มารู้จักหนังสือจินดามณี แบบเรียนเล่มแรกของไทยกันเถอะ


                                                                 นึกถึงเมื่อครั้งดูละครยอดฮิตเรื่องบุพเพสันนิวาส ตอนเกศสุรางค์ย้อนยุคไปอยู่ในร่างของการะเกด แล้วได้พบกับพระโหราธิบดีผู้แต่งหนังสือจินดามณีตัวจริง  ถ้าเป็นตัวเราเองต้องตกไปอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้จริงๆบ้าง เราคงจะรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยและจะทำยังไงก็ยังไม่รู้   ถ้าพกมือถือไปด้วยก็คงจะขอเซลฟี่กับท่านและขอถ่ายรูปหนังสือจินดามณีฉบับจริงมาโพสต์อวดเพื่อนๆในลายน์และเฟสบุ๊คเป็นแน่แท้

 จริงๆแล้ว ผมก็เหมือนกับหลายๆคนนั่นแหละ ที่รู้จักหนังสือจินดามณีก็เพียงแค่ผิวเผินว่าเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย ผู้แต่งคือพระโหราธิบดี  แต่ก็ไม่รู้รายละเอียดของหนังสือเล่มนี้หรอก 

        ด้วยความอยากรู้ ผมก็เลยไปค้นคว้าเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้จากหนังสือประวัติการศึกษาไทยมาแบ่งปันอ่าน โดยขอเท้าความถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯซึ่งเป็นสมัยที่ไทยมีสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดกับฝรั่งเศส และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฝรั่งชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่กีดกันศาสนาอื่น และนอกจากจะไม่กีดกันแล้ว กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายังอุปถัมภ์ค้ำชูพวกสอนศาสนาต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ จัดที่ให้ชาวต่างประเทศได้อยู่อาศัยทำมาหากินและประกอบศาสนกิจตามลัทธิของตนได้อย่างสะดวกสบายทุกประการ พระองค์จึงส่งคณะสอนศาสนานำพระราชสาส์นมาเจริญทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ทูลขอฝากคนฝรั่งเศสให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในตอนนั้น นอกจากจะเป็นพวกสอนศาสนาแล้วยังมีพวกช่าง พวกสถาปนิกและพวกพ่อค้าอีกด้วย เพราะชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ทราบดีว่าในขณะนั้น ฮอลันดากำลังเป็นศัตรูของไทย เป็นโอกาสอันดีที่จะทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทยได้จึงเสนอตัวเข้าช่วยเหลือไทยด้วยประการต่าง ๆ เช่น ช่วยสร้างป้อมปราการที่ทันสมัยให้ตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่นที่ธนบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราชนครราชสีมา และที่เพชรบุรี ช่วยวางผังเมืองลพบุรีที่สร้างขึ้นใหม่ ช่วยทำน้ำประปาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและที่ลพบุรีแล้วต่อท่อเข้าสู่พระราชวัง ช่วยสร้างหอดูดาวขึ้นในพระราชวังจันทร์เกษม สำหรับเป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์และตรวจดูภูมิประเทศไปในตัว เป็นต้น

    แต่เดิมมาสถานศึกษาของไทยได้แก่ราชสำนัก สำนักปราชญ์ราชบัณฑิต วัด และบ้าน พอมาถึงสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาติดต่ออย่างใกล้ชิด ฝรั่งเศสได้ตั้งสำนักสอนศาสนาขึ้นอีกสถาบันหนึ่ง รับสอนเด็กไทยเพื่ออบรมเป็นสามเณรในคริสต์ศาสนา ในขณะเดียวกันก็มีสอนวิชาการอื่น ๆ นอกจากเรื่องศาสนาด้วยเป็นวิชาการแบบยุโรป เช่น ดาราศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศส การต่อเรือ การก่อสร้าง สำนักสอนศาสนานี้บางทีก็เรียกกันว่าโรงเรียนสามเณร ก็เหมือนโรงเรียนมิชชันนารีนั่นเอง โรงเรียนสามเณรนี้มีผู้นิยมเข้าศึกษาเล่าเรียนกันมาก แม้แต่สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงส่งมหาดเล็กของพระองค์ให้มาเข้าศึกษาเล่าเรียนวิชาการใหม่ ๆ นอกจากนั้นพวกลูกขุนนางและสามัญชนก็พลอยมาเข้าศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน

    การที่ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสำนักเรียนแบบนี้ ทำให้การศึกษาหนังสือไทยพลอยตื่นตัวตามไปด้วย เพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงดำริว่า ถ้าหากไม่ส่งเสริมการเรียนหนังสือไทยเป็นการแข่งขันขึ้นบ้าง จะทำให้ประชาชนหันเหไปนิยมวิชาการใหม่ ๆ ของฝรั่งเศสและเข้ารีตเสียหมด ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ประกอบกับแต่เดิมมาการเรียนหนังสือไทยยังไม่วางลำดับขั้นเอาไว้ให้เรียนง่าย และยังไม่มีตำราเรียนภาษาไทย ไม่มีผู้รู้จริง สักแต่สอนไปตามความรู้ความชำนาญของแต่ละบุคคล ทำให้เรียนได้ยาก พระองค์จึงโปรดให้พระโหราธิบดีคิดเรียบเรียงหนังสือแบบเรียนภาษาไทยขึ้น สำหรับให้ผู้เรียนอ่านเขียนหนังสือไทยได้ง่าย หนังสือเรียนภาษาไทยฉบับแรกของไทยเรามีชื่อว่า หนังสือจินดามณี ซึ่งแปลว่าแก้วสมนึก หรือแก้วสารพัดนึกอะไรทำนองนั้น

      หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงอักษรศัพท์ได้แก่คำที่อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่เขียนต่างกัน และมีความหมายต่างกัน เช่น พระบาท บาตรพระสงฆ์ บาศเชือกคล้อง เงินบาท บาดอาวุธ เป็นต้น รวมทั้งมี ตัวอย่างคำที่ใช้ ส ศ ษ ไม้ม้วน ไม้มลาย การจำแนกอักษร 3 หมู่ การแจกลูก การผันอักษร ในตอนปลายได้อธิบายถึงวิธีการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และกลบท ต่าง ๆ นับว่าเป็นตำราเล่มเดียวที่บรรจุเนื้อหาวิชาภาษาไทยตั้งแต่ชั้นประถม และชั้นมัธยมขึ้นไปจนถึงชั้นอุดมศึกษาทีเดียว เมื่อหนังสือจินดามณีเกิดขึ้นการเรียนหนังสือไทยก็สะดวก และแพร่หลายไปสู่คนธรรมดาสามัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

     นับได้ว่าหนังสือจินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย ในลักษณะแบบเรียนชั้นสูง ผู้ที่เรียนในช่วงแรกส่วนใหญ่มักเป็นผู้จะเข้ารับราชการ กวี นักประพันธ์ จึงจะสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย หนังสือจินดามณีมีหลายสำนวน ฉบับพิมพ์มีด้วยกันหลายฉบับ เช่น

     1. จินดามณี เล่ม 1 ฉบับกรมศิลปากร  มีข้อความกล่าวว่า พระโหราธิบดี แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตอนต้นมีร่ายนำ แล้วรวบรวมศัพท์ที่มีเสียงพ้องกัน แต่เขียนผิดกัน มาลงไว้เป็นตัวอย่างหัดอ่าน หัดเขียน ตอนต่อไปมีกาพย์สำหรับให้จำคณะทั้ง 8 ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ จากลักษณะการแต่งหนังสือจินดามณี เห็นได้ว่าผู้แต่งมีความรอบรู้ในวิชาอักษรศาสตร์ และวรรณคดีอย่างสูง

     2. จินดามณี เล่ม 2 ฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก แล้วต่อไปแจกลูกรวมทั้งอักษรกล้ำ ในแม่ ก กา กก กด กบ กน และเกอย แล้วผันอักษรกลางทุกตัวด้วยวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา (ห้าเสียง) ผันอักษรสูงด้วย เอก โท (สามเสียง) ผันอักษรต่ำ เอก โท (สามเสียง) รวมทั้งอักษรกล้ำทุกแม่ และอักษรต่ำที่มี ห และ อ นำ เล่ม 2 นี้ แต่งเมื่อ พ.ศ.2393

       3. จินดามณี ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล   เป็นฉบับสำรวมใหญ่คือ พิมพ์รวมกันไว้หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน มีประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม นอกจากนั้นยังมีเพิ่มเติม แทรกเรื่องคำอธิบายต่าง ๆ ไว้อีก เช่น อักษรควบ ได้เอาเครื่องหมายวรรคตอน ในภาษาอังกฤษมาลงไว้ด้วย มีราชาศัพท์ ศัพท์กัมพูชา คำชวา และโคลงกลบทต่าง ๆ ในจารึกวัดพระเชตุพน

      4. จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  นายขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายไมโครฟิลม์ มาจากต้นฉบับสมุดข่อยที่เก็บอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำมามอบให้กรมศิลปากร กล่าวว่าแต่งเมื่อ พ.ศ.2275 มีแจกอักษร และผันอักษรตามวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา และบอกฐานที่เกิดของพยัญชนะ แล้วถึงประสมอักษร และสะกดแม่ต่าง ๆ

       5. จินดามณีฉบับความแปลก มีอยู่สองฉบับคือ ฉบับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ ทั้งสองเล่มมีบานแพนก ขึ้นต้นเหมือนกันทั้งสองฉบับ ที่เรียกว่าฉบับความแปลกคือแปลกจากฉบับอื่นเพราะมีข้อความต่อไปนี้

       "ศักราช 645 (เข้าใจว่าเป็นจุลศักราช ตรงกับปี พ.ศ.1826 และตรงกับที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ฯ)  พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย จึงแต่งหนังสือไทย และแม่อักษรทั้งหลายตามพาทย ทั้งปวง อันเจรจาซึ่งกัน แลครั้งนั้นแต่งแต่แม่อักษรไว้ จะได้แต่งเปนปรกติวิถารณหามิได้ แลกุลบุตรผู้อ่านเขียนเป็นอันยากนัก แลอนึ่งแม่หนังสือแก่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกย นั้น เมืองขอมก็มีแต่งอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งแต่รูปอักษรไทยต่างๆ แลอักษรขอมคำสิงหล พากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ ฯลฯ"

    ิหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของหนังสือแบบเรียนไทย จึงทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อๆมาหลายเล่มใช้ชื่อตามว่า “จินดามณี” เช่นเดียวกัน เช่น จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล เป็นต้น และล่าสุด กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์เผยแพร่จินดามณีเพื่อจำหน่ายใหม่อีกครั้ง โดยเป็นหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี

    ...ความที่ไปสืบค้นมาก็มีเช่นนี้แล นะออเจ้า

***********************

(ธเนศ ขำเกิด ประมวลสรุปจากหนังสือประวัติการศึกษาไทย ของ พงศ์อินทร์ ศุขขจร พ.ศ.2537

หมายเลขบันทึก: 663101เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2019 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2019 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท