อ่าน-ฟัง-ดู-คิด-ทำ-พูด-เขียน


ดังนั้นเมื่อฟังจึงต้องจดจำไว้ คือทั้งจด และ ทั้งจำ

คำทั้งเจ็ดคำที่เป็นชื่อบันทึกนี้เป็นวิธีการเรียนรู้ของตัวผมเอง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโต ผมได้อาศัยกระบวนการทั้งเจ็ดนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพียงแต่ช่วงเวลาไหนจะเน้นหนักไปทางใด

             อ่าน ผมรู้จักการอ่านตั้งแต่ผมเริ่มเข้าเรียนชั้น ป. 1 (ผมไม่ได้เรียนชั้นอนุบาลเพราะโรงเรียนที่หมู่บ้านไม่มี) ผู้ที่สอนผมอ่านหนังสืออย่างมากและสอนผมเกือบทุกคืนก็คือคุณตาของผมเอง (นายทวน มีเจริญ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ท่านเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผมเป็นคนรักการอ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ผมอ่านหนังสือทุกชนิด ทุกประเภท ไม่ว่าจะปกอะไรก็ตาม ขอให้เป็นหนังสืออ่านได้หมดทั้งทางโลกและทางธรรม ที่สำคัญผมจะพยายามอ่านอย่างพินิจพิจารณาเพื่อเอาประโยชน์จากหนังสือทุกเล่มที่ผมเสียเวลาอ่านให้ได้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการอ่านแบบ Critical reading

             ฟัง เมื่อผมไปเรียนหนังสือเวลาครูสอนไม่ว่าในระดับชั้นไหน ผมต้องเข้าใจให้ได้ว่าครูกำลังสอนอะไร มันเกี่ยวโยงเชื่อมโยงกันอย่างไร จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ผมจะพยายามหยิบเอาแก่นหรือประเด็นที่เป็นประโยชน์ออกมาให้ได้ เป็นการเติมเต็มส่วนขาดจากการอ่านที่บางครั้งก็ไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเพื่อมาใช้ประโยชน์ได้ พอได้ฟังบ่อยครั้งที่เก็บประเด็นได้เร็วกว่าการนั่งอ่านเอง เพราะผู้บรรยายจะเก็บรวบรวมจากหลายที่หลายแหล่ง หลายตำรา หลายประสบการณ์ก่อนจะนำมาพูดมาบรรยายให้เราฟังได้ เมื่อผมนั่งฟังบรรยายผมจะคิดตามไปด้วยว่าผมจะเอาอะไรที่ได้ฟังไปใช้ประโยชน์กับงานหรือชีวิตได้บ้าง สิ่งที่ทำไปพร้อมกับการฟังก็คือการจดประเด็นสำคัญๆไว้ กันลืม ดังนั้นเมื่อฟังจึงต้องจดจำไว้ คือทั้งจด และ ทั้งจำ ที่เห็นได้ชัดอันหนึ่งก็คือเรื่องการจัดการความรู้ที่ผมรับรู้ได้เร็วมากจากการฟังอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิชและอาจารย์ประพนธ์ ผาสุกยืด บรรยายในการฟังแค่ 1-2 ครั้ง เท่านั้น อ่านตั้งนานก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจประเด็นสำคัญ ฟังแป๊ปเดียวก็ร้องยูเรก้าเลย

             ดู เป็นอีกทางหนึ่งที่ผมได้พยายามเลียนรู้  ไปดูมาหลายโรงพยาบาลมาก เมื่อไปเที่ยวที่ไหนมีโอกาสก็แอบไปดูโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ได้ผ่านไปเพื่อค้นหาสิ่งดีๆจากที่นั่นเอาไปประยุกต์ใช้ เมื่อไปดูจึงต้องเห็นด้วย  ไม่ใช่แค่เห็นด้วยตา แต่ต้องเห็นด้วยใจ ดูในสิ่งที่เขาคิด ไม่ดูแต่สิ่งที่เขาทำ 
            คิด เมื่อผมอ่านหรือฟัง ผมจะนำสิ่งที่อ่านหรือฟังนั้นมาคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงไปด้วยว่าจะนำมาใช้ประโยชน์จริงได้อย่างไร ทำให้สามารถสร้างตัวแบบหรือแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเองก่อนนำไปใช้ได้จริง เน้นการคิด 4 แบบคือพยายามคิดภาพรวม มองเห็นความเชื่อมโยง คิดในแง่ดีและคิดค้นวิธีใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆที่ต่อยอดจากความรู้ที่ได้มาจากการอ่านการฟังการดู
            ทำ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่จะแปรเปลี่ยนสิ่งที่รับรู้มาไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองว่าที่เราอ่าน ฟัง คิด เอามาทำได้จริงไหม เป็นประโยชน์หรือไม่อย่างไร ต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร ช่วงเวลา 5-6 ปีก่อน ผมอยู่ที่บ้านตากผมจึงเน้นทำจริงเป็นหลัก ทำตามแนวทางที่วางไว้ กำหนดไว้เพื่อจะได้เห็นผลจริง ว่าสำเร็จหรือไม่ ตอนทำจะพยายามเอาแนวคิด หลักการ เข้าไปสอดแทรกในงานประจำ ทีละเล็กทีละน้อย ทำในส่วนที่ทำได้ง่ายก่อน ทำในส่วนที่คนให้ความร่วมมือมากๆก่อน รั้งคนที่เดินเร็วมากเกินไป ดึงคนที่เดินช้า เกี่ยวก้อยไปกับคนที่ร่วมทำไปพร้อมๆกัน
            พูด เป็นการทบทวนสิ่งที่ทำมาว่าเป็นอย่างไร สำเร็จได้อย่างไร 2 ปีที่ผ่านมาผมจึงได้เริ่มพูดในสิ่งที่ทำและเริ่มมีคนฟังมากขึ้น เทคนิคการพูดของผมเหมือนเดิม แต่การยอมรับของคนฟังมากขึ้น เพราะสิ่งที่พูดๆจากสิ่งที่ทำจริง เริ่มจากการพูดให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานฟัง พูดในเวทีของการพัฒนาคุณภาพ หลังจากนั้นก็มีคนเชิญไปพูดเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกเหนื่อย ความสนใจ ใส่ใจในการพูดเริ่มลดลง เดิมผมจะพูดให้เจ้าหน้าที่ฟังก่อน พูดแนะนำชาวบ้าน พูดออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อแนะนำเรื่องสุขภาพในภาษาหมอที่ชาวบ้านเข้าใจ หลังจากนั้นก็ได้พูดติววิชาที่เรียนปริญญาโทให้กับเพื่อนๆ จนได้รับการประเมินคุณภาพโรงพยาบาลแล้วจึงได้พูดให้คนภายนอกฟังมากขึ้น ในการพูดแบบบรรยาย ผมจะต้องมีการทำโครงร่างหลักๆในเรื่องที่จะพูด แล้วค่อยกำหนดรายละเอียดที่สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง จัดทำเป็นสไลด์บรรยายด้วยตนเองทุกอันเพื่อจะได้สอดคล้องกับความคิดและดื่มด่ำกับสิ่งที่ตนเองพูด ในการบรรยายแต่ละครั้งจึงใช้เวลาในการเตรียมบรรยายมาก เตรียมบรรยายจึงหนักกว่าตอน บรรยาย นอกจากเนื้อหาแล้ว ลำดับของเนื้อหา ภาพประกอบ วิธีการนำเสนอ ตัวอย่างประกอบและมุขที่ใช้ก็มีความสำคัญมากและต้องปรับตามสภาพผู้ฟังและสถานการณ์จริงที่พบในขณะบรรยายด้วย
           เขียน เริ่มเข้ามาเป็นสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูดใจแทนการพูด จากคนที่ไม่ค่อยได้เขียน ก็เริ่มเขียน สิ่งที่ช่วยให้สามารถเขียนได้ก็คือการเรียนปริญญาโทที่นิด้า นอกจากจะเขียนตอบข้อสอบแล้ว ยังต้องมานั่งเขียนสรุปเอกสารเตรียมสอบสำหรับเพื่อนๆที่มีเวลาน้อยจึงต้องใช้เวลาอ่านไม่มากแต่เข้าใจง่าย  หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนบทความ 1 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงแห่งการเขียนทั้งบันทึกและบทความ เขียนลงวารสาร หนังสือพิมพ์ ที่สำคัญคนที่ช่วยกระตุ้นให้ผมเขียนก็คืออาจารย์หมอวิจารณ์ ทำให้เชื่อมั่นว่าเราเขียนได้ อาจารย์ไม่ค่อยจะติ มีแต่ชม ก็เป็นการเติมไฟใส่ฟืน จนเพลิดเพลินกับการเขียนมาทุกวันนี้ การเขียนของผมจะเป็นลักษณะของการเล่าเรื่องมากกว่าการเขียนแบบเป็นทางการ เล่ามาจากใจให้เป็นตัวอักษร โดยแนวเรื่องหรือโครงเรื่องจะมาจากเรื่องที่บรรยายเป็นส่วนใหญ่
                แต่ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าอีกไม่นาน ความอยากเขียนก็จะเริ่มลดลงๆ และวงจรเดิมเริ่มคืบคลานเข้ามา ผมเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นอีก เริ่มอยากฟัง เริ่มคิดงานใหม่ๆที่จะต้องพัฒนาขึ้นจากเดิมและในใจเริ่มคิดที่จะอยากทำอย่างเต็มที่อีกแล้ว เพราะสิ่งที่ทำเริ่มชิน สิ่งที่พูดเริ่มซ้ำ สิ่งที่เขียนเริ่มหมดประเด็น ต้องหันกลับไปทำใหม่เพราะการเรียนรู้จากการทำจริงเป็นสุดยอดของการเรียนรู้ที่มีผลงานเป็นตัวพิสูจน์ความสำเร็จ ทำให้นึกไปถึงกฎหลักของการจัดการความรู้ของเดวิด สโนว์เดนที่ว่า คนเรารู้มากกว่าที่พูดได้ เขียนได้ ผมทำตั้งนานพูดได้แค่ 2 ปีและเขียนได้ประมาณ 1 ปี ก็ต้องพยายามกลับไปหาความรู้ใหม่อีกแล้ว
หมายเลขบันทึก: 6732เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2005 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีหลายคนที่อาศัยความเป็นนักเขียน นักพูด เขียนเก่ง พูดเก่งแต่งานไม่ค่อยทำ แต่ไปเอางานของคนอื่นมาเขียน มาพูดแล้วอ้างว่าตัวเองไปกระตุ้นให้ทำ แล้วมาสวมบทบาทคุณอำนวยอย่างหน้าชื่นตาบาน ดิฉันเห็นว่าคนที่ทำงานดีส่วนใหญ่เขาจะพูดไม่ค่อยเก่ง ในหลายๆโรงพยาบาลจะเกิดปัญหาเพราะคนทำไม่ได้พูด คนพูดไม่ได้ทำ คนทำก็เลยไม่อยากทำ

ยิ่ง สคส.มาสร้างกระแสKMคนก็เลยมองว่าต้องเขียนเก่ง พูดเก่ง เป็นการได้โอกาสของคนช่างเขียน ช่างพูดไป ก็จะหาเรื่องออกนอกหน่วยงานไปเขียน ไปพูด ก็จะไม่ค่อยช่วยงานของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานเท่าไหร่

ที่เขียนกันมา พูดกันมา ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นผลงานที่ดีจริงหรือไม่ เป็นความรู้ฝังลึกจริง แต่จะดีจริงหรือไม่น่าจะต้องมีการเปรียบเทียบด้วย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท