การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้ถูกทางกับการศึกษาเรียนรู้


                     การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้ถูกทางกับการศึกษาเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือทันสมัยต่างๆ ให้เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษาและประชาชนทั่วไป คือ นักศึกษาของผมจากหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขกลุ่มหนึ่งเขาได้เกิดความคิดว่าเขาอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับอาทรเสวนา ก็เหมือนกับการเสวนาแบบเอื้ออาทร หรือ สุนทรียะสนทนา เขาอาจจะมีความเห็นว่าวันนี้สังคมเรามีเรื่องความขัดแย้งกันมากมาย แต่ว่าสิ่งที่เขาจะทำเป็นการเอื้ออาทรผ่าน Social Media ซึ่งก็เข้ากับกระแสยุคเทคโนโลยี หรือยุคดิจิตอล ซึ่งนักศึกษาเขาคิดโครงการนี้ขึ้นมาและเริ่มได้ทำไปแล้ว เขาก็พยายามจะพูดคุยเปิดประเด็นกันว่ามีเรื่องอะไรที่สำคัญบ้าง 


                      ในตอนนั้นเขาเห็นว่ามีเรื่องความขัดแย้งจากเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ควรนำมาเริ่มต้น ก็เลยเอาประเด็นนี้ก่อนโดยมีการแสดงความคิดเห็นหรือมีวิทยากรรับเชิญมาพูดก็สรุปนำมาลงในเว็บไซด์ ที่ชื่อว่า peacetalk.in.th เป็นเว็บไซด์ที่เปิดโอกาสให้พูดคุยกันอย่างสันติ และเว็บไซด์เชื่อมโยงกับ facebook ด้วย เมื่อมีคนมาโพสต์ข้อความอย่างเช่น ทำไมจึงเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็จะมีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันซึ่งเป็นการพูดคุยที่สร้างสรรค์และเอื้ออาทรต่อกันไม่ว่ากล่าวให้ร้ายกัน มีอะไรก็สามารถคุยกันได้โดยใช้เทคโนโลยี facebook นอกจากนี้ เนื่องจากในทุกวันนี้มีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่มีคนคิดและให้เราได้ใช้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น google ผมใช้ googlegroups.com ยกตัวอย่างผมจะใช้เครื่องมือนี้พูดคุยกับนักศึกษา 4ส. ในรุ่นที่ 1 ผมก็จะตั้งกลุ่ม email เป็น [email protected] เวลาที่ใครมีความคิดเห็นอะไรเขาก็จะมาโพสต์ข้อความใส่ไว้ในช่องทางนี้ ทุกคนที่อยู่ในรุ่นก็จะเห็นกันหมด ผมใช้ googlegroups สำหรับสื่อสารกับนักศึกษาทั้งหมดในแต่ละรุ่นๆ อีกเครื่องมือหนึ่งคือ facebook ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ เพราะถ้าเขียนข้อความยาวๆ ใน facebook จะไม่น่าอ่าน แต่ถ้าต้องการเขียนข้อความยาวๆ ก็จะเขียนลงใน Blog เช่น Blog gotoknow, Blog oknation ใช้สำหรับเขียนข้อความยาวๆ แล้วเราสามารถใส่รูปภาพประกอบได้ แล้วเราค่อยโพสต์ลิงค์ของหน้า Blog ที่ facebook เพื่อเข้าไปอ่านข้อความจาก Blog ที่เราเขียนไว้ได้ เช่นเดียวกับ Twitter และ Line ก็จะใช้ส่งข้อความแบบสั้นๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันซึ่งเราสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายด้าน 


                        ผมได้รับเชิญจากสถาบัน เดล คาร์เนกี ของประเทศไทย ให้ไปเข้าร่วมงานฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปี ซึ่งเขาได้มีการใช้เครื่องมือดิจิตอลมาผสมผสานเรียกว่า Digital Age เขาเชิญคนมาร่วมที่หลากหลายมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าเราใช้เครื่องมือไอทีอะไรบ้าง ซึ่งคุยไปคุยมากลับกลายเป็นว่า ผมใช้เครื่องมือสื่อสารมากมายกว่าเขามาก แต่ผมอยากจะให้ข้อสังเกตและข้อระมัดระวังไว้ก็คือ ใครที่ใช้มือถือ ใครที่ใช้ส่งข้อความจากมือถือ หรือเปิดอินเตอร์เน็ตจากมือถือหรือ Ipad ในรถต้องระมัดระวังให้มาก เท่าที่สอบถามจากตำรวจ รถชนกันมากก็เพราะใช้อุปกรณ์เหล่านี้บนรถขณะอยู่บนท้องถนน จากแต่ก่อนที่เรายังไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาก็มีรถชนกันมากอยู่แล้ว แต่หลังมีอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามา ก็ทำให้ยิ่งมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นไปอีก นี่ก็อยากให้เป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ เหล่านี้ นอกจากเรามีเครื่องมือแล้วตัวเนื้อหาสาระที่เราจะขีดเขียนลงไปซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง มีนักศึกษาของผมคนหนึ่งคือ คุณติ๋ม ทีวีพูล ก็ได้ให้ข้อคิดในการเขียนข้อความว่าควรจะเขียนอย่างไร ซึ่งการเขียนข้อความอย่าไปเขียนให้ยุ่งยากหรือยาว เพราะสมาธิของคนเดี๋ยวนี้สั้นมากเลย เวลาที่ผมเจอคนที่เขียนข้อความในเว็บแบบยาวๆ สองสามหน้าแบบนี้ ผมไม่อ่านเลย เขาแนะนำว่าให้เขียนประเด็นให้ชัดๆ แล้วเขียนเว้นวรรค ย่อหน้าเป็นช่วงๆ เพื่อให้น่าอ่านและอ่านง่าย หากย้อนไปแต่ก่อนเรามีการเรียนเรื่องการเขียนเรียงความ การสรุปความ เดี๋ยวนี้ไม่มีเรียนแล้ว สมัยตอนที่ผมเรียนปริญญาโทผมอ่าน Text book เล่มหนาๆ เล่มหนึ่งแล้วผมนำมาสรุปให้เหลือหนึ่งหน้า A4 เพื่อใช้สำหรับอ่านเชื่อมโยงทั้งหมดในเล่มว่ามีรายละเอียดโดยสรุปอะไรบ้าง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากเป็นข้อความที่จะต้องถูกเขียนลงไปตามสื่อ อย่างที่ได้เรียนไปตั้งแต่ข้างต้นแล้วหากเราต้องการเขียนลงใน Blog, Facebook หรืออาทรเสวนาตามสื่อต่างๆ เหล่านี้ เดล คาร์เนกี ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเขียนลงในสื่อต่างๆ ไว้คือ 
  1. ไม่เขียนโจมตีผู้อื่นหากใครเขียนอะไรแล้วไม่ถูกใจเรา ผมข้อยกตัวอย่างเวลามีใครเขียนอะไรแล้วไม่ถูกใจเรา ไม่ใช่เราโจมตีโดยเขียนข้อความตอบกลับเขาไปเลย มันจะทำให้เกิดความโกลาหลพอสมควรในการโต้ตอบกลับไปกลับมา ผมจะใช้วิธีการเงียบและสดับตรับฟัง ติดตามดูว่าเขาคิดยังไง ผมจะไม่โจมตีเขา แต่รู้ว่าเขามีความคิดอย่างไร และอีกประการหนึ่งที่ผมทำก็คือ จะไม่บอกว่า “โอ้ย ความคิดของคุณนี้มันผิดนะ” ผมจะไม่เอาตัวเองไปตัดสินความคิดของคนอื่นเด็ดขาด เป็นสิ่งที่เขาจะรับรู้ด้วยตัวของเขาเอง ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญและต้องระมัดระวังเวลาที่เราจะโจมตีอะไรคนอื่น แต่ถ้าหากว่าจะเขียนชมคนก็สามารถเขียนได้ แต่ต้องไม่ใช่เขียนแบบยกย่องสรรเสริญเยินยอจนเกินไป
  2. รับ Add เป็นเพื่อนใน Facebook เฉพาะคนที่อยากจะสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราเท่านั้น เวลาที่ผมใช้ Facebook มักจะมีคนมาขอ Add เป็นเพื่อนด้วย ผมก็มักจะรับ Add หมด แต่ผมจะคิดในแง่บวกว่าคนทั้งหมดที่เข้ามาขอ Add กับเราเขาไปอ่านข้อความของเรา แล้วเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากจะได้และอยากจะแลกเปลี่ยนตรงนี้ด้วย ผมก็จะรับ Add เข้ามา แต่ก็จะมีบางคนที่ใช้ช่องทางของเราเป็นการโฆษณาสินค้า หรือพยายามจะประชิดตัวเราถามบ้านถามโทรศัพท์ ถามโน่นถามนี่ในตัวเราอันนี้ไม่ใช่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แน่ ผมก็ต้องยอมตัดใจที่จะต้องลบคนนี้ออกไปเลย ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นเครื่องมือของเขาไป
  3. อย่าใช้วิธีการเขียนโจมตีคนอื่นในบอร์ดสาธารณะ อีกประการหนึ่งคือ อย่าใช้วิธีการเขียนโจมตีคนอื่นในบอร์ดสาธารณะ โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก เพราะว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะไม่เข้าใจอะไรเราเลย หากเราไปพูดอะไรที่โจมตีเพียงเล็กน้อยก็จะกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตได้เลย
  4. ให้ความสนใจผู้อื่นด้วย หากเราต้องการให้คนอื่นมาสนใจข้อความของเรา เราก็ต้องให้ความสนใจผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้ผู้อื่นสนใจเราอย่างเดียว ในการใช้สื่อดิจิตอลทำให้สื่อสารได้อย่างรวดเร็วและถูกกว่าด้วย วันนี้เราสามารถใช้สื่อดิจิตอลในการส่งเอกสารได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นยกตัวอย่างเวลาที่เราจะไปดูงานที่ต่างประเทศหรือที่ต่างจังหวัดจะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการพูดคุยแลกเปลี่ยนและส่งข้อมูลไปได้อย่างรวดเร็วมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา การสื่อสารทำได้ช้ากว่านี้มาก ตอนนี้โลกจะเร็วขึ้น เร็วจนเหมือนคนทั้งโลกมาอยู่ร่วมกันหมดเลยด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มีคนเคยมาโพสต์ใน Facebook ของผมเกี่ยวกับคำพูดของหลวงปู่ชา “ใครเขาจะนินทาว่าเรา ถ้าเผื่อไม่ใช่เรื่องจริงก็นิ่งเสีย ถ้าเผื่อเป็นเรื่องจริงก็ให้ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง” ผมว่าเป็นข้อคิดที่ดีนะ ถ้าหากไม่ใช่เรื่องจริงก็ไม่ต้องออกมาปกป้องให้นิ่งเสีย ใครจะพูดสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเขาก็ต้องหยุดเองเพราะมันเป็นเรื่องไม่จริง ผมว่าหลวงปูชาให้ข้อคิดตรงนี้ไว้ดีพอสมควร ผมก็คิดว่าเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องที่จะไปพูดสอนใครไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเรื่องที่ถูกฝังลึกอยู่จิตใจคนหมดแล้ว ซึ่งฝังลึกจนเป็นค่านิยมที่แตกต่างกัน เป็นค่านิยมที่ไม่เอากันเลย แล้วก็เป็นค่านิยมที่แก้ยากและต้องใช้เวลานาน ความขัดแย้งทางการเมืองของเรามันถูกต้องย้ำ ถูกให้ร้าย ถูกโจมตีกันเยอะแยะมากมายจนหาทางออกไม่ได้ แต่ในขณะที่มองหาทางออกไม่ได้ ก็พอเห็นช่องทางออกบ้าง เหล่านี้น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ในอนาคตที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผมก็มีความเชื่ออย่างนี้

    ผมเคยเข้าไปดูเรื่องที่น้องนักวิชาการเขาศึกษาเรื่องการจัดการความขัดแย้งของ 10 ประเทศ เขาใช้เวลาปรองดองกันใน 10 ประเทศ ประเทศที่ใช้เวลาน้อยที่สุดคือ 3 ปี ประเทศที่ใช้เวลานานที่สุดคือ 26 ปี เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าประเทศเหล่านี้จะปรองดองกันได้ล้วนแล้วแต่มีคนบาดเจ็บล้มตายนับหลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้านคน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเรายังไม่ถึงขนาดนั้นหรอก คิดว่าบ้านเรายังมีหนทางออกโดยการให้กำลังใจ เรามีทางออกได้ไม่ใช่ว่าเราจะต้องยืนกันคนละจุดอย่างนี้ตลอดไป เมื่อถึงเวลาแล้วเราก็คงจะสามารถเข้ากันได้ ทุกๆ คนก็ถือว่าเป็นคนไทยด้วยกันมีอยู่วันหนึ่งผมฟังแล้วขนลุกเลย มีทางฝ่ายตัวแทนของธนาคารออกมาพูดว่า “คนไทยเราจะทะเลาะกันไปอย่างนี้หรือ เราไม่ใช่คนไทยทั้งสองฝ่ายหรือ แล้วเราไม่สามารถอยู่ร่วมกันในประเทศไทยได้หรือ” เขาก็ถามแรงเหมือนกันนะ แล้วที่จริงแล้วเราทุกคนก็เป็นคนไทยเหมือนกันหมด เราจะหนีไปไหนก็ไม่ได้เราก็ต้องอยู่ในประเทศไทย ผมคิดว่าเรากลับมาอยู่ในวิถีไทย เรามาร่วมใจกันช่วยกันพัฒนาชาติไทย มองอนาคตข้างหน้าร่วมกันเราจะอยู่กันอย่างไรให้สันติสุขผมว่าอย่างนี้น่าจะดีกว่านะครับ

หมายเลขบันทึก: 676051เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2020 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2020 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากค่ะ เดี๋ยวต้องจัดแล้วค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท