ชีวิตที่พอเพียง 3396. ผู้ป่วยโรคหลงลืมไปทดสอบวิธีรักษาโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง


      โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง ชื่อย่อว่า  NPH ย่อมาจาก Normal Pressure Hydrocephalus (http://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/attachments/article/249/sins_nursing_manual_2560_09.pdf)   

               ตามที่เล่าแล้วในบันทึกเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ว่า สาวน้อยได้รับการวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นโรค NPH  เพิ่มจากโรค vascular dementia ที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว     ทำให้อาการทรุดลงเร็ว ทั้งการเคลื่อนไหว  การพูด ความจำ การกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ    รวมทั้งนอนมากขึ้น ความสนใจเรื่องรอบตัวลดลง

              เช้าวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  ผมมีกำหนดไปสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม ของนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่หาดใหญ่    การพาสาวน้อยไปโรงพยาบาลตามนัดจึงเป็นหน้าที่ของ “เลขา” (ต้อง - มุทิตา พานิช) ลูกสาวคนที่สอง    โดยไปเจาะเลือด  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  และตรวจเอ็กซเรย์ปอด    แล้วเข้านอนในโรงพยาบาล ตึก ๘๔ ปี  ชั้น ๘ ฝั่งตะวันออก ห้อง ๘๓๑  

            ก่อนบ่ายสองโมง ผมโทรศัพท์ไปถามข่าวคราวจากสนามบินหาดใหญ่  ทราบว่าเข้าห้องพักแล้ว     ตอนหนึ่งทุ่ม โทรไปถามข่าวจากบ้าน    ทราบว่าหมอเจาะหลังเรียบร้อยแล้วตอนหกโมงเย็น    เอาน้ำไขสันหลังออก ๓๐ ซีซี แล้วให้นอนราบห้ามลุกนั่ง ๖ ชั่วโมง    โดยก่อนเจาะมีการทดสอบการทำหน้าที่ของสมอง  และถ่ายวิดีทัศน์การเดิน  

            วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ผมออกจากบ้าน ๖ น. ไปโรงพยาบาลศิริราช    ก่อนถึง ต้องโทรมาบอกให้แวะร้าน Starbuck ที่โรงพยาบาลปิยมหาราชการุณย์ ซื้อกาแฟคาปูชิโน มาให้แม่     เพราะเมื่อวานซื้อให้แม่กินแล้วติดใจ    ผมดีใจว่า สาวน้อยยังรู้สึกรื่นรมย์กับชีวิตอยู่

            ต้องเล่าว่า เมื่อคืนแม่นอนไม่หลับ และความดันขึ้นไป ๒๐๐   ขอยานอนหลับตอนตีสอง    พยาบาลให้กินยา ลอราซีแพม ๒ มิลลิกรัม

            คาปูชิโนกับขนม เป็นอาหารแรกของวันเมื่อเวลาราวๆ ๗.๓๐ น.    โดยที่ห้องพักมีเครื่องอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟไว้ให้ใช้    อาหารเช้าของโรงพยาบาลมาเมื่อ ๘ น. เป็นโจ๊กหมูท่าทางน่ากิน    กับเครื่องดื่มแล็คตาซอย หนึ่งกล่อง   

            พอจะเริ่มกินหมอก็มา คนแรกเป็นผู้ชาย คงจะเป็น chief resident  มาถามอาการ    และบอกว่าหลังจากถ่ายวีดีทัศน์และทดสอบการทำงานของสมองก็กลับบ้านได้ นัด ๒ สัปดาห์    ให้กินอาหารไปก่อน    สักครู่เดียว หมอผู้หญิงคนที่เจาะน้ำไขสันหลังเมื่อวานก็มาทดสอบการทำหน้าที่ของสมอง    เริ่มจากถามว่า

           วันนี้เป็นวันอะไร    สาวน้อยนิ่งนึกอยู่นานแล้วตอบว่า วันพฤหัส (ที่ถูกคือวันพุธ)

           วันนี้วันที่เท่าไร    ตอบอย่างคล่องว่า วันที่ ๒๗

            เดือนนี้เดือนอะไร   เดือนมีนาคม (ที่ถูกคือ กุมภาพันธ์)

            ให้พูดทวนประโยค  “ยายพาหลานไปตลาดในตอนเช้า”    พูดทวนได้ครบถ้วน โดยสะดุดเล็กน้อย

             แมว  นก  ม้า เป็นอะไรเหมือนกัน    เป็นสัตว์ (ตอบอย่างมั่นใจ)

             ให้ลบเลข ๑๐๐ ลบด้วย ๗   ตอบว่า ๙๓ หลังคิดครู่เดียว   

             ๙๓ ลบด้วย ๗  นั่งคิดอยู่นาน   ในที่สุดยอมรับว่าทำไม่ได้ 

             เอารูปให้ดู   ถามว่ารูปอะไร   ตอบถูก

             ขณะนี้อยู่ที่ไหน   โรงพยาบาลศิริราช (ตอบอย่างมั่นใจ)

             ตอนท้ายถามว่า จำสัตว์ ๓ ชนิดที่เอ่ยในตอนต้นได้ไหม    ตอบว่า จำไม่ได้      

            พยาบาลเตรียมจะให้กลับบ้าน ซึ่งต้องจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย    มาถามว่าเป็นศิษย์เก่าใช่ไหม    และแนะนำว่าทีหลังเมื่อเข้าโรงพยาบาลให้แจ้งเรื่องเป็นศิษย์เก่าทันที    ตอนจะออกจากโรงพยาบาลจะได้ไม่ต้องรอนาน

            การไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ไปแบบคนธรรมดา    ไม่ได้แสดงตัวเป็นหมอ หรือผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลใดๆ ทั้งสิ้น    เพราะผมนึกถึงสมัยตนเองเป็นแพทย์ฝึกหัด และเป็นอาจารย์ผู้น้อย    บางครั้งมีความรู้สึกว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่เรียกร้อง หรือได้รับ การบริการที่พิเศษโดยไม่จำเป็น มากเกินไป    ก่อความยุ่งยากแก่ผู้ให้บริการ       

           ระหว่างรอการดำเนินการจำหน่ายผู้ป่วย   สาวน้อยง่วงนอน (ฤทธิ์ยา ลอราซีแพม ยังอยู่)     ต้องจัดการให้นอนที่เตียงนอนคนเฝ้า นอนกรนอย่างมีความสุข    เวลา ๙.๓๕ น. ผู้ช่วยพยาบาลมาวัดความดัน ได้ ๑๑๒/๖๔  ชีพจร ๘๒  ปรอท ๓๖.๙    

           ในที่สุดเอกสารเรื่องค่าใช้จ่ายก็มาตอนเกือบเที่ยง    ต้องไปจ่าย หลังจากหักส่วนสิทธิส่วนลดแล้ว ต้องจ่ายเพิ่ม ๑,๒๐๐ บาท    โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๗,๘๒๓ บาท    เบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ๕,๔๒๓ บาท    ต้องจ่ายเอง ๒,๔๐๐ บาท เป็นค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ     ใช้สิทธิผมในฐานะสมาชิกสมาคมศิษย์เก่า ลดเหลือ ๑,๒๐๐ บาท     เราออกจากโรงพยาบาลเวลาเกือบเที่ยงครึ่ง

             ในวันที่ ๒๖ มีค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่าเอ็กซเรย์ที่เบิกไม่ได้ อีก ๔๙๐ บาท

             หมอนัดไปตรวจวันพุธที่ ๑๓ มีนาคม เวลา ๑๐.๐๐ น.   เป็นวันที่ทั้งต้องและผมมีงาน   ตกลงกันว่าแต้ว (ผศ. ทญ. มุรธา พานิช) ลูกสาวคนโต จะเป็นผู้พาไป

            ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน เรานั่งคุยกับสาวน้อยมาตลอดทาง    ต้องบอกว่า เมื่อวานที่โอพีดีศิริราชคนแน่นมาก   จนทั้งรถเข็นและเปลถูกใช้หมด   คนไข้ที่นั่งรถไปที่โอพีดีไม่มีใช้ รถที่พาคนไข้ไปจึงติดยาว ออกไปถึงถนนยาวมาก   สาวน้อยก็ต้องลงไปยืนรอนาน    ดีที่มีทีมงาน R2R มาช่วยอีกแรงหนึ่ง    ต้องจึงสามารถไปติดต่อที่ต่างๆ ได้    โดยต้องไปตรวจเลือดที่ชั้น ๑   ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ชั้น ๒   และเอ็กซเรย์ปอดที่ชั้น ๓   กว่าจะเสร็จและเข้าห้องที่หอผู้ป่วยได้ก็เที่ยง    คุณหมี โชเฟอร์ประจำตัวผม บอกว่าสาวน้อยพูดได้คล่องขึ้นชัดเจน   กลับถึงบ้าน แป๋ม แม่บ้านของต้องก็บอกว่าพูดคล่องขึ้น   แต่การเดินยังเหมือนเดิม       

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660722เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2019 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2019 05:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

My best wishes and get-well-soon to her.

Thank you for sharing the story. I am learning a lot more about hospitals, patients and dementia treatments.

I have a question about “ที่ห้องพักมีเครื่องอุ่นอาหารด้วยอัลตร้าซาวนด์ไว้ให้ใช้ “. I have heard about “ultrasound gel warmer” (reading it as ultrasound-gel warmer rather than ultrasound gel-warmer) and plain old microwave food-warmer. But I do not know any ultrasound food-warmer. Can you give me a clue?

ขอบคุณคุณ SR ครับ ผมแก้ไขเป็นอัลตราซาวนด์แล้ว เขียนผิดครับ อาการของคนแก่วิจารณ์

มาเป็นกำลังใจ ด้วยคน เจ้าค่ะ…(กำลังเจอปัญหานี้เหมือนกัน.. ลืม… ได้ทันทีทันใด… นึก.. ไม่ออก… (หายเป็นห้วงๆ แต่ยังพอกลับมา จำได้.. “ขอบคุณพระเจ้า”…)… อยู่กับการภาวนา.. อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วย.. ความทรงจำ…

กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่บันทึกเรื่องราวได้ละเอียด เห็นภาพตามเลยนะคะ ชื่นชมที่อาจารย์ดำเนินการต่างๆในแบบคนธรรมดา ทำให้คนอ่านที่รู้จักท่านอาจารย์ทั้งสองได้รับรู้สัจธรรมหลายๆอย่าง ขอส่งกำลังใจมาด้วยความชื่นชมให้ทั้งครอบครัวของอาจารย์ในการดูแลกันและกันอย่างมีความสุข ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและคุณความดีที่ท่านอาจารย์ทั้งสองและลูกๆซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของโลกนี้ร่วมกันทำเสมอตลอดมา ได้โปรดดลบันดาลให้อาจารย์ทั้งสองท่าน ยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กับโลกและโรคที่เลี่ยงไม่ได้อย่างมีสติและยังคงให้ความรู้ ความคิดกับพวกเราได้เสมอไปอีกนานๆนะคะ กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท