อุดรธานี Healthy Meeting


งานจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ของ จ.อุดรธานี น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการจัดประชุมเชิงคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพ ให้หลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะเป็นส่วนหนึ่งให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคปริมาณน้ำตาลเกินควร

จัดประชุมคุณภาพเพื่อสุขภาพ

กาแฟ เบเกอรี่อร่อยๆ คงเป็นความสุขของใครหลายๆ คน ที่ได้ใช้โอกาสนี้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงพักเบรคการประชุม   

                                                 ขอบคุณที่มาภาพประกอบ : https://yotyiam.com/

แต่รู้ไหมว่ากาแฟหรือเครื่องดื่มแบบทรีอินวันนั้นมีปริมาณน้ำตาลเกินกว่า 50%ของปริมาณในซอง เมื่อรวมกับเบเกอรี่รสหวานแล้ว การทานบ่อยๆ ก็ทำให้เป็นโรคอ้วนได้

หลายคนอาจจะเคยชินกับเครื่องดื่มและอาหารว่างในการประชุมในรูปแบบนี้ เพราะคิดว่าเรื่องเล็กน้อย แต่ที่ จ.อุดรธานี เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ที่บุคคลากรสาธารณสุขทุกคนตระหนัก และปรับเปลี่ยนการจัดประชุมให้มีคุณภาพมากขึ้น

ทันตแพทย์สันติ ศรีนิล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)อุดรธานี เปิดเผยว่า ในแต่ละเดือนจะมีการจัดประชุมหน่วยงานสาธารณสุขบ่อยมาก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลระหว่าง ต.ค.2559-มิ.ย.2560 มีการจัดประชุมมากถึง 136 ครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีบริการอาหารว่าง เช่น เบเกอรี่ ขนมไทยรสหวาน และกาแฟ และเครื่องประเภททรีอินวัน 

“เมื่อก่อนเวลาประชุมแต่ละที กาแฟ ขนม ไม่มีทานกันหรอก มีแต่น้ำเปล่ากับอาหารกลางวัน” ทพ.สันติ พูดถึงการประชุมเมื่อครั้งอดีต  และชี้ถึงปัจจุบันว่า ช่วงเศรษฐกิจดีๆ ก็มีเงินอุดหนุนงบประมาณอาหารว่างการประชุม คนก็ติดมาจนถึงทุกวันนี้

ภายหลังจากที่เราได้ดำเนินงานพัฒนารูปแบบและนโยบายการลดบริโภคน้ำตาลในพื้นที่ จ.อุดรธานี เราจึงรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี จึงได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดปรับเปลี่ยนอาหารว่างพร้อมเครื่องดื่มระหว่างการประชุมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น บริการน้ำดื่มสะอาด เลิกใช้เครื่องดื่มทรีอินวัน มาเป็นน้ำผลไม้หรือสมุนไพร น้ำชา กาแฟดำ อย่างมากก็มีน้ำตาลซองขนาด 4 กรัมให้บริการ ส่วนอาหารว่างก็จะเป็นพวกขนมไทยหวานน้อย หรือผลไม้  ปริมาณน้ำตาลน้อย ซึ่งเมื่อรวมทุกรายการแล้วค่าพลังงานที่ได้รับจะต้องไม่เกินที่กำหนด

            “แรกๆ คนก็เห็นดีเห็นงามด้วย ค่อยๆ ปรับกันไป”

การจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ของหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นพื้นที่นำร่องของกรมอนามัย สำนักทันตสาธารณสุข โดยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการขับเคลื่อนมาตรการสร้างค่านิยมใหม่การบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมของคนไทย

การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวสำเร็จได้นั้น ทพ.สันติ เผยว่า ปัจจุบันคนรักสุขภาพมากขึ้น ตั้งแต่ก่อนเราทำเรื่อวนีงอย่างจริงจังด้วยซ้ำ เห็นได้จากเค้กที่ส่วนใหญ่ผู้ร่วมประชุมทานเพียงครึ่งเดียว ขนมอื่นก็ทานกันนิดๆ หน่อยๆ แสดงว่าทุกคนรักตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยประหยัดงบประมาณการจัดประชุมได้เยอะ

“สถานการณ์ด้านโรค NCDs ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เราจึงต้องทำงานเชิงรุก คนป่วยไม่ใช่แค่มาหาหมอแล้วรับยา เราต้องไปดูที่บ้าน ไปดูการกิน การอยู่ เป็นการรักษาเชิงคุณภาพมากขึ้น เพราะบางอย่างกินยาอย่างเดียวไม่ได้ต้องปรับการใช้ชีวิตร่วมด้วย” รองนายแพทย์ สสจ.อุดรธานี เผยถึงเหตุผลของการทำงานเชิงรุก พร้อมขยายให้ฟังถึงการลดบริโภคน้ำตาลช่วยแก้ปัญหาโรค NCDs ได้อย่างไร ว่า

                 เมื่อไหร่ที่เราลดความหวาน ต่อมรับรสก็จะทำงานดีขึ้น จากที่เราเคยทานอาหารรสจัด เค็ม โดยไม่รู้ตัว พอต่อมรับรสดีก็จะทำให้รู้ว่าที่เราทานๆ มาก่อนหน้านี้มันเค็มมาก ทานเค็มมากก็เป็นโรคความดัน โรคไต ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการกินหวานให้น้อยลงจึงง่ายที่สุดในการลดความเสี่ยงโรค NCDs 

                นางสมพร ลีประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเสริมถึงการขับเคลื่อนในพื้นที่ ว่า จ.อุดรธานี เข้าร่วมขับเคลื่อนการลดบริโภคน้ำตาลกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมาตั้งแต่ ปี 2556 

                โดยได้ทำหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานให้มีการจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting คือ งดเว้นเครื่องดื่มทรีอินวันทุกชนิด จัดอาหารว่างพลังงานไม่เกิน 150 แคลอรี่ ซึ่งเราจะมีเมนูอาหารว่าอ่อนหวานให้ไปด้วย เมื่อคำนวนค่าอาหารว่างเป็นรายหัวจะไม่เกิน 30 บาทเท่านั้น

                นอกจากการจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ของ จ.อุดรธานี แล้ว การขับเคลื่อนมาตรการณรงค์ลดการบริโภคหวาน ยังได้ครอบคลุมไปถึงเด็กและชุมชนอีกด้วย

                 นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์ สจจ.อุดรธานี กล่าวว่า Healthy Meeting เป็นส่วนหนึ่งที่เราจับกลุ่มคนวัยทำงาน ขณะเดียวกันการลดหวานเรายังได้ทำกับกลุ่มเด็กใน ศพด. และในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารต้องกำหนดเป็นนโยบายของโรงเรียน และประสานทำความเข้าในกับผู้ปกครอง เช่น น้ำอัดลมก็ไม่ให้มีขาย เพราะเดี๋ยวนี้เด็กอ้วนเยอะมาก จะเป็นอะไรยังไงก็อยู่ที่การกิน ดังนั้นก่อนจะให้เด็กกินอะไรต้องดูให้ดีๆ

                ในส่วนบุคคลากรสาธารสุขก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เราจะไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้ลดบริโภคหวานลง เราก็ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น “ก่อนจะทำกับใคร เราก็ต้องทำตัวเองให้ได้ก่อน” ไม่ใช่แค่เรื่องการกินเท่านั้น ต้องรวมไปถึงการออกกำลังกาย จะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรืออยู่เฉยๆ แกว่งแขนก็ได้

                งานจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting ของ จ.อุดรธานี น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการจัดประชุมเชิงคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพ ให้หลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะเป็นส่วนหนึ่งให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคปริมาณน้ำตาลเกินควร

หมายเลขบันทึก: 660805เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2019 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2019 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท