๙๕๘. ครูตู้..(DLTV)


ความรู้จากครูตู้..ถ่ายทอดสู่นักเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูช่วยเสริมต่อ..และครูตู้สอนคัดลายมือและคุณธรรมตลอดจนทักษะชีวิต ไม่ดีเท่าครูประจำชั้น..จุดนี้สำคัญมาก

         เรื่องนี้..เริ่มเป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งผู้ปกครองและบุคคลทั่วไป ความเป็นมาเกิดขึ้นจากโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙

    พระองค์ท่านทรงห่วงใยโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรและโรงเรียนชายขอบที่มีครูไม่ครบชั้น และต่อมาโครงการก็ขยายไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ

        ครูตู้..มีศูนย์กลางการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ทั้งสื่อ นวัตกรรมและเทคนิคการสอน

        ผมรู้จักครูตู้ หรือDLTV มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ผมสมัครเข้าโครงการฯเป็นรุ่นแรก..ตั้งแต่ทีวียังเครื่องใหญ่ๆ จอไม่แบน มีแท่นรับสัญญาณเฉพาะ

        ปัจจุบัน สพฐ.ใช้คำว่า..NEW DLTV มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น ทั้งเครื่องรับและกล่องรับสัญญาณระบบใหม่ ปรับปรุงสื่อการสอนคลังข้อสอบและแบบเรียนให้มีความหลากหลาย

        รัฐทุ่มเงินงบประมาณหลายร้อยล้านเพื่อให้ “ครูตู้”มีประสิทธิภาพสูง แต่ผมไม่ทราบจริงๆว่าเพราะเหตุใดรัฐจึงจัดสรรงบประมาณในเรื่องให้โรงเรียนขนาดกลางด้วย

        โรงเรียนขนาดกลาง ในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาก็ใช้DLTV ด้วยเหมือนกัน ทั้งๆที่มีจำนวนครูที่(เกือบ)จะมากพอและมีครูวิชาเอกหลักๆอยู่พอสมควร

        ถึงแม้จะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์กับโครงการพระราชดำริ แต่ก็อนุมานได้ว่าน่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติได้บ้างไม่มากก็น้อย

        คราวนี้มาดูประสิทธิผลหรือผลสัมฤทธิ์ปลายทางของDLTV ที่สพฐ.กำลังถามถึงอยู่ในวันนี้ โดยให้เขตพื้นที่ฯส่งข้อมูลภายในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒

        สพฐ.พุ่งเป้าไปที่โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ใช้DLTV และมีโอเน็ตสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ..มีทั้งหมด ๙ โรงเรียน..ผมเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น..

        นัยว่า สพฐ.จะมอบเกียรติบัตรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ครูและผู้บริหาร แต่ลึกไปกว่านั้น ผมกลับคิดว่าสพฐ.อาจจะประเมินผลการใช้งบประมาณ หรืออะไรสักอย่าง..?

        ผมได้เกียรติบัตรแบบนี้มาแทบทุกปี..ผมจึงสนใจวิธีปฏิบัติที่ดีมากกว่า จึงอยากบอก สพฐ.ศธ. และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูที่สนใจ..ที่ได้อ่านบทความนี้

        น่าคิดนะครับ..พ่อหลวงให้ครูตู้เพื่อมาดูแลและแก้ปัญหาครูและนักเรียน ให้มีความสุขในการเรียนการสอน..แต่ สพฐ.กลับดูผลลัพธ์จากตัวเลขที่ผลโอเน็ต ป.๖

        เมื่อลงทุนมากขึ้นและจะเอาผลโอเน็ตจริงๆ กลับมีจำนวนโรงเรียนที่น้อยมากๆทั้งโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีผลโอเน็ตสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ..

        วันนี้..สพฐ.ถามโรงเรียนสั้นๆเพียงข้อเดียวว่า ใช้DLTVอย่างไร? ใช้เพียวๆ หรือใช้ร่วมกับสื่ออื่น..หรือไม่ใช้เลย...ผมตอบได้ทันทีคือใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆมาโดยตลอดทุกปี..

        เมื่อ ๓ ปีก่อน ผมเคยพูดในที่ประชุมผู้บริหารว่า DLTV ใช้ ๑๐๐% ไม่ได้ บางช่วงเวลาก็ต้องจอดำบ้าง นักวิชาการบางท่านไม่เห็นด้วย แต่ท่านผอ.เขตฯเห็นด้วย

        เพราะโรงเรียนขนาดเล็กบางโรง ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนครู(พึ่งตนเอง) และครูตู้เป็นเพียงสื่อตัวช่วยไม่ใช่สื่อหลัก..โรงเรียนต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ตรงกัน..

        ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน..โรงเรียนขนาดเล็กกับDLTV ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ไม่มีไม่ได้..เพราะโรงเรียนขาดแคลนวิชาเอกหลักๆ เช่น คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ

        แต่ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตามเมื่อเรียนรู้กับครูตู้ ครูก็ต้องทบทวนและสอนซ่อมเสริมอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นปัญหาจะตามมาอีกมากมาย..

        ความรู้จากครูตู้..ถ่ายทอดสู่นักเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูช่วยเสริมต่อ..และครูตู้สอนคัดลายมือและคุณธรรมตลอดจนทักษะชีวิต ไม่ดีเท่าครูประจำชั้น..จุดนี้สำคัญมาก

        ผมไม่เคยเชื่อมาตลอด ๑๐ ปี..ว่าใช้DLTVอย่างเดียวแล้วผลสัมฤทธิ์จะดีขึ้นอย่างมากมาย..ตอนนี้โรงเรียนต้นแบบแท้ๆก็ยังมีปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์

        สพฐ.ต้องยอมรับและเปิดโอกาสให้โรงเรียนบริหารจัดการตามศักยภาพและแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สอดคล้องกับบริบท..สพฐ.แค่กระตุ้นและ นิเทศติดตามว่าครู ผู้บริหารและโรงเรียนได้ศึกษาและเข้าใจบทบาทการใช้DLTV..มากน้อยแค่ไหน?ก็พอ

        โรงเรียนปลายทางที่เรียนกับครูตู้หรือDLTV..อย่าลืมว่ามีเด็กเรียนช้า สมาธิสั้น ปัญหาร้อยแปด จึงต้องแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนรายบุคคลด้วยสื่อและวิธีการที่หลากหลาย

        ผมเตือนครูอยู่เสมอว่า ครูตู้ยุคนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน อย่าปล่อยให้เด็กเรียนกับครูตู้ตามลำพังและอย่าไว้วางใจ DLTVเกินไป.. จนลืมการอ่านและการเขียนของนักเรียน

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๗  กรกฎาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 662504เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2019 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2019 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ยินท่านองคมนตรีพูดถึง New DLTV อยู่ครับ

เห็นว่า ปรับปรุงเข้าสู่โลกยุคใหม่มากขึ้น

เป็นแก้ไขปัญหาที่เคยมีมานานแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม “ไม่มีสื่อใดสอนแทนครูได้”

ยังคงอยู่

ครูปลายทางต้องเข้าใจคุณสมบัติการเข้าถึงความรู้ของเด็กปลายทางให้มากกว่านี้

ไม่ควรปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ DLTV ส่งความรู้มาแล้ว ก็เลิกชั้นไปเลย

แบบนี้ล่ะ ที่มันไม่ได้ผล …

อันนี้ติดตามดูอยู่น่ะครับ ท่าน ผอ. ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท