มีเปลี่ยนผันไม่มีวันสมใจ

ขอให้เธอนั้นต้องจากลากันตลอดไป

ทำฉันช้ำใจสักเท่าไร ก็ขอให้เธอปวดใจไม่แพ้กัน”

และในเพลงเดียวกันนี้ ในงานคอนเสิร์ต KLEAR CONCERT : THE FIRST SPACE ก็ได้เปลี่ยนเนื้อเพลงให้เป็นการสาปแข่งในแบบฉบับของตนเอง คือ

"ขอให้ความรักมีแต่ความจัญไร

ข้าวของฉิบหายจนบรรลัยทุกอย่าง

คาดหวังสิ่งไหนมีแต่คนขัดขวาง

ขอให้ เมียเธอกว้างกว่าผู้ใด

ขอให้นกเขาเธอไม่มีวันขัน

บ้านของเธอนั้นประสบอัคคีภัย

ขอให้เมียของเธอยังติดอยู่ในกองไฟ

ถึงแม้เวลาจะผ่านไป

แต่ฉันจะแช่งให้ตายอยู่เหมือนเดิม...

ขอให้ต้องตายอย่างหมาเลย"

จะเห็นได้ว่าการสาปแช่ง ในสมัยก่อนนั้นมีความจริงจังหมายให้บาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปราม ไม่ให้กระทำผิดหรือผิดต่อกฎระเบียบที่กำหนดไว้ แต่พอมาเป็นในสมัยปัจจุบันคำสาปแช่ง เป็นการระบายความโกรธแค้นซะมากกว่า ไม่ได้ใช้ประกอบพิธีกรรม หวังให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร รวมถึงแม้กระทั่งทำให้เกิดความบันเทิงอีกด้วย

#คำสาบานและคำสาปแช่งในสถานการณ์โควิด-19

ในสมัยปัจจุบันช่วงเวลาที่เขียนบทความเรื่องนี้ อยู่ในยุคสมัยที่โลกกำลังเผชิญกับ ภัยจากโรคร้ายคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกกิจกรรมของทุกประเทศในโลกนี้ต้องหยุดชะงัก ผู้คนต่างตื่นตระหนกและหาทางป้องกันตามความสามารถ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนหวาดกลัวก็คือคนที่ติดเชื้อไวรัส แต่กลับไม่ยอมบอกความจริงกับแพทย์ มีการปกปิดข้อมูลการเดินทาง ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อผู้คนโดยมาก ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2563 เพจเฟซบุ๊กชื่อ "Infectious ง่ายนิดเดียว" ได้โพสต์คำสาบานของผู้ป่วยที่จุดซักประวัติคัดกรอง ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ดังนี้

“ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระพุทธชินราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระสุพรรณกัลนาณี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าจะบอกประวัติ ด้วยความสัตย์จริง ไม่ปิดบังความเสี่ยงโรค โควิด-19 หากเข้าเจ้าโกหกปิดบังความจริงแม้แต่น้อย ขอให้โรคข้าพเจ้าที่มาตรวจครั้งนี้ รักษาไม่หาย ลุกลามจนตายด้วยความทรมานทั้งกายและใจ อีกทั้งครอบครัวและคนที่ข้าพเจ้ารัก ก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่หากข้าพเจ้ากล่าวความจริง ไม่ปิดบังประวัติความเสี่ยงโรคโควิด-19 ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งปวง ประสบแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป”

และ

“ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราศ หลวงพ่อทองคำผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย และสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าจะบอกประวัติด้วยความสัตย์จริง ไม่ปิดบังความเสี่ยงโรคโควิด หากข้าพเจ้าโกหก ปิดบังความจริงแม้แต่น้อย ขอให้โรคที่ข้าพเจ้ามาตรวจครั้งนี้ รักษาไม่หาย ลุกลามจนตายด้วยความทรมาน อีกทั้งครอบครัวและคนที่ข้าพเจ้ารักก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้ากล่าวความจริงไม่ปิดบังประวัติความเสี่ยงโรคโควิด ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งปวง ประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป”

นอกจากนี้คำสาปแช่งยังเป็นคำพูดติดปากของผู้คนในสังคมไทย และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจหวังผลให้เกิดขึ้นจริงหรือเป็นการปราม หรือ ด่าทอก็ได้ ซึ่งมีคำพูดคำแช่งอยู่อย่างมากมายจึงไม่ขอยกตัวอย่างมาไว้ณที่นี้ เพราะยกตัวอย่างไม่ไหว

#กลับมาที่ภาพยนตร์แช่ง

เช่นเป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคำสาปแช่งและวิธีการแช่งในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 3 ตอน ซึ่งแต่ละตอนมีวิธีการสาปแช่งแตกต่างกัน อธิบายได้ดังนี้

#วิปลาส หนังเล่าเรื่องถึงวิธีการสาปแช่งด้วยการใช้คำพูดแบบซ้ำ ๆ ใช้วิธีการเขียนข้อความแช่งด้วยเลือด และใช้ความแค้นเป็นแรงผลักดัน ดังนั้นการสาปแช่งในตอนนี้จึงมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง การสาปแช่งในลักษณะนี้ต้องใช้สมาธิสูง การทำซ้ำ จึงจะเกิดพลานุภาพที่ตนต้องการได้

#Tattoo ในตอนนี้ การเล่าเรื่องการสาปแช่งด้วยการใช้วัตถุคือ "โจ" ซึ่งในวัฒนธรรมภาคใต้จะใช้ โจ แขวนไว้กับ ต้นไม้ สวนผลไม้ หรือสิ่งของบางอย่าง ในที่นี้ขอยกบทความของคุณสัมพันธ์ ยิ่งยุทธ์ (กาซี่ยงแห่งวุ๊ยก๊ก) ที่เขียนเรื่อง "โจ กติกาไสยศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมชาวใต้" ไว้ใน Facebook Fanpage บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา ซึ่งผมขอเรียบเรียง ให้เกิดความกระชับดังนี้

"โจ" หรือ "กะโจ" นั้นเป็นเป็นลักษณะของความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ทำขึ้นเพื่อใช้ป้องกันปัญหาการลักขโมยผลไม้ในสวน จากการแขวนโจที่ต้นไม้จะเป็นการบอกให้รู้ว่าได้มีการกำกับคาถาอาคมไว้ ถ้าใครเก็บผลไม้จากต้นที่มีการแขวนโจไปกิน จะทำให้เจ็บป่วยหรือถึงเสียชีวิต โดยมีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนมียายแก่ชื่อ แอเสาะ บูละ เป็นชาวมุสลิม เธอเป็นผู้หญิงที่ขี้เหนียวไม่ชอบให้เด็ก ๆ มายุ่งและเก็บเกี่ยวผลไม้ของเธอ วันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งเก็บผลไม้เธอ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เธอโกรธมากจึงคิดเล่ห์อุบายเพื่อหลอกเด็กคนนั้นเพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับผลไม้ของเธออีก จึงทำโจขึ้นมา ซึ่งเรียกชื่อหนึ่งว่า "ปาจา" มีสิ่งนี้อยู่ถ้าไปเก็บผลไม้อาจมีอันตรายได้ กล่าวได้ว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากชาวมุสลิมของภาคใต้ก็เป็นได้

โจจะมีคาถาอาคมกำกับ ผลไม้จากต้นที่มีการแขวนโจแขวน หากกินจะทำให้เจ็บป่วย ปวดท้อง ท้องบวม ท้องป่อง โดยไม่รู้สาเหตุ และตายในที่สุด

การทำโจมี 4 ประเภทคือ

1. โจฝัง ทำด้วยหม้อดินใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อนเขียนป้ายด้วยปูนกินหมากที่ข้างหม้อดินเป็นรูปยันต์ตามตำรา ปูนที่ใช้เขียนยันต์ต้องไปขอจากหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 3 คนโดยให้เธอควักปูนป้ายให้เอง ส่วนในหม้อดินจะใส่ไม้ทิ่มผี คือ ไม้ที่สัปเหร่อใช้แทงแยงไฟแยงศพขณะเผาอยู่บนเชิงตะกอน โดยตัดเอามาท่อนหรือซีกหนึ่งพอใส่หม้อ เสร็จแล้วเขียนยันต์โจลงบนผ้าหรือกระดาษใส่ไว้ในหม้อแล้วทำพิธีตามรูปแบบการผูกโจก่อนที่จะฝังลงบริเวณโคนต้นไม้ที่ต้องการ

2. โจแขวน ทำด้วยไม้โลงผี (โลงศพ) ตามความยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลงยันต์ต่าง ๆ ตามตำรา เสกด้วยมนต์แขก เสร็จแล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ที่ต้องการไม่ให้ใครมาลักขโมย

3. โจกระบอก ทำด้วยไม้ไผ่ตายพราก คือต้นไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอ ตัดมาปล้องหนึ่งตัดหัวตัดท้ายเอาข้อออกให้ลำทะลุตลอด นำมาเจาะรู 4 รู ข้างกระบอกทั้ง 4 ด้านโดยรอบ ใช้ไม้ไผ่เหลากลมขนาดเล็กกว่าไม้ตะเกียบจำนวน 2 อัน เสียบตามรูที่เจาะไว้ ปลายไม้ก็จะทะลุทั้ง 4 ทิศ และในรูกระบอกก็จะเป็นรูปกากบาท หาผ้าขาวมา 2 ผืนลงยันต์อักขระ เสร็จแล้วใช้เชือกกล้วยผูกทำสาย นำไปผูกแขวนห้อยไว้ที่กิ่งต้นไม้ที่ต้องการ ยังมีอีกเคล็ดหนึ่งคือ ในกระบอกโจจะทุบคางคกใส่ไว้ เพราะเมื่อคางคกตายจะพองมีกลิ่นเหม็นทำให้คนกลัว เพราะเวลาลักกินผลไม้ ท้องจะพองคันเหมือนคางคก ซึ่งในหนังตอน Tattoo ผู้กำกับทำให้เราเห็นว่าตัวละครเลือกใช้โจกระบอก

4. โจพรก คำว่า “พรก” ภาษาปักษ์ใต้แปลว่ากะลามะพร้าว โจชนิดหนึ่งที่ทำด้วยกะลามะพร้าว ต้องเลือกฝา (ซีก) ตัวผู้ขนาดเดียวกัน 2 ฝา (บางแห่งใช้ฝาเดียวก็ได้) ประกบปากให้ติดกัน ใช้เชือกกล้วยร้อยรูทั้ง 2 ฝาเข้าด้วยกัน อาจทุบคางคกใส่ใว้ข้างในด้วยก็ได้หรือใส่ยันต์แทน ด้านนอกใช้ปูนป้ายเป็นรูปกากบาทยาว 3 - 4 แห่ง พร้อมกับว่าคาถา เสร็จแล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในที่ซึ่งใครผ่านไปมาเห็นได้ง่าย

แท้จริงแล้วโจจะทำหน้าที่เป็นการปราม บ่งบอกว่าต้นไม้หรือผลไม้นี้มีเจ้าของ ไม่ให้ใครมันจะกินผลไม้ในสวนตามอำเภอใจ โดยมากฤทธิ์ของโจไม่ต้องการทำให้ตาย ซึ่ง ถ้าใคร "ถูกโจ” ก็รีบไปบอกเจ้าของเขาก็จะมีคาถาแก้โจออกให้ได้ แม้แต่ลูกหลานก็กินไม่ได้ หากจะกินก็ต้องขออนุญาตก่อน

#สาปแช่ง แต่ตอนนี้จะมีการสาปแช่งโดยการทำตุ๊กตาเสมือนคน ใช้ของแหลมที่มันแทง ใช้ไฟเผาประกอบกับใช้คำพูดสาปแช่งที่รุนแรง เช่นในหนังสาปแช่งให้ทนทุกข์ทรมาน อยู่ไม่สุข นอนหลับก็ฝันร้าย ตอนตื่นก็หลอกหลอน ไม่พบกับความสุขตลอดไป ส่วนสิ่งของตุ๊กตาเสมือนคนนั้นมีลักษณะเป็นแบบการทำคุณไสย

คุณไสยคือการใช้อำนาจลี้ลับที่ได้มาจากภูติผีปีศาจหรือได้มาจากวิธีการทางไสยศาสตร์ โดยทั่วไปการทำคุณไสยเป็นการใช้ไสยศาสตร์ในการให้โทษ (black magic) คติความเชื่อเรื่องคุณไสย เป็นความเชื่อเก่าแก่ที่แพร่กระจายอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะในสังคมไทยการทำคุณไสย์ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือการทำคุณไสยที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม

ในภาพยนตร์มีการทำคุณไสยโดยการนำหุ่นฟางมามัดให้มีลักษณะเลียนแบบมนุษย์ (Simulation) โดยมีความเชื่อว่าตุ๊กตานั้นคือตัวแทนหรือมนุษย์ผู้นั้น การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับตุ๊กตาจะสร้างความเจ็บปวดให้กับมนุษย์ผู้นั้นด้วย เช่นหากใช้ของแหลมทิ่มแทงก็จะเกิดความเจ็บปวด หากใช้ไฟเผาก็จะร้อน ทุรนทุราย ซึ่งการใช้ตุ๊กตาเลียนแบบมนุษย์นั้น ขึ้นชื่ออย่างมากในของชาวแอฟริกัน ที่เรียกว่า วูดู (Vodoo Dalls หรือ Wangs dalls)

ตุ๊กตาวูดูของชนเผ่าโวดุน (Vodun) ในแอฟริกา ปรากฏการใช้ครั้งแรก ผ่านทางประเทศเฮติ จากทาสผิวดำ ที่ถูกนำมาใช้แรงงานทาสทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ในรัฐนิวออลีน แท้จริงแล้วลัทธิวูดูนั้นเป็นความเชื่อและความศรัทธาของชาวแอฟริกันพื้นเมืองต่อพลังอำนาจของวูดู ในการช่วยเหลือคุ้มครอง ปกป้องและรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายไป แต่ในภายหลังกับใช้ในการทำร้ายศตรูทำให้เกิดผลร้าย

Alys R. Yablon (2552) ได้อธิบายวิธีการปฏิบัติการสาปแช่งศัตรูด้วยตุ๊กตาวู ดู ว่าจะมีการทำหุ่นจากผ้าหรือฝางขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายมนุษย์ ผู้กระทำจะใช้เข็มเล็กๆ ทิ่มแทงลงไปในตัวหุ่น ร่ายมนต์ดำและไสยศาสตร์ใส่ตุ๊กตาที่สมมุติแทนใครบางคนให้ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส เช่นเดียวกับเข็มที่ทิ่มแทงลงบนตุ๊กตา อย่างไรก็ตามวูดูในทางสร้างสรรค์ก็มีเช่น การพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์บนตัวตุ๊กตาหญ้าฟางแล้วห่อม้วนไว้ด้วยผ้าขาวนำไปฝังไว้ที่ใดที่หนึ่งห่างจากบริเวณบ้าน และควรทำในคืนวันเสาร์ เชื่อว่าจะทำให้เกิดโชคดีมีมงคลต่อชีวิต ในยุคปัจจุบันตุ๊กตาวูอยู่มีหลายรูปแบบ เชื่อว่ามีผลในด้านความรัก ช่วยให้ร่ำรวยเงินทอง ให้โชคให้ลาภ ให้เกิดผลด้านการงานมิตรภาพ หรือแม้กระทั่งช่วยในการลดน้ำหนัก ในปัจจุบันก็มีร้านขายของนำตุ๊กตาวูดูไปวางจำหน่าย แม้แต่ในประเทศจีน ก็มีร้านขายตุ๊กตาวูดูจำนวนมาก ในจีนเรียกตุ๊กตานี้ว่า ตุ๊กตาเฮ็กซ์ (Hex dall) เพราะเชื่อว่าจะนำความโชคดีมาให้กับเจ้าของ

#บทสรุปคำสาปแช่งในสังคมไทย

จากตัวอย่างคำสาบแช่งที่กล่าวมาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. คำสาปแช่งมักมาคู่กับคำสาบาน หากทำผิดคำสาบานก็จะพบกับคำสาปแช่งที่ส่งผลเร็ว หากไม่ผิดคำสาบานก็จะประสบกับความรุ่งเรือง

2. คำสาปแช่งที่พบในศิลาจารึกในประเทศไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเช่น แช่งให้ตกนรก ไหม้ในอบายภูมิ 4 อย่าเกิดเป็นคน ให้เกิดเป็นเทวทัต

3. คำสาปแช่งในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชรวมถึงงานวรรณคดีเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางการปกครองและความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ และเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์

4. คนไทยมีความผูกพันกับความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนความเคร่งครัดในศาสนาพุทธอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาดั้งเดิม ควบคู่ไป ดังนั้นคำสาปแช่งจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ควบคุมทางสังคม ให้ผู้คนเกรงกลัวและไม่ไปกระทำการล่วงละเมิดใด ๆ ที่ผิดธรรมนองครองธรรม

5. ในยุคสมัยปัจจุบันมีการนำคำสาปแช่งมาใช้กับวงการบันเทิง การแต่งเป็นเนื้อเพลง มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ทางจิตใจ และเพื่อความบันเทิงเป็นสำคัญ ไม่ได้หมายมุ่งให้เกิดผลร้ายอย่างเนื้อร้อง

6. แม้ว่าบ้านเมืองจะมีความเจริญมากขึ้นก็ตามแต่คำสาปแช่งก็ยังมีผลต่อจิตใจของผู้คนเช่นคำสาปแช่งในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด

#บทส่งท้าย

บทความ แช่ง (2562) ความหลอนแบบไทย กับ คติชนการสาปแช่งในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเขียนอธิบายลักษณะของการสาปแช่งที่อยู่ในภาพยนต์ รวมถึงอธิบาย หลักฐาน วิธีการสาปแช่งในสังคมไทยโดยสังเขป เพื่อเป็นสาระบันเทิงให้แก่ทุกท่านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เขียนขึ้นมาเป็นงานวิชาการแต่อย่างใด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะมีความเพลิดเพลินได้ข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความฉบับนี้ครับ

วาทิน ศานติ์ สันติ

5 เมษายน 2563

................................

เอกสารประกอบการเขียน

จิตร ภูมิศักดิ์. (2524). โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ดวงกมล.

ชะเอม คล้ายแก้ว. (2548). สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, คู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ หน้า 19 – 24.

กรุงเทพมหานคร : สำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2514). พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ 13 . กรุงเทพมหานคร: แพร่พิทยา.

เบญจมาศ พลอินทร์. (2523). วรรณคดีขนบประเพณีพระราชพิธีสิบสองเดือน.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

นวพรรณ ภัทรมูล. (2552). "เขาสาปแช่งอันใดในจารึก" สืบค้นเมื่อ 5เมษายน 2563 จาก https://db.sac.or.th/inscripti...

นิยะดา เหล่าสุนทร. (2540). คัมภีร์นารายณ์ 20 บางกับคนไทย. กรุงเทพมหานคร: แม่คำผาง.

ประชาไท. (2558). "กองทัพเรือชี้แจงบันทึก 'กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์' ไม่ใช่พระดำรัสจริง" สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563, จาก https://prachatai.com/journal/...

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา บำราบปีปักษ์. (2545). โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. (2536). ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2535). “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึง สมัยอยุธยาตอนกลาง .”, โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สัมพันธ์ ยิ่งยุทธ. (2562). "โจ กติกาไสยศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมชาวใต้", สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563 จาก https://m.facebook.com/story.p...

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ และสุภัทรา บุญปัญญโรจน์. (2560). ระบบความเชื่อและศาสนาพื้นบ้าน. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Alys R. Yablon (2552). มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์เครื่องรางและเคล็ดลับนำโชค. กรุงเทพฯ ซีเอ็ดบูเคชั่น.

mgronline (2017). "สะใจ! “ปาน-ป๋อมแป๋ม” ยำเละ “คำยินดี” สาปแช่ง-กรวดน้ำมาครบ สลัดคราบเพลงคนอกหักจนหมดสิ้น", สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563 จาก https://mgronline.com/onlinese...

MThai. (2017). "ขนลุกแล้ว! ปาน ธนพร อินเนอร์แรง ร้อง ‘คำสาปแช่ง’ ในคอนเสิร์ต!", สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563, จาก https://music.mthai.com/hotiss...

PPTVHD36 online. (2653). "รพ.งัดคำสาบานโควิด-19 หากปกปิดประวัติ ขอให้รักษาไม่หาย!", สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563 จาก https://www.pptvhd36.com/news/...

หมายเลขบันทึก: 676693เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2020 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท