๙๔๒. ปลูกป่าในใจคน..


ดังนั้น..การปลูกป่าในใจคน ในศาสตร์พระราชา จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผืนป่าของไทยกลับคืนมา แม้ว่าจะช้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็คุ้มค่ากับการรอคอย

        หลายประเทศในโลก เริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับจำนวนป่าไม้ลดลง จากที่เคยเหลือมากกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ตอนนี้พื้นที่ป่าโดยทั่วไปเหลือไม่ถึงครึ่ง

    ประเทศไทย..พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ คงมีอยู่เพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของนโยบายให้ปลูกต้นไม้หายากได้ในพื้นที่ของตนเอง..

        หากเป็นที่ดินที่มีโฉนดก็สามารถตัดต้นไม้นั้นได้ แต่ก็ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า..ป่าไม้ชุมชนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

        ผมอยู่ในชุมชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ปัจจุบันจึงมองไม่เห็นต้นไม้ใหญ่ แม้แต่วัดและโรงเรียนทั่วไป ก็ดูจะโล่งตามองเห็นแต่วัตถุและอาคาร

        ในบางประเทศเริ่มที่จะรณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้มากขึ้น เริ่มจากถาบันการศึกษา ถ้ามีเด็กเรียนจบในแต่ละรุ่น ทุกคนที่เรียนจบต้องปลูกต้นไม้คนละ ๑ ต้น

        แสดงให้เห็นว่า..สถาบันนั้น..ประเทศนั้น..เห็นความสำคัญในกระบวนการ”ปลูกป่าในใจคน” เล็งเห็นความสำคัญแล้วให้มีการปฏิบัติจริง..ปลูกกันจริงๆ

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องของการปลูกป่าว่า “…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

        ปลูกต้นไม้ในใจคน  ประการแรก “ต้องเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม?ต้องให้เห็นประโยชน์ว่าประโยชน์คืออะไร? จำเป็นต่อชีวิตอย่างไร?"    

         ประการที่สองปลูกต้นไม้เป็นการปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดินน้ำลมไฟที่อยู่รอบตัวเรา

         จึงทำให้เกิดโครงการ การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้

         “การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว”

         ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ”

        แปลความสรุปอย่างเข้าใจง่าย ปลูกไม้ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ และระบบนิเวศน์ พออยู่ หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัย และจำหน่าย พอกิน หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร พอใช้ หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ไม้ฟืน, และไม้ไผ่ เป็นต้น

          ประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า

        ดังนั้น..การปลูกป่าในใจคน ในศาสตร์พระราชา จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผืนป่าของไทยกลับคืนมา แม้ว่าจะช้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็คุ้มค่ากับการรอคอย

        แต่ทุกวันนี้..ผมยังมองไม่เห็นว่าระบบการศึกษาจะเป็นสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมต่อไปสู่ป่าดงพงไพรได้อย่างไร ในเมื่ออาคารอันโอ่อ่าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

        ความอลังการของอาคารบดบังความยิ่งใหญ่ของต้นไม้ จนแทบจะไม่เหลือร่มเงาให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ เมื่อมองไม่เห็นต้นไม้ ใจก็ไม่เห็นความสำคัญ นั่นเอง    

        ผมคิดว่าการปลูกป่าในใจคน เป็นกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  ผมจึงพอใจที่จะเป็นสถานศึกษาพอเพียง ที่ทำแต่เรื่องเล็กๆและเรื่องง่ายๆ คือการปลูกต้นไม้..

        สิ้นปีการศึกษา..ผมจึงไม่เคยจัดงานประจำปี ไม่มีงาน”บัณฑิตน้อย” ผมคิดเอาเองว่าจะไม่สร้างความสิ้นเปลืองให้โรงเรียนและผู้ปกครอง

        สิ่งที่ทำอยู่และทำมาทุกปี..คือให้นักเรียนปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึก ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ที่ผ่านไป..นักเรียน ป.๖ ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ให้ครูและน้องๆได้ชื่นชม ด้วยการปลูกต้นเหลืองปรีดิยาธร ๑๐ ต้น ที่กำลังโตวันโตคืนอย่างมั่นคงและแข็งแรง

        เติบโตไปพร้อมๆกับร่างกายและจิตใจของนักเรียน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๐  พฤษภาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 661859เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2019 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2019 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

@ ปลูกป่าป่าปกให้…………ร่มเย็น

แล้ง-ท่วมลด! หมดเข็ญ……สุขล้ำ

ปลูกปรับจิตกายเป็น……….เช่นป่า

ยังประโยชน์แหล่งยันค้ำ..ผู้ถูกข่มเหง

ปลูก.. กัญชา.. ใส่กระถาง.. ไว้ในกระถางไว้รักษาโรค.. เป็นอาหารชูรส… สร้างความคิดบวก.. กับต้นไม้ทุกประเภท.. ให้กับเด็ก.. ๆรุ่นใหม่.. ก็คงจะดีนะคะ ผอ.คำถาม.. ต่อเด็ก.. ว่า..​ต้นไม้ กับกฏหมาย.. นั้นคืออะไร…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท