สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๔. การศึกษาที่ทิ้งเด็กจำนวนมากไว้ข้างหลัง



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๔ นี้ ตีความจาก Part II : The learning crisis   บทแรกคือ Chapter 2  : The great schooling expansion – and those it has left behind   อยู่ในรายงานหน้า ๕๘ – ๖๗

ข่าวดีคือ ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา    พลโลกได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน    เริ่มระลอกแรกที่การขยายการศึกษาระดับประถมศึกษา    ตามด้วยระลอกของการขยายมัธยมศึกษา    แต่ข่าวร้ายคือ แม้ในประเทศที่มีการขยายการศึกษาอย่างมากมาย ก็ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงการศึกษา  เนื่องจากความยากจน  เพศ  เชื้อชาติ  ความพิการ และเนื่องจากอยู่ห่างไกล    สาเหตุใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาคือสงคราม  

เด็กส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของการศึกษาสูงที่สุดในกลุ่มประเทศยากจน   ในขณะนี้ ภูมิภาคที่ประชากรมีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษาในสัดส่วนสูงสุดคือ เอเชียใต้ กับอัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายสะฮารา (ประมาณร้อยละ ๓๐) (รูป ๒.๒ หน้า ๕๙)    ประเทศที่อัตราเข้าเรียนระดับประถมศึกษาต่ำคือประเทศยากจน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายสะฮารา   

แต่ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังคงมีอย่างชัดเจน ระหว่างประเทศรายได้สูงกับประเทศยากจน    ในประเทศกลุ่ม โออีซีดี ใกล้ร้อยละร้อยของเด็กจบชั้นประถมศึกษา ในขณะที่ตัวเลขนี้ของประเทศในอัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายสะฮารา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๕๐   ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ อัตราเรียนจบชั้น ม. ปลายในเด็กของกลุ่มประเทศ โออีซีดี เท่ากับร้อยละ ๙๖   แต่ในประเทศยากจนตัวเลขนี้เพียงร้อยละ ๓๕

สาเหตุของการเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เข้าไม่ถึงการศึกษา ที่รุนแรงที่สุดคือสงครามหรือความไม่สงบ และการตกเป็นผู้อพยพลี้ภัย     มีตัวเลขเปรียบเทียบอัตราเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาของเด็กในประเทศที่มีความสงบ เท่ากับร้อยละ ๗๘    ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในภาวะสงคราม ตัวเลขเท่ากับร้อยละ ๔๑   

จุดเด่นของรายงาน WDR 2018 คือข้อมูล และวิธีการประมวลข้อมูลมานำเสนอให้เข้าใจง่าย    และเสนอภาพใหญ่ของโลก    ดังการแสดงในรูป ๒.๕ หน้า ๖๒  บอกความสัมพันธ์ของความยากจน  การอยู่ในชนบทหรือเมือง  และความเป็นหญิงหรือชาย ว่ามีผลต่อการเรียนจบ ป. ๖ อย่างไร    โดยศึกษาในคนอายุ ๑๕ - ๑๙ ปี ทั่วโลก    พบว่ากลุ่มคนที่เรียนจบ ป. ๖ อยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำของผลการศึกษาระหว่างคนจนกับคนรวย  และความเหลื่อมล้ำของผลการศึกษาระหว่างชนบทกับเมือง ต่ำ    แต่การศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิงชาย มีผลต่อการเรียนจบ ป. ๖ แตกต่างกันไป     แต่ที่ชัดเจนคือเด็กหญิงจากครอบครัวยากจน มีโอกาสเรียนจบชั้นต่างๆ ต่ำกว่าเด็กหญิงจากครอบครัวฐานะดีอย่างมากมาย     

ความพิการเป็นสาเหตุสำคัญของการเข้าไม่ถึงการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพต่ำ

จะเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยยังมีโอกาสพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกมาก  

กรรมของพ่อแม่ยากจน

สำหรับครอบครัวยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล    การให้ลูกเข้าโรงเรียนเป็นภาระสองชั้น    ชั้นแรกคือทำให้ขาดแรงงานช่วยเหลือการทำมาหากิน  และชั้นที่สองคือ ต้องมีค่าใช้จ่าย    ยิ่งโรงเรียนที่ต้องการเข้าเรียนอยู่ห่างไกล และเป็นโรงเรียนคุณภาพดี ค่าใช้จ่ายยิ่งสูง    ประเทศที่ระบบการศึกษาคุณภาพสูง (เช่นฟินแลนด์ ()  ออสเตรเลีย ()) จึงมีมาตรการให้บริการครอบครัวเหล่านี้ไว้ในระบบปกติ  

พ่อแม่ยากจนอาจเลือกส่งลูกที่เรียนเก่งเท่านั้น ให้ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษา หรือสูงขึ้นไป    หรือเลือกส่งเฉพาะลูกชาย ให้ได้เรียนสูงๆ    ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั่วโลก    พ่อแม่เกือบทุกครอบครัวต้องการให้ลูกได้เข้าโรงเรียน และได้เรียนสูง    แต่ความเป็นจริงคือ การได้เข้าเรียนในโรงเรียน (schooling)  กับการได้เรียนรู้ (learning)  เป็นคนละเรื่อง    เป็น “วิกฤติการเรียนรู้”    ซึ่งเป็นจุดบอดหรือช่องว่างใหญ่ของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำทั่วโลก    รวมทั้งระบบการศึกษาของประเทศไทย

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 665827เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท