BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒.


ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่

ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒

 

2. ชนิดของประโยชน์นิยม

แนวคิดประโยชน์นิยมปัจจุบันมีความเห็นร่วมกันว่าประโยชน์เป็นมาตรฐานสูงสุดในการวัดการกระทำว่าถูกหรือผิด แต่ความเห็นนี้ก็แยกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยึดถือว่าหลักประโยชน์สูงสุดเป็นเครื่องตรวจสอบการกระทำแต่ละอย่างในแต่ละสถานการณ์ และฝ่ายที่ใช้หลักประโยชน์สูงสุดเป็นเครื่องตรวจสอบกฎ โดยกฎใช้ตรวจสอบการกระทำอีกครั้ง ฝ่ายแรกนั้นได้ชื่อว่า Act Utilitarianism ซึ่งเป็นแนวคิดเดิม ส่วนฝ่ายหลังชื่อว่า Rule Utilitarianism เพราะได้นำหลักประโยชน์สูงสุดมาใช้ตรวจสอบกฎเพื่อปรับแก้ข้อบกพร่องบางอย่างของแนวคิดเดิมให้เหมาะสมกับสังคมมากยิ่งขึ้น ในหัวข้อนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแนวคิดทั้งสองและนำไปตรวจสอบมโนทัศน์เรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในหัวข้อต่อไป

อนึ่ง ในหนังสือจริยศาสตร์เบื้องต้นของวิทย์ วิศทเวทย์ ได้บัญญัติ Act Utilitarianism ว่า การกระทำประโยชน์นิยม และ Rule Utilitarianism ว่า กฎ-ประโยชน์นิยม  แต่เพื่อความสะดวกในการนำเสนอ ผู้วิจัยจะเรียกการกระทำประโยชน์นิยมว่า ประโยชน์นิยมเชิงกรรม และเรียกกฎ-ประโยชน์นิยมว่า ประโยชน์นิยมเชิงกฎ

. ประโยชน์นิยมเชิงกรรม               

นักจริยศาสตร์ได้วางสูตรประโยชน์นิยมเชิงกรรมไว้เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบการกระทำทางศีลธรรม ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่านัยสำคัญไม่แตกต่างกัน เพียงแต่การใช้ภาษาอาจแตกต่างกันไปบ้าง เช่น โพจแมนได้วางสูตรไว้ว่า 

 การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ ถ้าการกระทำนั้นให้ผลดีมากเท่ากับทางเลือกอื่นใดที่อาจหาได้ เท่านั้น[i]

ขณะที่ฟิลด์แมนได้วางสูตรไว้ว่า

การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ ถ้าไม่มีการกระทำอื่นที่ผู้กระทำสามารถกระทำให้มีประโยชน์สูงกว่าที่การกระทำนั้นมีอยู่ได้ เท่านั้น[ii]                  

และโบฌองพ์วางสูตรไว้ว่า

การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ ถ้าการกระทำนั้นสามารถคาดหวังได้โดยการใช้เหตุผลว่าจะให้ปริมาณความดีสูงสุดหรือปริมาณอันตรายต่ำสุด เท่านั้น [iii]         

สูตรเหล่านี้ กล่าวได้ว่าประยุกต์มาจากคติบทว่า ประโยชน์สูงสุดเพื่อจำนวนมากที่สุด นั่นเอง ซึ่งโบฌองพ์ได้อธิบายวิธีการนำไปประยุกต์ใช้ว่า นักประโยชน์นิยมเชิงกรรมจะมีคำถามหลักอยู่ว่า ฉันควรจะทำอย่างไรในขณะนี้ ?” โดยพิจาณาถึงผลลัพธ์ที่ดีและเลวที่จะได้รับจากการกระทำนั้นของ สถานการณ์นั้น ในขณะนั้น โดยตรง มิใช่ พิจารณาว่าผลลัพธ์ที่ดีและเลวจะมีผลมาจากชุดของการกระทำนี้ โดยทั่วไป อย่างไร หรือ มิใช่ พิจารณาว่าชุดของการกระทำนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยทั่วไป ในอดีตอย่างไร               

โบฌองพ์ได้ยกตัวอย่างกรณีเกิดขึ้นที่รัฐแคนซัส (อเมริกา) ว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายภรรยานั้น ป่วยหนักกำลังจะตาย จึงได้ขอร้องสามีให้ฆ่าเธอเสียเพื่อจะได้พ้นทุกข์ทรมาน ฝ่ายสามีไม่กล้าฆ่าด้วยตนเองจึงจ้างวานให้คนอื่นฆ่าแทน ในกรณีนี้ แม้ว่าสามีจะมีความรักและปรารถนาให้ภรรยาพ้นจากทุกข์ทรมานก็ตาม ซึ่งตามหลักการกระทำประโยชน์นิยมอาจจะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ชุดของการกระทำนี้ขัดแย้งกับกฎศีลธรรมโดยทั่วไปซึ่งบอกว่าห้ามฆ่าผู้อื่น หรือถ้าจะกำหนดว่าเลือกฆ่าได้เฉพาะกรณีก็จะเป็นการยุ่งยากมาก คณะลูกขุนจึงได้ลงโทษจำคุกสามีของเธอยี่สิบห้าปีในฐานฆ่าคนตาย[iv]         

ตามตัวอย่างที่โบฌองพ์ยกมา จะเห็นได้ว่าประโยชน์นิยมเชิงกรรมมีข้อบกพร่องในด้านความยุติธรรมหรือสิทธิมนุษยชน เป็นต้น กล่าวคือ แม้สามีจะใช้หลักประโยชน์สุงสุดในสถานการณ์นั้นโดยการจ้างวานให้ผู้อื่นฆ่า แต่การกระทำนั้นขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนทั่วไป  ดังนั้น นักประโยชน์นิยมจึงได้ปรับปรุงแนวคิดเป็นประโยชน์นิยมเชิงกฎขึ้นในสมัยต่อมา แต่ สมาร์ท (Smart, J.J.C.) นักประโยชน์นิยมเชิงกรรมปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเดิมยังมีจุดเด่นอยู่ ดังความเห็นของโบฌองพ์ เกี่ยวกับ  สมาร์ท ตอนหนึ่งว่า                                

 ตามแนวคิดของนักประโยชน์นิยมร่วมสมัยคนหนึ่ง คือ เจ.เจ.ซี สมาร์ท ว่า มีความเป็นไปได้ประการที่สามอยู่ระหว่างการไม่เคยใช้กฎอะไรเลยกับการเชื่อฟังกฎทั้งหลายเสมอไป กล่าวคือการเชื่อฟังกฎบางครั้งบางคราว . . . ตามแนวคิดของ สมาร์ท การเลือกเชื่อฟังไม่ได้ทำให้กฎศีลธรรมหรือการนับถือหลักศีลธรรมโดยทั่วไปสึกหรอเลย ดังนั้น กฎจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เครื่องนำทางในชีวิตทางศีลธรรมคงที่ มิใช่เป็นการบิดเบือน [v]                 

งานวิจัยนี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ จุดเด่นและจุดด้อยของประโยชน์นิยมเชิงกรรมว่าต่างจากประโยชน์นิยมเชิงกฎอย่างไร ดังนั้น จึงสรุปหลักการของประโยชน์นิยมเชิงกรรมไว้ว่าใช้หลักประโยชน์สูงสุดตัดสินการกระทำขณะนั้นโดยตรง โดยไม่คำนึงถึงกฎว่าจะเป็นอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งประโยชน์นิยมเชิงกรรมมีความเห็นว่า ถ้ากฎคล้อยตามประโยชน์สูงสุดก็นำมาใช้ได้ แต่ถ้ากฎขัดแย้งต่อประโยชน์สูงสุดก็ไม่จำเป็นจะต้องนำมาใช้อนึ่ง เพราะใช้หลักประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ตรวจสอบการกระทำโดยตรง ดังนั้น ประโยชน์นิยมเชิงกรรมจึงเรียกกันว่า ประโยชน์นิยมโดยตรง หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า ประโยชน์นิยมแบบเดิม ประโยชน์นิยมแบบจัด และ ประโยชน์นิยมธรรมดา บ้าง                               

. ประโยชน์นิยมเชิงกฎ               

ประโยชน์นิยมเชิงกฎได้ชื่อว่า  ประโยชน์นิยมโดยอ้อม หรือ  ประโยชน์นิยมแบบขยาย สาเหตุที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมิได้ใช้หลักประโยชน์สูงสุดในการตรวจสอบการกระทำโดยตรง แต่ใช้หลักประโยชน์สูงสุดไปตรวจสอบกฎทางศีลธรรม และใช้กฎทางศีลธรรมไปตรวจสอบการกระทำอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ฟิลด์แมนได้วางรูปแบบทั่วไปของกฎประโยชน์นิยมไว้ว่า

การกระทำเฉพาะอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าการกระทำนั้นถูกกำหนดไว้ด้วยกฎทางศีลธรรมที่เหมาะสม, กฎทางศีลธรรม อย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุด ก็ต่อเมื่อ ถ้ากฎทางศีลธรรมนั้นผลิตประโยชน์ได้มากพอที่จะเป็นทางเลือกบางอย่างของการกระทำนั้นได้[vi]

และ ฟิลด์แมน ได้วางกฎประโยชน์นิยมพื้นฐานไว้ว่า

การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าการกระทำนั้นถูกบัญญัติไว้โดยกฎทางศีลธรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของการกระทำนั้น เท่านั้น[vii]                

กฎทางศีลธรรมที่เหมาะสมตามแนวคิดของฟิลด์แมนก็คือ กฎทางศีลธรรมที่ควบคุมการกระทำทั่วไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ปัญหาของกฎทางศีลธรรมลักษณะนี้ ฟิลด์แมนได้ยกตัวอย่างเรื่องการรักษาสัญญา คือ เมื่อเราทำสัญญาก็ควรรักษาสัญญา โดยยึดถือว่าการรักษาสัญญาเป็นการกระทำแบบประโยชน์เชิงกฎเพราะให้ประโยชน์สูงสุด โดยเน้น ประโยชน์คล้ายคลึงกัน (conformance utility) ของสังคมหรือชนส่วนใหญ่ แต่บางครั้งการรักษาสัญญามิได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือการละเมิดสัญญาอาจก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า ดังนั้น ถ้าเราทำสัญญาแล้วละเมิดสัญญาไปกระทำสิ่งที่ให้ประโยชน์มากที่สุด การกระทำอย่างนี้ก็จะกลายเป็นการกระทำตามหลักการของประโยชน์เชิงกรรม มิใช่การกระทำตามหลักการของประโยชน์นิยมเชิงกฎ นั่นคือ กฎประโยชน์นิยมพื้นฐานลักษณะนี้จะกลับไปคล้อยตามหลักการของประโยชน์นิยมเชิงกรรม               

ประเด็นข้อบกพร่องของประโยชน์นิยมเชิงกฎที่มีแนวโน้มจะกลับไปสู่ประโยชน์นิยมเชิงกรรมตามคำอธิบายของฟิลด์แมนนี้ ตรงกับแนวคิดของสมาร์ทนักประโยชนนิยมเชิงกรรมร่วมสมัยที่เสนอทางเลือกไว้ว่ามีแนวทางที่สามคือ การเชื่อฟังกฎเป็นบางครั้ง โดยเน้นประโยชน์สูงสุด ระหว่างการไม่เชื่อฟังกฎเลยกับการเชื่อฟังกฎโดยเคร่งครัด ตามที่โบฌองพ์ได้นำมาอ้างไว้ (ดูคำวิจารณ์เรื่องประโยชน์นิยมของโบฌองพ์ข้างต้น) ขณะที่โพจแมนก็ได้วางสูตรประโยชน์นิยมเชิงกฎไว้ว่าการกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ ถ้าการกระทำนั้นถูกกำหนดด้วยกฎซึ่งเป็นสมาชิกของ [การกระทำนั้น] เอง อย่างหนึ่งเท่านั้น คือเป็นชุดของกฎหลายอย่าง ที่ยอมรับว่าจะนำไปสู่ประโยชน์ที่สูงกว่าแก่สังคมเท่าที่จะเลือกได้[viii] 

โพจแมนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าประโยชน์นิยมเชิงกฎเป็นรูปแบบของประโยชน์นิยมที่มั่นคงหรือไม่ เพราะถ้ายึดถือกฎทางศีลธรรมอย่างเข้มงวดก็จะกลายเป็นจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม (เช่น จริยศาสตร์ของคานต์) หรือถ้าคำนึงถึงประโยชน์มากกว่ากฎทางศีลธรรมก็จะกลับไปสู่การกระทำแบบประโยชน์นิยมเชิงกรรม[ix]                

อนึ่ง วิทย์ วิศทเวทย์ ได้อธิบายความเหมือนและความแตกต่างระหว่างกฎประโยชน์นิยมกับจริยศาสตร์ของคานต์ไว้ว่า                                

กฎประโยชน์นิยมจึงคล้ายกับหลักการของค้านท์ในแง่ที่ว่าได้เน้นหนักที่ความสำคัญของความเป็นสากลของกฎ ถ้าเราเชื่อว่าหลักการหรือกฎข้อใดข้อหนึ่งถ้าเป็นที่ปฏิบัติกันอย่างสากลแล้วจะก่อให้เกิดมหสุขก็จงปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อยกเว้น นี้ก็ตรงกับของค้านท์ที่ว่ากฎศีลธรรมจะมีข้อแม้ไม่ได้ ความเป็นสากลของกฎเป็นหัวใจในหลักจริยศาสตร์ของค้านท์ 

แต่ถึงกระนั้น กฎ-ประโยชน์นิยมกับหลักศีลธรรมของค้านท์ก็ยังต่างกันในขั้นพื้นฐาน ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันในข้อที่ว่ากฎศีลธรรมจะต้องมีลักษณะเป็นสากล คือใครจะละเมิดมิได้ แต่ต่างกันตรงที่ว่า กฎศีลธรรมซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้นได้มาอย่างไร[x]               

ต่อมา นักประโยชน์นิยมเชิงกฎ ดังเช่น บรานต์  (Brandt, Richard B.)ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ ซึ่ง ฟิลด์แมน แปลแนวคิดของ บรานต์วางไว้เป็นหลักการว่า

 การกระทำอย่างหนึ่ง คือ ก. เป็นสิ่งถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าว่ามีสังคม คือ ส. และมีรูปแบบทางศีลธรรม คือ ร. เท่านั้น โดยที่ (1) . เป็นสังคมซึ่ง ก. จะถูกดำเนินการได้ (2) . เป็นอุดมคติของ ส. และ (3) . ไม่ได้ห้าม ก.” [xi] 

โดยฟิลด์แมนให้ความเห็นว่า บรานต์ได้นำแนวคิดเรื่อง ประโยชน์ที่ยอมรับกัน” (currency utility) ของสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเป็นเกณฑ์แทนแนวคิดเรื่องประโยชน์คล้ายคลึง โดยสมาชิกของสังคมนั้นยอมรับรูปแบบทางศีลธรรมนั้น 

แนวคิดเรื่องรูปแบบทางศีลธรรมนี้  บรานต์ได้อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่าเป็นเครื่องทดสอบความถูกต้อง ซึ่งทุกคนในสังคมยอมรับและนำมาใช้โดยเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ารูปแบบทางสังคมนั้นๆ ทุกคนไม่ยอมรับก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ กรณีนี้บรานต์ได้ยกตัวอย่างว่า โดยทั่วไป แม้ว่าพ่อแม่จะป่วยไข้หรือขัดสนก็จะต้องรับผิดชอบลูกของตน แต่ลักษณะนี้จะขัดแย้งกับชาวอินเดียแดงซึ่งหน้าที่รับผิดชอบเด็กๆ จะตกเป็นของพี่น้องสาวภายในตระกูลนั้นๆ หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าทุกคนคิดว่ามีหน้าที่จะต้องแบ่งเบาภาระในการปกป้องประเทศชาติ การออกกฎหมายเพื่อช่วยกันปกป้องประเทศชาติก็จะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในทางศีลธรรม แต่หลักการนี้อาจขัดแย้งกับพวกต่อต้านสงครามที่ยอมตายดีกว่าการยอมรับลัทธิทหาร ดังนั้น รูปแบบทางศีลธรรมจะต้องชัดเจนสำหรับสังคมนั้น ๆ[xii] 

ตามแนวคิดของบรานต์ก็คือ สังคมจะต้องยอมรับรูปแบบทางศีลธรรมของพวกเขาและเชื่อว่า ถ้าดำเนินตามรูปแบบทางศีลธรรมนั้นแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมของพวกเขาได้ แต่ถ้าสังคมไม่ยอมรับและไม่เชื่อถือแล้วรูปแบบทางศีลธรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้นั้นเอง 

ขณะที่โบฌองพ์ได้วิจารณ์แนวคิดของบรานต์ไว้ตอนหนึ่งว่า แม้บรานต์จะพยายามแบ่งแยกประโยชน์นิยมเชิงกฎและประโยชน์นิยมเชิงกรรมออกจากกัน แต่ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ คือ ทฤษฎีประโยชน์นิยมเชิงกฎสามารถหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์จำนวนมากที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อต้านได้หรือไม่ เพราะกฎทางศีลธรรมเองก็มักจะขัดแย้งกันในความเป็นอยู่ทางศีลธรรมเสมอ เช่น บางโอกาสคนจะต้องขโมยเพื่อปกป้องชีวิต หรือจะต้องโกหกเพื่อปกปิดความลับ จะตรวจสอบได้  อย่างไรว่ากฎอะไรมีความสำคัญกว่าเมื่อกฎศีลธรรมนั้นๆ เกี่ยวข้องกับกฎศีลธรรมอื่นๆ หรือนักประโยชน์นิยมเชิงกฎจะต้องยอมรับการตัดสินทางศีลธรรมบางอย่างโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎ[xiii]

ตามความเห็นของโบฌองพ์ บอกว่าแนวคิดของบรานต์ยังแก้ปัญหาไม่ได้ที่จะแยกประโยชน์นิยมเชิงกฎออกจากประโยชน์นิยมเชิงกรรม ผู้วิจัยมีความเห็นว่าควรมีการศึกษาต่อในประเด็นนี้ แต่ประเด็นที่ยกมามิได้เป็นวัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้ ฉะนั้น ผู้วิจัยจะทิ้งประเด็นนี้ไว้  สรุปแนวคิดของประโยชน์นิยมทั้งสองได้ว่าประโยชน์นิยมเชิงกรรมใช้ประโยชน์เป็นเครื่องตัดสินการกระทำโดยตรง ซึ่งแตกต่างกับประโยชน์นิยมเชิงกฎที่ได้ชื่อว่าประโยชน์นิยมโดยอ้อมหรือแบบขยายเพราะประโยชน์เป็นเครื่องตัดสินกฎ และใช้กฎเป็นเครื่องตรวจสอบการกระทำ ซึ่งผู้วิจัยจะนำหลักการทั้งสองนี้ไปตรวจสอบการกระทำเหนือหน้าที่ในหัวข้อต่อไป



[i] Ibid, p. 112.
[ii] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p. 26.
[iii] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1991), p.129.
[iv] Ibid, p. 145.
[v] Tom L. Beauchamp, James Childress. Principles of Biomidical Ethics (Oxford: oxford University Press, 1994), p. 51.
[vi] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978),  p. 62.
[vii] Ibid, p.64.
[viii] Louis P. Pojman. Ethics : Discovering Right and Wrong (Belmont : Wadsworth Publishing Company, 1995), p.113.
[ix] Ibid.
[x] วิทย์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น : มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2528), หน้า 121.  
[xi] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p. 69.
[xii] Richard B. Brandt. “Toward a credible form of utilitarianism” Introductory Readings in Ethics. by William K. Frankena and John T. Granrose, ed. (Englewood Cliffs : Prentice-Hall, 1974), p.163.
[xiii] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics (New York : McGraw-Hill, 1991), p.154.
หมายเลขบันทึก: 67260เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท