ชีวิตที่พอเพียง 3530. ล่องลอยไปในจินตนาการ



หนังสือเล่มที่ ๓ ที่ สำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ ส่งมาให้สามเล่ม และผมหยิบมาอ่านเป็นเล่มสุดท้าย เป็นหนังสือลำดับที่ ๒ ของสำนักพิมพ์    ชื่อ วรรณกรรมเยาวชนคัดสรร คือความรัก คือความสุข  ซึ่งเป็นหนังสือแปล จากวรรณกรรมเยาวชน ๔ เรื่อง  

แตกต่างจากเล่มที่แล้ว ที่ได้เข้าถึง “ความมืดของจิตใจ”    แต่เล่มนี้ได้เข้าถึงมิติของความเป็นมนุษย์ ในด้านจินตนาการ    โดยที่ในตอนท้ายของเรื่องสุดท้าย “นกสีฟ้าสำหรับเด็ก” (The Blue Bird for Children) สอนใจเราว่า    เมื่อจิตใจของเราถูกครอบงำโดยมิติด้านบวกของความเป็นมนุษย์    ที่มองโลกด้วยจิตใจที่งดงาม    และมีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น    เราจะเห็นความงามในสรรพสิ่ง เห็นนกพิราบเป็นสีฟ้า ตามในท้องเรื่อง

ผมอดอ่านระหว่างบรรทัดไม่ได้   ว่าผู้เขียนคือ ชอรฺแช็ตตฺ เลอบลอง (Georgette Leblanc) ที่เขียนแปลงบทละครเรื่อง นกสีฟ้า ที่สามีคือ โมรีซ แมรฺแตรฺแลงคฺ (นักเขียนชาวเบลเยี่ยม เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1908) เป็นผู้แต่ง    ใช้จินตนาการเขียนกระตุ้นจินตนาการของเด็ก    ให้มองสรรพสิ่งรอบตัวเสมือนมีชีวิต    แทรกบทสอนใจไว้เป็นระยะๆ    ได้ทั้งความสนุกสนาน และได้คติสอนใจ

เรื่องที่ ๓ เด็กๆ ของเรา ฉากแห่งเมืองและท้องทุ่งก็เขียนโดยนักเขียนรางวัลโนเบล (ปี 1921) อนาโตล ฟรองซฺ ชาวฝรั่งเศส    โดยเขียนในปี 1900 คือ ๑๑๙ ปีมาแล้ว    ผมอ่านด้วยความสดชื่น เพราะช่วยให้ย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตในชนบทของตนเองสมัยเป็นเด็ก    แม้ในวรรณกรรมเป็นฉากท้องทุ่งและป่าในยุโรป    แต่ชีวิตของผมเป็นฉากชนบทภาคใต้ของไทย   

เรื่องที่ ๓ นี้ มีข้อเขียนที่เป็นบทสอนใจแทรกอยู่เรื่อยๆ    ตอนที่ชื่อ โรงเรียน ในหน้า ๙๔ – ๙๘  สะท้อนสภาพในห้องเรียนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน   ที่ห้องเรียนในปัจจุบันต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิง    แต่ข้อความตอนจบของตอน “สักวันลูกจะเข้าใจ ว่ารางวัลที่น่านับถือที่สุดนั้น คือรางวัลที่ให้แก่เกียรติโดยไม่มีผลประโยชน์”    เป็น “ความจริง” ที่ กาลิโก

ในหน้า ๙๙ “ในโลกนี้มีความปรารถนามากมายที่จะไม่มีวันได้รับการสนอง”   

หน้า ๑๑๐ “ม้าของเล่นของคนเราวิ่งเหมือนบ้าไปบนทุกหนทางแห่งชีวิต  คนหนึ่งโจนทะยานไปหาเกียรติยศ  อีกคนแสวงหาความพอใจ  มีมากที่กระโดดลงหน้าผาและทำให้คนขี่เอวหัก   โรเชร์น้อย ฉันหวังว่าเมื่อเธอโตขึ้น เธอจะขี่ม้าของเล่นสองตัว ที่จะพาเธอไปบนเส้นทางสายตรงเสมอ   หนึ่งคือความร่าเริงแข็งแรง  อีกหนึ่งคือความสุภาพอ่อนโยน    มันคือม้าดีทั้งคู่    ตัวหนึ่งชื่อความกล้า  อีกตัวชื่อความเมตตา”

เรื่องที่เก่าที่สุดคือเรื่องที่สอง เจ้าชายแสนสุข เขียนตั้งแต่ปี 1888  คือ ๑๓๑ ปีมาแล้ว    โดยนักเขียนที่เรารู้จักชื่อกันดี คือ   ออสการ์ ไวลฺด์    กวีและนักแต่งบทละครชาวไอริช    ตอนจบของเรื่องเสียดสีนักการเมืองอย่างเจ็บแสบ   

เรื่องที่สั้นที่สุดคือเรื่องแรก กระต่ายกำมะหยี่ หรือ ของเล่นกลายเป็นของจริงอย่างไร   เขียนโดย มาเจอรี วิลเลียมสฺ    บอกเราว่า ในหลายกรณีสำหรับเด็ก ของเล่นกลายเป็นของจริงในความรู้สึกนึกคิดของเขา  

ผมติดใจบทนำโดย นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ขึ้นต้นว่า “นิทานสำหรับเด็กมีไว้ให้ใครอ่าน?”    คำตอบของผมคือ นิทานที่ดีอย่าง ๔ เรื่องนี้   อ่านได้รสชาติและปัญญาทั้งเด็กและผู้ใหญ่    แต่การตีความและความเพลิดเพลินกับจินตนาการอาจแตกต่างกัน  

ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้เป็นบรรณาการ

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ส.ค. ๖๒


         

หมายเลขบันทึก: 669290เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2019 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2019 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท