๓๗. เที่ยวเขื่อนขุนด่านปราการชล...๑ ในโครงการพระราชดำริ


เขื่อนขุนด่านปราการชล สำเร็จเป็นรูปธรรม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดนครนายก

        เมื่อมีวันหยุดติดต่อกันสามวัน ผมมักจะใช้ช่วงเวลานี้ ไปเที่ยวชมโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙  วันวิสาขบูชาที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน พอทำบุญตักบาตรเสร็จเรียบร้อย ผมก็เดินทางไปจังหวัดนครนายกทันที

        จุดหมายปลายทางของผมคือเขื่อนขุนด่านปราการชล..ผมไปถึงก่อนเที่ยงเล็กน้อย ไม่รอช้ารีบขึ้นรถของชลประทานที่เตรียมไว้บริการนักท่องเที่ยว พาชมทิวทัศน์ของตัวเขื่อนอย่างสบายใจ ไม่ต้องเดินสัมผัสอากาศที่ร้อนอบอ้าว

        บนรถ..มีมัคคุเทศก์บรรยายเสร็จสรรพ น้ำเสียงน่าฟังและชัดเจน ที่น่าสนใจมากมายก็คืออารมณ์ขัน แบบว่ามุขเยอะมาก พี่แกชื่อ..หนุ่ย นครนายก..

        ทักทายและแนะนำตัวแล้ว พี่หนุ่ยก็นำเข้าสู่บทเรียนด้วย..ร้านก๊วยเตี๋ยวของ คุณโหน่ง ชะ ชะ ช่า ที่มีเส้นนุ่ม แต่เหนียวมาก..พูดให้ผ่อนคลายพอให้ได้ขำขัน ตามด้วย ตลาดนัดคนเดินของ เท่ง เถิดเทิง ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง เปิดเวลา ๑๗.๐๐ ปิดเวลา ๑๗.๒๐ น. เพื่อหนีตำรวจ..สุดท้ายก็เชิญชวนให้ไปเที่ยวในยามค่ำคืน...จนผมรู้สึกอยากไป..

        จากนั้น..พี่หนุ่ยก็พูดถึงข้อมูลพื้นฐาน..ของจังหวัดนครนายก ผมจำไม่หมด..และจดไม่ทัน จึงเปิดดูในกูเกิล..จึงทราบว่าพี่หนุ่ยได้พูดประมาณนี้เลย

    จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ในภาคกลางซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบด้วยหุบเขาแคบ พื้นที่ลาดชัน และที่ราบกว้างใหญ่ ในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำไหลบ่ารุนแรง เข้าท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนของประชาชน จนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

         น้ำที่ไหลหลากลงมานั้น ท่วมขังอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่ำ ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินต่ำ ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เมื่อฝนทิ้งช่วงจึงเกิดความแห้งแล้ง จนดินแตกระแหงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้

        พี่หนุ่ยจึงบอกว่า..นี่คือที่มาของชื่อจังหวัด..พอทางราชการยกให้เป็นพิเศษ ชาวนาไม่ต้องเสียภาษีที่ทำกิน..จึงได้ชื่อว่าจังหวัดนครนายก

        ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำนครนายกยาวนาน อันได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง และดินเปรี้ยว ส่งผลกระทบต่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวอันเป็นอาชีพหลักของชาวนครนายกมาเป็นเวลาช้านาน และยังทำความเสียหายแก่สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายกอย่างมาก

         ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสร้างระบบชลประทานประเภทและขนาดต่าง ๆ แต่ระบบชลประทานทั้งหมดเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยขจัดความเดือดร้อนเรื่อง “น้ำ” ให้หมดไปจากพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกได้

        ก่อนที่พี่หนุ่ย..ผู้เป็นมัคคุเทศก์ จะบรรยายเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ได้ตั้งคำถามให้คณะทัวร์ได้ตอบ..เพื่อการมีส่วนร่วม โดยถามว่าเขื่อนขุนด่านประการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตหรือเขื่อนดิน..ใครคิดว่าเป็นเขื่อนดิน ให้ยกมือขึ้น..
        ผมยกมือคนแรกเลย..คำตอบคือผิด เพราะตัวเขื่อนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดและสร้างเป็นแห่งแรกของประเทศไทย..จากนั้นพี่หนุ่ยก็บรรยายต่อ..

        นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีต่อชาวนครนายกจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำหลายแห่ง ครั้นเมื่อเมืองนครนายกขยายตัวแหล่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่ในลุ่มน้ำนครนายกได้ต่อมาจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครนายก

         วันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวาง โครงการและก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยอนุมัติการก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2546 ในวงเงิน 10,193 ล้านบาท และอนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ พร้อมอนุมัติงบประมาณปี 2540 ถึง 2551 ในวงเงิน 990 ล้านบาท เริ่มดำเนินงานก่อสร้างในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 และเริ่มเก็บกักน้ำในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548

          เขื่อนขุนด่านปราการชล จะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บกักและจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบให้แก่พื้นที่เกษตรกรรวม 185,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์กว่า 9,000 ครัวเรือน และเมื่อสามารถไขปัญหาน้ำท่วมสลับกับความแห้งแล้งลงได้แล้วก็จะช่วยลดปัญหาดินเปรี้ยวไปได้ในที่สุด

          เขื่อนขุนด่านปราการชล สำเร็จเป็นรูปธรรม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดนครนายก รวมถึงความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคราชการและเอกชน ยังผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนสืบไป

        พี่หนุ่ยบรรยายจบรถก็จอดเทียบท่า..คณะทัวร์ก็ปรบมืออย่างพร้อมเพรียงกัน พี่หนุ่ยอวยพรให้ทุกคนที่ปรบมือโชคดีและร่ำรวยกันทุกคน ตลอดจนเชิญชวนให้แวะเที่ยว”ตลาดน้ำ” ผมก็สงสัยว่าตลาดน้ำที่ว่านั้นอยู่ตรงไหน?

        ที่แท้...พอลงจากรถได้ไม่กี่ก้าว ก็เห็นร้านค้าตั้งอยู่เรียงรายเต็มไปหมด ทุกร้านล้วนแต่ขายน้ำ..ทั้งสิ้น

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  พฤษภาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 661754เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2019 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2019 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท