สิทธิมนุษยชน (Human Rights)


สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้านต่าง ๆ 

  1. สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลมีดังนี้

       1.1สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย  ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วย  วิธีการโหดร้ายจะกระทำมิได้ การค้นตัวบุคคล การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
       1.2 เสรีภาพในเคหสถาน  ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะอาศัยอยู่ในเคหสถานอย่างปกติสุขโดยไม่ได้รับการรบกวนจากบุคคลอื่น การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถานหรือในและที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายศาล
       1.3 เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ภายในประเทศได้อย่างเสรี รวมถึงการเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ภายในประเทศเว้นแต่เป็นเขตที่กฎหมายห้ามไว้
      1.4 สิทธิในครอบครัว ประชาชนทุกคนมีสิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว การกระทำที่เป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
      1.5 เสรีภาพในการสื่อสาร ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันในทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดขวางด้วยวิธีการต่าง ๆ จะกระทำมิได้ ยกเว้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
      1.6 เสรีภาพในการนับถือศาสนาประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้อย่างเสรี โดยไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
     1.7 สิทธิในการเกณฑ์แรงงาน การเกณฑ์แรงงานจากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน


2. สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนชาวไทย มีดังนี้
      2.1 สิทธิการรับโทษทางอาญา บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่บุคคลนนั้นได้กระทำผิด
ตามกฎหมายอาญา และให้ถือว่าบุคคลนั้นยังไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น
      2.2 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ได้โดยง่ายเช่นการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดี


3. สิทธิในทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย มีดังนี้
      3.1 สิทธิในทรัพย์สิน ประชาชนทุกคนมีสิทธิในทรัพย์สินที่ได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การสืบมรดก
      3.2 สิทธิในการที่จะไม่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น
บ้านและที่ดิน เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ต้องกำหนดค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม


4. สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนชาวไทย มีดังนี้
      4.1 เสรีภาพในการประกอบอาชีพ ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม
      4.2 สิทธิในการมีหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน ประชาชนทุกคนจะมีหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน





5. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนของประชาชนชาวไทย มีดังนี้
        5.1เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
        5.2 เสรีภาพในด้านการสื่อสารสาธารณะ สื่อสารมวลชนทุกแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานใด แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ



6. สิทธิเสรีภาพในการศึกษา

ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษาของรัฐโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและมีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี ในการเลือกศึกษาหาความรู้ และรัฐจะต้องมีหน้าที่ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปล่า
                                                                                          6.1 บุคคลมีสิทธิเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า12ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน 



7. สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐของประชาชนชาวไทย มีดังนี้

      7.1 ประชาชนทุกคนเป็นผู้ที่มีสิทธิที่จะได้รับการบริการทางสาธารณสุข  ที่เหมาะสมและได้มาตรฐานจากรัฐ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
      7.2 เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐ จากการใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
     7.3 สิทธิของผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
     7.4 สิทธิของผู้พิการหรือทุพพลภาพ ประชาชนที่ร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิ
เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
     7.5 สิทธิของผู้ยากจน ประชาชนที่ยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ


8. สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนของประชาชนชาวไทย มีดังนี้
      8.1 ประชาชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ

รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต รัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง
      8.2 ประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว
      8.3 ประชาชนมีสิทธิในการฟ้องร้องหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อตนเอง และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองในฐานะของผู้บริโภค



9. เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมของประชาชนชาวไทย มีดังนี้

      9.1 ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้พื้นที่สาธารณะ
     9.2 ประชาชนมีสิทธิในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรองค์การเอกชนองค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
     9.3 ประชาชนมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามวิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
     9.4 ประชาชนมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนญ



    คำสำคัญ (Tags): #human right
    หมายเลขบันทึก: 673298เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2019 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท