ว่าด้วยซีไรต์ยุค 2000


#ความเรียง

ว่าด้วยซีไรต์ยุค 2000

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (1/4/2560)


ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของ วีรพร นิติประภา รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์ 2558) สำหรับผม อ่านแล้วรู้สึกปวดหัว เพิ่มความเครียดให้สมอง เพิ่มรอยตีนกาให้กับใบหน้า แม้จะพยายามอ่านไปเรื่อย ๆ ราว 50-60 หน้าแต่มันก็อ่านต่อไปไม่ไหวจริง ๆ เขาบอกว่าสร้างสรรค์ประโยคสวยงาม แต่ผมเห็นว่า ประโยคยุบยับยั้วเยี้ยอ่านแล้วเพลียจิต กว่าจะเข้าเรื่องผมจะเป็นลมเอาซะก่อน พอถึงหน้าที่ 60 จึงตัดสินใจวาง สวัสดีลาก่อน

ไม่เข้าใจว่าหนังสือรางวัลซีไรต์รุ่น 10 กว่าปีมานี้ทำไมจะต้องให้อ่านยาก ๆ เข้าใจยาก ๆ เล่าเรื่องยืดเยื้อจนหน้ารำคาญ ทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว มาแนวเดียวกันคือไม่รู้ว่าจะโชว์ "เหนือ" การใช้ภาษาใช้คำไปไหน กว่าจะเข้าเรื่องได้ก็ถึงกับเพลียใจไปซะก่อน ส่วนหนังสือที่ลงลึกทางอารมณ์แต่เล่าเรื่องแบบง่าย ๆ เหตุใดจึงไม่ได้รางวัลสักที เช่นงานของ จําลอง ฝั่งชลจิตร ซึ่งผมเชียร์มาหลายปีแล้ว วรรณกรรมซีไรต์เล่มสุดท้ายที่ผมอ่านแล้วประทับใจคือ "ลับแลแก่คอย" ของ อุทิศ เหมะมูล แม้จะยาวแต่ก็อ่านสนุก

สมัยเด็ก ๆ ผมอ่านงานซีไรต์เรื่อง "อัญมณีแห่งชีวิต ของอัญชัน) (รวมถึง "ผู้แลเห็นลม") ที่เลื่องลือว่ายากแล้วก็ยังเข้าใจอ่านสนุก

วันนี้มาดูงานซีไรต์ ประเภทรวมเรื่องสั้น นวนิยาย รุ่นเก่าที่อ่านแล้วยังตราตรึงใจผมมาจนถึงทุกวันนี้กันครับ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่ผมประทับใจเช่น

"ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื้อฟ้าสาง" ของ อัศศิริ ธรรมโชติ เล่มนี้ต้องยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดรวมเรื่องสั้นของไทยก็ว่าได้ ยังจำได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะคนพายเรือเจอศพลอยน้ำกอดตุ๊กตาได้อยู่เลย

"สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" นี่ก็ฉีกแนวชาวบ้าน เป็นรวมเรื่องสั้นผสมบทความ อ่านแล้ว "อิน" เป็นสิบปี "ประชาธิไตยบนเส้นขนาน" อ่านแล้วทำให้ผมต้องตามหาหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองมาอ่าน ทั้งสองเรื่อง โดย วินทร์ เลียววาริณ

"ก่อกองทราย" ของ ไพฑูรย์ ธันยา อ่านง่ายไม่ยืดยาว มีจุดโดนใจชัดเจน ที่ยังจำได้ดีมาจนถึงตอนนี้คือเรื่องสั้น "คนบนสะพาน" เล่าถึงชายเลี้ยงวัวสองคน นำฝูงวัวของตนเองเดินสวนทางบนสะพานแขวนแคบ ๆ ทั้งสองไม่ยอมให้ใครผ่านทางไปก่อน จนท้ายที่สุดสะพานขาดทั้งคนทั้งวัวตกลงไปในน้ำ

"คำพิพากษา" ของ ชาติ กอบจิตติ อ่านไปน้ำตาไหลไป โชคชะตาชีวิตเล่นตลกกับของคนเราได้ขนาดนี้เลยหรอ เกลียดครูใหญ่ในเรื่องมาก

"ซอยเดียวกัน" ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ นี่คือเรื่องสั่นที่เรียกได้ว่าเป็นแนวเรื่องสั้นจริง ๆ ภาษาสบายหัวมาก ไม่ต้องยืดเยื้อบรรยายบรรยากาศยาวให้ยุ่งยาก "ปล่อยหมันหนัก" ทีเดียวเลย เล่าเรื่องอ่านง่ายแต่เต็มไปด้วยอารมณ์ ยังจำเพลง "มนต์รกลูกทุ่ง" ในเรื่องได้อยู่เลย

"ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ของ นิคม รายยวา นี่คือนวนิยายแต่มีขนาดสั้น เรื่องของคนกับงาช้าง สะเทือนใจยิ่งนัก

"อมตะ" ของ วิมล ไทรนิ่มนวล นวนิยายที่ตั้งคำถามว่าวิทยาศาสตร์กับปรัชญาไปด้วยกันได้หรือไม่ ตัวตนของเราอยู่ที่สมองหรือวิญญาณ จำได้ว่าอ่านจบบนรถเมล์เลยทีเดียว

"เจ้าหงิญ" ของ บินหลา สันกาลาคีรี อารมณ์เดียวกับเจ้าชายน้อย เป็นการเดินทางของเด็กหญิงเพื่อค้นหาตัวเอง เป็นเรื่องสั้น ในตรีมเรื่องแบบนวนิยาย เหมือนจะเป็นหนังสือเด็ก แต่กลับเป็นหยังสือที่ผู้ใหญ่อ่านแล้วสะเทือนอารมณ์

"ช่างสำราญ" ของ เดือนวาด พิมวนา เล่าเรื่องของเด็กบ้าน ๆ บ้านแตกกับสังคมโทรม ๆ ที่ผ่านสายตาของเขาเรื่องนี้บอกเลยว่าหลายอารมณ์ ทั้งสนุก อมยิ้ม เศร้า และสะเทือนอารมณ์สุด ๆ

"แผ่นดินอื่น" ของ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ แม้จะเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว แต่อ่านแล้วไม่น่าเบื่อเลยเหมือนว่าจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่อง ยังจำยายแก่จาก "บนถนนคอลีเซียม" ได้เป็นอย่างดี ถึงกับเก็บมาฝันเลยทีเดียว หากจะมีคนไทยคนใดที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ก็ควรจะเป็นคนนี้ละครับ เสียดายที่เขาด่วนจากไป

ส่วนงานกวีนิพนธ์ที่อ่านแล้วชอบมาก ๆ ยกให้เป็นสุดยอดกวีนิพนธ์ไทยคือ "ใบไม้ที่หายไป" ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา "เพียงความเคลื่อนไหว" ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ "ม้าก้านกล้วย" ของ ไพรรินทร์ ขาวงาม ทั้งสามเล่มมีวิธีรูปแบบการปะพันธ์ที่หลากหลาย สะท้อนวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองได้ลึกล้ำ สะเทือนใจสะเทือนอารมณ์สุด ๆ

นี่คือส่วนหนึ่งของวรรณกรรมซีไรต์ที่ผมอ่านแล้วรู้สึกไม่ประทับใจและประทับใจ ซึ่งเป็นความชอบและความคิดเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ยังมีอีกหลายเล่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกเฉย ๆ จึงไม่ขอนำมาเล่าที่นี้ หากท่านใดชอบเล่มไหนแสดงความคิดเห็นหรือแนะนำมาได้ จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

คำสำคัญ (Tags): #ซีไรต์ยุค 2000
หมายเลขบันทึก: 676182เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท