บทความน่ารู้จาก thaicleannet ตอน ชำแหละ พ.ร.บ.คอมฯ "สมาคมผู้ดูแลเว็บ ไทย" หวังให้กฎหมายเป็นธรรม


หากพูดถึงเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่า อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ เรามีกฎหมายที่รองรับต่อการกระทำเช่นว่านั้นหรือยัง หากยังไม่มี กฎหมายที่เป็นธรรมนั้นเป็นอย่างไร
ชำแหละ พ.ร.บ.คอมฯ "ส.ผู้ดูแลเว็บ ไทย" หวังให้กฎหมายเป็นธรรม

“การแก้ไขความไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องจะแก้ไขอำนาจเจ้าหน้าที่ให้รัดกุมมากขึ้น” เป็นคำมั่นสัญญาประการหนึ่งที่ ศ.ดร.สิทธิชัย โภคไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกรรมการคณะกรรมาธิ การ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... ได้ประกาศไว้ในวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในวาระแรก

 

วันนั้น อาจารย์สิทธิชัย กล่าวว่า พร้อมจะแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิว เตอร์ พ.ศ... ให้หมดข้อคลางแคลงใจในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ รวมทั้งจะแก้ไขการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นหลังจากสมาชิก สนช. หลายคนได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็นอำนาจของเจ้าพนักงาน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าใครติดตามกระบวนการในการยกร่าง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... มาตลอดแล้วจะทราบว่า ไม่ใช่เฉพาะสมาชิก สนช. เท่านั้น ที่ได้แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพราะ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ในฐานะองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพดูแลเว็บไซต์ในประเทศไทยก็ได้แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญเช่นกัน

 

ดังนั้น วันนี้ ลองมาดูกันว่าสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... ฉบับที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. ในวาระแรกอย่างไร และต้องการให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในมาตราไหน และกระบวนการต่อจากนี้ จะมีขั้นตอนการดำเนินการแบบใดเพื่อให้ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... รับฟังข้อเสนอ 

 

นายปรเมศวร์ มินศิริ นายก สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และกรรมการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... กล่าวว่า โดยหลักการแล้วสมาคมฯ เห็นด้วยในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อป้องกันวิธีการล่วงรู้ แก้ไข หรือ ทำลายข้อมูลบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะลามกอนาจาร แต่ขณะเดียวกันก็เห็นช่องโหว่ที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

 

นายก ส.ผู้ดูแลเว็บฯ กล่าวต่อว่า จากการประชุมร่วมกับ สภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระแรกยังมีหลายมาตรามีช่องโหว่อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรี ภาพของประชาชนและวงการไอซีทีในอนาคต โดยสรุปได้ 5 กลุ่มสาระดังนี้

 

                1) การให้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่มากเกินไป โดยในมาตรา 16 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่กว้างขวางในการรบกวนสิทธิ์ หรือ จำกัดสิทธิ์ของผู้ให้บริการ เช่น การยึดอายัดระบบคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยเพียงเหตุอันควรสงสัยและไม่ต้องมีพยาน หลักฐาน ผู้แจ้งและหมายศาลที่ถือว่า ขัดต่อหลักการวิธีพิจารณาความอาญาที่จำเป็นต้องขออำนาจศาลในการตรวจค้น หรือ จับกุมผู้ต้องสงสัยที่ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า

 

2) การเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดตัวจริงไม่ต้องรับโทษ เพราะในมาตรา 23 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... เป็นบทบัญญัติยกเว้นการลงโทษเจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองข้อมูลที่กระทำความผิด เพราะหากข้อมูลที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นถูกเปิดเผยโดยพนักงานเข้าหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือ ประมาทเลินเล่อก็ตาม ผู้ครอบครองข้อมูลที่กระทำความผิดไม่ต้องรับผิดตามที่กำหนดไว้

 

                3) ฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซ้ำซ้อนกับฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา โดยในมาตรา 15 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับบนี้ เป็นฐานความผิดเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็นและมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีกลไกล การตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีเช่นเดียวกับกฎหมายอาญา ขณะที่การเพิ่มเรื่องความอับอายอาจสร้างปัญหาในการพิสูจน์ความผิดและการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดี

 

4) ความไม่ชัดเจนและความไม่รัดกุมของถ้อยคำตามบทบัญญัติ เพราะในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... มีบทบัญญัติหลายมาตราไม่มีความชัดเจน เช่น ในมาตรา 3 เรื่องนิยามของผู้ให้บริการ มาตรา 5 เรื่องการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และมาตรา 6 เรื่องการเปิดเผยมาตราการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

                5) ระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาตามสมควร ดังนั้น การที่มาตรา 2 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว บัญญัติให้กฎหมายมีผลทันทีถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ย่อมทำให้ผู้ให้บริการทั้งหลายไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ได้ทันจนอาจะเป็นช่องว่างให้ถูกเจ้าพนักงานกลั่นแกล้งได้

 

                จากการที่สมาคมฯ ได้ร่วมกับ สภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประชุมระดมความคิดเห็นพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... หลายมาตรามีช่องโหว่อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและวงการไอซีที ดังนั้น สมาคมฯ จะเดินสายชี้แจง กมธ.เพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายต่อไป ส่วนตนเองในฐานะกรรมาธิการ ก็จะทำหน้าที่แทนผู้ประกอบวิชาชีพด้านนี้ ให้ดีที่สุด นายปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... ให้ข้อมูลในฐานะผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า สำหรับมาตรา 16 ในขั้นตอนการยกร่างมีการถกเถียงกันในประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและการยับยั้งผู้กระทำความผิด แต่สุดท้ายก็เลือกหลักการยับยั้งผู้กระทำความผิดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

รอง ผ.อ.สวทช. ยืนยันต่อว่า ตามเจตนารมณ์ในขั้นยกร่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะต้องมีความรู้ความสามารถ ผ่านการอบรมและมีวิจารณญาณสูงในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนในกรณีจะแก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่จะต้องขอหมายศาลก่อนใช้อำนาจเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบถือว่า รับได้ แต่ถ้าจะให้ดีในขั้นตอนการขอหมายศาลจะต้องมีความรวดเร็ว

 

ที่กล่าวมา เป็นข้อเสนอของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยที่ต้องการให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... ในมาตราที่ยังมีช่องโหว่อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและวงการไอซีทีในอนาคต ก็ได้แต่หวังงว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ รมว.ไอซีทีจะรักษาคำมั่นสัญญาเพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีความยุติธรรม รัดกุมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่สมควรจะเป็น...

 ที่มา http://www.thaicleannet.com/modules.php?name=tcn_stories_view&sid=10420

หมายเลขบันทึก: 67257เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท