สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๖. วัดผลการเรียนรู้


บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๖ นี้ ตีความจาก Part II : The learning crisis   Chapter 4  : To take learning seriously, start by measuring it   และ Spotlight 3 : The multidimensionality of skills   ซึ่งอยู่ในรายงานหน้า ๙๑ – ๑๐๔  

วิกฤติการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นหากไม่จัดระบบข้อมูลเพื่อค้นหา    ระบบข้อมูลด้านการศึกษาตามปกติมักจะไม่ได้สนใจว่าใครได้เรียนรู้ ใครไม่ได้เรียน    สนใจแต่ข้อมูลเชิงทรัพยากรนำเข้า ไม่สนใจผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แท้จริง   

เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเรียนรู้ต้องทำหลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือวัดการเรียนรู้   โดยมีเป้าหมายใช้การวัดนำไปสู่การดำเนินการ   เพื่อเกิดการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศ   ให้การปรับตัวนั้นสนองความต้องการของระบบ   โดยจุดเน้นสำคัญที่สุดคือ ความต้องการในระดับชั้นเรียน และระดับตัวนักเรียน 

  

การวัดช่วยเผยให้เห็นวิกฤติการเรียนรู้ที่ซ่อนอยู่

กล่าวได้ว่า ไม่มีระบบการศึกษาของประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำประเทศใดเลย ที่มีระบบประเมินระดับชาติที่ใช้ติดตามการเรียนรู้ และเป็นกลไกป้อนกลับแก่นโยบายการศึกษาแห่งชาติ และแก่โปรแกรมการจัดการศึกษาของประเทศ    และผมขอเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ก็ไม่มีระบบนี้เช่นเดียวกัน 

ฝ่ายบริหารระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ มักรายงานเฉพาะข้อมูลด้านการเข้าเรียน ไม่มีรายงานด้านการเรียนรู้    เพราะในระบบข้อมูลการศึกษาไม่มีข้อมูลด้านการเรียนรู้    เนื่องจากไม่อยู่ในความสนใจของนักการเมืองและข้าราชการ    เมื่อพูดถึงระบบการศึกษา นักการเมืองมักอ้างข้อมูลด้านปัจจัยนำเข้า ได้แก่จำนวนโรงเรียน จำนวนครู เงินเดือนครู งบประมาณ ฯลฯ   แทบจะไม่พูดถึงผลลัพธ์การเรียนรู้    สภาพเช่นนี้ ทำให้ความอ่อนแอของระบบการศึกษาถูกซ่อนเร้น  รัฐบาลสามารถปกปิดหรือละเลยที่จะรับผิดชอบเรื่องคุณภาพการศึกษา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลูกคนจนได้รับ

เมื่อไม่มีข้อมูลเรื่องคุณภาพการเรียนรู้ที่แจ้งชัด  พ่อแม่ก็อาจไม่ตระหนักว่า การศึกษาที่ลูกของตนได้รับนั้น มีคุณภาพต่ำ    จึงไม่ได้ทำหน้าที่เรียกร้องการศึกษาคุณภาพสูงจากรัฐบาล และจากโรงเรียน  

ข้อมูลที่บอกว่า นักเรียนได้เรียนรู้อะไร ไม่ได้เรียนรู้อะไร จะเป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ให้โรงเรียน และผู้บริหารระบบการศึกษา ดำเนินการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้    หากมีข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน รายห้องเรียน รายโรงเรียน และในภาพรวมของประเทศ   เปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะมีโอกาสช่วยกันพัฒนาผลการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ของผู้เรียน    และเพื่อประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ในการมีพลเมืองคุณภาพสูงในอนาคต

การขาดข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน สำหรับให้ครูและโรงเรียนใช้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่เรียนอ่อนให้บรรลุผลการเรียนรู้ในระดับที่ยอมรับได้    จะมีผลให้นักเรียนเพียงส่วนเดียว (ส่วนน้อย?) ที่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐาน    มีผลการวิจัยในนักเรียนที่อินเดีย พบว่าในนักเรียนเกรดเดียวกัน อาจมีนักเรียนที่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ต่างกันถึง ๕ - ๖ เกรด

ปัญหาที่ร้ายกว่านั้น คือการวัดแบบบิดเบี้ยว ไม่แม่นยำ วัดเพียงบางส่วน  หรือพึ่งพาการวัดนานาชาติ (เช่น PISA) มากเกินไป    อาจนำไปสู่มาตรการแก้ไขผิดๆ   การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จึงต้องใช้เพื่อเสริม ไม่ใช่ทดแทน การวิเคราะห์อย่างละเอียดอ่อน และคำนึงถึงบริบทของนักเรียน สำหรับใช้พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

การวัดการเรียนรู้ที่ดี สะท้อนภาพทุกส่วนของระบบการศึกษา

การประเมินการเรียนรู้ ๔ แบบ ประกอบกันเข้าเป็นระบบประเมินที่ดี ที่นำไปสู่ระบบการศึกษาคุณภาพสูง ได้แก่

  • การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) การเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียน    เป็นการประเมินเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของครู    และเพื่อให้ครูใช้เป็นข้อมูลสำหรับประกอบการให้ข้อมูลป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ (constructive feedback) แก่นักเรียน กระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน   และเป็นข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้ปกครองนักเรียน  
  • การประเมินระดับชาติ (national assessment)  เพื่อตรวจสอบสมรรถนะของระบบการศึกษาทั้งระบบ    เป็นการประเมินค้นหาผลสำเร็จ และประเด็นท้าทาย  เช่นความเหลื่อมล้ำ  คุณภาพ  ประสิทธิภาพ (EQE – Equity, Quality, Efficiency)   สำหรับใช้เป็นแนวทางดำเนินการพัฒนาระบบ    ผมขอเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก National Education Account บอกความท้าทายด้าน Inefficiency และ Inequity ของระบบชัดเจน   แต่ไม่เห็นการนำไปใช้ดำเนินการแก้ไขโดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการระบบ       
  • การทดสอบระดับชาติ (national examination) เพื่อรับรอง และระบุระดับของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   การทดสอบนี้มีอิทธิพลมาก เพราะจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินการเข้าศึกษาต่อ หรือการเข้าทำงาน    เป็นการทดสอบที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกสาระที่เน้นสอน และต่อวิธีจัดการเรียนการสอนของครูและโรงเรียน    ผมขอเพิ่มเติมว่า การทดสอบที่ตื้น และทดสอบเฉพาะความรู้    ส่งผลให้การศึกษาของประเทศนั้นคุณภาพต่ำ
  • การประเมินนานาชาติ (international assessment) เพื่อเปรียบเทียบ (benchmark) ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนระหว่างประเทศต่างๆ และระหว่างกลุ่มภายในประเทศ    ตัวอย่างเช่น PISA, TIMSS    เป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่ช่วยให้แต่ละประเทศได้เห็นภาพระดับคุณภาพการศึกษาของตน   และได้เห็นกรณีตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   

ผมขอเพิ่มเติมว่า การวัดหรือประเมินการเรียนรู้ ต้องเน้นวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการวัดไปดำเนินการพัฒนา    ต้องอย่าเน้นเอาผลไปตำหนิติเตียน หรือนำไปให้รางวัลหรือเลื่อนตำแหน่ง    เพราะจะนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อการประเมินแบบไม่พึงประสงค์    ทำให้เกิดผลการประเมินหลอกๆ 

การวัดเพื่อเรียนรู้นำทางสู่การปฏิบัติ         

เป้าหมายสำคัญของการวัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียน คือเพื่อตรวจหาช่องว่างระหว่างพื้นความรู้ของนักเรียน กับระดับการเรียนรู้ที่ครูจัดให้แก่นักเรียน   สำหรับดำเนินการขจัดช่องว่างนั้นเสีย     ตัวอย่างเช่นในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป. ๕  ครูประเมินพื้นความรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งชั้น พบว่าพื้นความรู้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ป. ๓    โดยมีความแตกต่างตั้งแต่พื้นความรู้ ป. ๑ ถึง ป. ๔    ครูต้องใช้ผลการวัดนี้สำหรับดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่พื้นความรู้คณิตศาสตร์ ต่ำกว่า ป. ๔  ให้ขึ้นมามีพื้นความรู้ระดับ ป. ๔   สำหรับเรียนคณิตศาสตร์ระดับ ป. ๕ ต่อไป    การที่โรงเรียนมีวัฒนธรรมการประเมินการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ตามด้วยมาตรการแก้ไขหรือเสริมการเรียนรู้เช่นนี้ จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนขึ้นอย่างมากมาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนอ่อน ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐาน   

จะเห็นว่า การวัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียน นำไปสู่การพุ่งเป้าการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาไปยังนักเรียนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ช่วยยกระดับความเป็นธรรมทางการศึกษา     รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งหมายความว่า มีการใช้ข้อมูลนี้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ    โดยมีข้อเตือนใจว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องไม่หลงใช้ข้อมูลด้านเดียว     ต้องใช้ข้อมูลหลายด้านประกอบกัน   

จุดอ่อนของของระบบการศึกษาคุณภาพต่ำคือ มักไม่ใช้ข้อมูลการวัดการเรียนรู้ หรือใช้น้อย    จึงอยู่ในสภาพที่มีการวัดแต่ไม่เอาผลไปใช้ประโยชน์    และในหลายกรณี กว่าจะนำผลการวัดมาสื่อสารเพื่อการใช้ประโยชน์ เวลาก็ล่วงเลยไปนานมาก จนนำผลการวัดมาใช้ประโยชน์ไม่ทันนักเรียนกลุ่มนั้น    หรืออาจมีสถานการณ์ที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูต่อต้านการประเมินที่มาจากส่วนกลาง    เพราะใช้การประเมินแบบไม่คำนึงถึงบริบทของโรงเรียนและนักเรียน   

การนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ผิดๆ โดยฝ่ายนโยบาย (เช่นโครงการ No child left behind ของสหรัฐอเมริกา)    ทำให้โรงเรียนแก้เกี้ยวโดยโกงการประเมินด้วยสารพัดวิธี     หรือแม้แต่การประเมินนานาชาติ ก็ยังมีการดำเนินการโกงในระดับชาติ เพื่อให้ได้ชื่อว่าประเทศของตนได้อันดับสูง    เป็นการใช้การประเมินเพื่อเป้าหมายผิดๆที่ไม่ก่อคุณประโยชน์แก่ผู้เรียน    เข้าใจว่าในประเทศไทยก็ไม่ปลอดจากมิจฉาทิฐินี้             

การวัดการเรียนรู้กระตุ้นการปฏิบัติ

การวัดการเรียนรู้อาจส่งผลกระตุ้นการปฏิบัติก็ได้    หรือส่งผลให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยหาวิธีการบ่ายเบี่ยงสารพัดวิธีก็ได้ หากการวัดและผลการวัดก่อผลลบให้แก่วงการการศึกษา วงการการศึกษาอาจหาทางปกปิด  ชะลอผล หรือไม่ร่วมมือต่อการวัด หรือหาทางทำให้การวัดดำเนินไปอย่างบิดเบี้ยว   

ทางที่ดีที่สุดคือ ทำให้การวัดเป็นกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่เริ่มปรึกษาหารือระหว่างภาคีหลักในเรื่องวัตถุประสงค์ของการวัด  วิธีวัด  และแนวทางนำผลไปใช้ประโยชน์    โดยยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นเป้าหมายหลัก    เป้าหมายให้ประเทศมีพลเมืองคุณภาพสูงเป็นเป้าหมายที่สอง   และเป้าหมายสร้างเกียรติภูมิแก่วงการครูและวงการการศึกษาเป็นผลตามมา    โดยรายงานเสนอหลักการ ๓ ประการ

  • การมีส่วนร่วม   ตามปกติ ผลการประเมินการเรียนรู้มักจะให้ผลเลวร้ายกว่าที่คนทั่วไปตระหนัก    ผลดังกล่าวจึงช่วยกระตุ้นพ่อแม่และผู้เห็นความสำคัญของคุณภาพการศึกษา เข้าไปเรียกร้อง และร่วมมือกับโรงเรียนในการดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษา
  • เปิดช่องให้มีทางเลือก    หากการเรียกร้องความรับผิดชอบ และการขอเข้าไปร่วมพัฒนาโรงเรียนไม่ได้รับการสนอง    พ่อแม่และผู้เห็นความสำคัญของคุณภาพการศึกษา ก็อาจเลือกส่งลูกหลานไปเรียนที่โรงเรียนอื่น ไม่ส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน    ซึ่งอาจยิ่งก่อผลร้ายต่อโรงเรียนในเขตของครอบครัวยากจน   และยิ่งเป็นความยากลำบากแก่ครอบครัวยากจน    เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
  • ให้พ่อแม่และประชาชนได้มีสิทธิ์มีเสียง    ผลการวัดจะช่วยชี้ว่า ส่วนใดที่ต้องการการแก้ไข    สำหรับให้พ่อแม่และผู้เห็นความสำคัญของคุณภาพการศึกษาใช้แสดงความต้องการ เพื่อเป็นพลังให้ฝ่ายการเมืองสนองความต้องการ    ซึ่งจะได้ผลจริงในสังคมที่การเมืองมีความรับผิดรับชอบต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง        

การวัดการเรียนรู้โดยตัวของมันเองไม่ก่อประโยชน์  หากไม่นำไปสู่การปฏิบัติ    โดยที่ผู้รับรู้สาระจากการวัดต้องเข้าใจ  เห็นช่องทางนำสู่การปฏิบัติ  เห็นคุณค่าของการนำไปปฏิบัติ  และเชื่อว่าเมื่อตนลงมือกระทำ จะก่อผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน  

จะเกิดผลดีต่อระบบการศึกษา  หากผลการวัดการเรียนรู้ นำไปสู่การแสดงความต้องการการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้โดยพ่อแม่และคนในพื้นที่    แล้วฝ่ายการเมืองสนองตอบเชิงบวก โดยหาทางส่งเสริมให้เกิดการแก้ไข    แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายการเมืองอาจหาทางบ่ายเบี่ยง  หรือหาทางทำให้ระบบการวัดการเรียนรู้อ่อนแอด้วยสารพัดวิธี    มีตัวอย่างในต่างประเทศ  ฝ่ายการเมืองหาทางไม่ให้เปรียบเทียบผลระหว่างปีได้    และทำให้ผลการวัดประกาศออกมาช้ามาก เช่นหลังการวัด ๒ ปี     

รายงานเปรียบเทียบระหว่างเป้าหมายของ MDG  กับ SDG ด้านการศึกษา    MDG มีเป้าหมายที่อัตราการเข้าเรียน    ในขณะที่ SDG หันมาระบุเป้าหมายที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ 

เลือกสิ่งที่จะวัดให้ตรงความต้องการของประเทศ

ประเทศที่ยังไม่มีการวัดการเรียนรู้แบบใดๆ เลยควรเริ่มด้วยการวัดเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียน    หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การประเมินระดับชาติแบบสุ่มตัวอย่าง    ซึ่งจะใช้ทรัพยากรไม่มากและทำได้เร็ว รวมทั้งทำได้บ่อย     เพื่อประเมินระบบการศึกษาของประเทศ    ตามด้วยการเข้าร่วมการประเมินเพื่อเปรียบเทียบระดับภูมิภาคหรือนานาชาติ   

เขาแนะนำว่า การประเมินระดับชาติไม่จำเป็นต้องทำแบบปูพรม    ทำแบบสุ่มตัวอย่าง (sample-based) ก็พอเพียงต่อการประเมินสมรรถนะของระบบ    โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยโรงเรียนที่ประเมิน   เพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่อการประเมิน    การประเมิน ๓ แบบนี้มีเป้าหมายต่างกัน แต่ควรดำเนินการเชื่อมโยงกัน   

หลักการสำคัญคือ ควรประเมินเด็กในช่วงที่ยังมีเวลาดำเนินการแก้ไข ให้เกิดผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้    

การวัดการเรียนรู้กับวิสัยทัศน์ที่คับแคบทางการศึกษา

ในรายงานนี้เมื่อเอ่ยถึง “learning outcomes” เขาหมายถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านวิชาการเท่านั้น    โดยเขาให้เหตุผลว่า การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านวิชาการ จะมีผลให้วงการศึกษาเอาใจใส่ “desirable outcomes” อื่นๆ เอง    ซึ่งผมไม่เห็นด้วย   

ผมมีความเห็นว่า เมื่อเอ่ยถึง “learning outcomes”   ต้องหมายถึง holistic learning outcomes    คือครอบคลุมทุกด้านของการเรียนรู้หรือพัฒนาการ    ที่เรียกว่า 21st Century Skills    และการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ ต้องวัดให้ครอบคลุมทุกด้าน    คือต้องสมาทานวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมในเรื่องผลลัพธ์ของการเรียนรู้    ไม่สามาทานวิสัยทัศน์ที่คับแคบ

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ไม่เพียงทักษะด้านปัญญา (cognitive skills) เท่านั้น ที่มีความสำคัญต่อชีวิตที่ดีในอนาคต    ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ (socioemotional skills หรือ noncognitive skills) ก็มีความสำคัญด้วย    ได้แก่ อิทธิบาท ๔ (grit), การควบคุมตนเอง, การจัดการตนเอง, การสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม, และการเข้าสังคม       

คำแนะนำ ๖ ประการเพื่อการวัดการเรียนรู้ที่ได้ผลดี

  1. 1. วัดช่องว่าง    เพื่อจะได้พุ่งเป้าการพัฒนาไปที่จุดที่ต้องการการพัฒนามากที่สุด
  2. 2. ติดตามความก้าวหน้า     โดยมีระบบประเมินเป็นระยะๆ ให้เปรียบเทียบผลได้    ผมเรียกว่า เพื่อเป็น feedback  ให้เกิด learning loop ในระบบการศึกษา    จะยิ่งดี หากใช้ให้เป็น double learning loop
  3. 3. ทดสอบนักเรียนในช่วงที่ยังมีเวลาดำเนินการปรับปรุง    อย่าลืมว่า การประเมินไร้ค่าหากไม่นำไปสู่การปรับปรุง   ผมชอบมากที่เขาแนะนำว่า อย่าประเมินเฉพาะเด็กและเยาวชนในระบบโรงเรียน    ให้ประเมินเด็กและเยาวชนตามบ้านด้วย   เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบพัฒนาคนในภาพรวม    ระบบ “การเรียนรู้”  ควรมีมุมมองที่กว้างและครอบคลุมประชากรทั้งหมด  
  4. 4. วัดอย่างครบด้าน    คือต้องมองการวัดเป็น “ระบบ หรือชุดเครื่องมือวัด”    ไม่มองการวัดแบบเดียวโดดๆ แล้วนำผลการวัดด้านเดียวไปผลักดันนโยบาย    ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้นโยบายบิดเบี้ยวได้สูง 
  5. 5. ออกแบบการวัดอย่างดียังไม่พอ ต้องเตรียมเปิดทางสู่การดำเนินการปรับปรุงด้วย    หลักการสำคัญคือ แสวงหาภาคีดำเนินการประเมิน   ที่ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้นำสาระจากการประเมินไปดำเนินการปรับปรุง    นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมระบบสื่อสารสาธารณะ ที่จะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลการประเมินช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
  6. 6. ใช้ตัวอย่างที่ดีระดับโลกให้เป็นประโยชน์    รวมทั้งใช้การประเมินนานาชาติ ให้มีผลดีต่อการประเมินระดับชาติ    ซึ่งในทางปฏิบัติต้องการทักษะในการเชื่อมโยงให้ก่อผลไปในทางดี ไม่ใช่ก่อผลไปในทางลบ

ใช้กลไกการวัดผลการเรียนรู้ระดับโลกให้เกิดประโยชน์

ระบบวัดการเรียนรู้ระดับโลกที่มีชื่อเสียงเช่น PISA, TIMSS, PIRLS  มีประโยชน์มาก หากประเทศต่างๆ รู้จักนำมาใช้ประกอบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ของประเทศตน    โดยพึงระมัดระวังสองข้อ คือด้านเทคนิค กับด้านการเมือง

ด้านเทคนิค  ประกอบด้วยการเลือกเทคนิคการวัด  การเลือกตัวอย่าง  และการประมวลผล    ที่ไม่ใช่เพียงเหมาะสมสอดคล้องกับระบบของโลก แต่ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับระบบของประเทศด้วย  

ด้านการเมือง  การวัดต้องใช้ทรัพยากร  ต้องมี “โครงสร้างพื้นฐาน” ในการนำผลการประเมินเป็นข้อมูลป้อนกลับไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง  ชุมชน และผู้รับผิดชอบระบบการศึกษา    ทั้งหมดนี้ต้องการความเอาจริงเอาจังทางการเมือง (political will)    

อย่างไรก็ตาม มีองค์กรขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับโลก เช่น Global Alliance to Monitor Learning,  A4L (Assessment for Learning),  International Commission on Financing Global Education Opportunity    ที่จะให้ความร่วมมือแก่กลไกประเมินระดับชาติได้  

ทักษะหลายมิติที่เป็นเป้าหมายการเรียนรู้

ในโลกยุคนี้การมีความรู้ไม่เพียงพอ ต้องมีความสามารถนำความรู้ไปใช้ในหลากหลายบริบท ให้เกิดผลตามเป้าหมายที่มุ่งหวัง   

รายงานนี้ระบุเป้าหมายการเรียนรู้ตามในรูปที่คัดลอกมาจกรูปที่ S3.1 ในรายงาน    ดังแสดงข้างบน คือทักษะ ๓ ด้าน ได้แก่ ทักษะ ด้านสังคมอารมณ์  ด้านวิชาการ  และด้านเทคนิค    โดยที่แต่ละด้านเชื่อมโยงกันและมีส่วนเสริมพลังซึ่งกันและกัน  

การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับพัฒนาการของเด็ก และตามเวลาหรืออายุ    ที่สำคัญคือกลไกในระบบการศึกษาต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูง (higher order learning)    ไม่ใช่แค่เรียนรู้อย่างผิวเผิน    

จะหลุดจาก “วิกฤติการเรียนรู้” ได้ ประชาคมภายในประเทศต้อง “มองเห็น” ระบบการศึกษา อย่างแจ่มชัด    ผ่านการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี   และต้องเอาชนะความท้าทายหลัก ๒ ประการคือ (๑) วัฒนธรรมทดสอบ (testing) ที่เบ่งบาน   ทำให้มีการสอบมากเกินจำเป็น  และ (๒) มีการประเมิน (assessment) น้อยไป  รวมทั้งขาดความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อผลการเรียนรู้ในระบบการศึกษา

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มิ.ย. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 667207เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2019 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2019 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท