สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๒. สร้างความเป็นพวกพ้อง



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๒. สร้างความเป็นพวกพ้อง นี้ เป็นบันทึกสุดท้าย ภายใต้ชุดความคิดสร้างความเอาใจใส่ของนักเรียน (engagement mindset)    ตีความจาก Chaper 18 : Engage to Build Community          

สาระหลักของบันทึกนี้คือ นักเรียนเรียนได้ดีผ่านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ (และครู) (socialization)    เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือชุมชน (community)    การสร้างให้ชั้นเรียนเป็นชุมชนของผู้เรียนที่เอาจริงเอาจัง (community of engaged learners) จึงช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน   สร้างบรรยากาศการมองโลกในแง่ดีมีความหวัง และช่วยลดความประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน   

ในบันทึกนี้ จะกล่าวถึงเครื่องมือสร้างความเป็นพวกพ้อง หรือความเป็นชุมชนเรียนรู้จริงจังในห้องเรียน ด้วยเครื่องมือ ๓ ชิ้น คือ พิธีกรรมสร้างความพร้อมเพรียง,  การใช้ reciprocal teaching,  และ การเฉลิมฉลองชัยชนะเล็กๆ ของทั้งชั้น  

    

พิธีกรรมสร้างความพร้อมเพรียง

ในหนังสือ Poor Students, Rich Teaching ใช้ชื่อหัวข้อนี้ว่า Solving Common Problems ซึ่งมี ๓ ปัญหาคือ การเข้าชั้นเรียนตรงเวลา,  นักเรียนเงียบสงบ, และเลิกเรียนตรงเวลา    โดยใช้พิธีกรรมง่ายๆ ใช้เวลาไม่ถึงนาที ที่ต่อไปนักเรียนจะทำจนเป็นนิสัย    และช่วยสร้างสภาพชั้นเรียนที่ทุกคนตรงต่อเวลา มีวินัยในการเรียน และมีพลัง   

พิธีกรรมประจำชั้น มีหลักการ ๕ ข้อ สำหรับสร้างวัฒนธรรมการเป็นพวกเดียวกัน   ได้แก่  (๑) แก้ปัญหาห้องเรียนขาดวินัยได้ ชงัด  (๒) นักเรียนทุกคนร่วมกันปฏิบัติอย่างตั้งใจ  (๓) ทำได้ง่าย  (๔) คาดเดาได้   และ (๕) จบลงด้วยอารมณ์ชื่นมื่น    โดยครูแต่ละคนอาจคิดพิธีกรรมประจำชั้นของตน ในลักษณะจำเพาะ    และตรงตามหลักการ ๕ ข้อข้างต้น   ดังตัวอย่าง

  • ต้อนรับกลับสู่ชั้นเรียน    อาจใช้ช่วงเริ่มชั้นเรียนในตอนเช้า,  หรือเมื่อมาพบกันหลังวันหยุดของสัปดาห์,  หรือเมื่อเปิดเทอมใหม่,  หรือเมื่อเริ่มชิ้นงานใหม่    โดยครูพูดว่า “นักเรียนที่เข้านั่งโต๊ะตรงเวลา ยกมือขึ้น และตะโกน ‘พร้อม’     แล้วหันไปยังเพื่อนข้างๆ และร้องว่า ‘ยินดีต้อนรับ’”  
  • ฉลองการจบคาบเรียน    หลักการคือ จบคาบเรียนด้วยการฉลองทุกครั้ง    นักเรียนยืนขึ้น และแชร์ข้อเรียนรู้สำคัญกับเพื่อนข้างๆ   แล้วกางมือทั้งสองข้างออกไปจนสุด แล้วตบมืออย่างแรงพร้อมกับตะโกน ‘เยี่ยม’
  • เรียกความสนใจ    โดยใช้นกหวีด  บอกนักเรียนว่า “นักเรียนทุกคน  เมื่อครูจะสอนเรื่องสำคัญ ครูต้องการรู้ว่านักเรียนทุกคนพร้อมหรือไม่  ครูจะเป่านกหวีด  ให้ทุกคนร้องว่า ‘ทุกคนพร้อม’    เรามาลองกันเลยเดี๋ยวนี้” 

ครูต้องสังเกตว่า นักเรียนคุ้นกับพิธีกรรมที่ใช้แล้วหรือยัง (มักใช้เวลา ๓ - ๕ สัปดาห์)      เมื่อนักเรียนคุ้นจนทำเป็นนิสัย ครูต้องเปลี่ยนพิธีกรรม เพื่อไม่ให้นักเรียนรู้สึกเบื่อ หรือจำเจ    พลังของพิธีกรรมเกิดจากทุกคนทำพร้อมกัน  ทำทุกโอกาสตามที่ตกลงกัน    นักเรียนทุกคนแสดงพฤติกรรมเดียวกัน  กล่าวคำเดียวกันสั้นๆ อย่างมีพลัง    เป็นการสร้างความกลมเกลียวกันในชั้นเรียนด้วยวิธีการง่ายๆ แต่ได้ผลชงัด    วิธีง่ายๆ เช่นนี้ แม้ในนักเรียนชั้นโต เช่น ม. ๖ ก็ใช้ได้ผล    ผมขอเพิ่มเติมว่า ผมเคยเห็นมูลนิธิข้าวขวัญ ใช้กับผู้ใหญ่ (รวมทั้งผู้สูงอายุ) ที่มาเข้าโรงเรียนชาวนา (ตบมือ ๒ ครั้ง  หยุดหนึ่งวินาที  ตบมือ ๗ ครั้ง  ‘เยี่ยม’ พร้อมกับยกหัวแม่มือทั้งสองข้าง  โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลยตลอด ๒ ปี)     

ให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกัน (Reciprocal Teaching)

กิจกรรมนี้ เป็นการใช้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมช่วยส่งเสริมการเรียนรู้    หลังจากนักเรียนเรียนสาระวิชาแล้ว    ให้นักเรียนจับคู่กับบั๊ดดี้คนเดิม หรือจับคู่ใหม่ก็ได้    แล้วทำกิจกรรมสร้างความรู้สึกอยากเรียน (buy-in) ตามที่ระบุในบันทึกที่ ๒๑   แล้วดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้ 

  • ช่วยกันทำความเข้าใจสาระวิชาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น    ใช้สำหรับการเรียนสาระตอนที่เข้าใจยาก    ครูตั้งคำถามว่า  “ให้นักเรียนบอกสาระเรื่องนั้นโดยใช้คำพูดตามความเข้าใจของตัวนักเรียนเอง”   “ เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว นักเรียนเกิดข้อสงสัยอะไรบ้าง”   “เธอจะอธิบายประเด็นนั้นแก่นักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนอย่างไร”
  • สอนวิธีการ    ให้นักเรียนคนหนึ่งในคู่บั๊ดดี้ ทำหน้าที่สอนเพื่อน  เช่นสอนวิธีทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   วิธีใช้เครื่องมือหรือเครื่องใช้   เป็นต้น
  • โต้วาที    เป็นการโต้กันภายในคู่บั๊ดดี้   โดยครูกำหนดเรื่องให้แต่ละคู่โต้    แล้วให้เวลาคิดและบันทึกประเด็น ๑ นาที    แล้วพูดแถลงคำสนับสนุนหรือโต้แย้งพร้อมข้อมูลหลักฐาน   อีกคนหนึ่งอาจแถลงสนับสนุนหรือโต้แย้งเพื่อนก็ได้    ล้วอาจกลับข้าง 
  • แสดงบท    ให้นักเรียนคนหนึ่งในคู่บั๊ดดี้แสดงเป็นตัวบุคคลสำคัญหรือมีชื่อเสียง และกล่าวแถลงนโยบาย     เพื่อนคู่บั๊ดดี้ทำหน้าที่ผู้ฟัง หรือผู้สื่อข่าวช่างสงสัย  ตั้งคำถาม ๓ ข้อ  
  • สร้างข้อสอบ    ให้นักเรียนทั้งคู่ใช้เวลา ๙ นาที ช่วยกันออกข้อสอบ ๓ ข้อ    หลังหมดเวลา บอกให้ทั้งคู่ตัดข้อสอบข้อที่ง่ายที่สุดออก   เหลือคู่ละ ๒ ข้อ    แล้วให้ทั้งคู่เดินไปหาเพื่อนอีกคู่หนึ่ง กลายเป็นกลุ่ม ๔ คน    ให้สอบและเฉลยซึ่งกันและกัน   อาจกำหนดให้มีบุคคลที่สามทำหน้าที่กรรมการสำหรับแต่ละกลุ่ม

กิจกรรมเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวร่างกายแฝงอยู่ด้วย    ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และเพิ่มสารเคมีช่วยการเรียนรู้ในสมอง  ได้แก่ โดปามีน และ นอร์อะดรีนาลิน   

เฉลิมฉลองชัยชนะเล็กๆ ของทั้งชั้น

เป็นการใช้ความพยายามช่วยกันทำให้บรรลุ “เป้าหมายรายทาง” ที่กล่าวถึงในบันทึกที่ ๕ ตั้งเป้าหมายสูงลิ่ว    เพื่อสร้างความกลมเกลียวกันในชั้นเรียน    โดยเริ่มต้นที่เป้าหมายปลายทางสูงลิ่ว  และมีเป้าหมายรายทาง (milestones / micro goals) เป็นระยะๆ    เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันที่ระบุเป้าหมายรายทางไว้ ครูพูดถึงเป้าหมายรายทางนั้น และโยงสู่เป้าหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงลิ่วต่อนักเรียน    และชี้ให้เห็นว่า เกือบจะบรรลุเป้าหมายรายทางที่กำหนดไว้แล้ว    เพื่อกระตุ้นนักเรียนที่อาจยังล้าหลังให้เร่งทำงานหรือเรียนรู้    เป็นการสร้างความมีชีวิตชีวาในชั้นเรียน  

เมื่อนักเรียนร่วมกันบรรลุเป้าหมายรายทาง ครูต้องจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เพื่อใช้เป็นตัวสร้างความมั่นใจแก่นักเรียน ว่าพวกตนทำได้ หากใช้ความพยายาม    การเฉลิมฉลองทำได้หลากหลายแบบ  โดยควรให้เป็นกิจกรรมทีม    ให้แต่ละทีมใช้เวลาปรึกษากัน ๑๕ วินาที   แล้วแต่ละทีมดำเนินกิจกรรมให้ทั้งชั้นร่วมกันเฉลิมฉลอง  

หรืออาจจัดเป็นพิธีกรรมมาตรฐานของชั้น  เช่นให้ตบมือเป็นจังหวะ ตามด้วยเสียงตะโกน “สำเร็จ”     

  

เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม

ชุดความคิด “สร้างความเอาใจใส่ของนักเรียน” (engagement mindset) เป็น “เสียงในหัว” ของครู ที่บอกว่า เมื่อครูเอาใจใส่นักเรียนทุกคน ทุกวัน การเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าจะเกิดขึ้น    โดยครูมีเครื่องมือสร้างความเอาใจใส่ต่อการเรียนของนักเรียนตามที่ระบุในบันทึกที่ ๑๙ – ๒๒   และใช้เครื่องมือเหล่านั้น บูรณาการในการเรียนรู้ประจำวัน  

วาทกรรมในสมองของครูจะเปลี่ยนจาก “ฉันมีเรื่องต้องสอนมาก   และฉันรู้ว่าวิธีสอนที่ดีที่สุดคือการบรรยาย    เรื่อง student engagement เป็นเรื่องเหลวไหล”     ไปเป็น “ฉันจะ engage กับเป้าหมายที่ทรงคุณค่า กับศิษย์ทุกคน ทุกวัน  ทุก ๙ นาทีหรือสั้นกว่านั้น”

ใคร่ครวญสะท้อนคิดและตัดสินใจ

ผมตีความว่า เครื่องมือต่างๆ เพื่อสร้างความสนใจเรียนให้แก่ศิษย์ ตามในบันทึกที่ ๑๙ – ๒๒ นี้    คือเครื่องมือช่วยให้ครูยึดกุมการจัดการชั้นเรียนให้มีระเบียบ มีพลัง โดยที่พลังนี้จะขับเคลื่อนตัวเองด้วยพลังของนักเรียนทั้งชั้น    ช่วยลดความยากลำบากในการทำงานของครู    ผมเชื่อว่า การดำเนินการนี้จะต้องใช้ความพยายามมากในปีสองปีแรกของชีวิตการเป็นครู    หลังจากนั้นเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยเบาแรงครู    และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ช่วยให้ครูบรรลุเป้าหมาย “ครูเพื่อศิษย์”    ที่มีผลงานดีเด่น

วิจารณ์ พานิช 

๑๒ พ.ค. ๖๒




ความเห็น (1)

การให้เด็กเตรียมความพร้อมก่อนและหลังเรียนมีพลังมากเลยครับ ผมใช้ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษใช้ในการอบรมครูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท