ชีวิตที่พอเพียง 3411. เรื่องเล่าจากคุณบรรยง พงษ์พานิช ตอนที่ ๒


ตอนที่ ๑


คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช  ส่งบันทึกใน เฟสบุ๊ก ของพี่ชาย คือคุณบรรยง พงษ์พานิช  ตอนที่ ๒ มาให้    อ่านแล้วติดใจ   ผมจึงขออีก ๒ ตอนด้วย   ได้รับความกรุณาส่งมาให้    จึงขออนุญาตเอามาเผยแพร่ต่อ   

ตอนที่

ประชุมศาลาประชาคม กลุ่มธุรกิจตลาดทุน ภัทร…ตอนที่2/3……(บันทึกไว้เมื่อวันที่ 28 กพ. 2562)

ปรัชญาและหลักการร่วมกันทำงาน……

ในตอนที่ 1/3 ผมเล่าถึงประวัติภัทร ตอนนี้จะพูดถึงการสร้างงานที่มีความหมาย……

……มีปราชญ์เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่ได้ทำงานที่มีความหมาย” ผมเป็นคนโชคดีที่ได้มาทำงานที่นี่ 42ปี ได้มาสร้างเนื้อสร้างตัวรวมทั้งค้นพบความหมายของชีวิต ค้นพบฉันทะ (Passion) จากการทำงานที่นี่  ได้สร้างความภาคภูมิใจที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นรวมไปถึงสังคมประเทศชาติ “ภัทร” เป็นที่ทำงานที่เป็น “สวรรค์” ของผมอย่างแท้จริง

สำหรับคนทั่วไป ที่ทำงานอย่างไหนถึงจะเป็น “สวรรค์” ได้นั้น ก็คงจะมีลักษณะแตกต่างกันไป   แต่ผมคิดว่า สำหรับคนที่เลือกมาแล้วว่ามีทัศนคติสอดคล้องกันอย่างพวกเราอย่างน้อยที่ทำงานที่เราตื่นขึ้นมาอยากทำงานทุกวันน่าจะมีคุณสมบัติ 5 อย่าง คือ “ได้เรียน-ได้ทำ-ได้สตางค์-ได้สนุก-ได้ภูมิใจ”

ในเรื่อง “ได้เรียน” นั้น ผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวทุกคนควรต้องกระตือรือล้นที่จะหาความรู้ใส่ตัว เพิ่มศักยภาพตัวเองไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   ที่ภัทรนี้ เราพยายามที่จะให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) อย่างแท้จริง ทุกคนต้องได้โอกาสที่จะได้เรียน ได้รู้ให้มากที่สุด ในบรรยากาศที่ทั้งกดดัน ทั้งสร้างสรร ทั้งโปร่งใส    ผมมีกฎอยู่หกข้อในเรื่องนี้ ขอสรุปแบบสั้นๆ   …คน ที่รู้ตัวว่าโง่เท่านั้นถึงจะเรียน  …สำหรับที่นี่ ไม่เรียนไม่รอด  …เมื่ออยากเรียนต้องได้เรียน  …เราเรียนเพื่อคิดมากกว่าเรียนเพื่อรู้  …อย่าเสียดายเวลาอย่าหน่ายกระบวนการที่จะให้คนได้เรียน  …เมื่อคนอื่นเรียนเราก็จะได้รู้ไปด้วย (ถ้าอยากรู้ขยายความ ไปหาอ่านในบทความ Learning Organization ที่ผมเคยเขียนไว้ได้) เราทุกคนต้องพยายามทำให้องค์กรเราเป็นแบบที่ว่า แล้วจะพบว่ามันเป็นเรื่องสนุกเร้าใจที่จะได้เรียนรู้ตลอดอายุขัย (Lifelong Learning)    อย่างผมอายุจะหกสิบห้าอยู่แล้ว ยังไม่ยอมจากภัทรไปก็เพราะเหตุนี้อย่างเดียวแหละครับ เพราะรู้ว่าพ้นที่นี่ไป กระบวนการเรียนรู้ของผมต้องลดลงอย่างมากมาย

คนเราเมื่อได้เรียนได้เพิ่มศักยภาพแล้ว ย่อมต้องการ “ได้ทำ” คือได้โอกาสที่จะสร้างผลิตภาพ (Productivity) ทั้งโดยตนเองทั้งร่วมกับผู้อื่น   ที่ภัทร เราพยายามเป็นองค์กรแห่งโอกาส ให้ทุกคนได้มีเวทีเต็มศักยภาพ ได้ทำเต็มที่ ทุกคนจะถูกเรียกร้องถูกกระตุ้นให้คิดให้เสนอให้สร้างผลงานโดยไม่ต้องรอคำสั่ง   …แน่นอนครับ เราไม่สามารถบอกว่าใครอยากจะทำอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่แน่ใจว่าเป็น substance ย่อมสามารถหยิบยกนำเสนอได้ตลอดเวลา   เราจะสร้างสรรอย่างมีวินัย ซึ่งวินัยของเราหมายถึงขอบเขตที่ทุกคนตระหนักรู้มากกว่าที่เพียงเขียนขึ้นมาเป็นกฎ เป็นวินัยอย่างอารยะ ไม่ใช่ Tyranical Discipline อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป   …ผมมีเพื่อนที่เก่งกว่าผมมากมาย (เพื่อนทุกคนเรียนได้ GPA สูงกว่าผม) ที่พูดกับผมว่า “มึงเป็นคนโชคดีชิบหายที่ได้โอกาส ได้อยู่ในที่ที่เขาให้โอกาส กูนี่ซวยสัสไปอยู่ที่ไหนก็เจอแต่เจ้านายใจแคบ เพื่อนร่วมงานใจร้าย สาระพัดเคราะห์กรรม” ที่นี่เราจะไม่ยอมให้คนภัทรต้องออกไปบ่นกับคนข้างนอกอย่างนี้ ซึ่งทางเดียวที่จะทำอย่างนั้นได้ก็คือเราต้องมีช่องทางให้เขาบ่นได้ข้างใน   เรามีวัฒนธรรม”อนุญาตให้ข้ามขึ้นได้”   ทุกคนถ้าไม่มั่นใจ Direct Superviser ก็ข้ามขึ้นไปบ่นได้เลย กี่ขั้นก็ได้จนถึงผม   ขอให้มี Substance เท่านั้น    ส่วนพวก Supervisors ทั้งหลายก็ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะเราจะ “ไม่มีการข้ามลง” ทุกอย่างจะถูกปรึกษาหารือลงไปตามลำดับขั้น    วิธีนี้จะทำให้ ถ้ามีการเข้าใจผิดก็จะได้ปรับกัน ถ้ามีบกพร่องก็จะได้แก้ไข เพื่อจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขสร้างผลิตภาพร่วมกันได้เต็มที่

แน่นอนครับ เราไม่ได้มาเสียสละ มาทำงานสาธารณะ เมื่อได้ทำได้สร้างผลิตผลผลิตภาพแล้วทุกคนจะต้อง “ได้สตางค์”  คือได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับงานที่ทำไป    อย่างที่เราเคยประกาศอุดมการณ์ร่วมกันว่า “เราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเอี้ย”   เรายอมทำงานหนักอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดจริยธรรม แต่เราทุกคนก็ต้องการสร้างตัวต้องการมั่งคั่งดูแลครอบครัวได้ดี   …เชื่อไหมครับ ที่ภัทรนี่ เราจ่ายค่าตอบแทนต่อหัวบุคคลากรโดยเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทหลักทรัพย์ไทยอื่นๆถึงสามเท่าครึ่ง ซึ่งก็แน่นอนที่เราทำอย่างนั้นได้ก็เพราะพวกเรามีประสิทธิผล (Productivity) มากกว่า สร้างรายได้ต่อหัวมากกว่าเขาเฉลี่ยสี่เท่า (แหะๆ ผู้ถือหุ้นขอเอาเปรียบนี้ดนึง) ซึ่งนั่นไม่ใช่เพราะเราเก่ง หรือทำงานหนักกว่าเขาสี่เท่าหรอกครับ แต่มันเป็นเพราะเรามี Business Model และวิธีการทำงานเป็นทีมที่ทำให้สร้างผลิตภาพได้สี่เท่า   …ผมกล้าเอาเรื่องนี้มาพูดทั้งๆที่รู้ดีว่าพวกเราที่ฟังอยู่กว่าครึ่งยังไม่ได้มากกว่าเพื่อนที่อื่นสามเท่าครึ่งหรอก แต่อย่างน้อยก็มาบอกว่ามันมีโอกาส เพราะข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น

พวกเราทำงานกันหนัก วันๆกว่าสิบชั่วโมง ใช้ชีวิตอยู่ที่ทำงานมากกว่าที่บ้านเสียอีก ซึ่งนี่คือต้นทุนที่สูงมากทั้งต่อพวกเราและครอบครัว เราจะทำเช่นนั้นไม่ได้นานหรอกถ้าไม่  “ได้สนุก”ไปด้วย    ที่นี่เราอยากให้ทุกคนตื่นมาทุกเช้าแล้วอยากมาทำงานอย่างมีความสุข มีความสนุกสนาน เราแยกแยะ “ความจริงจัง” ออกจาก “ความเคร่งเครียด” เราส่งเสริมการเคารพซึ่งกันและกัน (Respect others)    แน่นอนครับ การมีประสิทธิภาพนั้นต้องมาจากการแข่งขัน เราร่วมกันแข่งขันกับผู้อื่น และระหว่างพวกเราก็มีการแข่งขันกันเป็นธรรมดา แต่เราพยายามสร้างบรรยากาศการแข่งขันอย่างเป็นมิตร ไม่มีการขัดแข้งขา แข่งแบบดีด้วยกัน ผู้ชนะวิ่งเร็วขึ้น ผู้แพ้ก็วิ่งเร็วขึ้น มีรางวัลให้ทุกคน   …ผมจะไม่พูดหรอกครับว่าที่นี่ไม่มีการเมือง (Politics) แต่เราต้องระวังให้มีในระดับที่ยอมรับได้ และพยายามให้เป็นการเมืองแบบสร้างสรร (Constructive Politics)   ...เราให้ความสำคัญกับบรรยากาศและวัฒนธรรมการทำงานอย่างมาก ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงาน พวกเราได้ชื่อว่าเป็นพวก Work hard & play hard อย่างกิจกรรมใหญ่ที่ทุกคนเข้าร่วมประจำปีทั้งสามอย่าง คือ Off-site ไปปาร์ตี้ต่างจังหวัดสามวันสองคืน งานกีฬาสีที่ขับเคี่ยวกันอย่างสุดๆ และงานปีใหม่เมากลิ้ง ถึงจะดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็เป็นการไร้สาระที่เข้มข้นที่สุด ประทับใจสร้างประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง ใครไม่ได้มาร่วมด้วยตนเองไม่มีทางคาดเดาได้หรอกครับว่ามันเป็นอย่างไร

………ขอไปต่อตอนที่3/3 ในโพสต์หน้านะครับ

อ่านตอนที่ ๓ สัปดาห์หน้าครับ

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๖๒

  

หมายเลขบันทึก: 661123เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2019 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2019 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท