การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก : ๙. สร้างอนาคตด้วยการศึกษา



บันทึกนี้ ตีความจากหนังสือ A World-Class Education : Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) (1) เขียนโดย Vivien Stewart   บทที่ 6 Creating the Future    คำคมประจำบันทึกนี้คือ การสอนเด็กตามแนวทางที่เราเคยได้รับการสอนในอดีต เป็นการปล้นอนาคตของเด็ก  

การศึกษาในปัจจุบัน จึงต้องมุ่งพัฒนาเด็กไปมีชีวิตที่ดีในอนาคต    ที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร    เข็มมุ่งหลักมี ๒ ประการคือ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา    และเสาะหา ทักษะที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต    ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ   

ดังกล่าวในตอนที่ ๖   ลักษณะร่วมสำคัญของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง มี ๘ ประการ ได้แก่

  • วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ
  • กำหนดมาตรฐานสูงหรือท้าทาย
  • มุ่งสร้างความเท่าเทียม
  • ครูและผู้นำการศึกษาคุณภาพสูง
  • ทำงานโดยมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน (alignment) และสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (coherence)
  • การจัดการและรับผิดรับชอบ
  • แรงจูงใจของนักเรียน
  • มุ่งเรียนเป็นพลโลก และเพื่ออนาคต

โดยที่แต่ละประเทศจะต้องประยุกต์หลักการทั้ง ๘ อย่างเป็นระบบ    และคำนึงถึงบริบทและวัฒนธรรมของประเทศ    ทำไปปรับปรุงไป    ผมเรียกว่า ต้องดำเนินการระบบการศึกษาให้เป็น “ระบบที่เรียนรู้” (Learning Systems)     เรียนรู้และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี    โดยมีกลไกพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (CQI – Continuous Quality Improvement) ฝังอยู่ในระบบ

ความผิดพลาดที่พบบ่อยคือ การมองความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรแก่โรงเรียนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา    ความอ่อนแอของระบบการสรรหาครูและพัฒนาครู    และการเปลี่ยนนโยบายโดยไม่มีขีดความสามารถในการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงนั้น  

สำหรับประเทศที่คุณภาพการศึกษาต่ำ และมีช่องว่างหรือความแตกต่างมาก    มีคำแนะนำว่า รัฐบาลกลางต้องเข้าไปจัดการ    แต่ก็มีคำแนะนำเสริมว่า ต้อง “ปลดโซ่ตรวน” โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์สูง  

หนังสือ A World Class Education แนะนำการดำเนินการ ๔ ประการในระดับรัฐและท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งน่าจะพิจารณานำมาประใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของไทย คือ

  1. 1. ชักชวนสาธารณชนร่วมกันแสดงความเห็น ว่าความรู้และทักษะที่คนทำงานต้องการในปี ๒๕๘๐ มีอะไรบ้าง    สำหรับนำมาคิดมาตรฐานผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
  2. 2. สร้างคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ผู้นำในระบบการศึกษาแต่ละระดับ,  ภาคธุรกิจ,  ภาคพ่อแม่,  นักเรียน,  และองค์กรชุมชน   ร่วมกันเปรียบเทียบระบบการศึกษาของพื้นที่ กับระบบที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้สูง    และกำหนดแผน ๕ ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
  3. 3. กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเสาะหา  คัดเลือก และส่งเสริมครู และผู้บริหารโรงเรียน ที่มีคุณภาพสูง    และสนับสนุนให้ดำเนินการการเรียนรู้คุณภาพสูงในโรงเรียน
  4. 4. กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นแกนหลักของระบบการศึกษา    

เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะเอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายด้านการเรียนรู้    ได้แก่การเรียนรู้ที่จัดเฉพาะตัวนักเรียนแต่ละคน    การเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง  เรียนรู้เมื่อไรและที่ไหนก็ได้  เป็นต้น    เขาแนะนำให้หาทางใช้เทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ต่อไปนี้

  • สร้างโอกาสให้นักเรียน เข้าเรียน “รายวิชาเสมือน” (virtual course)  ผ่านระบบ ไอซีที ในหลากหลายวิชา    ซึ่งจะมีประโยชน์เป็นพิเศษต่อนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลน
  • สร้างช่องทางให้ครูได้รับการพัฒนา หรือคำแนะนำ จากครูสอนเก่ง (master teacher) ที่อยู่ไกลกัน   รวมทั้งเป็นช่องทางให้เกิด “ชุมชนเรียนรู้” ในกลุ่มครูที่สอนวิชาเดียวกัน แต่สอนอยู่ในโรงเรียนที่ห่างไกลกัน
  • ใช้ขยายเวลาเรียน  ออกไปนอกเวลาเรียนตามปกติ  หรือนอกภาคการศึกษา    ช่วยให้มีความยืดหยุ่นของเวลาเรียน
  • เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   โดยเฉพาะทักษะแก้ปัญหา และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
  •  ช่วยให้จัด “ห้องเรียนแห่งโลก” (global classroom) ได้    คือนักเรียนจากคนละซีกโลกเรียนด้วยกัน
  • ช่วยให้นักเรียนทำการทดลองผ่าน online lab ได้    แม้ว่าโรงเรียนไม่มีเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ
  •  ช่วยให้นักเรียนมีเอกสารประกอบการศึกษาในหลักสูตร ที่เป็นเอกสารที่ดีที่สุดได้    ซึ่งก็คือ MOOCs (Massive Open Online Courses)
  • ช่วยให้ครูประเมินความก้าวหน้า และให้ feedback ได้ทันทีหรืออย่างรวดเร็ว    ไม่ต้องรอนานเป็นวันหรือสัปดาห์    ซึ่งจะช่วยเอื้อการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก
  • เอื้อต่อการสื่อสารอย่างรวดเร็วระหว่างโรงเรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
  • ช่วยการเรียนตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคน    ช่วยให้ข้อมูลหลักฐานการเรียนในขณะนั้น ว่านักเรียนต้องการความช่วยเหลืออย่างไร    มีประโยชน์ยิ่งต่อนักเรียนที่เรียนช้า หรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ   
  • ช่วยเอื้อการสร้างวิดีโอเกม สำหรับเป็นเครื่องมือช่วยให้การเรียนสนุกสนานน่าสนใจ ถูกจริตเด็กสมัยใหม่     

ในอนาคตเมื่อมีระบบสื่อสาร 5G   และระบบ AI ก้าวหน้า    รูปแบบการเรียนรู้จะเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิง ในลักษณะ disruptive change  

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็จัดระบบใช้ ไอซีที เอื้อให้เกิดระบบการศึกษาคุณภาพสูง    เช่นเกาหลีจัดระบบติวเต้อร์ที่ใช้ทั่วประเทศ    และจัดทำ e-textbook เป็นตำราเรียน ออนไลน์   ออสเตรเลียจัดระบบสาระความรู้ในหลักสูตร ที่เข้าถึงได้ทางออนไลน์ แก่ทั่วประเทศ   และจัดให้มีข้อมูลโรงเรียนทุกโรงเรียนที่พ่อแม่เข้าไปดูได้ ทาง MySchool web portal    จีนใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยให้ครูสอนเก่ง (master teacher) ในเมือง ช่วยฝึกครูในชนบทห่างไกล    สิงคโปร์พัฒนาการบูรณาการ ไอซีที เข้าในระบบการศึกษาอย่างเป็นขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก ครูทุกคนได้รับการฝึก ไอซีที   ขั้นตอนที่สอง มีโรงเรียนนำร่อง ใช้ ไอซีที ช่วยการเรียนเป็นทีม และเรียนโดยนักเรียนกำกับการเรียนของตนเอง (self-directed)    ขั้นตอนที่สาม ขยายการดำเนินการในขั้นตอนที่สองสู่ทุกโรงเรียน ผ่านการพัฒนาครูและครูใหญ่    นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังจัดทำ e-textbook ใช้ทั่วประเทศเช่นเดียวกันกับเกาหลี            

  

เรียนร่วมโลก เพื่อพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้

สาระในตอนนี้ของหนังสือ เขียนสื่อกับวงการศึกษาอเมริกัน    ผมได้ตีความนำมาเขียนใหม่ ให้เน้นสื่อสารต่อวงการศึกษาไทย

หลักการสำคัญคือ ปลูกฝังกระบวนทัศน์สำคัญสองประการให้แก่นักเรียน คือ กระบวนทัศน์มองโลกกว้าง มองออกไปนอกตัวเองนอกชุมชนที่ตนมีชีวิตอยู่    กับกระบวนทัศน์มองอนาคต ไม่หยุดอยู่แค่ทำความรู้จักสภาพปัจจุบัน    ซึ่งหมายความว่า ระบบการศึกษาของทุกประเทศต้องส่งเสริมการเรียนรู้นานาชาติ    ซึ่งก็คือ การเรียนรู้ร่วมกันกับโรงเรียนในประเทศอื่นๆ    โดยดำเนินการต่อไปนี้

      ร่วมในโครงการวิจัยนานาชาติ

การวิจัยที่สำคัญยิ่งน่าจะเป็นการวิจัยตอบคำถามด้านการจัดการ   หรือการวิจัยระบบการศึกษา    เน้นคำถามที่นำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูง และค่าใช้จ่ายต่ำ    เช่น การอาชีวศึกษา และการฝึกทักษะอาชีพแบบใดที่ให้ผลดีที่สุดในศตวรรษที่ ๒๑    การดำเนินการอะไรที่มีผลลดการออกกลางคันได้ดีที่สุดในระดับ ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  และอุดมศึกษา     โจทย์วิจัยที่กว้างและซับซ้ อนทำนองนี้   จะนำไปสู่การคิดหา และเปรียบเทียบผล ของวิธีการที่หลากหลาย    รวมทั้งเกิดความเข้าใจว่า มาตรการแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียเสมอ   การเลือกมาตรการจะต้องเข้าใจว่า จะได้รับผลดีด้านใด และต้องยอมรับผลเสียในด้านใด   

การวิจัยร่วมกัน ด้วยโจทย์เดียวกัน ในหลายประเทศ    จะช่วยให้เข้าใจความสำคัญของบริบทสภาพแวดล้อม   รวมทั้งเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการจัดการการศึกษา      

      เปิดโอกาสให้จังหวัด หรือเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบ (benchmarking) นานาชาติ

โครงการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้นานาชาติที่เป็นที่ยอมรับนับถือ และสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษามากที่สุดในปัจจุบันคือ PISA    ซึ่งประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี ด้านการอ่าน  คณิตศาสตร์  และวิทยาศาสตร์    หากประเทศไทยส่งจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเข้ารับการประเมิน    และหาทางศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์และวิธีการจัดการเรียนรู้ เทียบกับบางประเทศที่ผลการทดสอบได้คะแนนสูง    ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจวิธีจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูง    สำหรับนำมาพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ของจังหวัดนั้น    และเมื่อพิสูจน์ได้ว่า วิธีการที่พัฒนาขึ้นใช้ในจังหวัดนำร่องได้ผลดี    ก็ดำเนินการขยายผลปรับใช้ในจังหวัดอื่นๆ หรือทั่วประเทศ   

      ส่งเสริมให้ครูและผู้บริหารการศึกษามีส่วนร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นานาชาติ

เพื่อส่งเสริมครูดีมีความสามารถ และใช้ประโยชน์คนเหล่านี้ให้มีบทบาทยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  เขตพื้นที่การศึกษา  จังหวัด  และประเทศ    ควรส่งเสริมให้ครูสอนเก่ง (master teacher) ไปสังเกตการณ์ห้องเรียนในประเทศที่การศึกษามีคุณภาพสูงระดับโลก    ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีผลงานเด่นด้านยกระดับคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ควรได้ไปฝึกปฏิบัติงานบริหารโรงเรียนในเวลาสั้นๆ (เช่น ๑ - ๓ เดือน) ในโรงเรียนของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงเด่นระดับโลก     และในยุคที่ ไอซีที ก้าวหน้ามากเช่นปัจจุบัน    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นานาชาติส่วนใหญ่อาจทำผ่าน ไอซีที

      สร้างภาคีในต่างประเทศ

การสร้างภาคีเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว   เพื่อให้การศึกษามีมิติของความเข้าใจประเทศหรือสังคมอื่น   ในกรณีนี้เพื่อการเรียนรู้ประเทศของสถาบันภาคีในมิติที่ลึก เชื่อมโยงเรื่องการศึกษากับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ และอื่นๆ    รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ในมิติเชิงพลวัต   ที่การศึกษาต้องปรับตัวเพื่อสร้างพลเมืองที่มีสมรรถนะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย    

ควรเลือกเป็นภาคีกับโรงเรียนในประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูง    เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง    รวมทั้งการจัดบรรยากาศการเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้คุณภาพสูง    โดยยึดหลักการว่า คนในวงการศึกษาต่างก็เป็น “บุคคลเรียนรู้”    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันมีคุณค่าเสมอ     

ขอขอบคุณ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้   

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ม..ค. ๖๒

ห้อง ๒๐๙  โรงแรมราชพฤกษ์ พาวิลเลี่ยน นครปฐม

 

หมายเลขบันทึก: 660721เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2019 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2019 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท