แนวทางจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม


แนวทางจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรม


          ผมบอกกับตัวเองว่า   ศูนย์คุณธรรมน่าจะจัดตลาดนัดความรู้เชิดชูคุณธรรม   เพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อน “เครือข่ายความรู้   เชิดชูคุณธรรม”    สำหรับจัดการความรู้ด้านคุณธรรม  จริยธรรม  ในสังคมไทย


          ความคิดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผมกำลังร่วมประชุม “สร้างเสริมศักยภาพนักวิจัยและเครือข่ายเพื่อการจัดการความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม”   จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม   ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า   ศูนย์คุณธรรม (www.moralcenter.or.th)   เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.48


          มีการนำเสนอโครงการเพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรม  ที่ศูนย์คุณธรรมสนับสนุน 8 โครงการ   ในจำนวนนี้ 4 โครงการเป็นการดำเนินการเชิงรุกเข้าไปในชุมชน   ได้แก่ (1) โครงการสัจจะสะสมทรัพย์  พัฒนาคุณธรรม  จ.ตราด  นำเสนอโดย อ.ประดิษฐ์  ดวงนภา   ประธานศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์  จ.ตราด   (2) โครงการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเป็นสุข  จ.ตราด   ของชมรมนักพัฒนาภาคตะวันออก   ซึ่งก็เป็นเครือข่ายของท่านอาจารย์สุบิน นั่นเอง   (3) โครงการพัฒนาคุณธรรมพลังแผ่นดิน   เยาวชนคนสร้างชาติ   โดยสถาบันบุญนิยม   มูลนิธิธรรมสันติ ([email protected]) นำเสนอโดยนายธำรงค์  แสงสุริยจันทร์   (4) โครงการพัฒนาคุณธรรมพลังกสิกรของแผ่นดิน   ของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย   สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม   นำเสนอโดยนายร้อยแจ้ง  จนดีจริง ([email protected])    โปรดสังเกตนะครับ   ว่าโครงการที่ 3 และ 4 ให้ e-mail address เดียวกัน   เพราะเป็นกลุ่มเดียวกัน   คือกลุ่มสันติอโศก


          “ความรู้ด้านคุณธรรม  จริยธรรม”   ที่เราสนใจเน้น “ความรู้ปฏิบัติ” 80 – 90%   ส่วนที่เป็นความรู้ปริยัติหรือความรู้เชิงทฤษฎีนั้นเราไม่เน้น   แต่ก็มีความสำคัญ   น้ำหนักน่าจะอยู่ที่ 10 – 20%


          “การจัดการความรู้ด้านคุณธรรม  จริยธรรม”   จึงต้องเน้นที่ผู้ปฏิบัติคือเป็นกิจกรรมที่ผู้ปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   คือเน้น Knowledge Sharing  ความรู้ปฏิบัติด้านคุณธรรม


          แต่ต้องไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนด้วยการเล่าเรื่อง (storytelling) เท่านั้น   ต้องมีการจดบันทึก “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) เพื่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมด้วย   แล้วรวบรวมเอามาสังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้” (Core Competence) ซึ่งคุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม   รองประธานศูนย์คุณธรรม   เรียกว่า “สมรรถนะหลัก”    เพื่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม


          การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนั้นมีหลายระดับ   อาจเป็นระดับบุคคล   ระดับครอบครัว   ระดับชุมชน (หมู่บ้าน  ตำบล)  ไปจนถึงระดับประเทศ   และระดับโลก


          ศูนย์คุณธรรมพยายามทำในระดับประเทศ   โดยการให้การสนับสนุนการดำเนินการในระดับบุคคล   ครอบครัว   องค์กร   และชุมชน   ผมโดนจับตัวไปเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการ   ซึ่งเมื่อทำไประยะหนึ่ง   ผมก็ไม่สบายใจ   ว่าเงินจากภาษีอากรของประชาชนจะถูกใช้อย่างได้ผลคุ้มค่าหรือไม่   เพราะว่าโครงการเหล่านี้เน้นการฝึกอบรม (Training)  เพียง 3 วัน 7 วัน   ผมไม่เชื่อว่าพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจริยธรรมของคนจะเปลี่ยนภายในเวลาสั้น ๆ     ถ้าจะมีบ้างก็ส่วนน้อยมากและมักไม่ยั่งยืน   ผมเชื่อในกระบวนการเรียนรู้ (Learning) มากกว่า   ผมจึงเสนอต่อ อ.นราทิพย์  พุ่มทรัพย์     ผอ. ศูนย์คุณธรรมว่า   ควรจะดำเนินการวิจัยและจัดการความรู้คู่ขนานไปกับโครงการฝึกอบรมที่ให้การสนับสนุนไป   นั่นคือที่มาของการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.


          โครงการที่ผมเอ่ยชื่อข้างต้น   เป็นโครงการที่ผมเห็นว่าจะมีการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่องได้ดี   เพราะมีการวางเครือข่ายชัดเจน   ฟังดูหน่วยงานที่ทำโครงการมีการจัดการเข้มแข็ง


          โปรดสังเกตนะครับ   ว่าเรื่องคุณธรรมไม่ใช่เรื่องที่อยู่ลอย ๆ   แต่จะสอดแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างแนบแน่น   ผมจึงไม่เชื่อว่าการทำโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมอย่างเดียว   ไม่ดำเนินการเป็นเนื้อเดียวกับการดำรงชีวิตประจำวัน   จะได้ผลจริงจัง


          ผมเชื่อว่า   มีชุมชนอีกมากมายที่เขารวมตัว   รวมกลุ่มกันดำเนินการกิจกรรมเพื่อการอยู่รอด   แล้วเกิดการพัฒนาจริยธรรมคุณธรรมร่วมกันของคนในชุมชน   ยกตัวอย่าง   โรงเรียนชาวนาที่ จ.สุพรรณบุรี   เป้าหมายหลักคือรวมตัวกันเรียนรู้วิธีทำนาแบบยั่งยืน   ลดต้นทุน   ลดการใช้สารเคมี   เมื่อทำไปเกิดผลทางจริยธรรม   คือเอื้ออาทรเพื่อนบ้านมากขึ้น   มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมทั้งทางอาชีพและวัฒนธรรมประเพณี


          กลับมาที่แนวทางจัดการความรู้   ผมเสนอว่าต้องหาทางให้แกนนำของโครงการที่ศูนย์คุณธรรมสนับสนุน   และกิจกรรมของชุมชนที่ศูนย์คุณธรรมไม่ได้สนับสนุน   ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเครือข่าย   มีเครื่องมือติดต่อถึงกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่ได้ผล   จริง ๆ 


          เครื่องมือสำหรับอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้น่าจะมี 2 กลุ่ม
1.      การพบปะในการประชุม   โดยควรมีเทคนิคการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ให้ปล่อยความรู้จากประสบการณ์ที่อยู่ในหัว,   ใจ,   และมือ   ออกมาได้มาก
2.      การใช้เทคโนโลยีช่วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่ต้องพบตัว   ได้แก่ใช้ blog,   วิทยุชุมชน,   หนังสือพิมพ์   และสื่อมวลชนอื่น ๆ


วิจารณ์  พานิช
   8 มิ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 666เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2005 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตั้งแต่ผมมาศึกษา ทำความเข้าใจเรื่อง KM แล้ว  ไม่รู้ว่าทำไม
เห็นอะไร ก็เป็น KM ไปหมดก็ไม่ทราบครับ

ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมก็จะพลิกตำรา หาองค์ความรู้นำมาวาดเป็น
แผนภาพเชิงระบบ (ใช้ System Thinking) และพยายามมองหา
ว่าปัจจัยตัวไหน เป็นตัวสำคัญสุด ที่ทำให้เกิดปัญหา และคิดหา
วิธีแก้ตามสติปัญญาเท่าที่เคยเรียนรู้มา (จริงๆ มี diagram ที่เขียน
เรื่องปัญหาคุณธรรม จริยธรรมไว้ แต่ไม่ขอเอามาแสดงนะครับ)

แต่พอตอนนี้ ใช้วิธีคิดแบบ KM ก็จะเริ่มจากความเชื่อที่ว่า
สิ่งดีๆ มีอยู่แล้ว  ผมก็จะถามว่า มีที่ไหนบ้างในเมืองไทย ที่มีการ
จัดการเรื่องคุณธรรม จริยธรรมได้ดี   มีวัดไหนบ้างที่ทำให้ชุมชน
มีศีล มีธรรมได้ทั้งหมู่บ้าน  มีโรงเรียนไหนบ้างที่สอนแล้วเด็กมี
ูภูมิต้านทานไม่ไปติดเกมออนไลน์  จะพยามเสาะหาให้ได้ในทุกๆ
บริบท

พอได้ตัวอย่างที่ดีมาแล้ว ก็นำมาเข้ากระบวนการ KM คืออาจจะ
สกัดความรู้เลย หรือจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม
ที่ประสบความสำเร็จก็ได้  พอใช้วิธีนี้ งานก็ง่ายขึ้นแยะ  เพราะความรู้
ก็มีอยู่แล้วในแต่ละคน แต่ละกลุ่ม พร้อมจะแลกได้  ไม่ต้องรอให้
จับมาทำ System Diagram ก่อนแต่อย่างใด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท