สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๔. หนุนด้วยศิลปศึกษาและพลศึกษา



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๔. หนุนด้วยศิลปศึกษาและพลศึกษานี้ เป็นบันทึกที่ ๒ ใน ๓ บันทึก ภายใต้ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จของนักเรียน(graduation mindset)    ตีความจาก Chapter 19 : Support Alternative Solutions           

สาระหลักของบันทึกนี้คือ เพื่อความสำเร็จในชีวิตการเรียนของนักเรียน ครูต้องจัดให้นักเรียนได้เล่นสลับกันไปด้วย    เพื่อใช้การเล่นกระตุ้นการเจริญงอกงามของสมอง  กระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดแรงขึ้น  และเพื่อสร้างสภาพสมองพร้อมเรียน ที่มีสารเคมีเพื่อการเรียนรู้หลั่งออกมา    การเล่นในที่นี้กล่าวถึง ๒ อย่าง คือเล่นกีฬาหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย    กับการเล่นด้านศิลปะ

หนุนด้วยศิลปศึกษา

มีหลักฐานจากผลงานวิจัยมากมาย ที่ยืนยันว่า การให้เวลานักเรียนฝึกซ้อมกิจกรรมด้านศิลปะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรี    ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น    มีผลการศึกษารวมข้อมูลจากงานวิจัยขนาดใหญ่ ๔ ชิ้น   ในนักเรียนยากจน    เปรียบเทียบผลระยะยาว ต่อนักเรียนยากจน ที่โรงเรียนจัดเวลาเรียนด้านศิลปะมากในกลุ่ม ๒๐% บน    กับนักเรียนยากจนที่โรงเรียนจัดเวลาเรียนศิลปะต่ำในกลุ่ม ๒๐% ล่าง    พบว่านักเรียนในโรงเรียนกลุ่มแรกมีโอกาสเรียนจบชั้นมัธยมสูงกว่า    อัตราได้รับอนุปริญญาและปริญญาสูงกว่า    ตอนเรียนในชั้น ม. ปลาย นักเรียนกลุ่มดังกล่าว ได้คะแนนเรียงความ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่า    รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรมากกว่า    อ่านหนังสือพิมพ์มากกว่า   เข้าร่วมบริหารองค์กรนักศึกษามากกว่า    และทำกิจกรรมอาสาสมัครในชุมชนมากกว่า    นักวิจัยในโครงการนี้ถึงกับสรุปว่า นักเรียนจากครอบครัวยากจน ที่โรงเรียนจัดกิจกรรมศิลปศึกษาจริงจัง มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าเทียมกับนักเรียนโดยทั่วไปในประเทศ   

ตีความใหม่ได้ว่า การได้เรียนศิลปศึกษาจริงจังในโรงเรียน ช่วยแก้ข้อเสียเปรียบในการเรียนของนักเรียนขาดแคลนได้    เขาบอกว่า กิจกรรมศิลปะช่วยฟื้น “ระบบการทำงานด้านวิชาการ” (academic operating system) ให้กลับคืนมา   

        ศิลปะช่วยฟื้นระบบการทำงานด้านวิชาการอย่างไร

              คำว่า “ศิลปะ” ในที่นี้หมายถึง ๔ กลุ่มใหญ่ของศิลปะ ได้แก่  (๑) ศิลปะดนตรี (เล่นเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือหลายชิ้น)  (๒) ศิลปะการแสดง (ละคร  ร้องเพลงประสานเสียง  รำ  เต้น  และแสดงตลก  (๓) หัตถศิลป์ (เย็บปักถักร้อย  แกะสลัก)  (๔) ทัศนศิลป์ (วาดภาพ  ระบายสี  และศิลปะดิจิตัล)  

              สมองมีส่วนที่เป็น “ระบบการทำงานด้านวิชาการ” (academic operating system) ที่มีการพัฒนาตรงตำแหน่งที่จำเพาะ และเปลี่ยนแปลงถาวร จากการฝึกปฏิบัติศิลปะเป็นเวลานาน   

              เมื่อให้นักเรียนปฏิบัติศิลปะครั้งละ ๓๐ - ๙๐ นาที    สัปดาห์ละ ๓ - ๕ วัน   ก่อผลดีดังต่อไปนี้

  1. 1. ความมานะพยายาม :  แรงจูงใจ  และความสามารถยังยั้งชั่งใจ (defer gratification)
  2. 2. ทักษะการจัดการผัสสะ (processing skills) : ทางหู ตา และสัมผัส
  3. 3. ทักษะการเอาใจใส่ (attentional skills) : สนใจ  พุ่งความสนใจ (โฟกัส)   และละความสนใจได้ตามที่ต้องการ
  4. 4. ความจำ : ความจำระยะสั้น และความจำใช้งาน
  5. 5. ทักษะจัดลำดับ : รู้ขั้นตอนของกระบวนการ

               นอกจากนั้นศิลปะช่วยหนุนชุดความคิดเพื่อความสำเร็จในการเรียน (graduation mindset) ของนักเรียน   มีผลงานวิจัยบอกว่าโรงเรียนที่มีการฝึกซ้อมดนตรี นักเรียนมาเรียนในสัดส่วนสูงกว่าโรงเรียนที่ไม่มีการฝึกซ้อมดนตรี (ร้อยละ ๙๓.๓ เทียบกับ ๘๔.๙)    และมีอัตราเรียนจบสูงกว่า (ร้อยละ ๙๐.๒ เทียบกับ ๗๒.๙)  โรงเรียนที่โปรแกรมดนตรีได้รับการประเมินคุณภาพว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม (excellent) หรือดีมาก (very good) อัตราเรียนจบยิ่งสูง (ร้อยละ ๙๐.๙)  

               มีการวิจัย ศึกษานักเรียนชั้นมัธยมในสหรัฐเมริกา จำนวน ๒๕,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๔ ปี    พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการเรียนศิลปะกับผลการเรียน  และเมื่อติดตามไปศึกษานักเรียนกลุ่มเดียวกันเมื่ออายุ ๒๕ ปี    ผลยิ่งน่าประทับใจ    คือนักเรียนกลุ่มที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ที่เรียนศิลปะ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยสูงกว่า  ได้เกรดดีกว่า  มีโอกาสเรียนสูงกว่าปริญญาตรีมากกว่า   โอกาสได้งานทำสูงกว่า   ร่วมกิจกรรมจิตอาสา และลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงกว่า        

        วิธีใช้ศิลปะในห้องเรียน

              ดีที่สุดคือมีครูศิลปะ   ให้ครูศิลปะสอนนักเรียนครั้งละ ๑๕ - ๓๐ นาที  ๓ วันต่อสัปดาห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยม    แต่หากไม่มีครูศิลปะ ครูประจำชั้นก็สอนเองได้ โดยเรียนรู้วิธีเอาเอง   

            หนังสือ Poor Students, Rich Teaching ลงรายละเอียดที่การสอนศิลปะดนตรี และศิลปะการแสดง   

            การเรียนศิลปะดนตรี

            ดีที่สุดคือ มีครูดนตรี   แต่หากไม่มีครูดนตรี นักเรียนอาจเรียนเองจาก App ใน iPad    เขาแนะนำ App ชื่อ Tiny Piano, Nota, Musical Touch, Pro Keys, และ Twelve Tones   นอกจากนั้นยังมีวิดีทัศน์ใน YouTube สอนดนตรี   การแนะนำของครูจะทำให้เด็กจำนวนหนึ่งคลั่งใคล้ในดนตรี   

            การฝึกดนตรีเป็นการฝึกประสานการทำงานของหลายส่วนในร่างกาย    การฝึกประสานกิจกรรมทางสมอง ช่วยการพัฒนาสมองในเชิงโครงสร้าง (ทำให้ IQ สูงขึ้น)   และช่วยฝึกการรับรู้ ซึ่งมีผลสืบเนื่องไปยังทักษะด้านภาษา (การจำคำศัพท์  ทักษะการอ่าน)  และด้านมิติสัมพันธ์ (spatial relations)     นอกจากนั้นยังมีผลงานวิจัยบอกว่า ช่วยเพิ่มความสามารภด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  เรขาคณิต  และระบบจำนวน 

            ที่น่าแปลกใจคือ ดนตรีช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  เนื่องจากการฝึกดนตรีช่วยให้ไวต่อการรับรู้ด้านอารมณ์จากถ้อยคำ    และช่วยให้มีความภูมิใจในตนเอง    รวมทั้งช่วยเพิ่มบุคลิกที่ดีด้านความร่วมมือ แรงจูงใจ  ความรับผิดชอบ และการริเริ่ม    ผลดีเหล่านี้เกิดขึ้นในเด็กจากทุกวัฒนธรรม  และไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม หรือเศรษฐฐานะ   แต่จะได้ผลมากหากเริ่มตั้งแต่เด็กอายุน้อย  ฝึกบ่อยๆ  และฝึกต่อเนื่อง   

            การฝึกศิลปะการแสดง

            ทำโดยให้นักเรียนแสดงบท (role-play) เพื่อสะท้อนสาระที่เรียน อาจใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ (เพื่อแสดงผลการทดลอง, แสดงปฏิกิริยาเคมี  หรือผลลัพธ์ด้านระบบนิเวศน์),  คณิตศาสตร์ (แสดงสูตร, สมการ, หรือวิธีจำสูตร),  ภาษา (เพื่อเล่าเรื่อง,  อธิบายเรื่องที่ไปค้นคว้ามา)  

           ศิลปะการแสดงจะช่วยฝึกทักษะหลายด้าน ที่นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้    เช่นศิลปะการแสดง มีส่วนการเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในหลายกลไก  

           ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skills)  มีผลยกระดับทักษะทางวิชาการ (academic skills) ในหลากหลายมิติ ดังแสดงในรูปข้างล่าง                    

การฝึกด้านศิลปะ จึงเป็นกลไกสร้างเครือข่ายใยประสาทในสมอง    เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ โดยเราไม่รู้ตัว  

หนังสือเล่าเรื่องราวของ ครูเรฟ เอสควิธ (Rafe Esquith) แห่งโรงเรียน Hobart ในกลางนคร ลอส แอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย    ที่ใช้การเล่นละคร เช็กสเปียร์ กระตุ้นพัฒนาการสมองของเด็กนักเรียน ป. ๕ ที่ร้อยละ ๗๐ มาจากครอบครัวยากจน    เกิดผลมหัศจรรย์    คือค่าเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนนี้ที่เรียนจนจบ ม. ปลาย เท่ากับร้อยละ ๓๒ เท่านั้น    แต่นักเรียนที่เคยผ่านชั้นของครูเรฟ อัตรานี้เท่ากับ ๑๐๐   คือนักเรียนทุกคนเรียนจบ ม. ปลาย   ท่านที่สนใจ ดูเรื่องราวการเล่นละครเช็กสเปียร์ ของศิษย์ครูเรฟได้ใน ยูทูป ด้วยคำค้นว่า “Hobart Shakespeareans”   เป็นหลักฐานว่าครูที่ “สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน” เป็นผู้มีคุณูปการเปลี่ยนชีวิตศิษย์ได้จริงๆ  

ผมขอเพิ่มเติมเรื่องราวของครูเรฟ เอสควิธ ว่า ท่านเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวการทำงานเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ของท่านหลายเล่มมาก    สองเล่มได้รับการแปลเป็นไทย คือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบกับ ครูแท้แพ้ไม่เป็น    ท่านเคยมาเมืองไทย ๒ ครั้ง เพื่อมาเปิดตัวหนังสือแปลทั้งสองเล่ม และผมเคยเขียน บล็อก เล่าไว้ที่ (

หนุนด้วยพลศึกษา

คุณค่าของกิจกรรมทางกาย (physical activity) ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ได้รับการยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า    จากผลงานวิจัยสารพัดแบบ  ในนักเรียนเป็นล้านๆ คน    เหตุผลคือ กิจกรรมทางกายสร้างสมองที่พร้อมเรียน    จากการหลั่งสารเคมีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ dopamine (เพิ่มความพยายาม,  การมองโลกแง่ดีมีความหวัง,  และความจำใช้งาน (working memory))  และ noradrenaline (เพิ่มการพุ่งเป้าความสนใจ และความจำระยะยาว (long-term memory))  

มีผลงานวิจัย พิสูจน์ว่า กิจกรรมทางกายช่วยลดปัญหาความประพฤติของนักเรียน    ช่วยเพิ่มความมั่นใจตนเอง   เพิ่ม executive functions   และลดความเครียด  

เคล็ดลับคือ กิจกรรมทางกายทันทีก่อนเรียน ช่วยเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ดีกว่ากิจกรรมทางกายก่อนเรียนสองสามชั่วโมง

      กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายสร้างเซลล์สมอง

            เป็นธรรมชาติของสมอง ที่จะมีการสร้างเซลล์สมองขึ้นใหม่    ตัวปิดกั้นสำคัญคือ ความเครียดเรื้อรัง และภาวะทุพโภชนาการ (ซึ่งนักเรียนขาดแคลนเผชิญ)  และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า (depression)    มีผลงานวิจัยบอกว่า ร้อยละ ๓๐ ของนักเรียนยากจนในสหรัฐอเมริกา มีความเครียด และภาวะซึมเศร้า     และมีผลงานวิจัยบอกว่า การออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยป้องกันและบำบัดโรคซึมเศร้า   

             มีผลงานวิจัยในแม่ที่ยากจน ไร้บ้าน และเป็นโรคซึมเศร้า โดยให้เข้าโปรแกรมบำบัดโดยการเต้นรำครั้งละ ๓๐ นาที  สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง    ได้ผลดี คืออาการซึมเศร้าลดลง    โดยเขาบอกว่าผลจากการออกกำลังได้มากกว่า aerobic fitness    เมื่อแม่สุขภาพดีขึ้น ก็จะดูแลลูกได้ดีขึ้น        

            ผมขอเพิ่มเติมจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า การออกกำลังแบบแอโรบิก (เช่น วิ่งเหยาะ) วันละ ๓๐ นาที    ช่วยสร้างสุขภาพในสารพัดด้าน   รวมทั้งด้านการมีสมองแจ่มใส พร้อมเรียนรู้    และผลนี้เกิดขึ้นในวันนั้น และในระยะยาวตลอดชีวิต   

            เซลล์ประสาทที่งอกใหม่ช่วยเพิ่มอารมณ์ดี  ความจำ  การจัดการน้ำหนักตัว  และการเรียนรู้    มีผลงานวิจัยยืนยันว่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาท

             นอกจากนั้น ยังมีผลงานวิจัยบอกว่า ความแข็งแรงของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับผลการเรียนในนักเรียนทุกระดับ     

      วิธีใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวในห้องเรียน

            หลักการง่ายๆ คือ ใช้กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย (physical activities) กับกิจกรรมระหว่างชั้นเรียน (classroom activities)

            เขาแนะนำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายวันละครั้ง ครั้งละ ๒๐ - ๓๐ นาที สำหรับชั้นอนุบาลถึง ป. ๕   โดยถือเป็นการพักออกกำลังกาย    นอกจากนั้น โรงเรียนต้องมีสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาให้เด็กได้ออกกำลังกายในช่วงหยุดพักเที่ยง และช่วงก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน    สิ่งที่เขาห้ามคือ ห้ามลงโทษเด็กโดยการกักตัวไว้ในห้องระหว่างพัก    เพราะจะเป็นการปิดกั้นโอกาสวิ่งเล่นออกกำลังกาย ซึ่งเป็นผลร้ายต่อการเรียน    เขาแนะนำให้ลงโทษเด็กโดยวิธีอื่น เช่นให้เข้าคิวกินอาหารเป็นคนสุดท้าย   ถูกตัดสิทธิพิเศษบางอย่าง  เป็นต้น 

            กิจกรรมในห้องเรียนทำง่ายๆ โดยให้นักเรียนได้เคลื่อนไหว ๑ - ๒ นาที ทุกๆ ๑๐ - ๒๐ นาทีของเวลาเรียน    เพื่อเผาผลาญพลังงาน  และเพิ่มพลังการเรียนรู้    มีครูชั้นอนุบาล - ป. ๕ คนหนึ่งหัวใส    ริเริ่มพานักเรียนออกไป “เดินเติมพลัง” (power walk) ที่ทุ่งหญ้าข้างโรงเรียน ๑๐ นาที    ก่อความคึกคัก และทำกันทั้งโรงเรียน        

            เขาแนะนำให้จัดนักเรียนเป็น “ทีมเพิ่มพลัง” (energizer team) หรือ “ทีมครูฝึก” (personal trainer) ทีมละ ๔ คนในชั้น อนุบาล - ป. ๕  และทีม ๕ คน ในชั้นโตกว่านั้น    โดยครูจะส่งสัญญาณให้เริ่มทำงานทุกๆ ๑๕ - ๒๕ นาที    กิจกรรมเพิ่มพลังนี้ใช้เวลาครั้งละ ๑ - ๒ นาทีเท่านั้น    โดยมีกิจกรรมต่อไปนี้

  • ให้นักเรียนวิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๑ นาที    เมื่อเริ่ม จะสังเกตเห็นว่านักเรียนตื่นเต้น    จะยิ่งสนุกหากมีการแข่งขันกันเล่นๆ หรือร่วมมือกัน
  • บูรณาการการเคลื่อนไหวเข้ากับสาระการเรียนรู้  โดยเขาแนะนำวิธีการในเว็บไซต์ Action Based Learning ซึ่งมีหลายเว็บไซตื ตัวอย่างเช่น ()
  • จัดกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งชั้น   เช่น ให้นักเรียนคนหนึ่งสอนจังหวะเต้นรำ
  • ให้นักเรียนคนหนึ่ง อาสาสมัครทำหน้าที่ผู้นำ เดิน หรือเต้น ให้คนอื่นๆ ทำตาม เป็นเวลา ๔๕ วินาที
  • จัดนักเรียนเป็นทีม เพื่อเล่นกีฬาสมมติ    ให้ทีมหนึ่งยืนขึ้นและร่วมกันเลือกกีฬาที่ชอบ   คนหนึ่งแสดงท่าทางของกีฬานั้น โดยลูกทีมทำตาม เป็นเวลา ๓๐ วินาที    แล้วเปลี่ยนทีม  

ไม่ว่าในระดับเด็กเล็กหรือเด็กโต ต่างก็ต้องการและชอบการเคลื่อนไหวทั้งสิ้นตามธรรมชาติ    เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง    

วิจารณ์ พานิช 

๑๓ พ.ค. ๖๒

   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท