เล่าเรื่อง Peer Assist เรื่องการดูแลเท้า ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๑


ทีแรกมองหน้าคนไข้ ก็ไม่เห็นว่าเป็นอะไร แต่พอมองเท้า รู้สึกว่ายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ

กิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" เรื่องการดูแลเท้า ครั้งที่ ๒ ของเครือข่าย ระหว่างทีม รพ.พุทธชินราชและทีม รพ.เทพธารินทร์ เริ่มต้นเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น.ของวันจันทร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ทีม รพ.พุทธชินราชนำโดย นพ.นิพัธ กิตติมานนท์และคณะ รวม ๘ คน ออกเดินทางจากพิษณุโลกตั้งแต่ตีห้า มาถึงที่พักในกรุงเทพใกล้ๆ กับ รพ.เทพธารินทร์ ประมาณสิบโมงกว่า ประกอบด้วย

   ๑. นพ.นิพัธ กิตติมานนท์  หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว 
   ๒. ภก.สมจิตร คุ้มจุ้ย  เภสัชกร 
   ๓. คุณฐาปกรณ์ จันทโณ นักกายภาพบำบัด 
   ๔. คุณรัชดา พิพัฒน์ศาสตร์  พยาบาลวิชาชีพ (คลินิกเบาหวาน เวชศาสตร์ครอบครัว)
   ๕. คุณอุทุมพร มาลัยทอง  พยาบาลวิชาชีพ (ศัลยกรรม)
   ๖. คุณมณีวรรณ ไวกสิกรณ์ พยาบาลวิชาชีพ (งานสุขศึกษา)
   ๗. คุณสินีนาฎ วิจิตรพงษา พยาบาลวิชาชีพ (ศูนย์สุขภาพชุมชน)
   ๘. คุณอนงค์ เพชรดอนทอง  พยาบาลวิชาชีพ (ศูนย์สุขภาพชุมชน) 

 

 

 

 

 

 

ทีมของ รพ.เทพธารินทร์ ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันแรกมี ๕ คนคือ

   ๑. พญ.สิริเนตร กฤติยาวงศ์  อายุรแพทย์ 
   ๒. นพ.ทวีศักดิ์ ศรีคำมุล ศัลยแพทย์ 
   ๓. คุณยอดขวัญ เศวตรักต  นักกายภาพบำบัด 
   ๔. คุณกิ่งเพชร ประกอบกิจเจริญ  พยาบาลวิชาชีพ 
   ๕. คุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช  พยาบาลวิชาชีพ 

 

 

 

 

ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ติดภารกิจไปบรรยายข้างนอก บอกว่าจะมาร่วมต้อนรับตอน ๑๔.๐๐ น.ดิฉันจึงกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมกิจกรรมไปก่อน และอธิบายว่า Peer Assist คืออะไร พร้อมกับนำบันทึกที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ตอบอิเมล์ของดิฉันเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘ (คลิกอ่านที่นี่) และบันทึกเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ เรื่อง Peer Assist ในฐานะเครื่องมือเรียนรู้ของทีมแบ่งปัน (คลิกอ่านที่นี่) มาแสดงให้ทั้งสองทีมได้รับรู้ด้วย (ทั้ง ๒ ทีมได้อ่านบันทึกของอาจารย์วิจารณ์เรื่องเพื่อนช่วยเพื่อนเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ มาแล้ว) แจ้งกำหนดการและกิจกรรมของแต่ละวันที่ได้จัดไว้ แต่บอกว่ายังสามารถยืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

หลังจากนั้นได้ให้ทีมผู้ใฝ่รู้จาก รพ.พุทธชินราชแนะนำตนเอง เริ่มจากคุณหมอนิพัธ ซึ่งแนะนำตนเองตั้งแต่จบแพทย์ที่ใด เป็นแพทย์ Orthopedic มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ย้ายมาเป็นหัวหน้างานเวชศาสตร์ครอบครัวในปี ๒๕๔๔ เริ่มทำงานโดยมีตนเองและพยาบาลอีก ๓ คน เท่านั้น ปัจจุบันมีคนทำงานรวม ๔๐ กว่าคนแล้ว เริ่มทำโครงการต่างๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ คุณหมอนิพัธ แนะนำตนเองแบบต้องการให้คนรู้จักตนเองจริงๆ แล้วแนะนำเพื่อนร่วมทีมที่มาด้วยกันทุกคน ต่อมาทีม รพ. เทพธารินทร์แนะนำตนเองบ้าง เริ่มจากคุณหมอสิริเนตร คุณชนิกา คุณกิ่งเพชร และคุณยอดขวัญ ทุกคนแนะนำตัวตามสไตล์ที่คุณหมอนิพัธเริ่มไว้ คุณหมอทวีศักดิ์ยังไม่ได้เข้ามาร่วมตอนนี้ เพราะกำลังทำผ่าตัดผู้ป่วยอยู่ใน OR หลังจากนั้นที่ประชุมขอวนกลับมาให้ทีม รพ.พุทธชินราชแนะนำตัวด้วยตัวเองอีกครั้ง ที่ประชุมจึงรู้ว่าทีมของคุณหมอนิพัธ โดยเฉพาะพยาบาลนั้นหลายคนมีประสบการณ์การทำงานในคลินิกมานานมาก

คุณหมอนิพัธเล่าให้ที่ประชุมฟังว่าเมื่อคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานไปแล้ว ผู้ป่วยก็เคว้งคว้างไม่รู้จะไปไหนต่อ จึงเริ่มคิดกระบวนการและ set ระบบการทำงานใหม่ หน่วยงานของคุณหมอนิพัธมีผู้ป่วยเบาหวาน ๑๐๐๐ กว่าราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการตรวจฟัน ตรวจตา มีการส่งผู้ป่วยกลับไปดูแลที่ PCU จัดตั้งเป็นชมรมผู้ป่วยเรื้อรัง (เราจะไปเยี่ยมในวันที่ ๒๘ พย.นี้) คราวนี้จะเริ่มคัดกรองเท้าอย่างจริงจัง

๑๑.๔๐ น. คุณรัชดารับหน้าที่นำเสนอข้อมูลการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของทีม ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา เล่าถึงการรณรงค์คัดกรองตามจุดต่างๆ ซึ่งในระยะที่ ๑ และ ๒ คัดกรองได้น้อย ประชาชนไม่ยอมมาเจาะเลือด แต่พอระยะที่ ๓ นำความรู้ที่ได้ตอนมาอบรมเรื่องการตรวจน้ำตาลหลังอาหารไปใช้ พบว่าได้ผลดี เพราะเจาะเลือดประชาชนตรวจน้ำตาลได้เลย พอพบคนที่ผิดปกติก็นัดให้มาตรวจ FBG อีก สามารถคัดกรองได้ถึงร้อยละ ๘๐.๒ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ไม่ใช้การสอนแล้ว แต่ให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จริงๆ เริ่มใช้วิธีนี้ก่อนหน้าที่จะไปร่วมตลาดนัดความรู้ครั้งแรกของเรา แต่หลังจากนั้นใช้มากขึ้นและลงไปถึงชุมชนด้วย

เรื่องการตรวจเท้า ที่ทำอยู่เป็นการตรวจแบบ "พลิกตำรา" ตรวจแล้วแบ่งกลุ่มตามระดับความเสี่ยง ใช้แบบฟอร์มที่ได้จาก พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เมื่อตรวจพบว่าเล็บผู้ป่วยมีปัญหา ไม่รู้ต้องทำอะไรต่อ คุณรัชดาบอกว่า "ทีแรกมองหน้าคนไข้ ก็ไม่เห็นว่าเป็นอะไร แต่พอมองเท้า รู้สึกว่ายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ"

มีอีกหลายอย่างที่เล่ามาแล้วดิฉัน (คิดว่ารวมทั้งทีมผู้แบ่งปันด้วย) มองเห็นถึงความตั้งใจของทีมพุทธชินราชที่ต้องการมาเรียนรู้ครั้งนี้ และไม่เฉพาะแต่เรื่องเท้าเท่านั้น เช่น "เรื่องอาหาร ยังไม่รู้ลึกมากพอ ยังให้เขา (ผู้ป่วย) ไม่ได้มาก" นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นความสนใจเอาใจใส่ของผู้ป่วย  เช่น "ผู้ป่วยที่มาเจาะเลือด เขาเอาอาหารมากินกันเอง เขาสอนกันเองว่ากินอะไรแล้วน้ำตาลสูง" "ผู้ป่วยในชุมชนบอกว่า "คนไข้ที่ รพ.มีการตรวจเท้า ทำไมไม่ตรวจให้ฉันบ้าง" ซึ่งคุณรัชดาให้ข้อคิดว่า "สิ่งที่เขาอยากได้ แล้วให้เขาเลยตอนนั้น จะดีมาก"

สิ่งที่ทีม รพ.พุทธชิราชเล่าให้ที่ประชุมฟัง ยังสะท้อนถึงแนวคิดในการทำงาน ที่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย ซึ่งดิฉันรู้สึกประทับใจมาก เช่น "มีการทำประชาคมว่าเขาต้องการแบบไหน ซึ่งอาจไม่เหมือนกับที่เราคิดก็ได้" คุณอุทุมพร เสริมว่า "จากประสบการณ์เห็นผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขาเยอะ อยากทำอะไรที่ไม่ให้เขาต้องถูกตัดขา อยากให้เขามีความรู้ อยากให้เขาได้รับการดูแลที่ดี"

คุณหมอสิริเนตรซักถามเรื่องของการดูแลผู้ป่วยใน การทำความสะอาดแผล มีการถามถึงบทบาทของนักกายภาพบำบัด ซึ่งน้องอาร์ม (คุณฐาปกรณ์) ตอบว่ามีการรับ consult ไปให้คำแนะนำเรื่องอุปกรณ์บ้าง "เน้นรองเท้าหนาๆ พื้นนุ่มๆ แต่ตามท้องตลาดก็จะหาไม่ค่อยได้"

แค่เวลาประมาณ ๑ ชม. ที่แนะนำตัวกัน และทีม รพ.พุทธชินราชเล่าถึงการทำงานของตนเอง เราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างแล้ว เพิ่งรู้ว่าเบาหวานก็มี "ตัวผู้" "ตัวเมีย" (ชาวบ้านเขาบอก)

ถึงเวลาเที่ยง เราจึงหยุดรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน ดิฉันถือโอกาสครั้งนี้ให้ห้องครัวจัดอาหารแบบ "ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง" เป็นข้าว หมูเกาหลี แกงจืดเต้าหู้ และผลไม้ รวมพลังงาน ๕๑๐ แคลอรี่ เพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ตรง เผื่อจะนำไปสอนผู้ป่วยต่อได้

 

ข้าว

ผัก 

เนื้อสัตว์ 

ไขมัน 

ผลไม้ 

พลังงาน 

ข้าวหมูเกาหลี 

๒.๕ ส่วน 

๒ ส่วน 

๒ ส่วน 

๒ ส่วน 

 -

 ๔๕๐

แกงจืดเต้าหู้ 

 -

 -

 -

 -

 -

 เล้กน้อย

ผลไม้

 -

 -

 -

 -

 ๑ ส่วน

๖๐ 

ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ และอาจารย์ประไพ อริยประยูร จากงานการพยาบาลศัลยกรรม ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาถึงเกือบเที่ยง เพราะเกรงใจเรื่องอาหารกลางวัน เลยกะจะมาร่วมงานตอน ๑๓.๐๐ น.เลยทีเดียว

มีเรื่องที่จะเล่าอีกเยอะเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ สมาชิกโปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 
 

 บรรยากาศตอนเริ่มกิจกรรม

หมายเลขบันทึก: 6604เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2005 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นี่แหละครับ

แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ของจริง

ยินดีกับกิจกรรม peer assist ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ การแลกเปลี่ยเรียนรู้น่าจะสนุก คึกคักขึ้น และหลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะหลังจากตลาดนัดครั้งที่ 2 นะครับ

ถ้ามีโอกาสจะไปรบกวนข้าวหมูเกาหลี ของพี่วัลลา อีกนะครับ
พี่และทีมงานยินดีต้อนรับคุณหมอนิพัธเสมอค่ะ
น้ำอ่านเพลินไป พอรู้ว่าจบแล้ว ก็อึ้งเลย...จะรออ่านต่อไปค่ะ...อาจารย์เขียนดีมากๆๆ เขียนเรื่องนี้จบน้ำจะขอไปเผยแพร่ต่อน่ะค่ะ
ยินดีที่คุณน้ำจะช่วยเผยแพร่ต่อ จริงๆ ต้องขอบคุณด้วยซ้ำ สมาชิกเครือข่ายคงจะดีใจด้วยค่ะ

ขอบคุณทีมงานร.พ เทพธารินทร์ทุกคน ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท