นกเงือกผู้สร้างผืนป่าตัวอย่างชีวิตคู่ที่มนุษย์ควรศึกษา


ตัวแทน ของความรักความผูกพัน เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคู่ ที่สมบูรณ์แบบ
ตอนนี้ใครๆ ก็มองว่านกเป็นผู้ร้าย นำเชื้อโรคมาให้ โดยเฉพาะ \"ปากห่าง\" ในยามนี้ แต่ในทางกลับกันก็มีนก ที่เป็นพระเอก และแบบอย่างที่ดีให้กับมนุษย์ ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน อย่างเช่น \"นกเงือก\" ที่จะนำเสนอในวันนี้

\"นกเงือก\" เป็นตัวแทน ของความรักความผูกพัน เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคู่ ที่สมบูรณ์แบบ เป็นนกที่เลือกจะมีแค่ \"ผัวเดียวเมียเดียว\" ชีวิตรักของนกเงือก ที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะเริ่มในช่วง ม.ค.-มี.ค. โดยตัวผู้ จะออกเสาะหาตัวเมีย เมื่อพบก็จะเกี้ยวพาราสีหลอกล่อตัวเมีย เข้าไปชมโพรงรังบนต้นไม้ หากฝ่ายเจ้าสาวยอมรับเรือนหอของตัวผู้ ก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่ยั่งยืนและยาวนาน

ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ศึกษา \"ศักยภาพของนกหัวขวานในการก่อให้เกิดโพรงรังแก่นกเงือก ภายใต้ทุนโครงการ BRT\" กล่าวว่า การศึกษาในเรื่องนี้ทำให้เขาได้ค้นพบความสัมพันธ์แห่งชีวิตคู่ที่น่าจดจำ ด้วย โดยชีวิตคู่ของนกเงือกในช่วงจีบกัน เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจมาก บางคู่แสดงความรักด้วยการใช้ปากถูกันหรือแคะเปลือกไม้ หักกิ่งไม้แก้เขิน ตัวผู้บางตัวอาจจะออกไปหาอาหารมาป้อนให้นกเงือกตัวเมียเพื่อสานความสัมพันธ์ เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจยิ่งสำหรับสัตว์ชนิดนี้

นกกก

นกเงือก


หลังจากได้โพรงไม้ ที่พอใจ ทั้งคู่จะช่วยกันทำความสะอาด เก็บเศษอาหารภายในรังทิ้ง และค่อยๆ เริ่มใช้ปากกะเทาะดินเพื่อปิดปากโพรงรัง จากนั้นตัวผู้จะเริ่มผสมพันธุ์ เมื่อตัวเมียท้องจะขังตัวเองอยู่ในโพรงไม้และขะมักเขม้นอยู่กับการปิดปาก โพรง โดยตัวเมียจะนำเศษไม้และดิน โคลนที่ตัวผู้หาให้ มาผสมกับอาหารเหนียวๆ ที่สำรอกออกมาแปะโพรงไม้ให้มีขนาดเล็กลงจนเหลือรูกว้างแค่ให้พ่อนกป้อน อาหารได้เท่านั้น นับเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการป้องกันลูกนกและแม่นก จากผู้ล่าคอยมาทำร้ายในช่วงฤดูการวางไข่

หน้าที่สำคัญของผู้เป็นพ่อ นกคือความรับผิดชอบ ในการหาอาหารมาป้อนแม่นกและลูกนกให้เพียงพอ ในแต่ละวัน พร้อมทั้งคอยป้องกันอันตราย คอยเฝ้าดู ฟูมฟักลูกนกน้อยอย่างซื่อสัตย์ และจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเช่นนี้จนกว่าตัวใดตัวหนึ่งตายจากไป ตัวที่เหลือจะครองโสดอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะจับคู่ใหม่ แต่ถ้านกเงือกตัวผู้ต้องถูกทำร้ายหรือตายลงขณะออกไปหาอาหาร อีกสองชีวิตที่รอคอยก็มีอันต้องดับสลายไปด้วยเช่นกัน หากตัวเมียอยู่ในช่วงสลัดขน ไม่สามารถออกไปหาอาหารได้

ในทางระบบ นิเวศน์ นกเงือกถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างผืนป่าด้วยการ ทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้จากการสำรอกเมล็ดพืช และผลไม้ที่กินเป็นอาหารออกมาเป็นระยะๆขณะบิน ช่วยสร้างความหลากหลายให้ผืนป่าและช่วยสร้างระบบนิเวศน์ป่าที่ซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นผู้รักษาสมดุลของสัตว์ขนาดเล็กในผืนป่า ด้วยการจับสัตว์จำพวกแมลง หนู หรืองู เป็นอาหาร

นกเงือกจึงไม่ได้ เป็นเพียงผู้สร้างผืนป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของความรักความผูกพัน ในครอบครัวที่อาจเลือนหายไปในสังคมมนุษย์ยุคนี้!!!
หมายเลขบันทึก: 66362เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2006 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนะคะ ^^ ♥♥

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท