(173) Facilitator : สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สำหรับนักศึกษาพยาบาลฝึกปฏิบัติในรายวิชาการพยาบาลจิตเวช


ภาพลักษณ์ของคำว่า ‘รักษาด้วยไฟฟ้า’ ประกอบกับ ‘ความตื่นตัว’ มาก จนเข้าใกล้ ‘ความตื่นกลัว’ ผู้ป่วยจิตเวช ของนักศึกษา เมื่อผนวกกับความสูงอายุของดิฉันแล้ว ยิ่งทำให้นักศึกษากล้าๆ กลัวๆ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

ต้นเรื่อง-สะกิดใจให้ก่อการ

จากบทความเรื่อง 'คำนิยม หนังสือ The Facilitator' (https://www.gotoknow.org/posts/661967) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ไว้ตอนหนึ่งว่า

".. ยิ่งนับวันกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กร ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะโลก สังคม และงาน เปลี่ยนแปลงเร็วใลักษณะ VUCA ตามที่ผู้เขียนหนังสือ The Facilitator ระบุ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ร้อยละ 90 ของการเรียนรู้นั้นต้องเป็นการเรียนรู้จากการทำงาน ในโมเดลการเรียนรู้ที่เรียกว่า โมเดล 70 : 20 : 10 คือ ร้อยละ 70 ของการเรียนรู้ มาจากการเรียนรู้ร่วมกันภายในหน่วยงาน ร้อยละ 20 ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติในทำนองเดียวกันในองค์กรอื่นหรือหน่วยงานอื่น เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เรียนจากการเข้ารับการฝึกอบรม ตามแนวทางนี้ ทุกองค์กรต้องมี Facilitator ในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นและจัดกระบวนการเรียนรู้ตามที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้..”

แนวคิดฝัง(ชิป) KM ลงในตัวคน, เพิ่มจำนวน-กระจายคนที่ฝังชิป เชื่อมคน เชื่อมองค์กร

ดิฉันเพิ่งส่งบทคัดย่อเรื่อง ‘วิถีชีวิตตามแนวคิด SECI : ภาพสะท้อนจากพยาบาลรายหนึ่ง’ นำเสนอภาพวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับแนวคิด SECI Model ของพยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการรายหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดเวลา’ วิธีการที่ใช้คือ ถอดบทเรียนจากบทความที่เผยแพร่ใน web site: gotoknow.org ที่เขียนโดยกรณีศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 188 เรื่อง โดยใช้กรอบแนวคิด “การจัดการ” ความรู้ (SECI) 

สังเคราะห์และรายงานการเรียนรู้แลกเปลี่ยนจำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านชีวิตส่วนตัว-ครอบครัว 2) ส่งเสริมวิชาชีพพยาบาล 3) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร 4) เรียนรู้จากองค์กรภายนอก 5) เรียนรู้จากชุมชนเครือข่าย และ 6) เรียนรู้โดยเชื่อมโยง-มีส่วนร่วมในเว็บไซต์ 

เทคนิควิธีการเฉพาะตัวที่สกัดได้คือ การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา พฤติกรรมที่แสดงออก ได้แก่ ช่างสังเกต จดบันทึกเป็นอักษร-แผนภาพพกติดตัว เรียนรู้ในเชิงลึกด้วย critical reflection และเขียนเป็นบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ  1) ความพร้อมใช้ จากการเชื่อมโยงคำสำคัญในฐานข้อมูลของเว็บไซต์ที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบ นำมาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลองค์กรได้ทันทีที่ต้องการ 2) เป็นตัวอย่างของบุคคลที่เรียนรู้ตลอดเวลาได้

ผลปรากฏว่าบทคัดย่อเรื่องนี้ได้รับการ ‘คัดออก’ ไม่ถูกส่งไปคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2562 โดยดิฉันให้เหตุผลแก่น้องพยาบาล (ที่เห็นคุณค่าของ KM และมีความชื่นชมในตัวดิฉัน) ว่า

‘รพ.เราให้ความสำคัญกับงานวิจัยมากกว่า ไม่เป็นไรหรอกนะ คน KM ก็ปิดทองหลังพระอยู่แล้วนี่’

เมื่อได้อ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ข้างต้นแล้ว ดิฉันมีความรู้สึกดีขึ้นเหมือนได้รับการเยียวยา และเมื่อเช้านี้ดิฉันก็ได้รับการเยียวยาอีกครั้ง .. จะเล่าเหตุการณ์เมื่อเช้าให้ฟังค่ะ

KM :  การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันดิฉันได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบำบัดรักษาด้วยไฟฟ้าในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ซึ่งจะมีสถาบันต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานหรือฝึกปฏิบัติในหน้าที่ของตนเป็นระยะ ซึ่งช่วงเวลานี้มีนักศึกษาพยาบาลมาฝึกงานหลายสถาบัน


เหตุเกิดที่ กพย.บำบัดรักษาด้วยไฟฟ้า

ช่วงนี้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น ภายหลังรับการรักษาด้วยไฟฟ้าแบบให้ยา : Modified Electro convulsive therapy: Modified ECT) 

ร่วมสอนในบทบาท ‘ผู้รู้’ จากหน้างาน

สำหรับการพยาบาลผู้ป่วยหลังรับการรักษาด้วยไฟฟ้านั้นไม่ซับซ้อน แต่ภาพลักษณ์ของคำว่า ‘รักษาด้วยไฟฟ้า’ ประกอบกับ ‘ความตื่นตัว’ มากจนเข้าใกล้ ‘ความตื่นกลัว’ ผู้ป่วยจิตเวชของนักศึกษา เมื่อผนวกกับความสูงอายุของดิฉันแล้ว ยิ่งทำให้นักศึกษากล้าๆ กลัวๆ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ดิฉันลองปรับวิธีการสอนภาคปฏิบัติใหม่หลายรุ่นโดยใช้แนวคิด KM สอนในลักษณะ ‘พาทำ’ ทำไปพูดไป บอกทั้งเหตุผล วิธีการและผลที่จะเกิดขึ้นหากไม่ทำตามที่สอน  

ในทางปฏิบัติ ผู้ป่วย Modified ECT ที่รับการรักษาแล้วจะถูกเคลื่อนย้ายมาที่ห้องพักฟื้นเฉลี่ยทุกๆ 10 นาที ดิฉันทำข้อตกลงให้นักศึกษาคนที่ดิฉัน ‘พาทำ’ สอนเพื่อนคนต่อไปในลักษณะ ‘พาทำ’ เช่นกัน แม้จะสังกัดคนละสถาบันก็ตาม!  โดยมีดิฉันคอยสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ นักศึกษาคนที่รับการสอนก็สอนเพื่อนคนต่อไปในลักษณะ ‘พาทำ’ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าสอนเพื่อนไม่ถูกต้องหรือเพื่อนที่สอนทำไม่ถูกต้อง ผู้สอนต้องรับผิดชอบ (ฮา) .. ได้ผลดีเกินคาดนะคะ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักศึกษาที่ดิฉันสอนจะตั้งใจมากเป็นพิเศษ มีการซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติม (ปกติไม่กล้าตั้งคำถามเพราะกลัวคำตอบแบบถามกลับ) แล้วไปสอนเพื่อนอย่างตั้งใจ พร้อมสรุปตอนท้าย ประมาณว่า

“เธอทำได้แล้ว ทีนี้เธอก็สอนเพื่อนคนต่อไปอย่างที่ฉันสอนด้วย อย่าสอนผิดล่ะ เดี๋ยวฉันจะเดือดร้อน!” (ฮา)

เพื่อนผู้รับการสอนก็ไปสอนต่อ โดยผู้ทำการสอนแล้วจะตามไปคอยเชียร์ หรือเพิ่มเติมส่วนขาดในการสอนครั้งต่อไป ภาพที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้สอนที่ตามไปเชียร์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสอนครบทุกคน จึงไม่มีการสอนอีกในรอบถัดไป 

ภาพใหม่ที่น่าสนใจกว่าคือ นักศึกษาจะหันมาปรึกษาหารือข้อสงสัยกันด้วยท่าทีมั่นใจในตนเองมากขึ้น บ้างก็จูงมือกันมาถามดิฉัน มาขอความรู้เพิ่มเติม แล้วกลับไปบอกต่อ ไม่มีบรรยากาศของความตื่นกลัวอีกต่อไป! ดิฉันจะสรุปปิดท้ายด้วยคำถามชวนคิด ว่า

“นักศึกษาได้เรียนรู้อะไรจากการมาฝึกงานที่นี่”

คำตอบที่ได้ไม่ค่อยตรงใจ จึงต้องเฉลยเพื่อส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในระยะยาวว่า

“เธอประเมินผู้ป่วยลงในแบบประเมินคนละ 6 ครั้ง หากต้องการเรียนรู้ ก็ลองถามตนเองว่าทำไมต้องประเมินแบบนี้ .. ช่วยให้เรียนรู้ว่า ผู้ป่วย Modified ECT ระยะพักฟื้นควรได้รับการพยาบาลอย่างไร ไม่ต้องท่องจำ แต่จำได้ไม่มีวันลืม”

"นำหลักการเรียนรู้นี้ไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วยนะ" (ค่ะ)

นักศึกษาพากันพยักหน้าหงึกหงัก สายตายินดี 

ดิฉันประเมินเข้าข้างตนเองว่า ได้พบวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดี ในการกระตุ้นให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม ด้วยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตามรูปแบบที่กำหนดให้ .. บทบาท Facilitator สำหรับอาจารย์พยาบาลภาคปฏิบัติในคลินิก 

หมายเลขบันทึก: 662174เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2019 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2020 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการสรุปหรือสกัดความรู้มาจากใจ แต่อาจเป็นงานคนละเวทีค่ะมาเล่าเรื่องในโกทูโนให้คนอื่นอ่านก็ได้ค่ะ

เป็นการสอนแบบ Active Learning จริง ๆ ค่ะ ^^อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท