อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อประเพณีและวัฒนธรรมไทย


                  

   มีตำนานกล่าวว่าพราหมณ์โกญฑัญญะ เดินทางจากอินเดียเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในกัมพูชา และได้สมรสกับเจ้าหญิงขอม จนได้ปกครองบ้านเมืองและทำนุบำรุงศาสนาพราหมณ์ให้รุ่งเรืองสืบมา  มีการสร้างสิ่งก่อสร้างในศาสนาพราหมณ์และฮินดู เช่น  นครวัด  นครธม เป็นต้น ครั้นขอมขยายอำนาจเหนืออาณาจักรไทย ทำให้ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูแพร่เข้ามาด้วย เห็นได้จากสิ่งก่อสร้างหลายแห่งในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นเทวาลัยและปรางค์ตามคติฮินดู เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ที่ศรีสะเกษ  ปราสาทเขาพนมรุ้ง ที่บุรีรัมย์  ปราสาทหินพิมาย ที่นครราชสีมา  พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นต้น 

  แม้ว่าพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดียจะมีความขัดแย้งกัน  แต่ในประเทศไทยศาสนาทั้งสองผสมผสานกันได้ดี  พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยทรงชุบเลี้ยงพราหมณ์ไว้ในราชสำนัก เป็นผู้ถวายคำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรมทางลัทธิพราหมณ์  เห็นได้จากพิธีการต่างๆของไทย มีทั้งพิธีสงฆ์ทางพุทธศาสนาและพิธีพราหมณ์ผสมผสานกัน  พวกพราหมณ์จะได้รับการยอมรับในเรื่องการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เช่น พิธีทางศาสนา  พิธีเสดาะห์เคราะห์  พิธีบูชาเทพเจ้า  เป็นต้น  ในสมัยสุโขทัยซึ่งมีพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ศาสนาพราหมณ์ก็เป็นที่นิยมร่วมด้วย

   ในสมัยอยุธยาอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปรากฏชัดในราชสำนัก  ตามหลักฐานทางวรรณคดีชื่อ "โองการแช่งน้ำ" ซึ่งพราหมณ์แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เพื่อใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางโบราณสถานที่เรียกว่าเทวสถานและศาลพระกาฬ  ในสมัยพระเจ้าปราสาททองให้รื้อเทวสถานพระอิศวร  พระนารายณ์ ขึ้นมาตั้งยังชีกุน  ในด้านการปกครองสมัยอยุธยา ก็ใช้หลักเทวราชาแบบเขมรซึ่งรับมาจากอินเดียต่อหนึ่ง

  นอกจากนั้นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยในด้านอื่นๆอีก เช่น  ประเพณีโกนจุก  มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์  ประเพณีทำบุญอายุและทำขวัญ นอกจากทำบุญตามคติตามพุทธศาสนาแล้ว  มักมีการบวงสรวงและทำบัตรพลีสังเวยเทวดาตามลัทธิศาสนาพราหทณ์อีกด้วย

   พิธีบางอย่างเช่น พิธีพืชมงคลจรดพระนางคัล แต่เดิมมีแค่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เพิ่มพิธีสงฆ์ตามคติพระพุทธศาสนาขึ้นอีก เรียกว่าพืชมงคล  คือการทำขวัญพืช

ประเพณีไทยอีกหลายอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากประเพณีของพราหมณ์  เช่น ประเพณีเผาศพของชาวอารยันและการเก็บเถ้ากระดูกใส่โกศติดตัวไปด้วยเวลาอพยพย้ายถิ่น  โกศมีรูปทรงกระบอก มีหลังคาเป็นรูปฝาชี  ไทยก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าวด้วย

       นอกจากนี้พิธีบวชของชาวฮินดูก็คล้ายกับการบวชในพุทธศาสนา  เช่น การนุ่งเหลืองห่มเหลือง  การโกนศีรษะ และการสวดมนต์  ตลอดจนการบิณฑบาตและการไม่เกี่ยวข้องกับสตรีเพศ  เป็นต้น  ประเพณีไทยต่างๆก็สะท้อนอิทธิพลวัฒนธรรมของพราหมณ์  เช่น  การสร้างศาลพระภูมิ  การทำขวัญนาค  การรดน้ำสังข์  พิธีวางศิลาฤกษ์ เป็นต้น

  ( ประมวลสรุปจากหนังสือพื้นฐานวัฒนธรรมไทย  ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2555)

หมายเลขบันทึก: 664722เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2019 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากได้เกร็ดความรู้ต่างๆมากมาย

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท