วิธีการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ


#บทความ #ความเรียง

เรื่อง วิธีการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (8 มีนาคม 2563)

ถ้าคุณได้ไปเยือน เขาปลาร้า อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี จะพบภาพเขียนสี ดึกดำบรรพ์อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นภาพคนแต่งกายพร้อมเครื่องประดับ ยืนกางแขนทำท่าเต้นฟ้อนรำเพื่อติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ด้านข้างมีหมาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าสามารถนำพันธุ์ข้าวมาให้คนเราปลูกกินเป็นอาหารได้

ลายบนกลองมโหระทึกใบหนึ่งอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว พบในเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขียนภาพเรือศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่าใช้ในพิธีกรรมส่งคนตายให้ดวงวิญญาณกับแหล่งเดิมที่บาดาล

หากคุณไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนจัดแสดงห้องศิลปะวัตถุจากต่างประเทศจะพบตะเกียงโรมัน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 6 -7 ขุดพบที่ พงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ตะเกียงหล่อด้วยสำริด ปลายด้านหนึ่งใช้สำหรับจุดไฟ ทรงกลม ด้านบนมีฝาปิดสำหรับบรรจุน้ำมัน ฝาหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) เทพเจ้าแห่งความตาย ผู้เป็นอาจารย์ของของเทพเจ้าดิโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ บนด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์ม และปลาโลมา 2 ตัวหันหน้าชนกัน เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่อยู่ชายทะเล นอกจากนี้ปลาโลมายังเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นคืนชีพและการรอดพ้นจากบาป ปลาโลมาจะบรรทุกดวงวิญญาณของผู้ตาย แล้วพาข้ามน้ำไปสู่ภพหน้าได้ ส่วนใบปาล์มนั้นชาวโรมันเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ แต่ชาวคริสต์รับไปใช้ต่อโดยถือว่าใบปาล์มบอกถึงชัยชนะของผู้ยอมรับโทษทัณฑ์ทรมานเหนือความตาย (จอห์น เฟอร์กูสัน, 2556) เป็นไปได้ว่าตะเกียงนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแห่งความตาย

วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก จึงมีพิธีกรรมสำคัญเกี่ยวกับข้าวมากมาย โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้บูชาแม่โพสพ เช่น พิธีกรรมแรกนาหรือพิธีกรรมเริ่มนา มีการตั้งศาลพระภูมินา เตรียมเครื่องบูชา เครื่องสังเวย อาหารสดอาหารคาว รวมถึงการสังเวยสิ่งมีชีวิตเช่นไก่ ปลา เครื่องพลี กล่าวคำอ้อนวอนขอให้การทำนาปีนี้ได้ข้าวดี ไม่ให้เกิดภัยพิบัติ หรือ พิธีกรรมเมื่อข้าวตั้งท้อง พิธีกรรมเชิญข้าวแม่โพสพมาสู่ลานก่อนเริ่มลงมือนวดข้าว พิธีกรรมการทำบุญลานซึ่งจะทำก่อนขนข้าวขึ้นยุ้ง เป็นต้น

ช่วงก่อนวันหวยออก 1 วัน ที่ศาลแม่นาคพระโขนง วัดมหาบุศย์ กรุงเทพมหานคร หรือที่ศาล "ไอ้ไข่" วัดเจดีย์ไอ้ไข่ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ วัดป่าคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ผู้คนจะนิยมไปจุดธูปบูชา บนบานศาลกล่าวเพื่อขอหวยต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่แห่งนั้นกันอย่างเนืองแน่นตลอดทั้งวันทั้งคืน หวังว่าในอีกวันหนึ่งตามาจะกลายเป็นเศรษฐีดั่งหวังได้ และหากได้ดังหวังจะกลับมาแก้บน

จากกรณีตัวอย่างที่กล่าวไปนั้น เป็นการแสดงถึงความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการจะติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อหวังผลนั่นเอง

สิ่งเหนือธรรมชาติหรือ Supermaturlism คือสิ่งอะไรก็ตามที่อยู่เหนือกว่าธรรมชาติ อยู่เหนือกว่าระบบความคิด ดำเนินไปในโลกทัศน์ ยากต่อการเข้าใจ ยากต่อการเข้าถึง เป็นเรื่องความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่ไม่มีตัวตน มีพลังอำนาจมาก เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจเวทย์มนต์คาถา มีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต หรือสภาพภูมิศาสตร์ เปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน สามารถให้คุณให้โทษได้ มีอำนาจในการแทรกแซงกิจกรรมของมนุษย์ได้ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ เป็นระบบความเชื่อที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์

ยศ สันตสมบัติ (2559, หน้า 281) ได้แบ่งแยกสิ่งเหนือธรรมชาติออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. พลังอำนาจเหนือธรรมชาติ (Supermatural force) เช่นเรื่องของบุญกรรม กฎแห่งกรรม หรือสิ่งของบางอย่างเช่น เครื่องรางของขลัง ก้อนหิน เป็นต้น หรือจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติก็ได้ และ

2. จิตวิญญาณ (spirits) หรือเทพเจ้า (gods) เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ (Supermatural Begings) และยังมีสิ่งเหนือธรรมชาติที่เกิดจากวิญญาณของมนุษย์ที่ตายไปแล้วเช่นผี ปีศาจ เป็นต้น

แต่หากมองในมุมของด้านวิชาการนั้น อี. แอดัมสัน โฮเบล (E. Adamson Hoebel) (อ้างถึงใน เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ และ สุภัทรา บุญปัญญโรจน์, 2560 หน้า 118) นักวิชาการด้านคติชนวิทยา ได้อธิบายถึงความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เราพิจารณาว่าเป็นธรรมชาติ สิ่งที่เราพิจารณาว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติต่างก็มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น ๆ เมื่อวิทยาการเจริญก้าวหน้าขึ้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติก็กลับเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของธรรมชาติไป ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติโดยตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะพิจารณาสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไรและประเมินอย่างไร

อย่างไรก็ตามมนุษย์มีความเชื่อว่าสามารถติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ โดยผ่านพิธีกรรมหรือกระบวนการบางอย่าง สามารถขอความช่วยเหลือสิ่งเหนือธรรมชาติให้ช่วยเหลือมนุษย์ในกิจกรรมบางสิ่งบางอย่างได้ สามารถหยิบยืมหรือนำพลังลึกลับมาใช้งานกับบางสิ่งบางอย่างหรือกับสถานการณ์บางอย่างได้ ให้กำลังใจและความเชื่อมั่นได้ ให้ขจัดภัยพิบัติความเจ็บปวด ขจัดความอยุติธรรม ขจัดความเลวร้ายต่าง ๆ ได้ ซึ่งมนุษย์สามารถติดต่อกับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติได้ด้วยการสวดอ้อนวอนการบนบาน หรือการประกอบพิธีกรรม ส่วนผู้ที่จะทำหน้าที่ติดต่อกับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นจะเป็นรูปแบบของคนกลาง คือ คนทรง (shaman) กับ พระ หรือนักบวช (priest) (ยศ สันตสมบัติ, 2559, หน้า 281)

และหรือ อย่างไรก็ตามในสังคมปัจจุบัน ในบางกรณี เราในฐานะปัจเจกบุคคลก็มีความเชื่อว่าสามารถติดต่อกับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคนกลางอีกต่อไป

บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจพูดถึงสิ่งเหนือธรรมชาติให้เป็นวิชาการจ๋ามากนัก แต่เรามาดูกันดีกว่าว่า ในทางวิชาการฉบับเบา ๆ ผสมกับกรณีตัวอย่างที่เราพบเห็นอยู่ทุกวี่วันนั้น ดังนั้นเราจะมีวิธีการใดบ้างที่สามารถติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ด้วยวิธีการใดได้บ้าง ผู้เขียนขออนุญาตยกตำราเรียนสมัยที่เรียนปริญญาโท สาขาคติชนวิทยา มหาวิทยาลัยรามคําแหง รวมถึงการจดบันทึกระหว่างเรียน และจากตำราของท่านผู้รู้ มาเรียบเรียงในครั้งนี้ สามารถอธิบายวิธีการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติดังนี้

แอนโทนี วอลเลช (A. Wallace) (อ้างถึงใน ยศ สันตสมบัติ, 2559, หน้า 286 - 287) ผู้ที่ศึกษารูปแบบการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกเสนอว่ามีวิธีการติดต่ออยู่ประมาณ 12 วิธีด้วยกัน ซึ่งในแต่ละวิธีนั้นผู้เขียนได้ขออนุญาตยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนไว้ด้วย

1. การสวดมนต์ เป็นกิจกรรมของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม มีการเขียนบทสวดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับพฤติกรรมต่าง ๆ ข้อนี้เราเห็นได้ชัดถึงการสวดมนต์ในศาสนาพุทธ ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญครบรอบ หรืองานศพเป็นต้น รวมถึงการสวดมนต์ในศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาอิสลาม บทสวดบางอย่างเชื่อว่าถ้าสวดให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติจนเกิดความพึงพอใจแล้ว จะมีผลดีตอบกลับมาเช่น บทสวดช่วยให้ค้าขาย โดยมีคำพูดเกี่ยวกับอวัยวะเพศและคำหยาบคาย หรือบทสวดเกี่ยวกับการขอโชคลาภวาสนา โดยมีคำพูดที่มีแต่ความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้บทสวดและท่วงทำนองของบทสวดมนต์นั้นส่งผลต่อจิตใจ สภาวะทางอารมณ์ และความสงบของผู้สวด เพื่อให้เข้าถึงฌานได้ง่าย เช่นการสวดมนต์ของลามะในทิเบต เป็นต้น

2. การร้องเพลง เต้นรำ หรือการใช้เครื่องดนตรีขับกล่อม เป็นการสร้างความพึงพอใจให้แก่สิ่งเหนือธรรมชาติ ขอยกตัวอย่างเช่นวิธีการรำบวงสรวงสืบศรัทธาหน้าอนุสาวรีย์ ฉลองพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์ หรือ การรำบวงสรวงหน้าอนุสาวรีย์ เจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น ซึ่งจะมีการขับร้อง การร่ายรำ และการใช้เครื่องดนตรีประกอบ เชื่อว่าถ้าประกอบพิธีกรรมที่ถึงพร้อม จะสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ้านแก่เมืองได้ หรือในแวดวงการบันเทิงที่เป็นข่าวโด่งดัง ที่เหล่าดาราออกมารำแก้บน หลังจากประสบความสำเร็จในด้านรายได้ของภาพยนตร์ที่ตนแสดง เพราะเชื่อว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นเกิดจากอำนาจของสิ่งเร้าธรรมชาติ เช่น วันที่ 12 เมษายน 2556 "ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่" นางเอกสาวจากภาพยนตร์เรื่อง "พี่มาก พระโขนง" เดินทางรำระบำศรีวิชัยแก้บนถวายย่านาค ที่วัดมหาบุศย์ หลังจากที่ผู้เป็นแม่แอบบนกับแม่นาคขอให้ภาพยนตร์กวาดรายได้ทะลุ 300 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์, 2556) หรือวันที่ 12 กันยายน 2561 สองนางเอกสาว "แต้ว ณฐพร" และ "ญาญ่า อุรัสยา" รำบวงสรวงต่อหน้าศาลพ่อปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมา ที่ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี เพื่อถวายหลังจากที่ละครประสบความสำเร็จจากภาคแรก และเป็นการเปิดกล้องในภาค 2 (โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์, 2561) หรือ ล่าสุด วันที่ 14 ธันวาคม 2562 ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต นำทีมนักแสดงจากภาพยนตร์ ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค ที่สามารถทำรายได้กว่า 200 ล้านบาท มาจากที่ ปิงปอง ธงชัย แอบไปบนกับแม่นาคที่วัดมหาบุศย์ไว้ว่า ถ้าหนังได้เงิน 100 ล้านก็จะมารำแก้บน (ไทยรัฐ ออนไลน์, 2562)

3. การใช้ยาหลอนประสาทหรือการทรมานตนเองให้เข้าถึงดวงวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้ผู้ประกอบพิธีจะใช้ สารบางชนิดที่มาจากพืชเช่นกระบองเพชรบางชนิด หรือเห็ดบางชนิดที่มีสารหลอนประสาท ทำให้หมดความรู้สึกเพื่อทำให้เกิดความสงบ ความรู้สึกสบายใจสามารถเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ง่ายซึ่งเป็นที่นิยมของวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลายท้องถิ่น ในที่นี้ก็ขอยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 300 ที่ชาวสปาต้าได้ให้หมอผีเข้าทรงเพื่อทำนายยก่อนจะทำสงครามกับชาวเปอร์เซีย หมอผีหรือร่างทรงที่เป็นผู้หญิงในเรื่องนั้นได้สูดดมควันบางอย่างเข้าไปจนทำให้เหมือนคนมีอาการหลอนทางประสาท ล่องลอย ขาดสติสัมปชัญญะ ก่อนที่จะพูดถึงผลการทำนายผลการรบ

4. การเทศน์ ในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม เชื่อว่านักบวช หรือผู้นำทางศาสนาที่ทำการเทศน์ พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาสถิตอยู่กับตัวนักบวชหรือผู้นำทางศาสนานั้น ผู้ฟังการเทศน์จึงเป็นการฟังพระวาจาของพระเจ้าโดยผ่านนักบวชหรือผู้นำทางศาสนา รวมถึงในศาสนาพุทธเชื่อว่าการฟังเทศน์ฟังธรรมจะสามารถทำให้เมื่อตายไปแล้วอยู่ในภพภูมิที่ดีได้ เช่นการได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์

5. การถือศีลหรือการปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีศีล มีจิตใจที่บริสุทธิ์เป็นที่โปรดปรานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เช่นในศาสนาพุทธเชื่อว่าหากได้บวชและรักษาศีล 227 ข้อ เมื่อตายไปแล้วจึงจะไปสู่ในภพภูมิที่ดีได้ ทั้งยังสามารถพาพ่อแม่ไปสู่สวรรค์ได้อีกด้วย ส่วนในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามเชื่อว่าหากปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนาได้อย่างเคร่งครัด ในวันพิพากษาจะสามารถไปอยู่ในดินแดนของพระเจ้า ส่วนในศาสนาพราหมณ์ หากปฎิบัติดี ปฏิบัติตามหลักศาสนา เมื่อสิ้นชีวิตลงโดยวิญญาณจะสามารถไปรวมกับดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ หรือ ปรมาตมัน ได้

6. การใช้เวทมนตร์ คาถา อาคม หมายถึงการทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ความสิริมงคลได้ การรักษา หรือแม้จะทำให้เกิดความอัปมงคลได้ เช่นการสร้างสิ่งของอาถรรพ์ของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการบริกรรมคาถากำกับเสมอ เพราะเชื่อว่าคาถาบทสวดนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถสร้างอิทธิฤทธิ์ให้กับสิ่งของอาถรรพ์ได้ การรักษาอาการเจ็บป่วยโดยใช้ยากลางบ้าน ยาจากสมุนไพร จะต้องมีการบริกรรมคาถากำกับด้วยเสมอ ยาเป็นสิ่งที่รักษาอาการบาดเจ็บทางกาย แต่คาถาเป็นยาที่ใช้รักษาอาการบาดเจ็บทางใจ เป็นการเสริมแรงรักษาซึ่งกันและกัน

7. การใช้เครื่องรางของขลัง หรือ มานาหรือตาบู เชื่อว่าพลังอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถแฝงอยู่ในสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น เครื่องรางของขลัง สิ่งของอาถรรพ์ พระเครื่อง เทวรูป ไม้กางเขน เหรียญ ก้อนหิน ก้อนกินอาหาร เขาสัตว์ หนังสัตว์ กระดูกสัตว์ เป็นต้น เชื่อว่าสามารถทำให้เกิดผลทางด้านดีและด้านร้ายได้

8. การกินเลี้ยงเฉลิมฉลอง เช่นการทำพิธีบูชามิสซาในศาสนาคริสต์เพื่อระลึกถึงอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูและเหล่าสาวก หรือ พิธีศีลมหาสนิท เป็นแสดงถึงการร่วมสนิท หรือรับเอากับพระเยซูมาไว้กับตนเอง โดยการรับประทานขนมปัง อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระกาย และไวน์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระโลหิต หรือการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนผีตามสุสานต่าง ๆ ที่รายการวิทยุเล่าเรื่องผี "The Shock" จัดโดย กพล ทองพลับ ที่กระทำต่อกันทุกปี เชื่อว่าเป็นการทำบุญให้ผีไม่มีญาติ เป็นการตอบแทนที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในรายการ

9. การทำพิธีบูชายัญ สังเวยอาหารหรือสัตว์เลี้ยงแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่นการสังเวยไก่ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างกระต่าย เวลาลงเสาเอกบ้านใหม่หรือตั้งศาลพระภูมิ สังเวย แพะ แกะแแด่เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือพิธีอัศวเมธ เพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระราชาธิราชในวรรณคดีอินเดีย โดยจะทรงปล่อยม้าอุปการพร้อมทั้งกองทัพให้เข้าไปยังรัฐต่าง ๆ ถ้ารัฐใดไม่ยอมอ่อนน้อม กองทัพจะเข้าโจมตี เมื่อครบ 1 ปีแล้วกองทัพก็ยกกลับพร้อมทั้งพระราชาที่ถูกปราบ พระราชาธิราชก็จะจัดพระราชพิธีโดยฆ่าม้านั้นบูชายัญ หรือความเชื่อหนึ่งที่เป็นข่าวโด่งดังสะเทือนขวัญในสังคมไทยเมื่อปี 2547 เกิดขึ้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี หญิง 4 คนเป็นพี่น้องกันร่วมสวดบริกรรมคาถาที่ฟังไม่ได้ศัพท์หน้าโต๊ะหมู่บูชา หนึ่งในนั้นอ้างตนว่าเป็นร่างทรงสามารถติดต่อกับพระอินทร์ได้ ได้ทำการฆ่าเด็กหญิงวัย 12 ที่เป็นลูกหลานของตนเองด้วยการปาดคอ เพื่อทำพิธีปลดปล่อยดวงวิญญาณให้พระอินทร์ดูแล เชื่อว่าเด็กคนนี้นำความชั่วร้ายติดตัวมาด้วย มีการตัดผมของเด็กไปแช่น้ำ นำเสื้อผ้าและที่นอนไปเผา เชื่อว่าเป็นการส่งวิญญาณให้ไปสู่สุคติ ช่วยให้โลกสว่างไสวขึ้น อย่างไรก็ตามพี่นอนทั้ง 4 คนมีอาการผิดปกติทางจิต (คมชัดลึกออนไลน์, 2563)

10. การรวมกลุ่มเพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกัน เช่นการชุมนุมกันในเวลาประกอบพิธีการบูชาบางอย่าง เช่น การชุมนุมของร่างทรงในพิธีไหว้ครูเทพเจ้าอินเดีย การชุมนุมในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ การดนตรี การช่าง หรือในฝ่ายตะวันตก เช่น "แม่มด" จะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาซาตานหรือปีศาจเรียกว่าพิธี ซับบาท (Subbats หรือ Subbath) พิธีนี้เป็นพิธีกรรมที่ล้อเลียนพิธีกรรมในศาสนาคริสต์ เป็นพิธีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์อย่างชัดเจน ผู้คนที่นิยมเรื่องราวและหลงใหลเกี่ยวกับปีศาจจะมาชุมนุมกัน ผู้คนที่มาชุมนุมล้วนแต่เป็นหญิงล้วน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเธอก็คือ "แม่มด" เป็นการชุมนุมในที่ลึกลับในป่าลึก พวกเธอประกาศเลิกศรัทธาในศาสนาคริสต์หันมาบูชาปีศาจหรือซาตาน มีการใช้สัญลักษณ์ดาว 5 แฉกในการประกอบพิธี มีการประกอบอาหารบนกองไฟ อาหารจะมีรสชาติบูดเน่าเหม็น หลังจากกินเลี้ยงจะมีการเต้นรำ มีกิจกรรมทางเพศที่สื่อออกมาในรูปแบบของการราคะ มีการขูดขีดอักขระบนร่างกาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการเป็นสมาชิกของ "แม่มด" หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือพิธีการชุมนมในเทศกาลนวราตรีที่จัดในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นวิธีบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี พระชายาของพระศิวะ เป็นช่วงเวลาของเทศกาลดูเซร่า หรือนวราตรี ของชาวพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นงานแห่พระแม่อุมา เชื่อว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์

11. การเข้าทรงเพื่อติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยตรง ตัวอย่างนี้มีเห็นอยู่มากในสังคมไทย เช่นกันเข้าทรงเทพเจ้าจีนในช่วงเทศกาลกินเจ การเข้าทรงเทพเจ้าฮินดู หรือเทพไทย หรือเจ้าท้องถิ่นเพื่อช่วยในการรักษา ทำนายทายทัก หรือการเข้าทรงเพื่อรำผีฟ้าของทางภาคอีสานเพื่อช่วยในการทำนายทายทัก รักษา การหาสัตว์หรือสิ่งของ โดยเฉพาะในช่วงพักหลังมานี้สังคมไทยมีการเข้าทรงที่มีความหลากหลายมากขึ้นเช่น ร่างทรง “พ่อปู่ไบรอัน” ไบรอัน โอคอนเนอร์ พระเอกเอกชื่อดังผู้ล่วงลับจากภาพยนตร์ เรื่อง Fast & Furious ร่างทรง “โดเรมอน” ตัวละครหุ่นยนต์สีฟ้า ที่มีกระเป๋าหน้าท้องใส่ของวิเศษ และหรือร่างทรงไจแอนท์ สองตัวละครอันโด่งดังจากการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น หรือ ร่างทรง “เจ้าแม่ผีเสื้อสมุทร” ตัวละครจากวรรณคดี พระอภัยมณี เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าตัวละครเหล่านี้มีพลังอำนาจพิเศษบางอย่างที่เหนือมนุษย์คนธรรมดาสามัญ และด้วยความสามารถพิเศษเฉพาะตัวบางอย่างจะสามารถดลบันดาลให้ส่งผลเฉพาะทางได้

12. การใช้สัญลักษณ์บางอย่าง เช่นพระพุทธรูป เหรียญ สายประคำ นำมาพกติดตัวไว้เพื่อให้เกิดความมั่นใจและรู้สึกว่าใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า จะสามารถช่วยให้ ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลาย อย่างเช่นความเชื่อเรื่องพระเบญจภาคี หากใครมีครบจะแสดงถึง บารมี ยศฐาบรรดาศักดิ์ โชคลาภ วาสนา อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม หรือแม้แต่การสักอักขระเลขยันต์บนผิวหนัง เพื่อให้เกิดการอยู่ยงคงกระพันชาตรี เพื่อให้เกิดการแคล้วคลาด เมตตามหานิยม เป็นต้น

แคลรอล อาร์. เอมเบอร์ และเมลวิน เอมเบอร์ (อ้างถึงใน เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ และสุภัทรา บุญปัญญโรจน์, 2560, หน้า 137 - 141) ได้อธิบายถึงการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติว่าได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นปัญหาที่เป็นสากล วิธีการเหล่านี้ใช้ได้ในทุกศาสนาทั่วโลกแต่ไม่จำเป็นต้องใช้ด้วยกันทั้งหมด มี 12 วิธี ประกอบด้วย (ซึ่งผู้เขียนขออธิบายขยายความต่อท้ายดังนี้)

1. การสวดมนต์ (Prayer) จะเป็นกิจกรรมที่ทำแบบปัจเจกบุคคลหรือการรวมกลุ่มกันสวดมนต์โดยใช้ภาษา การใช้ท่าทาง ท่าที ทัศนคติ หรือน้ำเสียง แบบแผนของคำพูดมากเป็นแบบเก่าโบราณ จัดในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัวก็ได้ เพื่อเป็นการขอร้องหรือเรียกร้องจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

2. การเล่นดนตรีหรือการขับร้อง (Music) เพื่อเป็นการขับกล่อมให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดปราน มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ตลอดจนการร่ายรำ ใช้ได้ทั้งงานบุญ งานกุศลไปจนถึงงานที่เกี่ยวกับความตาย

3. การใช้ประสบการณ์ทางสรีระ (Psychological Experience) คือการทรมานตนเองเพื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักมีการใช้ยาจากพืชบางอย่างที่มีสารหลอนประสาท เพื่อทำให้หมดความรู้สึกสามารถควบคุมกิเลสราคะได้ รวมถึงวิธีการทรมานตนเองเช่นการทุบตี การใช้เหล็กทิ่มแทงเข้าไปในผิวเนื้อ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

4. การให้คำตักเตือนโดยการสั่งสอน (Exhortation or preaching) เป็นการเทศน์สั่งสอน ให้บุคคลทำตาม ผู้สั่งสอนจะต้องเป็นบุคคลที่มีบทบาทและความที่สามารถสื่อสารหรือเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

5. การอ่านบรรยายประมวลบางประเภท (Reciting The code) ในที่นี้หมายรวมถึงกฎหมาย ประมวลหลักศีลธรรม ประมวลหลักจริยธรรม รวมไปถึงการเล่าเรื่อง เกี่ยวกับนิทานปรัมปรา ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

6. การเลียนแบบ (Simulation) เกี่ยวข้องกับการใช้เวทมนต์คาถามักใช้กระทำต่อผู้อื่นเช่นวัฒนธรรมวูดู ของชาวแอฟริกัน เช่นกันทำตุ๊กตาเลียนแบบมนุษย์ (voodoo dolls) กระทำการบางอย่างกับตุ๊กตาตัวนั้น เช่นใช้เข็มทิ่มแทง หักแขน ขา เผาไฟ หวังให้มนุษย์ผู้นั้นเจ็บปวดและมีอาการเหมือนตุ๊กตา

7. มานาหรือตาบู (Mana/Taboo) มานาคือพลังอำนาจบางอย่างสามารถแฝงอยู่ในสิ่งของที่สามารถแตะต้องได้ ส่วนตาบูคือสิ่งของนั้น ๆ ที่เป็นอาถรรพ์ จะมีผลต่อมนุษย์ตามแต่พลังของสิ่งของนั้น ๆ

8. การจัดเลี้ยงเฉลิมฉลอง (Feasts) การกินเลี้ยงบางมื้อของมนุษย์ถือว่าเป็นมือที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นพิธีศีลมหาสนิทของศาสนาคริสต์ หรือการกินเลี้ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิธีการเฉลิมฉลองหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ในสังคมของชาวอะบอริจิน ออสเตรเลียมีการห้ามไม่ให้กินสัตว์ที่เป็นโทเทม (totem) หรือคจิการกินเนื้อมนุษย์ที่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมดวงวิญญาณของมนุษย์ที่กินไม่ให้มาหลอกหลอน หรือได้พลังจากผู้ตาย เป็นต้น

9. การสังเวย (Sacrifices) หรือการทำพิธีบูชายัญ เพื่อมอบสิ่งของบางอย่างให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้อาหารเครื่องดื่ม ชีวิตของคนหรือสัตว์ หรือแม้แต่การร่วมเพศ หรือการงดเว้นการร่วมเพศ ก็เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกใจ

10. การชุมนุมกัน (Congregation) เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างอันเป็นข้อปฏิบัติของสังคม เพื่อประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมสำคัญทาง ศาสนาที่ตนนับถือ เช่นกันรวมกลุ่มกันเวียนเทียนในวันเข้าพรรษาของชาวพุทธ เป็นต้น

11. การดลใจ (Inspirational) เป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติมาติดต่อกับมนุษย์ ทำให้สามารถชักจูงทางความคิด ชักจูงทางการกระทำบางสิ่งบางอย่างได้

12. สัญลักษณ์นิยม (Symbolism) เป็นการใช้สิ่งของบางอย่าง ที่เป็นตัวแทนทางความเชื่อ ทางศาสนาเช่น รูปภาพ รูปเคารพ รูปสลัก รูปหล่อ หน้ากาก ก้อนหิน สิ่งของจากสัตว์เช่นกระดูก เปลือกหอย มนุษย์จะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นตัวแทนในการเคารพ บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของศาสนานั้น ๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการเชื่อมโยงบุคคลให้เข้ากับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีก็คือ การยกสถานะของผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ให้เปรียบเสมือนเทวดา หรือพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรารู้จักกันดีในฐานะลัทธิเทวราช หรือคติสมมติเทวราช หรือเทวราชา พระมหากษัตริย์คือองค์อวาตารของมหาเทพหรือพระโพธิสัตว์นั่นเอง ซึ่งคติความเชื่อดังกล่าว คนไทยได้รับถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรมขอมเป็นสำคัญ

สำหรับสังคมไทยนั้น เปรียบพระมหากษัตริย์มีสถานะเสมือนสามมหาเทพสำคัญของศาสนาพราหมณ์ฮินดูคือ พระนารายณ์ พระศิวะ พระพรหม และพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธ ซึ่งพระนามของพระมหากษัตริย์นั้นมักจะมีพระนามของเทพเจ้า หรือพระโพธิสัตว์อยู่ในพระนามด้วยเสมอ พิธีกรรมที่สำคัญที่ทำให้ยกสถานะของพระมหากษัตริย์ เสมือนมหาเทพหรือพระโพธิสัตว์ก็คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ การได้รับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภค ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความสลับซับซ้อน จากนั้นการใช้คำพูดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถใช้คำสั่งของบุคคลธรรมดาทั่วไป จะต้องใช้คำราชาศัพท์เฉพาะ ข้าวของเครื่องใช้ รถ ราชยาน ที่อยู่อาศัย ต่าง ๆ ก็จะมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เลยสื่อถึงสัญลักษณ์ของเทพเจ้าเป็นสำคัญ

แคทรียา อังทองกำเนิด (2562, หน้า 339) กล่าวถึงคติดังกล่าวว่า "ความคิดเรื่องการอวตารมีปรากฏในสังคมภูมิภาคนี้มาอย่างช้านานแล้วดังจะเห็นได้จากหลักฐานในจารึกสมัยสุโขทัย... เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เดิม ดังนั้นลักษณะความคิดเรื่องการอวตารของไทยจะมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือมีการผสมผสานทางความคิดระหว่างศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาหล่อหลอมรวมเข้าด้วยกัน ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ในฐานะทั้งองค์อวตาร และพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ"

จากที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า นับตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่อยู่เคียงข้างกันตลอดมาก็คือความไม่มั่นใจ รวมถึงการไม่เข้าใจธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความมั่นใจก็คือ เรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติ และวิธีการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นมีมากมายหลายวิธีการ เมื่อมนุษย์สามารถติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้แล้ว มนุษย์ก็จะมีความมั่นใจสามารถทำงาน ทำการเกษตร ประกอบอาชีพ สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ แล้วถ้าหากว่ามนุษย์สามารถเป็นส่วนเดียวกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ ก็สามารถนำความเชื่อนั้นไปใช้ในการปกครองได้ด้วยเช่นกัน

#เอกสารประกอบการเขียน

แคทรียา อังทองกำเนิด. (2562). อาร์คีไทพ์อวตาร ปรากฏการณ์ทางเทพปกรณัมในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

จอห์น เฟอร์กูสัน. (2556). เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสต์ศิลป์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์

ยศ สันตสมบัติ. (2559). มนุษย์กับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2550). ศิลปะสุวรรณภูมิ. กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ และสุภัทรา บุญปัญญาโรจน์. (2560). ระบบความเชื่อและศาสนาพื้นบ้าน. กรุงเทพมหานค: มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

คมชัดลึก ออนไลน์. (2563). "ฆ่า...บูชาพระอินทร์ทางออกสังคม "หลอน". ค้นเมื่อ 23 มกราคม 2563, จาก https://www.komchadluek.net/ne...

โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์. (2561). "สะกดทุกสายตา! “แต้ว-ญาญ่า” นำทีมรำบวงสรวงพญานาค เปิดตัว "นาคี 2". ค้นเมื่อ 23 มกราคม 2563, จาก https://www.posttoday.com/ent/...

โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์. (2556) ""ใหม่-ดาวิกา"รำแก้บนหนังโกยเงินเกินคาด" ค้นเมื่อ 23 มกราคม 2563, จาก https://www.posttoday.com/ent/...

ไทยรัฐ ออนไลน์. (2562). "ชมพู่ อารยา นำทีมตุ๊ดซี่ส์แต่งสวย รำแก้บนย่านาค แต่คนกลับโฟกัสที่น้องพายุ (คลิป)" คนเมื่อ 23 มกราคม 2563, จาก https://www.thairath.co.th/ent...

หมายเลขบันทึก: 676173เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท