พรบ.นมแม่


“ดังนั้นการส่งเสริมนมแม่ในสถานพยาบาล หรือ รพ. จะมีมากขึ้น เพราะถือเป็นต้นทางของการส่งเสริมการให้นมแม่ ฉะนั้นกฎหมายนี้ไม่ได้หมายถึง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ แต่ทำให้การส่งเสริมการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ง่ายขึ้น”รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว

ดีเดย์8ก.ย.61 เข้มบังคับใช้พรบ.นมผง

ห้ามบริษัทผู้ผลิตโฆษณาเกินจริง จัดอีเว้นท์ ลด แลก แจกแถม กระตุ้นยอดขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ด้านมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชี้เป็นผลดีกับสังคมกระตุ้นคนไทยตื่นตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น แนะสูตร 1-6-2 หัวใจสำคัญ

                           ขอบคุณที่มา ภาพประกอบ : https://momandbaby.net/pregnant-mother/health/breast-milk12033561/

                พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึง พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือ พรบ.นมผง ภายหลังจากมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.2560 เป็นต้นมา ว่า การขับเคลื่อน พรบ.นมผง จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.คณะกรรมการส่วนกลาง แต่งตั้งโดยกรมอนามัยซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีความหลากหลายและมีความรู้ทางวิชามาควบคุมดูแลโดยเฉพาะ 2.คณะอนุกรรมการ ดูแลด้านกฎหมายและวิชาการ และ 3.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผ่านทางศูนย์อนามัย 13 เขตทั่วประเทศแล้วค่อยกระจายไปสู่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพ.ศูนย์ และโรงพยาบาลในพื้นที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กโดยตรง

ทั้งนี้ พรบ.นมผง ถือเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นพอมีกฎหมายใหม่นี้ขึ้นจึงไม่ง่ายในทางปฏิบัติ เพราะจำเป็นต้องวางระบบใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการผ่องถ่ายข้อมูลไปสู่บุคลากรในพื้นที่ ส่วนกฎหมายลูกที่ทยอยประกาศออกมา โดยเฉพาะในส่วนของฉลากผลิตภัณฑ์นั้นได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างอย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดกำหนดระยะเวลาในวันที่ 8 ก.ย.2561 บริษัทผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องของโฆษณาต่างๆ ของสินค้าที่ควบคุม ได้แก่ อาหารสำหรับทารกและอาหารเสริม

ส่วนอาหารสำหรับเด็กเล็กแม้จะไม่ได้บังคับ  แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากมีวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกก็อาจจะมีการพิจารณาออกประกาศเพิ่มเติมขึ้น ตลอดจนวิธีการส่งเสริมการตลาดต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น การลด แลก แจกแถม การติดต่อแม่โดยตรง หรือทางอ้อม การเข้าไปส่งเสริมการตลาดยังหน่วยบริการสาธารณสุข หรือ รพ. ก็จะทำไม่ได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตได้ใช้ช่องทางดังกล่าวนี้ในการส่งเสริมการขาย และเจ้าหน้าที่ของสถานบริการหรือ รพ. ก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับบริษัทผู้ผลิตมายาวนาน

รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ควบคุมการขาย แต่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดไม่ให้โฆษณาเกินจริง และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยวิธีจูงใจต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้คุณแม่และผู้บริโภคมีความเข้าใจผิดมาอย่างยาวนานและคิดว่าไม่เป็นไร จึงให้นมผงตั้งแต่แรกเกิดทำให้เด็กไม่ได้กินนมแม่มาตั้งแต่แรกเกิด เพราะคิดว่าดีเหมือนกัน ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือแม่ทุกคนที่จะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยงนมแม่ แต่ต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนที่จะเลือกใช้หรือไม่เลือกใช้ก็ตาม

พรบ.นมผง จะมีส่วนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นหรือไม่นั้น รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่คาดหวังเห็นผลรวดเร็ว เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา อย่างเช่นที่ประเทศบราซิลทำเรื่องนี้มาอย่างเข้มแข็งและอย่างยาวนาน ก็พบอัตราการให้นมแม่มากขึ้น ส่วนในย่านอาเซียน ที่เวียดนามและเมียนมา มีการออกเป็นกฎหมายมาก่อนประเทศไทย 2 ปี ซึ่งต้องไปตามดูว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ดีการประกาศใช้ พรบ.นมผง ในประเทศไทย จะทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวและเริ่มตระหนักมากขึ้น นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว คนก็จะสนใจนมแม่มากขึ้นสอดคล้องกับแนวทางที่มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยได้รณรงค์และส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามสูตร 1-6-2 คือ 1 ชั่วโมงหลังคลอด 6 นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และ 2 นมแม่ต่อเนื่อง2ปีหรือนานกว่าพร้อมอาหารเสริม

“ดังนั้นการส่งเสริมนมแม่ในสถานพยาบาล หรือ รพ. จะมีมากขึ้น เพราะถือเป็นต้นทางของการส่งเสริมการให้นมแม่ ฉะนั้นกฎหมายนี้ไม่ได้หมายถึง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ แต่ทำให้การส่งเสริมการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ง่ายขึ้น”รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว

หมายเลขบันทึก: 660804เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2019 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2019 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท