จากเรื่องเล่า เกสปุตตะสูตร หรือ กาลามสูตร กับ ความรู้ที่เป็นความเป็นจริงที่ถูกสร้างขั้น


จากเรื่องเล่า เกสปุตตะสูตร หรือ กาลามสูตร กับ ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขั้น

(เกริ่นนำ)

สัจจะแท้ กับ ความเป็นจริงที่สร้างขึ้น แท้จริงแล้วก็มีความคิดชนิดนี้ผ่านวรรณกรรมทางศาสนา ไม่ว่าศาสนาเชน ก็จะไม่ฟันธงในความจริงหรือสัจจะที่แท้ หลักการก็จะใช้คำว่าบางที เนื่องมาจากเราไม่ทราบทุกสิ่งที่เป็นองค์รวมของสิ่งเหล่านั้นว่าครบสมบูรณ์ทุกด้านหรือยัง ตราบใดที่เรายังไม่ทราบอย่างสมบุรณ์ก็ไม่อาจฟันธงได้ว่าคือสัจจะ เหมือนกับตาบอดคลำช้าง ศาสนาเชน ใช้คำว่า “บางที” “อาจจะ” ส่วนศาสนาพุทธนั้นท่าทีนั้นปรากฎอยู่ในเรื่องเล่า เกสปุตตะสูตร หรือ กาลามสูตร

(กาลามสูตร ได้กล่าวถึง ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นสิบอย่าง)

ส่วนที่หนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเล่าและท่าทีต่อเรื่องเล่าโดยเฉพาะ

ประการที่หนึ่ง  อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา (มา อนุสฺสวเนน) การฟังตาม ๆ กันมา ถือว่าเป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเราไม่ประสบกับเรื่องนั้นอย่างแท้จริง เราอาศัยความรู้จากการฟังคนอื่น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นสัจจะก็ตาม การเราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้ เรื่องเล่าที่ถูกสร้างเรื่องเล่าโดยผู้อื่นนั้นจึงไม่พึงเชื่อถือ ยอมรับ  หมายถึงการตีความต่อเรื่องเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ควรตรวจสอบ

ประการที่สอง อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา (มา ปรมฺปราย) ของเก่าเล่าสื่บ ๆ ก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องเล่าของเก่าโบราณ ไม่ว่าจะชุดใดทั้งสิ้น เรื่องเล่าของเรื่องเล่านี้จึงมีท่าทีว่า ความรู้ที่เป็นเรื่องเล่าโบราณที่ฟังเรื่องเล่าเก่าแก่ จึงไม่พึงเชื่อถือ หรือยอมรับ หรือตีความอย่างไตร่ตรอง

ประการที่สาม อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ (มา อิติกิราย) แบบนี้ก็ชัด ๆ ว่า เรื่องเล่า ที่เล่ากันแบบข่าวลือ ความรู้ที่สร้างจากคนอื่นนั้นอาจมีการแต่งเติม เสริม ตัดทอนเรื่องราวต่าง ๆ ได้  ซึ่งแบบนี้เป็นเรื่องจริงแต่งเสียเยอะ

ประการที่สี่ อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรามา (ปิฏกสมฺปทาเนน)  แบบนี้ยิ่งชัดเจนว่า วรรณกรรมที่เป็นข้อเขียน ตำรา ที่ถุกสร้างความรู้ไว้จนน่าเชื่อถือ ที่เขียนโดยโดยคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่เคยมีไทม์แมชชิน เข้าไปเห็นอะไรเชิงประจักษ์เช่นเดียวกับ เจตนาของคนแต่ง ส่วนใหญ่ก็จะมีการตีความแบบผู้เขียนตายไปแล้ว ไม่สามารถต่อสายไปพูดกับผู้เขียนได้

ส่วนที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความต่อ “เรื่องเล่า” ที่ได้ยิน ได้ฟังมา

ประการที่ห้า อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง (มา ตกฺกเหตุ)  การตีความโดยใช้การคาดเดาของตนเองจากเรื่องเล่าที่ได้ยิน ได้ฟังมา จากความอื่นแหล่งอื่น ๆ ในเรื่องเล่านี้ท่านก็ไม่ให้พึงเชื่อความคิดด้านตรรกเหตุผลของตนเอง  อันเนื่องมาจาก เจตนาของผู้ส่งสาร หรือ ของผู้เขียน ผู้เล่า ซึ่งอาจพ้นสมัยไปแล้ว ไม่สามารถทราบเจตนาที่แท้จริง การตีความต่อเรื่องเล่านั้นอาจผิดพลาดได้ ไม่ตรงกับของผู้เขียน ทำให้ไม่พึงเชื่อต่อการคาดเดา   

ประการที่หก อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา (มา นยเหตุ) การตีความตามนัยยะของเหตุผลต่อ “เรื่องเล่า” เหมือนกับข้อก่อนหน้านั้น ซึ่งไม่ทราบเจตนาของเรื่องเล่า และไม่สามารถที่จะย้อนเวลากลับไปถามผู้แต่ง การตีความโดยการคาดคะเน และ อนุมาน มีความผิดพลาดค่อนข้างสูง

ประการที่เจ็ด อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ (มา อาการปริวิตกฺเกน)  การตีความต่อ “เรื่องเล่า” ทั้งหลาย ผู้เล่าอาจเล่าในเชิงเหตุผลเหมาะกับยุคสมัย หรืออาจเล่าเรื่องเป็นละคร เป็นงานศิลปะ ทัศนศิลป์ต่าง ๆ หรือ อิทธิ ปาฎิหาริย์ การมองเห็นภาพนิมิต ที่แสดงอาการต่าง  ที่ปรากฎต่อสายตา ทั้งตาเนื้อ และตาใน อาจเป็นเพียงมายาภาพเท่านั้น  เรื่องเล่าแบบตรึกเอาตามอาการ อาจมีความผิดพลาดสูง

ประการที่แปด อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน  (ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา) การตีความต่อเรื่องเล่า ที่สอดคล้องกับความเห็นของตนเองนั้นอาจผิดพลาดได้ มนุษย์โดยทั่วไปมักมีหลุมร่องลึกในความคิด เมื่อมีเรื่องใดเข้ามา ก็จะตีความแบบยอมรับได้ ก็เพราะเข้ากับร่องความคิดของตนเอง

ส่วนที่สาม เป็นเรื่องการตีความของ “เรื่องเล่า” ที่ผู้เล่ายังไม่เสียชีวิต หรืออ้างอิงคนดัง ศาสดา ผู้สอน ในสังคม ที่มีผู้เคารพนับถือ

ประการที่เก้า อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ (มา ภพฺพรูปตา) การตีความของคนต่อ “เรื่องเล่า” ของคนที่ยังมีชีวิตอยุ่ ที่ยังสามารถตอบคำถามอะไรได้ชัดเจน ในเรื่องเล่านี้ก็บอกว่า อย่าเพิ่งเชื่อ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการยอมรับของสังคมทั้งหลาย   

ประการที่สิบ อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ) แม้ว่าครูหรือเป็นถึงพระศาสดา ที่รู้แจ้งเห็นจริง การเชื่อในเรื่องเล่า ที่มาจาก “ปัญญา” ของผู้อื่นนั้น เนื่องจากเราไม่ได้ค้นพบสัจจะหรือความจริงด้วยตัวเราเอง  สิ่งต่าง ๆ ที่ฟังไปแล้วนั้นก็เป็น ความเป็นจริงที่ถุกสร้างขึ้น ไม่ใช่สัจจะ นอกจากนั้นแล้วภาษาของผู้อื่น คนอื่น ความหมายอาจไม่ใช่อย่างที่เราใช้หรือคาดคะเนก็ได้

จากการตีความของผู้เขียน จะเห็นได้ว่าจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่ ชาวกาละมะ ประสบปัญหาอันเนื่องมาจาก ควรจะเชื่อใครดี ในยุคนั้นมีผู้ตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์กันมากมาย มีวาทกรรม ที่เป็น “เรื่องเล่า” อยู่หลายชุด ก็เลยสับสน ศาสดาในเรื่องเล่านี้ ก็เลยบอกว่า “เรื่องเล่า” ที่อ้างอิงสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิบอย่างนี้ ควรแขวนมันไว้พิจารณา แล้วสรุปว่า “สัจจะ เป็น เรื่องที่ต้องเผชิญหน้าและรู้ด้วยตนเอง เช่น กุศล เกิดผลที่ดี อกุศล เกิดผลร้าย ก็เพราะว่าเผชิญหน้ากับสัจจะโดยตรง”   โดย ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้นผ่านเรื่องเล่าในรูปแบบต่าง ๆ ให้แขวนเอาไว้ก่อน เพื่อพิจารณา

(สรุป)

จากเรื่องเล่าที่เป็นเกณฑ์ให้วิเคราะห์เรื่องเล่านั้น  มายาคติ(myth)ในสังคมปัจจุบัน ก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคพันกว่าปีเท่าไรนัก แม้ว่าเรื่องเล่าจะถูกพัฒนาไปสู่สื่อต่าง ๆ ที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงจนสมจริง แต่ก็มีเรื่องเล่าอยู่หลาย ๆ ชุดมาก  ที่ท่วมท้นในยุคข้อมูลข่าวสาร  เรื่องเล่าโบราณอาจเป็นเรื่องมุขปาฐะ หรือ วรรณกรรมศาสนา เรื่องเล่าสมัยใหม่ อาจเป็นแอนนิเมชั่น และผู้คนในสังคมล้วนแต่สร้างตัวเป็นครุที่ผลิตเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือจำนวนมากมายไม่ต่างจากยุคโบราณ มีเรื่องเล่าที่ชวนจะเชื่อจำนวนมหาศาล ถ้าไม่มีสติที่จะแขวนสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อน ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้นก็จะเป็นเรื่องแทนสัจจะ และได้รับการยอมรับในฐานะของสัจพจน์ (Axiom)

หมายเลขบันทึก: 664358เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2019 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2019 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท