วันครอบครัว


วันครอบครัว

14 เมษายน วันครอบครัว
ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4
-----------------
ครอบครัว เป็นสถาบันเล็กทางสังคม แต่ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เพราะถ้าครอบครัว มีความอบอุ่น และมีความมั่นคงแล้วก็จะส่งผล
ต่อสมาชิกในครอบครัวมีความสุข และไม่เป็นปัญหาทาง
สังคม ฉะนั้น ไทยเราจึงจัดให้มีวันครอบครัว

วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ คนไทยได้ยึดถือประเพณีอันดีงามนี้สืบต่อกันมาแต่โบราณกาล ถัดมาอีก 1 วันคือวันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” เพื่อถือเป็นโอกาสรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา 
เนื่องจากประเทศไทยเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ฉะนั้น 
ทรัพยากรที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ทรัพยากรบุคคลหรือประชาชน 
นั่นเอง การที่สังคมของไทยเราจะดีขึ้นได้ จะต้องพิจารณาจาก 
สภาพของคนในชาติว่ามีปัญหาด้านใด มีพฤติกรรมอย่างไร ทั้งนี้ 
เพื่อที่จะได้พัฒนาคนในชาติได้ถูกทิศถูกทาง เพื่อมุ่งไปสู่
การพัฒนาประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

สถาบันพื้นฐานของการสร้างคนในชาติ ก็คือ ครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นผู้สร้างบุคลิกภาพของทุกคน การเจริญเติบโตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์หรือสังคม ย่อมขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของบิดามารดาเป็นสำคัญ ซึ่ง เรามักกล่าวเสมอว่า บิดามารดาคือครูคนแรกของลูก แม้ว่าลูกจะเติบโตจนเข้าโรงเรียนได้แล้วบิดามารดาก็ยังต้องทำหน้าที่เสมือนครูอยู่เช่นเดิม นั่นคือ คอยเอาใจใส่ อบรมสั่งสอนลูกด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท ความประพฤติ บาปบุญ คุณโทษ สิ่งที่ 
ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นต้น ซึ่ีงบทบาทดังกล่าว มารดา จะมีส่วนสำคัญยิ่ง เพราะเป็นบุคคลที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนใน
ครอบครัวหรือภายในบ้าน โดยมีบิดาให้การสนับสนุนค้ำจุนเพื่อให้มารดาเป็นเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มได้ง่าย
ฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นหน่วยแรกที่สุดของสังคมเพราะ เป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่วางรากฐานให้แก่สถาบันอื่น ๆ ในสังคม โดยไม่มีสถาบันใดสามารถทำหน้าที่นี้แทนครอบครัวได้ 
ถ้าบิดามารดาให้ความรัก ความอบอุ่น ถ่ายทอด ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนอบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้กับกุลบุตรกุลธิดาเป็นอย่างดีแล้วไซร้ ก็นับได้ว่าครอบครัวได้ทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ใน
การสร้างคนของชาติเพื่อพัฒนาสังคม และจะมีชีวิตที่ผาสุกในระบอบประชาธิปไตยทั้งปัจจุบันและในอนาคต

ประวัติวันครอบครัว
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดย สะดวก การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมาเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดอาชญากรรม และปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว ลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก สิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมความสำคัญของวันครอบครัว

ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

ความหมายของสถาบันครอบครัว
1. ความหมายทั่วไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า 
" สถาบัน" และ " ครอบครัว " ไว้ดังนี้ 
สถาบัน หมายถึง สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ
ครอบครัว หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร
2. ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์
ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่า มารดา บิดาก็ดี สามี ภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว
3. ความหมายในแง่สถาบัน
ครอบครัว หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก
สรุปได้ว่าครอบครัวหมายถึงบุคคล ที่มีความสัมพันธ์กันในทางกฎหมาย โดยการสมรสมีบุตร หรือ บุตรบุญธรรม ครอบครัวในสังคมต่าง ๆ อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ครอบครัวเฉพาะ เป็นครอบครัวขนาดเล็ก ประกอบด้วย พ่อ-แม่ และลูกเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวโน้มของครอบครัวในสมัย ปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องน้อยลง ทั้งนี้เพราะภาวะ เศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถรับภาระในการเลี้ยงดูบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุตรหลานของตนได้
2. ครอบครัวขยาย โดยมากเป็นครอบครัวสมัยโบราณที่มี ขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้องอยู่รวมกัน ปัจจุบันครอบครัวประเภทนี้แทบ 
ไม่มีแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจรัดตัวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ครอบครัวขยาย ก็มีประโยชน์ในด้านการดูแลลูกหรือเด็ก ๆในบ้านซึ่งจะขจัดสาเหตุความว้าเหว่ และการขาดความอบอุ่นใน 
บ้านได้ทั้งนี้เพราะปัจจุบันพ่อแม่มักจะออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งสองคนทำให้ลูก ๆ ขาดผู้เอาใจใส่ อาจจะมีการจ้างคนอื่นมา ดูแลลูกและทำงานบ้านซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กขาดความอบอุ่นได้ฉะนั้น ถ้าครอบครัวมีปัญหาอะไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ก็จะ เกี่ยวโยงมายังเด็กอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา หรือความยุ่งยากทางสังคมตามมา พอจะสรุปปัญหาที่จะ เกิดขึ้นกับเด็กได้ ดังนี้
1. ปัญหาเด็กหนีโรงเรียน อาจจะเกิดจากเด็กที่มีฐานะครอบ ครัวยากจนไปโรงเรียนโดยขาดอุปกรณ์ในการเรียนขาดเสื้อผ้า ที่สะอาดเรียบร้อย อาจถูกเพื่อนล้อเลียน ทำให้อับอายหรือทำ การบ้านไม่ได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากตัวของเด็กเอง เพราะเด็ก จะสนใจเพื่อน ต้องการความเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ ฉะนั้นถ้าเด็ก ขาดความอบอุ่นจากทางบ้าน เด็กยิ่งจะ "ตามเพื่อน" มากยิ่งขึ้น
2. ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน ปัญหานี้เกิดจากความไม่พอใจ ของเด็กด้านต่าง ๆ เช่น พ่อแม่ดุด่า เฆี่ยนตีจนทนไม่ไหว บิดา มารดาแยกกันอยู่หรือหย่าร้าง ความไม่สงบสุขในครอบครัว 
ต่าง ๆ เป็นต้นว่า บิดาดื่มสุรามึนเมาอาละวาด ทุบตีบุตร ภรรยา เป็นประจำ เหล่านี้เป็นต้น
3. ปัญหาเด็กติดยาเสพติด เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดจากการ ขาดความรัก ความอบอุ่นของครอบครัวเด็กจะถูกชักจูงให้เสพย์ ยาเสพติดง่ายยิ่งขึ้น จากผลการติดยาเสพติดของเด็ก จะนำไปสู่ การลักทรัพย์ หรือการทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นได้ นอกจากปัญหาใหญ่ ๆ 3 ประการนี้แล้ว อาจมีกรณีเด็กทำผิด กฎหมายด้านอื่น ๆ เช่น ทำอนาจารข่มขืนกระทำชำเราการพกพา 
อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด การเล่นการพนันตลอดจนการใช้เวลา ส่วนมากในการมั่วสุมตามสถานเริงรมย์ต่าง ๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวพันกัน โดยตลอด ซึ่งอาจจะเริ่มจากปัญหาการหนีเรียนก่อนแล้วเด็กอาจ จะหนีออกจากบ้านหรือออกไปมั่วสุมกับเพื่อน ๆ เป็นเหตุให้เกิด ปัญหาด้านความประพฤติตามมา ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย หรือติดยาเสพติด หรือเล่นการพนันก็ตาม ปัญหาทั้งหมดเริ่มจากบ้าน หรือครอบครัว หรือจะกล่าวสั้น ๆ ว่า เริ่มจากบิดามารดาหรือ ผู้ใหญ่ในบ้านนั่นเองความเดือดร้อน หรือปัญหาทั้งหลายที่เกิดกับผู้ใหญ่ใน ครอบครัว บางปัญหาอาจจะยากต่อการแก้ไข จะมีผลกระทบ ต่อเด็กโดยตรง ซึ่งทำให้บุคลิกภาพของเด็กเสียหาย ก่อให้เกิด ความยุ่งยาก เป็นภาระแก่สังคม บางครั้งเด็กอาจหมดโอกาสที่จะ เติบโตขึ้นเป็นคนดี ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมหรือ ครอบครัวได้

หน้าที่ของครอบครัว
หน้าที่ของครอบครัวตามบทบาทดั้งเดิมในสมัย โบราณแล้ว ครอบครัวมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโต แต่เนื่อง จากครอบครัวเป็นหน่วยมูลฐานของสังคม เพราะสังคมจะออกมา เป็นรูปใด ส่วนใหญ่จะขึ้นกับการดำเนินชีวิตหรือการอบรมเลี้ยงดูลูกของครอบครัว 
ฉะนั้น ทุกครอบครัวต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ต่อสภาพของสังคมในอนาคตด้วย นั่นคือ ถ้าทุกครอบครัวได้ ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นอย่างดีแล้ว ก็อาจจะคาดหวังได้ว่า สังคมในอนาคต ย่อมเป็นสังคมที่ผาสุกและมีความเป็นปึกแผ่น มั่นคง สรุปหน้าที่ของครอบครัว มีดังนี้
1. หน้าที่ในการส่งเสริมความเจริญเติบโตส่วนบุคคลของลูก 
การเจริญเติบโตนี้หมายถึง การเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย 
อารมณ์สังคมและสติปัญญาซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัย 4 ด้วย 
บิดา มารดา ต้องเข้าใจลูกในทุก ๆ ด้าน เช่น ความสนใจ ความ 
สามารถพิเศษต่าง ๆและพร้อมที่จะส่งเสริมให้เขาเจริญก้าวหน้า 
เต็มที่เพื่อทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองและทำประโยชน์แก่ 
สังคมได้มากที่สุด
2. การให้ความรัก ความอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย เช่น
ไม่ เปรียบเทียบลูกของตนว่าด้อยกว่าลูกของคนอื่น แสดงออกให้ 
ลูกรู้สึกว่าถึงเขาจะมีสภาพอย่างไรพ่อแม่ก็ยังคงรักและต้องการ 
เขาอยู่เสมอ ให้ลูกมีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ตลอดจน 
สร้างความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ พี่น้องในครอบครัว 
สิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก
3. การให้เสรีภาพส่วนบุคคล ข้อนี้มีความสำคัญมาก
เช่นกัน ก่อนอื่นทั้งพ่อแม่และลูกต้องมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับคำว่า 
เสรีภาพและขอบเขตของเสรีภาพเสียก่อน เด็กควรได้รับอนุญาต 
ให้ทำในสิ่งที่สนใจ เล่นหรือเที่ยวกับเพื่อนภายในขอบเขต คือ 
ไม่เกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ถ้าครอบครัวสามารถปฏิบัติ 
เช่นนี้ได้ เด็กก็จะเข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ รู้จักควบคุมตัวเอง 
และ ไม่นำเสรีภาพไปใช้โดยก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น
4. การแนะนำสั่งสอน ให้รู้จักใช้เครื่องมือของวัฒนธรรม 
สำหรับชีวิตประจำวัน เนื่องจากมนุษย์ทุกคนไม่มีใครรู้จักหรือ 
ทำอะไรได้เองมาตั้งแต่เกิด ฉะนั้น มนุษย์เราต้องเรียนทุกอย่าง 
ไม่ว่าจะเป็นการยืน นั่น เดิน การพูดจา การรับประทานอาหาร 
หรือกิริยามารยาทต่าง ๆ ตลอดจนการแต่งกาย การอยู่ในสังคม 
การรู้จักใช้จ่ายเงินทอง เป็นต้น ครอบครัวทุกครอบครัวจึงต้อง เอาใจใส่ดูแลอบรมสั่งสอนสิ่งเหล่านี้ให้ปฏิบัติอย่างมีวัฒนธรรม เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ดี ไม่ขัดขวาง ทำลาย หรือสร้าง 
ความรำคาญต่อผู้อื่นยิ่งปัจจุบันโลกกำลังก้าวหน้าด้วยเครื่องมือ สื่อสารใหม่ ๆยิ่งต้องรู้จักการใช้เครื่องมือเหล่านี้ และมารยาทใน การพูด เช่น มารยาทในการใช้โทรศัพท์ มารยาทการฟังวิทยุ หรือ
ชมโทรทัศน์ เป็นต้น
5. การปลูกฝังนิสัยที่เอาใจใส่ในปฏิกิริยาของผู้อื่นพ่อแม่ต้อง ชี้แจงว่า มนุษย์เราอยู่ร่วมกันต้องรู้จักเอาใจใส่ผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 
ช่วยเหลือหรือทำให้ ผู้อื่น ได้รับความสะดวกใจเมื่อติดต่อกับเรา
6. หน้าที่ในการสร้างสันติสุขภายในบ้าน สันติสุขเป็นภาระ ที่ทุกคนยินดีจะได้พบ แต่สันติสุขจะเริ่มมีขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เริ่มจาก 
บ้านการที่บ้านมีสันติสุขมิได้แปลว่าบ้านไม่มีความขัดแย้งเพราะ 
ความขัดแย้งกันในบ้าน ย่อมมีเป็นธรรมดา แต่พ่อแม่จะต้อง พยายามแก้ไข หรือนำความขัดแย้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้ 
เกิดการประนีประนอม หาทางออกที่ดีให้แก่คนส่วนใหญ่ชี้แจง และทำให้เกิดความเข้าใจอันดีขึ้นในบ้าน ถ้าทุกคนมีความเข้าใจ 
ซึ่งกันและกันดีแล้วสันติสุขย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่มีปัญหา
7. การสร้างความเป็นปึกแผ่น มั่นคง ให้แก่ครอบครัว ในกรณีดังกล่าวมีความหมาย รวมกันทั้ง 2 ประการคือ ความสัมพันธ์ใกล้ 
ชิด รักใคร่ ปรองดองกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพ่อแม่และ มีภาวะการเงินที่มั่นคงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ให้มีความสุขตาม อัตภาพลูกที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่รักใคร่กลมเกลียวกัน และ พ่อแม่มีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิต ลูกย่อมมีความสุขและ เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
8. หน้าที่ในการสร้างจุดหมายชีวิตและแรงจูงใจ ในที่นี้หมาย ความว่า พ่อแม่ควรทำให้ลูกมีจุดหมายปลายทางของชีวิตที่จะทำ ให้ชีวิตมีคุณค่ายิ่งขึ้น ถ้าคนเรามีจุดหมายในชีวิต จะทำให้เขา 
ขวนขวาย ทำให้ตนเองไปถึงจุดหมาย โดยไม่ย่อท้อ นอกจากนี้ บิดา-มารดา ยังเป็นบุคคลที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจในทางที่ดี แก่บุตรของตนได้ เช่น การปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่ ส่วนรวม การมุ่งมั่นในการทำงานอาชีพของตน การทำตนให้เป็น 
แบบอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น เป็นต้น
คำสั่งสอนของบิดา มารดาก็ดี การเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก ๆ ก็ดีต่างก็เป็นเสมือน การสร้างแรงจูงใจในทางที่ดีให้กับลูก ๆ ถ้าหากครอบครัวไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ก็นับว่าได้สร้างพื้นฐานที่ถูกต้องให้แก่ลูกของตน ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกครอบครัวที่จะต้องเอาใจใส่ต่อลูก หลานของตน ทั้งในด้านความเจริญเติบโตทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความขยัน หมั่นเพียรในการทำงาน ตลอดทั้งค่านิยมไทย 12 ประการ และสร้างบรรยากาศของบ้านให้ความ อบอุ่น มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อที่จะหล่อหลอมให้ลูก ๆ ได้เจริญเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติสืบต่อไปจนกว่าจะหาไม่
บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่พึงปฏิบัติต่อกัน
1. ให้ความรัก ความอบอุ่นและความเอื้ออาทรต่อกันและกัน
2. สามัคคีกัน หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 
3. ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในยามทุกข์ยาก ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ไม่ควรเห็นงานอื่นดีกว่า
4. รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือยเพื่อความมั่นคง
5. รู้จักให้อภัยแก่กันและกันได้
6. ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมกันเช่น การเข้าวัดอบรมปฏิบัติธรรมนำครอบครัวอบอุ่นครอบครัวสนุกกับห้องสมุด ศิลปะสุดสัปดาห์เนื่องจากปัจจุบันสภาพของสังคมได้เปลี่ยนไป ค่าของเงินไม่สูงเหมือนในสมัยก่อน มาตรฐานการครองชีพก็สูงขึ้นบางครั้งทั้ง พ่อ-แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อให้คงความเป็นปึกแผ่น ทางด้านฐานะทางการเงิน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับลูกได้ฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือพ่อ-แม่ ต้องมีการวางแผน ชีวิตเพื่อมิให้ครอบครัวต้องประสบกับความเดือดร้อน ต่อไป

ในโอกาสวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว หวังว่าทุกครอบครัวคงจะเห็น
ความสำคัญของครอบครัว โดยการให้ความรักความอบอุ่นแก่สมาชิกในครอบครัว มีการพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมร่วมกัน นันทนาการร่วมกัน บำเพ็ญประโยชน์ร่วมกันก็จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้แก่ครอบครัวทำให้ครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวจะต้องยึดมั่นในหลักธรรม คือฆราวาสธรรม 4 คือ 
สัจจะ ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน 
ทมะ รู้จักข่มจิต ข่มใจเอาไว้ได้ 
ขันติ มีความอดทน อดกลั้น และ
จาคะ เสียสละให้อภัยแก่กันและกันได้

ทั้งนี้เพื่ออยู่ในสังคมอย่างมี
ความสุขตลอดไป

แหล่งข้อมูล
https://goo.gl/2poFQw 
https://goo.gl/mWQsRo
https://goo.gl/ebjWKN 
https://goo.gl/2poFQw
https://hilight.kapook.com/view/84557

คำสำคัญ (Tags): #วันครอบครัว
หมายเลขบันทึก: 661120เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2019 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2019 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท