'ปรีดิยาธร' เตือนเอกชนรับบาทแข็งอีกปี


'ปรีดิยาธร' เตือนเอกชนรับบาทแข็งอีกปี

"ปรีดิยาธร" เตือนผู้ส่งออกยอมรับสภาพเงินบาทแข็งค่าอีก 1 ปี ระบุแบงก์ชาติเตรียมมาตรการสกัดค่าเงินแล้ว ยืนยันไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก แนะปรับตัวรับความเสี่ยงเอง ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ย.ปรับลดลงทุกรายการ เหตุบาทแข็งค่ารวดเร็วผสมปัญหาน้ำท่วม และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐไม่ชัดเจนม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับคำยืนยันจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จะมีมาตรการออกมาดูแลเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ขณะนี้ ส่วนกระทรวง การคลังนั้นยืนยันว่าจะไม่มีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือผู้ส่งออก เพราะถือว่าการส่งออกยังไปได้ และเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะดูแลให้เงินบาทมีเสถียรภาพ   "เงินบาทที่แข็งค่า ผมก็เป็นห่วง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และท่านรองนายกฯ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ก็เป็นห่วง แต่เรื่องนี้แบงก์ชาติจะมีมาตรการหลายอย่าง และต่อเนื่อง ส่วนกระทรวงการคลังไม่ต้องมีมาตรการ เราไม่ควรยุ่ง เพราะแบงก์ชาติดูแลอยู่แล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้น กระทบการส่งออกของผู้ประกอบการในประเทศ แต่ผู้ประกอบการทุกประเทศในเอเชียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคนี้แข็งค่า คือ มีหนี้ต่างประเทศ ขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้นักลงทุนกังวล และเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในเอเชีย ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนทุกสกุลค่าแข็งขึ้น   "ค่าเงินที่แข็งก็กระทบทุกประเทศในเอเชีย เพราะประเทศใหญ่ขยับตัว เราต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด เหมือนการมีคลื่น เรือที่แล่นต้องได้กระทบ และคลื่นนี้เกิดมาแล้ว 1 ปี คาดว่าจะมาอีก 1 ปี ก็เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องดูแล ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้ปรับตัวรองรับการแข็งค่าของเงินบาทบ้างแล้ว ซึ่งผมก็ได้เตือนมาตลอด เหลือแต่รายเล็กเท่านั้นที่ลืมทำใจ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรย้ำ ทั้งนี้ เงินทุนที่เคลื่อนย้ายเข้ามานั้น เข้ามาจำนวนมากในต้นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ขณะนี้เริ่มนิ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทของธปท.ช่วงที่ผ่านมาไม่มีปัญหา ในทางกลับกันเมื่อได้เงินดอลลาร์กลับมาก็จะอยู่ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ อยู่ที่ 35.20-35.23 บาทต่อดอลลาร์ ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน จากตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,231 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 77.2 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 77.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการ   หางานทำเท่ากับ 78.1 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 78.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 94.2 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 94.4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง เกิดจากความกังวลต่อการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออก ที่เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวสูง รวมกับผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังขาดความชัดเจน  ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นครั้งแรกในรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่น นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังมีประเด็น ที่ประชาชนหมดความคาดหวังต่อรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงความไม่ชัดเจนของโครงการเมกะโปรเจค ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังเป็นขาลงไปจนถึงปลายไตรมาส 1 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 ปีหน้า   "ปีใหม่การใช้จ่ายจะยังไม่คึกคัก ซึ่งนอกจากความไม่ชัดเจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องของค่าเงินบาทที่เป็นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ที่จะทำให้การส่งออกได้รับผลระทบ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ภาครัฐจึงควรเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและกำหนดความชัดเจนโครงการเมกะโปรเจค เพราะสัญญาณการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่มีไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า" ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยค่าเงินบาทเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่จะกระทบต่อการส่งออก โดยเงินบาทแข็งค่า 1% จะกระทบการส่งออก 0.15-0.2%   ขณะที่การส่งออกปีนี้จะยังได้แรงกระตุ้นหลัก จากเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจโลกขยายตัว 1% กระตุ้นการส่งออกโต 1.3-1.5% โดยปีนี้ เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวระดับ 3.5% ในช่วงปีหน้า แต่จากคาดการณ์ปีหน้าเศรษฐกิจโลกขยายตัว 4-5% จะทำให้การส่งออกขยายตัวระดับ 9-11.5% ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า คาดการณ์ค่าเงินบาทในรอบ 1 เดือนนี้ จะแข็งค่าในระดับ 35.5-.36.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่มีโอกาสแข็งค่าสูงสุดที่ 34 บาทต่อดอลลาร์    การดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่า ภาครัฐไม่ควรใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะวิธีนี้จะใช้ในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินเป็นหลัก หากมีการปรับลดดอกเบี้ย จะทำให้เกิดสัญญาณว่า จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐจนทำให้เกิดความเชื่อมั่นและมีเงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นอีก การนำมาตรการอัตราดอกเบี้ยมาใช้ ต้องพิจารณาปัจจัยเงินเฟ้อเป็นหลักโดยเงินเฟ้อระดับ 4.5-5%   ยังน่าเป็นห่วง   ขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ก็ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลง โดยอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ ยังอยู่ระดับ 5.25% ทั้งนี้ วิธีการที่รัฐบาลควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเงินบาท ควรใช้มาตรการแทรกแซงสกัดการเก็งกำไร เงินทุนจากต่างประเทศมากกว่าลดอัตราดอกเบี้ย   "ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการหมดช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาลใหม่ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาค่าเงินบาท และปัญหาน้ำท่วม คาดว่าการบริโภคจะชะลอตัวไปจนถึงปลายไตรมาส 1 ต่อเนื่องถึงกลางไตรมาส 2 ปีหน้า จากเดิมคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวช่วงหลังปีใหม่ ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้การบริโภคจะไม่คึกคักเท่าที่ควร" ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือร้องเรียนจากนายวินัย เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบกรณีค่าเงินบาทแข็งตัวผิดปกติ เนื่องจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรชาวสวนยางพารา และนักธุรกิจ ได้รับความเดือดร้อนกันมานานร่วมปี ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองไทยที่ร่ำรวยเป็นแสนล้านหรือไม่ จากนั้นนายสังศิต กล่าวว่า กมธ.ตระหนึกถึงปัญหาดังกล่าว ดังนั้น จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยในการประชุม กมธ. วันพุธที่ 20 ธันวาคม เวลา 09.30 น.จะเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงถึงสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหา

กรุงเทพธุรกิจ

คำสำคัญ (Tags): #ค่าเงิน
หมายเลขบันทึก: 67397เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2006 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท