คติความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในภาพยนตร์


#บทความ

เรื่อง คติความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในภาพยนตร์

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (25/11/2562)

#บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ในปี 2562 มีภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่งได้นำเสนอภาพของพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ แต่หน้าภาพยนตร์นั้นเป็นการนำเสนอว่านี่คือภาพยนตร์สยองขวัญ ที่ให้เห็นภาพแบบจะ ๆ ช่วงกลางวันแสก ๆ นั่นคือเรื่อง

Midsommer (2019) เทศกาลสยอง  ภาพยนตร์เล่าเรื่องนักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศสวีเดนยังเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเพื่อทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชุมชนแห่งนั้น ในช่วงของการเฉลิมฉลอง คีสมายัน ซึ่งเป็นช่วงที่ พระอาทิตย์โคจรถึงจุดหยุดทางด้านเหนือ เป็นช่วงที่หน้าร้อนมีกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน ชุมชนแห่งนี้จะจัดงานเฉลิมฉลอง 9 วัน 9 คืน แล้วส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองนั้น จะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดใหม่ จะต้องมีคนเสียสละให้ตัวเองตาย เพื่อแลกกับชีวิตที่เกิดใหม่ มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรวมสมบูรณ์ แสดงให้เห็นการฝังเนื้อสัตว์ ข้าว และน้ำลงในดิน การบูชายัญบางอย่าง การแต่งร่างกายให้สัมพันธ์กับธรรมชาติ ดอกไม้ สัตว์ การบูชาสัตว์ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น

The Wicker Man (1973 / 2006) สาปอาถรรพณ์ล่าสุดโลก ว่าด้วยนายตำรวจคนหนึ่ง ได้รับจดหมายจากอดีตแฟนสาว ว่าเขามีลูกสาวคนหนึ่ง เขาจะต้องเดินทางไปช่วยลูกสาว ที่เกาะแห่งหนึ่งอันห่างใกล้ เกาะแห่งนั้นกำลังเข้าสู่วิกฤต ผลผลิตไม่ได้ออกดอกออกผลอย่างเช่นเคย ปลูกอะไรก็แห้งแล้ง ขาดฝนมานาน แม้แต่ผึ้งก็ไม่สามารถผลิตน้ำหวานได้ ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ถูกล่อลวง ไปยังหุ่นไม้ขนาดใหญ่ที่เขาเชื่อว่าชาวบ้านน่าจะนำบุคคลที่เขาตามหาไปขังไว้ในหุ่นนั้น แต่เขาหารู้ไม่ว่าเขากำลังจะถูกบูชายัญ เพื่อให้แผ่นดินแห่งนี้กลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

เมื่อดูภาพยนตร์จบแล้วก็ย้อนกลับมาดูวิถีชีวิตของเราบ้างว่ามีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์อะไรที่มีอยู่ในชีวิตจริงที่เราได้เห็นหรือได้รับรู้กันบ้าง ผมเลยตัดสินใจเปิดตำราเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา หวังให้ผู้อ่านได้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจเสริมความรู้เล็กน้อยหลังจากการชมภาพยนตร์ครับ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความชาญฉลาดสามารถพัฒนากลยุทธ์ในการแสวงหาอาหารต่าง ๆ ได้ นับตั้งแต่การล่า การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเก็บกักน้ำ เพราะมนุษย์มีความหิวกระหาย และความหิวกระหายนั่นเองจึงเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์มีกิจกรรมเกี่ยวกับอาหาร แล้วพัฒนาจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นได้

อี. แอดัมสัน โฮเบล  นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า มนุษย์มีวิธีการขยายการผลิตอาหารจากทรัพยากรผ่านกลวิธีทางวัฒนธรรม ผ่านเครื่องมือที่ตนเองเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา เขาขจัดความกลัวอดอยากหิวโหยยออกไป และวางรากฐานในการขยายสังคมออกไปในแง่ที่ว่า การผลิตอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพิ่มจำนวนประชากร (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2557, หน้า 83)

ในโลกใบนี้ ทุกอารยธรรมจะมีคติความเชื่อและพิธีกรรมที่ถึงแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดไปบ้างแต่ก็เกี่ยวข้องกับ "ปากท้อง" ความอุดมสมบูรณ์เป็นหลัก ขอยกตัวอย่างเช่น

ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าโอซิริสว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับแม่น้ำไนล์ ซึ่งแม่น้ำไนล์ทำให้อียิปต์มีความอุดมสมบูรณ์ ของเหลวจากอวัยวะในร่างกายของเทพโอซิริสที่แยกเป็นชิ้น ๆ นั้นเทียบได้กับแม่น้ำไนล์

ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะชาวสุเมเรียน มีความเชื่อว่าเทพเจ้า ดุมูซี (Dumuzi) เมื่อสิ้นชีพลงจะไปสู่บาดาล ทำให้เกิดฤดูหนาว เป็นฤดูแห่งความหิวโหยและความทุกข์ยาก แต่พระชายาของพระองค์คือ เทพอินอานา (Inanna) จะสามารถช่วยเทพดุมุซีขึ้นมาจากโลกบาดาลได้ ทำให้ฤดูใบไม้ผลิมาถึงทำให้เกิดชีวิตใหม่ และทำให้ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกกลับมาอีกครั้ง

ในอารยธรรมของพวกนอร์ส มีเทพเจ้าที่สำคัญคือธอร์ นอกจากจะเป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแล้ว อยากเป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ด้วย  คนที่บูชาเทพเจ้าธอร์คือชาวไร่ชาวนาในชนบท เพราะธอร์เกี่ยวข้องกับฟ้าร้องฟ้าแลบ ทำให้เกิดฝน และจะเป็นเช่นนั้นได้ ธอร์ต้องควงฆ้อนไมโยนีร์ (MJollnir) และเมื่อฝนตกพืชพรรณก็จะเจริญงอกงาม เทพอีกองค์หนึ่งที่น่าสนใจคือ เฟรย์ (Frey) เป็นเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์จากท้องทะเล เป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ดวงอาทิตย์จะส่องแสง เมื่อไหร่ฝนจะตก ผู้คนจะสวดอ้อนวอนเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่บริบูรณ์ และเพื่อการมีลูกหลานด้วย

อารยธรรมแอซเท็ก จะมีพิธีกรรมบูชายัญสุริยเทพ คือ วีตซีโลโพคทลี (Huitzilopochtli) เป็นการบูชายัญด้วยมนุษย์ พวกที่ถูกบูชาคือนักโทษจากสงคราม นักโทษจะถูกจับนอนบนแท่นที่เตรียมไว้ ผู้ทำพิธีจะใช้อาวุธแทงตรงหน้าอกแล้วล้วงหัวใจออกมาบูชาเทพเจ้า ก็เพื่อให้เทพเจ้าพึงพอใจ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

ในประเทศไทย มีพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์คือ พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวจำนวนมาก เพราะแน่นอนว่าข้าวคืออาหารหลักของคนไทยมาแต่ดั้งแต่เดิม  โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้บูชาแม่โพสพ เช่น พิธีกรรมแรกนาหรือพิธีกรรมเริ่มนา  จะมีการตั้งศาลพระภูมิ จะมีการตั้งศาลพระภูมินา เตรียมเครื่องบูชา เครื่องสังเวย อาหารสดอาหารคาว  รวมถึงการสังเวยสิ่งมีชีวิตเช่นไก่ ปลา เครื่องพลี กล่าวคำอ้อนวอนขอให้ทำนาปีนี้เป็นมรรคเป็นผล ไม่ให้เกิดภัยพิบัติ พิธีกรรมเมื่อข้าวตั้งท้อง  พิธีกรรมเชิญข้าวแม่โพสพมาสู่ลานก่อนเริ่มลงมือนวดข้าว  พิธีกรรมการทำบุญลานซึ่งจะทำก่อนขนข้าวขึ้นยุ้ง เป็นต้น

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์นั้นมักผูกพันกับการเพาะปลูกเป็นสำคัญ และมีความสอดคล้องกับความเชื่อมากมาย เอี่ยม ทองดี (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2557, หน้า 129 - 130) ได้วิเคราะห์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของพิธีกรรมดังนี้

1. พิธีกรรมเพื่อบวงสรวงอ้อนวอนเสี่ยงทาย เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ปราศจากภยันตราย สร้างความเชื่อมั่นในการเพาะปลูก เช่นพิธีขอฝน พิธีแห่นางแมว สวดคาถาปลาช่อน วิธีปั้นเมฆ พิธีบุญบั้งไฟ พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้น

2. พิธีกรรมเพื่อการเพาะปลูก แนะนำวิธีการเพาะปลูกโดยเฉพาะ ทำพิธีในช่วงเวลาที่จะลงมือเพาะปลูก เพื่อขอโอกาส ขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมืองสรวง บนบานบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ฝากฝังให้การเพาะปลูกในปีนั้นเป็นไปโดยสวัสดีทั้งคนสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเป็นการแสดงความเคารพต่อแม่โพสพ แม่ขวัญข้าว เช่นพิธีแรกนา พิธีเลี้ยงผีตาแฮก วิธีบูชาภูมินา พิธีแรกดำนา พิธีแรกหว่านนา เป็นต้น

3. พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา เพื่อให้ต้นข้าวหรือพืชพันธุ์เจริญงอกงาม เพื่อป้องกันสตรูพืช และเพื่อแสดงความนอบน้อมต่อข้าวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิธีปักตาเหลว พิธีส่งข้าวบิณฑ์ วิธีไล่นก เป็นต้น

4. พิธีกรรมเพื่อเก็บเกี่ยว เพื่อพืชผลงอกงามได้ผลผลิตจำนวนมาก เช่นพิธีแรกเกี่ยวข้าว พิธีเชิญข้าวขวัญ วิธีทำลาย พิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง พิธีปิดยุ้งเป็นต้น

5. พิธีกรรมเพื่อการเฉลิมฉลอง เพื่อเฉลิมฉลองเมื่อได้ผลผลิต เป็นการสังเวยต่อเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการแก้บน เป็นการขอขมาลาโทษขออโหสิกรรมที่ได้ล่วงเกินสิ่งใดโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จะมีการเลี้ยงเฉลิมฉลองตอบแทนน้ำใจเพื่อนบ้านที่มาร่วมลงมือลงแรงกัน เช่น พิธีบุญคูณลาน พิธีสู่ขวัญข้าว พิธีบุญข้าวจี่ พิธีกวนข้าวทิพย์ วิธีกวนข้าวยาคู พิธีกองข้าว เป็นต้น

ซึ่งสอดคล้องกับ มาลี ไพรสน (2532, หน้า 10-11)  ได้อธิบายวัตถุประสงค์ และยกตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของไทยว่า

1) เพื่อบังคับให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เช่นพิธีแห่นางแมวขอฝน พิธีฟังธรรมปลาช่อน  2) เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอแก่การผลิต เช่นพิธีไหว้ผีฟ้า  3) เพื่อระดมแรงงานใช้ในการผลิต เช่นพิธีไหว้ผีปู่ย่า  ฟ้อนผีเม็ง 4) เพื่อป้องกันภัยเบียดเบียนพืชผลและให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นพิธีแฮกนา พิธีเรียกขวัญข้าว 5) เพื่อตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการบันดาลความอุดมสมบูรณ์ และฉลองชัยในการเอาชนะวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ เช่นพิธีทานข้าวใหม่ ยี่เป็ง ปีใหม่ (สงกรานต์)

จากตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรความอุดมสมบูรณ์ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า เป็นพิธีกรรมที่คาบเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติดั้งเดิมของคนไทย หรือจะเรียกว่าศาสนาดั้งเดิมก็ได้  ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูตผีปีศาจ ผีสางเทวดา ผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่เจ้าทาง รวมถึงพิธีกรรมที่ผสมผสานศาสนาพุทธ ซึ่งคนไทยดั้งเดิมมีความเชื่อว่า ทั่วทุกแห่งนั้นไม่ว่าจะเป็นในน้ำ บนบก บนฟ้า ทุ่งนา ป่าเขาในเมือง ล้วนแต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครอง ถ้า "ไหว้ดีพลีถูก" บูชาให้ผีถูกใจ บูชาให้เทวดาถูกใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจะช่วยดลบันดาลให้เกิดผลผลิตดีได้ นับเป็นการเจรจาต่อรองและพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์ ผี เทวดา สัตว์ พืช ดิน น้ำ และพลังจากธรรมชาติ เช่นฟ้า ฝน แดด  อย่างชาญฉลาดก็ว่าได้

หากจะพูดถึงในแง่จิตวิทยาแล้ว พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์  โดยที่มนุษย์กระทำกิจกรรมบางอย่าง หรือปฏิบัติบางอย่างต่อสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นจะส่งผลทางด้านจิตใจของผู้กระทำพิธีโดยตรง ทำให้เกิดกำลังใจที่ดี นับว่าเป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติให้ดำรงอยู่ด้วยกันแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่นั่นเอง

มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินก็คือตำนานเกี่ยวกับแม่น้ำไนล์อารยธรรมอียิปต์โบราณ เกี่ยวข้องกับเทศ ocs เทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์และความตาย กล่าวคือ

โอซิริส เป็นเทพเจ้าชั้นสูงและเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ เนื่องจากแม่น้ำไนล์ไหลหลาก ช่วยให้พืชพันธุ์ริมฝั่งอุดมสมบูรณ์

โอซิริสถูก เซท น้องชายฆ่าตาย ร่างกายถูกสับออกเป็นชิ้น ๆ แล้วโยนลงแม่น้ำไนล์  มเหสีของโอซิริส ได้เก็บเอาชิ้นส่วนของศพที่ลอยน้ำมาชุบชีวิตขึ้นใหม่ การฟื้นขึ้นใหม่เปรียบกับพืชพันธุ์ริมแม่น้ำไนล์ ที่ล้มตาย สูญหาย ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ทำให้ชาวอียิปต์เชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ เป็นแรงผลักดันทำให้มีการสร้างมัมมี่ และ ปิรามิด โอซิริส ยังเป็นเทพเจ้าที่ทรงคุณงามความดี และยุติธรรม จึงเป็นตุลาการแห่งโลกหน้า วิญญาณของผู้ตาย จะต้องไปเฝ้าเทพโอซิริส

ตำนานดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดิน ที่ชาวพื้นเมืองโบราณเชื่อว่าเกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า หรือเกิดจากการเสียสละของเทพเจ้า

กลับมาที่การเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ที่สำคัญและโ่ด่งดังเกี่ยวกับช่วง คีสมายัน โดยเฉพาะใน Midsommer นั้นมีต้นทางมาจากเรื่องจริงเช่น เฉลิมฉลองเทศกาลหน้าร้อนในเมืองยาคุสตค์ สาธารณรัฐซาฮา ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ ยาคุเทีย การเฉลิมฉลองนี้ถูกเล่าโดย  Rachel Brown ใน National Geographic ฉบับภาษาไทย  เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2019 Brown เล่าไว้ว่า ยาคุสตค์เป็นเมืองที่มีฤดูหนาวอันหฤโหด ในหน้าหนาว อุณหภูมิอาจลดลงถึง –57 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดของโลก แต่ในหน้าร้อน อุณหภูมิจะสูงขึ้นราว 21 องศาเซลเซียส แต่เป็นเมืองที่มีความผูกผันทางด้านภูมิสูงที่สุดในโลกด้วย

ชาวเมืองยาคุตสค์ถือเอาวันครีษมายัน  หรือวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดของปี เป็นวันจัดเทศกาลฤดูร้อน เพื่อเป็นเกียรติ ขอบคุณ ธรรมชาติและและ มีพิธีกรรมขอพรดวงวิญญาณของธรรมชาติให้ช่วยบันดาลในเรื่องต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ จะมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองการเริ่มต้นใหม่เพื่อความอุดมสมบูรณ์

เทศกาลเริ่มต้นด้วยการสวดขอพรจากดวงอาทิตย์ในแท่นศิลากลางแจ้ง ชาวเมืองรวมตัวกันใส่ชุดพื้นเมือง เล่นดนตรีแบบพื้นเมืองและเต้นรำอย่างสนุกสนาน  มีการแข่งกีฬา งานเฉลิมฉลองจะมีไปตลอดคืนก่อนที่จะเฝ้ารอแสงอาทิตย์ของวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดของปี ครอบครัวจะมาพบกัน บรรดาครอบครัว ที่จะมารวมตัวกันกินแพนเค้ก เนื้อม้า ปลาทอด หรือปลาตากแห้ง และคูมิส หรือ นมม้าหมัก

ผู้คนในเมืองยาคุสตค์จะให้เกียรติวิญญาณของธรรมชาติ ในพื้นที่จะไม่มีการทำให้พื้นดินแปดเปื้อน เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการรักษาธรรมชาติ เป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพากัน เพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไป

ย้อนกลับมาที่ภาพยนตร์ Midsommer (2019) และ  The Wicker Man (1973 / 2006) แม้ว่าหลายฉากจะแสดงถึงความโหดร้าย ทารุณ การสังเวย ดูป่าเถือน งมงาย แต่นั่นก็คือความเชื่อและพิธีกรรมที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ การตายที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ ก็เพื่อเปิดทางให้มีการถือกำเนิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดที่เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือการกำเนิดของมนุษย์ ซึ่งหากเราเข้าใจความหมายการสื่อสารและระบบสัญลักษณ์ที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อแล้ว ผมเชื่อว่าจะทำให้เราดูภาพยนตร์แนวนี้สนุกมากขึ้นทีเดียวครับ

วาทิน ศานติ์ สันติ
25 พฤศจิกายน 2562 (แก้ไขปรับปรุงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563)

บทความนี้ ผู้เขียนเรียบเรียงจากการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท สาขาคติชนวิทยา มหาวิทยาลัยรามคําแหง จึงขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านที่อบรมสั่งสอนให้ความรู้แก่ผู้เขียนมา ณ ที่นี้

เอกสารประกอบการเขียน
เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2557). การศึกษาวิถีชีวิตพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์.(2560).  ระบบความเชื่อและศาสนาพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

มาลี ไพรสน.(2532). พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ ของภาคเหนือ : การศึกษาในแง่ความสัมพันธ์ กับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคม. ทุนอุดหนุนการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2532.

Brown, Rachel.  National Geographic ฉบับภาษาไทย.(2019).เฉลิมฉลองเทศกาลหน้าร้อนในยาคุสตค์ เมืองที่หนาวที่สุดในโลก.  สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563 จาก https://ngthai.com/cultures/23061/summerfestivalinyakutsk/

ภาพประกอบจาก imdb.com


หมายเลขบันทึก: 676175เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2021 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท