เส้นทางพิสูจน์ม้า ไร่นาพิสูจน์คน


ชาวบ้าน...ล้มลุกคลุกคล้านกันมาตลอดเส้นทาง...เพื่อพัฒนาขีดความสามารถพี่งตนเอง พัฒนาตนเองและสังคม

อมด้ามเสียมไม้ยุง

เฮ็ดคันสูง สูง

หมั่นเลาะ หมั่นเลียบ

อมสหมเฝ้า       

                        คาถาบอกเล่าโดยพ่ออุ๊ย พ่อของแสงเดช       

 

สองวันที่ผ่านมาเราประชุมกันที่บ้านของเกริกพล ที่หนองซน อ. นาทม นครพนม พ่ออุ๊ย พ่อของแสงเดชและเกริกพลร่วมประชุมด้วย พ่ออุ๊ยฟังพวกเราคุยกันเรื่องการทำนา ผลผลิตที่ได้ และปัญหาที่พบที่ทำให้ผลผลิตไม่งาม พ่อก็นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ และร่วมแจมกับพวกเราด้วยเป็นครั้งคราว พ่อเห็นว่า เดี๋ยวนี้ ลูกหลานทำนาแล้วไม่งาม ได้ผลผลิตไม่ดีเนื่องจากการไม่ใส่ใจในการทำนา ไม่ดูแลคันนา ดังคาถาจากพ่อที่นำมาเปิดบันทึก คือต้องปั้นคันนาให้สูงเพื่อให้ดูแลน้ำได้ ต้องหมั่นดูแล เลาะเลียบสำรวจนา เฝ้าดูแลไม่ปล่อยละเลย ดูแลน้ำ ดูแลหญ้า  นั่นแหละข้าวก็จะงาม  นอกจากนี้พ่อยังบอกว่า รถไถนามันไม่ขุดค้นตัดหญ้า หญ้าเลยเกิด ถ้าไถควายจะไม่มีปัญหานี้เลย ไถไปควายก็ขี้ไปเยี่ยวไปให้ปุ๋ยไปด้วย แล้วต้นไม้ในนาก็ควรจะมีต้นเชือก ต้นกะบก ต้นถ่ม ขึ้นไฮ่นาละต้น สองต้น เพราะใบของมันเป็นปุ๋ยอย่างดี

 

ปีนี้แม้สมาชิกแปดในเก้าคนได้ปุ๋ยหมักใส่นาคนละหนึ่งต้น เป็นอย่างน้อย ก็ยังมาเจอกับภาวะของฝนตกช้าตอนต้นฤดู ซึ่งเอื้อให้หญ้างามแทนข้าว และตกกระหน่ำช่วงกลางฤดูแทบไม่ได้เห็นแสงตะวัน ก็ทำให้ข้าวเกิดอาการที่ชาวบ้านเรียกว่า เป็นบั่ว บางพื้นที่ก็เรียกว่า มันออกดาก คือข้าวมันไม่ออกรวง แต่โผล่ออกมาเป็นเหมือนต้นหอมกินดอกแล้วอยู่แบบนั้น ที่ชาวบ้านเรียก มันนั่งอยู่อย่างนั้นเลยไม่แตกยอดเป็นหมากเป็นรวง ผลผลิตปีนี้จึงลดลงจากปีที่แล้วโดยเฉลี่ย ๑๐-๒๐ %

 

เมื่อพูดถึงการทดลองความรู้เรื่อง การทำนาแบบไม่ไถหว่าน สมาชิกก็ดูกระตือรือล้นที่จะทดลองในไร่นาของตนเอง ยกเว้น เกริกพลที่ยังก้าว ๆ  ถอย ๆ  อยู่ แต่เมื่อได้คุยละเอียด วิธีที่จะทำ จะวางแผนอย่างไร ก็เกริกพลก็คงจะลอง แต่คนทำท่าทางจะเป็นลูกชายคนโตที่ชื่อ ดำ ซึ่งแม้จะเป็นเด็กก็รับผิดชอบงานหลายอย่างช่วยพ่อแม่

 

ในการทำงานร่วมกันในโครงการฟื้นฟูต้นทุนชีวิตชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านจาก ๕-๖ อำเภอ จำนวนประมาณ ๙๐ กว่าคนนี้แม้ว่าจะได้ดำเนินงานกันมา ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอดเส้นทางตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เพื่อที่จะพัฒนาขีดความสามารถพึ่งตนเอง พัฒนาตนเอง และสังคม  ในเบื้องต้นคือการจัดการความรู้ในไร่นาของตน อาศัยไร่นาเป็นแหล่งหลักในการเรียนรู้ ประกอบกับความรู้จากผู้อื่นจากภายนอก โดยตัวชาวบ้านเป็นหลักในการพัฒนาความรู้ จัดการความรู้ที่เป็นแบบของตนเอง ในบริบทของตนเอง

 

สมาชิกเหล่านี้มีระดับของการพัฒนางานแตกต่างกัน รูปธรรมที่ปรากฏในไร่นามีระดับที่แตกต่างกัน ตามแต่ปัจจัยเงื่อนไขข้อจำกัดอันเป็นวัตถุธรรมภายนอก และทัศนภายใน ความคิดการมองระยะสั้นระยะยาวทัศนในการมองชีวิตของตนที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สมาชิกเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นคือความอดทน ความพยายามที่จะสร้างฐานชีวิตของตนเอง การเห็นคุณค่าของการรวมกลุ่ม ดังสมาชิกบางคนได้ปรารภในโอกาสที่ร่วมทำงานเป็นกลุ่ม พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกเครือข่ายว่า " พวกเราเหมือนกับลูกแม่เดียว "  การเกื้อหนุนกันมีปรากฏให้เห็นไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ไม้มาฝากเพื่อน การนำผลผลิตของตนมาฝากเพื่อนที่สนิทสนมกัน ยาสมุนไพร

 

สมาชิกผู้ที่ได้วางฐานงานของตนเองได้ชัดเจนเห็นแนวทางของตนเองแล้ว บางครั้งก็จะรู้สึกว่างานไปช้า ทำไมเพื่อนถึงล่าช้าอยู่ เพื่อนไม่ทำงานให้เต็มที่ เขาไม่อยากรอ ส่วนคนที่มีข้อจำกัดเขาก็มีคำอธิบายต่อสถานการณ์ของเขาซึ่งก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมงานของเขาจึงเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันหากมองไปที่การส่งเสริมสนับสนุนก็มีข้อจำกัด เป็นแต่เพียงการหล่อเลี้ยงให้พอเคลื่อนไปได้ ชาวบ้านเองก็ได้พยายามตามกำลังของตนเองพอสมควร

 

ประเด็นเหล่านี้น่าจะได้มีการศึกษาและร่วมค้นหาตลอดจนจัดกระบวนการหาทางผลักให้งานเคลื่อนได้มากกว่านี้ เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่.....

 

การประชุมคืนนี้เบื้องต้นลูกชายคนเล็กของเกริกพลซึ่งกำลังสุขสำราญกับการไถรถสำหรับเด็กที่ยังเดินไม่ได้วิ่งไปทางโน้นทีทางนี้ทีชนดะไปทั่วบ้าน พร้อมร้องไห้เป็นระยะ สลับกับพวกพ่อ ๆ  ทั้งหลายที่พยายามตั้งสมาธิกรอกข้อมูลของเกี่ยวกับการผลิตและผลผลิตของปีนี้ ทุกคนก็ช่วยกันดูเด็กไปด้วย ประชุมไปด้วย ดูมวยเอเชียนเกมส์ไปด้วยระหว่างการทำข้อมูล  จนตอนเกือบท้าย ๆ  พ่ออุ๊ยทนไม่ไหวขอตัวเข้านอนก่อน คนแก่อายุ ๙๐ กว่า แล้วยังคงหลังตรง ตามองเห็น หูฟังได้ และออกความคิดเห็นได้นับเป็นกุศล ก่อนนอนเสียงพ่ออุ๊ยสวดมนต์ดังสม่ำเสมอ ได้ทำให้บรรยากาศของบ้านเปลี่ยนแปลงเป็นสงบ รุ้สึกอบอุ่นในบรรยากาศของบ้าน   หลังร่วมกันสรุปประเด็นการประชุมแล้ว ซึ่งยังทำได้ไม่ดีนัก ก็พากันอวยพรอวยชัยให้กันและกันจึงได้แยกย้ายกันกลับบ้าน ตอนที่เวลาเกือบห้าทุ่ม

 

 

 

 

 

 

 

 



ความเห็น (4)
คุณตุ๊ว่านาผมพิสูจน์อะไรครับ

๑. คำถามอาจารย์สั้นมากเลย ไม่มีสภาพแวดล้อมต่อความคิดในการถามนั้น

๒. อาจารย์คงเบื่อแย่แล้วกับการสอนหนังสือแบบที่เป็นอยู่ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากเด็ก ๆ ตามความคิดอ่านอาจารย์ไม่ทันแน่ ๆ  เพราะฉะนั้นจึงมาทำสิ่งที่เป็นจริงในการสร้างชีวิตของผู้คน รวมทั้งของเด็ก ๆ  พวกนั้น แล้วจึงย้อนเข้าไปจัดสิ่งที่ทำกับชาวบ้าน ทำในไร่นาให้เป็นบทเรียนอีกทีซึ่งจะเป็นบทเรียนที่เป็นพลวัตตลอดเวลา จับต้องได้ ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายตามที่ ๗ habits บอก win win

๓. นาของอาจารย์พิสูจน์ตัวอาจารย์เองนั่นแหละว่า

มีความเชื่อมั่นในพลังธรรมชาติ(แบบไม่เถรตรง)เพียงใด

คำพูดที่แสดงความเชื่อ ความรู้ที่ตนเองได้พูด บอกคนอื่นนั้น ตนเองทำได้ด้วย

พลังของครอบครัวทำให้อาจารย์มุ่งมั่นไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องพะวงหลัง

การแก้ปัญหาไม่เกินเลยความสามารถที่คนทั่วไปมีอยู่แล้ว มองออกหรือไม่

อีกประการผลรูปธรรมที่ออกมานั้นมาจาก   collectiveของหลายชุดความรู้มาก ซึ่งมีระยะเวลาของการสะสมพอสมควร ตลอดผลจากปฏิสัมพันธ์กับปราชญ์ชาวบ้าน กับชาวบ้านธรรมดานี่แหละ

 

   ทำไมไม่ตอบไปว่า

   ก็พิสูจน์ตัวอาจารย์ นั่นแหละ

   ไปทำอะไรกับนาบ้าง

  

นั่นสินะ ตกลง อาจารย์ทำอะไรกับนาตัวเองบ้างคะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท