PLC_CADL_046 : การบรรยายพิเศษของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (๒)


บันทึกที่ ๑

การบรรยายช่วงแรก อาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา แสดงให้เห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลบนหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ว่าเมืองไทยเราน่าอยู่แค่ไหน ท่านทำนายว่า "ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน" อย่างไม่ต้องสงสัย ใครๆ ก็อยากจะมาอยู่เมืองไทย เพราะใครๆ ก็คิดว่ามาอยู่เมืองไทยแล้วจะมีความสุข ... แต่แท้จริงแล้ว ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่อาศัยเท่านั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ "ใจ"

ท่านถามนิสิตว่า " ...เคยมีความสุขไหมครับ... ความสุขมันหายไปจากตรงไหนครับ ..ชี้ซิครับ..." บางคนชี้นิ้วมายังลำตัว บางคนชี้ไปยังบริเวณหัวหรือหน้า ท่านเฉลยว่า "...ใช่ครับ (พร้อมกับชี้นิ้วไปที่หัวใจ) หายไปจากใจ..." ทุกคนอยากจะมีความสุข และพยายามค้นหาดิ้นรน

จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ผมพบว่าท่านได้บรรยายเรื่องนี้หลายที่หลายเวลา และมีนักเรียนรู้หลายท่านนำมาเขียนเป็นบันทึกแบ่งปันไว้แล้ว เช่น จากคุณวิชิต มมส.( ที่นี่ ) คุณสุรพงษ์ (ที่นี่) เชิญท่านติดตามอ่านดู ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานจาก "นิทานสีขาว" หลายเรื่องที่ท่านนำมาเล่าสนับสรุปความ เช่น "คุณยายหาเข็ม" (อ่านที่นี่) อาละดีนกับยักษ์ในตะเกียงวิเศษ (อ่านที่นี่) เป็นต้น จะรู้ว่า เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็น "ปรมัตถธรรม" ที่เหลือเพียงให้ไปทดลองทำดูเองเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งอันที่จะมาโต้เถียงตีความ


เกือบทุกประเทศในโลกใช้ดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วย GNP (Growth National Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเป็นหลัก มีเพียงประเทศเดียวในโลกที่นำดัชนีของความสุขหรือ GNH (Growth National Hapiness) มาเป็นเครื่องชี้วัดระดับพัฒนาการของประเทศ คือประเทศ ภูฎาน ท่านเล่าถึง กษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก คนเดียวกับ "เจ้าชายจิกมี่" ที่คนไทยรู้จักดีเมื่อครั้งมีงานเฉลิมฉลองงานครองราชย์ครบ ๖๐ ปีของในหลวงเรา แล้วยกเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับการบริหารประเทศหลังจากได้ขึ้นเป็นกษัตริย์

กษัตริย์จิกมีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ไปหาวิธีการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชากรมีความสุข รัฐมนตรีจึงเชิญวิทยากรนักศึกษาทั่วโลก อาจารย์ ดร.อาจอง เป็น ๑ ใน ๒๐๐ คนทั่วโลกที่ได้รับเชิญในครั้งนั้น ในงานเปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอคนละ ๕ นาที ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีความสุข ท่านได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ส่วนใหญ่คนมักพูดอยู่เสมอว่า "ฉัน ต้องการ ความสุข" หารู้ไม่ว่า "ฉัน" และ "ต้องการ" นั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ดังนั้นคนเราจะไม่พบความสุขที่แท้จริงได้ถ้าไม่ตัดคำว่า "ฉัน" และ "ต้องการ" ออกไป ...สุดท้าย ท่านอาจารย์ อาจอง ได้รับเลือกและเชิญให้ไปฝึกอบรมครูทั้งประเทศที่ภูฎานมี ใช้เวลาทั้งสิ้น ๘๐ วัน (ไป ๑๐ ครั้งๆ ละ ๘ วัน)

ประเด็นคือ ทำไมเราจึงไปให้ความสำคัญกับ "ศัตรูของมนุษย์" การยึดเอา GNP เป็นดัชนีความเจริญเท่ากับการผูกความก้าวหน้าของประเทศไว้กับ "กิเลส" ชัดๆ การผลิตมากๆ ต้องกระตุ้นให้คนมี "ความอยาก" หลอกล่อให้หลงและโลภมากๆ การบริโภคมากๆ เกิดการแข่งขันแก่งแย่งกันอย่างรุนแรง "โทโส" หรือโทสะ ความโกรธ ความเครียดเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง ความทุกข์จึงเป็นที่สุดของทางสายนี้ ... ท่านสรุปตอนท้ายถึงวิถีทางสู่ความสุขคือการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต



ท่านอธิบาย "ศัตรูของมนุษย์" ด้วยวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ และไม่น่าจะมีใครปฏิเสธได้ว่า "ไม่จริง" ผมจับประเด็นได้ประมาณนี้ว่า

  • "รูป" หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นด้วยตานั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียง "แสง" ที่ตกกระทบและสะท้อนมาเข้าตา นักวิทยาศาสตร์บอกว่า "แสง" คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีเพียง "ไฟฟ้า" และ "แม่เหล็ก" เป็นองค์ประกอบ และรับรองว่าไม่มี "ความชอบ ความเกลียด ความโกรธ ความโลภ ความหลง" เป็นองค์ประกอบของแสงเลยแม้แต่นิดเดียว
  • หากเราชี้นิ้วไปยังใคร แล้วบอกว่า "...ไอ้เลว..." หากสังเกตให้ดีจะพบว่า มีนิ้วก้อย+นาง+กลาง ชี้กลับมายังร่างตนเอง และ "ความเลว" ก็ไม่ได้ส่งมาตามคลื่นแสง ....แสดงว่า "ความเลว" นั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นที่ตัวเราเอง (ท่านเล่านิทานสีขาวเรื่อง "ผู้หญิงซักผ้ากับสายตาที่สกปรก" อ่านได้ทีนี่ครับ)
  • "เสียง" ที่เราได้ยินก็เช่นกัน เป็นเพียงการสั่นของโมเลกุลอากาศ นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบแล้ว ในอากาศมีไนโตรเจน ๗๘ เปอร์เซ็นต์ มีออกซิเจนเกือบ ๒๑ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ อาร์กอน และก๊าซอื่นๆ อีกนิดหน่อย มีตรงไหนเลยที่เป็น "คำด่า ความริษยา ส่อเสียด หยาบคาย หรือดูถูก" สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกปลูกฝังไว้ในใจของเราเอง

ท่านสรุปว่า แท้จริงแล้วศัตรูมนุษย์นั้นแท้จริงแล้ว ถูกเก็บบรรจุไว้ใน "จิตใต้สำนึก" ของเราเองแล้ว วิธีที่จะนำเราไปสู่ความสุข คือการศึกษากระบวนการเรียนรู้ของเราเอง เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนสู่ "ความจริง" ก่อนจะนำเสนอ ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ความจริง ดังที่ผมจะตีความพอสังเขปดังนี้


(ผมถือวิสาสะคัดลอกภาพมาจากบันทึกของคุณสุรพงษ์ ( ที่นี่) ขอบคุณท่านไว้ตรงนี้ด้วยครับ)

ทฤษฎีการเรียนรู้ของ อาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย มีบางอย่างคล้ายกระบวนการเรียนรู้แบบของชาวตะวันตกทางประสาทวิทยา และบางส่วนเหมือนนำเอาหลักพุทธศาสนามาอธิบายเพิ่ม โดยยกระดับเป้าหมายให้สูงไปกว่าความรู้หรือการรับรู้ที่ครูให้หรือได้มาด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ ดังนี้

  • องค์ประกอบของการเรียนรู้ของมนุษย์ตามทฤษฎีของท่าน เกิดขึ้นเมื่อ "ประสาทสัมผัสทั้ง ๕" คือตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ข้อมูลทุกสิ่งอย่างจะถูกบันทึกไว้ใน "จิตใต้สำนึก" ที่เป็นส่วนเก็บของประสบการณ์และความจำ แม้ว่าเราจะจำได้จำไม่ได้ "จิตใต้สำนึก" ก็จะบันทึกทุกอย่างไว้... หากตีความว่านี่คือส่วนของสมองที่บันทึก Long-term memory ตามทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ ผมคิดว่าก็คงไม่ได้ เพราะสิ่งที่อาจารย์ ดร. อาจอง ท่านหมายถึงนั้น หมายถึง "จิต" ที่สามารถจำได้ข้ามภพข้ามชาติเป็นร้อยเป็นพันปี... อย่างไรก็ดี ผู้รู้ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า "จิตใต้สำนึก" นั้นไม่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
  • มนุษย์เรา "รับรู้" ได้ด้วย "จิตสำนึกการรับรู้" หรือท่านเรียกว่าสามัญสำนึก ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการ "ตีความ" หรือการคิดเทียบเคียง เปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่แล้วเดิมใน "จิตใต้สำนึก" ...นั่นหมายความว่า การรับรู้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างไปตามสิ่งที่ถูกเก็บจำไว้ "จิตใต้สำนึก" ประสบการณ์เดิมของแต่ละคน หลักคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ ทำให้ท่านจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างไปในโรงเรียนสัตยาไสย เช่น
    • เด็กๆ จะต้องไม่ได้รับสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง โกรธแค้น อิจฉา ริษยา พยาบาล แก่งแย่ง เอาเปรียบ เบียดเบียน ฯลฯ เด็กๆ ที่ ร.ร. สัตยาไสย จึงไม่มีละครน้ำเน่า ที่เด็กในโรงเรียนทั่วไปหลายคนตองมานั่งเฝ้าทีวีตอนค่ำ
    • ครูจะต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่าง แบบอย่างที่ดี เติมใส่แต่สิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ค่อยๆ ปลูกฝังความดีในแต่ละวัน ผ่านกิจกรรมดี บรรจุแต่สิ่งดีลงไปใน "จิตใต้สำนึก" ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของครูก็คือ การใส่แรงเสริมสิ่งดีๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กๆ มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ (ดังภาพ)
  • การฝึกสมาธิ จะช่วยยกระดับจิตใจให้เข้าสู่สิ่งที่ท่านใช้คำว่า "จิตเหนือสำนึก" หรือ "มโนสำนึก" การฝึกอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ความสงบจนเป็น "สมาธิ" จะทำให้เกิด "ปัญญา" ด้วยกระบวนการที่ท่านเรียกว่า "หยั่งรู้" รู้มาจากใจ หรือรู้จาก "จิตใต้สำนึก" โดยตรง อาจาาย์ ดร.อาจอง ใช้อีกคำหนึ่งในการอธิบายภาวะนี้ว่า "ผู้รู้" ซี่งสอดคล้องกับผลการปฏิบัติในทางพุทธ คือ "เอกคตาจิต" หรือ "จิตผู้รู้" ซึ่งจะเกิดอยู่ในระดับที่สองของการทำ "สมถะสมาธิ"
  • ท่านยกตัวอย่างผลงานวิจัยหลายอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่า "สมาธิ" มีแต่ผลดี ไม่มีผลเสีย ทำให้ความจำดีขึ้น ปฏิกิริยาตอบสนองดีขึ้น อายุยืนขึ้น เครียดน้อยลง มั้่นใจมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ความอิจฉาริษยาน้อยลง ฯลฯ


  • หากฝึกจนได้ผล คนจะเข้าถึงสิ่งที่ท่านเรียกว่า "สัมผัสที่ ๖" สามารถล่วงรู้สิ่งที่อยู่ใน "จิตใต้สำนึก" หรือ "หยั่งรู้" ในสิ่งที่สามัญสำนึกทำไม่ได้ เมื่อเห็นแบบนั้น จะเกิดแรงบันดาลใจ เห็นองค์รวมของสรรพสิ่ง เกิดความรัก ความเมตตาต่อทุกคน ทุกสิ่งอย่าง เช่น เห็นน้ำในทุกสรรพสิ่ง ในร่างกายคนมีน้ำถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หากเรารังเกลียดกัน ก็เปรียบเหมือนเกลียดตนเอง ฯลฯ

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดในการบรรยายคือ การลุกขึ้นตั้งคำถามของนิสิตหญิงคนหนึ่ง ว่า " .. ท่านค่ะ แท้จริงแล้ว มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร?...." อาจารย์ ดร.อาจอง ตอบว่า คนเราเกิดมาเพื่อค้นหาและพัฒนาตนเองให้เข้าถึง "ความจริง" ความจริงคือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง นิ่ง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ แล้วท่านก็ถามกลับว่า "...หนูรู้ไหมว่า อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ.." นิสิตตอบว่า "นิพพาน" เสียงปรบประสานมือก็ดังสนั่นขึ้นทั่วห้องประชุมทันที

ตอนที่สนุกที่สุดของการบรรยายของท่าน คือตอนท่านเล่าถึงการคิดค้นระบบลงจอดของยายไวกิ้งที่ไปลงจอดของดาวอังคาร ทั้งสนุกตื่นเต้น และเห็นมุมมองของอเมริกันชนชัดทีเดียว....หากท่านอยากอ่านต่อ..ขอมาเลยครับ... วันนี้พอเท่านี้นะครับ ...



หมายเลขบันทึก: 587839เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2015 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2015 07:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท