ชีวิตที่พอเพียง 3531. ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น



สกสว. จัดงาน  เวทีสาธารณะ Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒    มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคนโยบายและภาคสื่อมวลชนของประเทศเข้าใจความสำคัญของงานวิจัยท้องถิ่น   และหาทางบรรจุงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ผมได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีอภิปรายในวันที่ ๑๔ เวลา ๑๓.๑๐ - ๑๕.๐๐ น. ในหัวข้อเดียวกันกับหัวข้อการประชุม    โดยมีผู้ร่วมวงอภิปรายรวม ๖ คน   มีคุณกิตติ สิงหาปัด เป็นผู้ดำเนินรายการ  

ผมเตรียมไปบอกที่ประชุมว่า คุณูปการของงานวิจัยท้องถิ่นคือ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยหนุนให้ชาวบ้านพัฒนาตนเองเป็น “คนไทย ๔.๐”    คือเป็นคนที่มีความสามารถเรียนรู้จากกิจการที่ตนทำ  และจากการดำรงชีวิตของตนเอง    โดยมีการดำเนินการกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมชุมชน   และมี “พี่เลี้ยง” จาก node สกว. ท้องถิ่น คอยช่วยกระตุ้นและอำนวยความสะดวก  

ในสายตาของผม คุณค่าที่แท้จริงของงานวิจัยท้องถิ่นคือ การเรียนรู้ ของชาวบ้าน    ไม่ใช่ผลงานของชาวบ้านที่เอามาโชว์    การโชว์ผลงานเป็นมายาของวงราชการไทย และการศึกษาไทย  

การเรียนรู้ ไม่ว่าของเด็กหรือของผู้ใหญ่ เริ่มจากการตั้งข้อสงสัย หรือตั้งคำถาม   การวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงต้องเริ่มจากการตั้งคำถาม   และชาวบ้านจะพัฒนาเป็น “คนไทย ๔.๐” ได้ต้อง มีความกล้าและมีทักษะในการตั้งคำถาม    วงการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต้องไม่เอาโจทย์ที่ตนเองคิดไปยัดเยียดให้ชาวบ้านทำวิจัย   เพราะจะยิ่งไปสร้างความอ่อนแอให้ชาวบ้าน    คือทำให้ชาวบ้านคิดไม่เป็นและไม่กล้าคิด    ผมบันทึกแนวคิดนี้ใน บล็อก หัวข้อชุมชนจัดการตนเอง (๑), (๒), (๓), (๔)   

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงอาจก่อผลดี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวบ้านและท้องถิ่นก็ได้    หรืออาจก่อผลร้าย สร้างความอ่อนแอ (ต่อเนื่อง) ให้แก่ชาวบ้านหรือท้องถิ่นก็ได้    ประเด็นลึกๆ ฟังได้จาก (๔)   

ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุม

ในการประชุม สังเกตว่า ผู้เข้าประชุมเป็นคนจากพื้นที่ ที่เป็นเครือข่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเกือบทั้งหมด    มีนิทรรศการผลงานมากมายน่าประทับใจ    สะท้อนให้เห็นว่าการวิจัยท้องถิ่น หรือวิจัยชาวบ้าน    ได้ส่งเสริม “ปัญญาท้องถิ่น” อย่างชัดเจน    แต่ก็ทำให้ผมให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า ให้ระวัง “ผลงานบดบังการเรียนรู้”    คือให้ตระหนักว่าเป้าหมายที่แท้ของการวิจัยท้องถิ่นคือ “การเรียนรู้”  ไม่ใช่ผลงาน    ตัวผลงานเป็นเครื่องสะท้อนการเรียนรู้ว่าเกิดขึ้นในระดับไหน    หากผลงานเป็นเพียงสิ่งที่ทำตามๆ กัน    ไม่ใช่ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ที่ชาวบ้านร่วมกันคิดและทำให้เกิดขึ้น    เจ้าของผลงานอธิบายไม่ได้ ว่าผลงานนั้นมาจากเป้าหมายอะไร    ทำแล้วเกิดการเรียนรู้อะไร    ได้ผ่านความยากลำบากหรือความล้มเหลวอะไร     งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นชิ้นนั้น น่าจะจัดเป็นผลงานคุณภาพต่ำ     ในอนาคตไม่ควรส่งเสริมกิจกรรมวิจัยแบบนั้น  

เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสฟังการนำเสนอในช่วงเช้า     ที่มีการสรุปผลงาน ๒๐ ปี ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดย ผศ. ดร. ชูพักตร์ สุทธิสา  อดีต ผอ. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.   และในตำแหน่งใหม่ เป็น ผอ. ภารกิจจัดทำแผนบูรณาการ สกสว.    

ลึกๆในใจ ผมคิดว่า ความเสี่ยงของงานนี้คือ    เพื่อสร้างความต่อเนื่องของ “วิจัยท้องถิ่น” แบบเดิมๆ     ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง    เพราะคนที่มาชุมนุมกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เดิมๆ    ที่ได้รับเงินวิจัยจาก สกว.    ผมจำได้ว่า  เมื่อ สกว. เริ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นราวๆ ปี ๒๕๔๑    มีคนที่เป็นนักพัฒนาท้องถิ่นมาต่อว่าผม ที่ สกว.    ว่าผมจ้องตีกินผลงานของพวกเขา ที่ทำงานมานาน    ถึงตอนนั้น สกว. มีเงิน จึงเตรียมฮุบชาวบ้านมาเป็นพวก    เป็นความเสี่ยงที่พวกเขาจะตกงาน   

ทำให้ผมได้ระลึกชาติว่า     “งานวิจัยท้องถิ่น” ของ สกว.  ได้ค่อยๆ เข้าไปแทนที่ “งานพัฒนาท้องถิ่น” ของนักพัฒนา จำนวนหนึ่งในอดีต    การแทนที่นี้ หากเอาของเดิมไปแทนที่ของเดิม คือเอางานพัฒนา (ดูที่ผลงาน) ไปแทนที่งานพัฒนาท้องถิ่นเดิม    ชุมชนไทยก็ไม่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง   

จะให้ได้ประโยชน์ ต้องเอาของที่ดีกว่าเข้าไปแทน    คืองานวิจัยท้องถิ่น ที่เป้าหมายคือ ปัญญา หรือ การเรียนรู้ของชาวบ้าน  

คุณกิตติ สิงหาปัด ถามผมเป็นคนแรกว่า งานวิจัยท้องถิ่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร    ผมตอบว่า งานวิจัยท้องถิ่นต้องไม่หลงทาง หรือไม่หลงอยู่กับผลงานที่นำมาแสดงรอบห้องประชุม    ต้องไปไกลกว่านั้น คือไปที่การสร้างปัญญาของชาวบ้าน    ไปที่การเรียนรู้ของชาวบ้าน    ซึ่งเป็นการสื่อต่อพี่เลี้ยงงานวิจัยท้องถิ่น ว่า ต้องอย่าไปคิดแทนชาวบ้าน  อย่าเอาความคิดของตนไปยัดเยียดให้ชาวบ้าน    เพื่อจะได้มีผลงานมาเสนอต่อแหล่งทุน   

ในอนาคต การจัดการทุนวิจัยท้องถิ่น ต้องวัดผลงานที่การเรียนรู้ของชาวบ้าน    ไม่ใช่จบที่ผลงานวิจัย 

ผมกลับมาค้นหาข้อมูลกิจกรรมในงานเพิ่มเติมที่บ้าน    พบวิดีทัศน์เปิดงานที่ (๕)    และมีข่าวของรัฐบาลเรื่อง รมต. สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ไปเปิดงานนี้ที่ (๖)     ท่านที่สนใจเข้าถึงเอกสารรายละเอียดต่างๆ ของงาน อาจใช้วิธีสแกน QR Code ตามในรูปที่ ๑    หรือเข้าผ่านลิ้งค์ https://qrgo.page.link/hUXLt      และผมได้กลับมาฟังการบรรยายของท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษิณทรีย์    และการบรรยายภาพรวมของงานวิจัยท้องถิ่นโดย ผศ. ดร. ชูพักตร์ ศิริสา ที่ (๗)   

ผมเข้าไปอ่านเอกสารเหล่านั้นคร่าวๆ แล้ว    นึกสรรเสริญว่า งานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ดำเนินการอย่างกว้างขวางมาก    กิจกรรมการวิจัยเข้าถึงปัญหาของชาวบ้านจริงๆ    แต่ผมก็อดโลภไม่ได้    ในฐานะเด็กชนบทหรือท้องถิ่น เข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้านดี ว่างานวิจัยท้องถิ่นยังสามารถพัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่ง     คือขั้นที่ท้องถิ่นและชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นเจ้าของและเป็นผู้ตั้งโจทย์และลงมือทำ รวมทั้งร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้ของชาวบ้านจริงๆ     ผมยังรู้สึกว่ากลิ่นไอของงานวิจัยท้องถิ่นที่เสนอในงาน ยังมี สกว. เป็นเจ้าของ เป็นผู้ดำเนินการ    ชาวบ้านเป็นฝ่ายรับ       

เชื่อมโยงกับสาระในการบรรยายของท่าน รมต. สุวิทย์ ที่เน้นแล้วเน้นอีกว่า การพัฒนาในช่วงต่อไปต้องเน้นคนเป็นศูนย์กลาง    งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่สามต้องเน้นเพื่อการพัฒนาคน หรือการเรียนรู้ของคน     ผมขอชี้ให้เห็นว่างานวิจัยท้องถิ่นอยู่ในสภาพที่ VUCA   หากไม่ระวัง ผู้เกี่ยวข้องจะหลงเน้นที่ผลงานวิจัย  หรือหลงที่ผลประโยชน์แฝงของผู้เกี่ยวข้อง     เกิดการเรียนรู้ของชาวบ้านไม่มาก    

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ส.ค. ๖๒    ปรับปรุง ๒๐ ส.ค. ๖๒

    


         

1 QR Code สู่เอกสารและ VTR

หมายเลขบันทึก: 669394เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2019 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2019 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท