รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ๒-๒๕๖๑ (๔) "เรียนรู้ภายในด้วยไฟแดงและหน้าต่าง"


ย้อนกลับไปวันที่ ๒๘ มิ.ย. ๖๒ ที่ผ่านมา ... ก่อนจะปิดเวที ท่านอาจารย์มนตรี ทองเพียร ผู้จัดการสถาบันขวัญเมือง ท่านได้เปิดโอกาสให้แต่ละคนสะท้อนการเรียนรู้และความประทับใจของตนเอง ผม AAR ว่า ตนเองได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ "ไฟแดง" และ "หน้าต่าง ๓ บาน" และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปรับใช้ในชั้นเรียนของตนเองในปีการศึกษานี้  ... บันทึกนี้จึงมาแบ่งปันกิจกรรมที่ผมประยุกต์จากความเข้าใจ และจะนำไปใช้ในภาคเรียนหน้าครับ 

กิจกรรม "ไฟแดง" 

ความสามารถของความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาาน คือ การระลึกรู้ดูตัวเองได้ ระลึกเรื่องราวย้อนกลับไปในอดีตได้ จิตนาการและคิดไปในอนาคตได้ ไม่หลงอยู่ในสัญชาตญานและสิ่งเร้าภายนอกตลอดเวลาเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ... ครั้งหนึ่งผมเคยถอดบทเรียนจากการฟัง อาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เกี่ยวกับกระบวนการระลึกรู้และตอบสนองของมนุษย์ (คลิกที่นี่)

แม้จะประจักษ์ว่าจริงกับใจของผู้สังเกต แต่กับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา และยังไม่มีศรัทธาที่จะเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในส่วนนี้ นับเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะให้เป็นภาษาพูด คนส่วนใหญ่มักจะใช้ภาษาธรรมะ หรือบาลีมี ธาตุ-ขันธ์ เป็นต้น ซึ่งยากที่จะเข้าใจและส่วนใหญ่จะลดศรัทธาของคนยุคใหม่

อาจารย์มนตรี ท่านใช้สัญลักษณ์ "ไฟแดง" "ไฟเหลือง" และ "ไฟเขียว" แทนสภาวะธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในตน แทนความจำได้หมายรู้เดิม (สัญญา ในขันธ์ ๕) ดังนี้ว่า 

  • "ไฟเขียว" ให้แทนสภาวะของการ "Flow" คือ สภาวะแห่งการไหล พรั่งพรู ออกมาจากภายใน ไม่ติดขัด ไม่มีการบังคับหรือควบคุมอะไรทั้งจากภายในและภายนอก  สภาวะที่เบิกบาน กล้าหาญ (ไม่กลัว) และที่สำคัญไม่ใช่หลงใจพองจากปัจจัยภายนอก 
  • "ไฟเหลือง" ให้แทนสภาวะของการถูก "Forced" คือถูกควบคุมโดย "ผู้พิทักษ์" ภายในตน หรือตัวตน โดยเฉพาะความเป็น "คนดี" หรือ "อีโก้" ลักษณะต่าง ๆ ซึ่ง มักเป็นความเคยชินที่ทำบ่อย จนติดเป็นนิสัย....  ศัพท์ที่ได้ยินบ่อยสำหรับผู้ดูจิตคือ "ตัวปลอม" "หมูกระดาษ" หรือก็คือ อาสวะกิเลสต่าง ๆ ที่แฝงเป็นอนุสัยในจิตใจนั่นเอง 
  • "ไฟแดง" ให้แทนสภาวะของการระเบิดอารมณ์ การแสดงอารมณ์ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือภาวะแห่งความกลัว ... กิเลสครอบงำใจ (โมหะ โทสะ และ โลภะ)

วิธีการคือ ให้นิสิตสังเกตตนเองว่า ตนเองกำลังเผชิญอยู่กับสภาวะใดในชีวิตประจำวัน ฝึกระลึกรู้ว่าตนเองอยู่ในสภาวะ "ไฟแดง" หรือ "ไฟเหลือง" หรือ "ไฟเขียว"  และเมื่อใดที่เจอสภาวะแบบใด ก็ให้ฝึกใจให้เรียนรู้ได้ถูกต้อง 

  • ถ้าเจอ "ไฟเขียว" จง "รู้" เพียงดูอยู่ห่าง ๆ ... ซึ่งเป็นทางแห่งการตื่นรู้ เบิกบาน และเห็นไตรลักษณ์ต่อไป 
  • ถ้าเจอ "ไฟเหลือง" หรือ "ผู้พิทักษ์" ก็ให้ "รู้" และใคร่ครวญด้วยใจให้รู้จักผู้พิทักษ์ของตนเอง ค่อย ๆ ดู สุดท้ายก็จะรู้ความจริงว่า นั่นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นเพียงความยึดมั่นในตัวตน เป็นอัตตาของตนเท่านั้น 
  • ถ้าเมื่อไหร่กำลังจะเจอ "ไฟแดง" สิ่งที่ต้องทำคือการ "ฝึกฝืน" ฝืนการเปลี่ยนจาก "ไฟแดง" ไปเป็น "ไฟเหลือง"  เป้าหมายคือ ลดปริมาณ "ไฟแดง" ลงจนเป็นศูนย์ 

สิ่งสำคัญ สิ่งแรก ที่ต้องมีในกระบวนการแห่งการเรียนรู้นี้คือ "สติ" และต้องมี "สัมมาสมาธิ" เป็นพลังของการระลึกรู้ด้วย 

กิจกรรม "หน้าต่าง ๓ บาน" 

อีกเทคนิคหนึ่งที่ได้เรียนรู้จาก อ.มนตรี คือ การเรียนรู้ภายในด้วยการให้หลักการ "หน้าต่าง ๓ บาน" ผมอาจจะยังไม่เข้าใจมากนัก ดังนั้นภาพที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นการตีความนำมาใช้ของผมเอง 

  • บานแรก (สีเขียว) แทนสิ่งที่เป็น "ปัจจุบันขณะ"  อยู่กับปัจจุบัน เป็นสภาวะแห่งการ "รู้สึกตัว" "ตื่นรู้" มีสติ มีสัมมาสมาธิ (สมาธิตั้งมั่น)
  • บานที่สอง (สีเหลือง) แทนสภาวะที่จิตใจคิด ครุ่นคิด (ตรึก วิตก วิจารณ์) ไปในอดีตหรืออนาคต
  • บานที่สาม (สีแดง) แทนสภาวะที่จิตใจหลงไปกับสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ถูกอารมณ์ครอบงำ สิ่งที่ต้องทำเมื่อเจอสภาวะนั้นก็คือ "ฝึกฝืน" หรือ "หนี" ออกจากสิ่งแวดล้อม 

ผมเข้าใจว่า สิ่งที่เราควรจะทำคือการ "ดู" อยู่ริมหน้าต่าง ไม่กระโดดเข้าไปในหรือนอกหน้าต่าง ฝึกระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ  การมอบหมายให้นิสิตสังเกตสภาวะของจิตใจตนเองในชีวิตประจำวันโดยใช้เทคนิค "ไฟแดง" และ "หน้าต่าง ๓ บาน" นี้ และสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ลงในสมุดอนุทิน  น่าจะทำให้นิสิตเรียนรู้ภายในตนเองได้ไม่มากก็คงไม่น้อย

หมายเลขบันทึก: 662884เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2019 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท