ชีวิตที่พอเพียง 3385. PMA 2562 : 9. PMAC 2019 Day 2



วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒


Plenary 2 : Addressing Determinants of NCD : The Whole of Government and Systems Response

การประชุมภาค Plenary ทุกครั้งมี ๓ ส่วนเหมือนกันหมด คือเริ่มด้วย keynote   ตามด้วย panel presentation   ต่อด้วย Q&A   ในช่วงนี้ Coordinator คือ Douglas Bettcher เป็นผู้กล่าว keynote เอง    โดยไม่มี PowerPoint   แล้วจึงยิงคำถามให้ panelist ทีละคน   แต่ละคนตอบคำถามที่ตรงกับประสบการณ์ตรงของตน   

จะเห็นว่า เขาไม่ใช้คำว่า cause หรือสาเหตุ   แต่เรียกว่า determinants    ซึ่งผมอยากใช้ชื่อว่า อภิสาเหตุ   และ Douglas Bettcher บอกว่า อภิสาเหตุเหล่านี้ “ทำงานเป็นทีม” เขาใช้คำว่า interconnected   เมื่อจะแก้หรือป้องกันอภิสาเหตุเหล่านี้ ต้องทำอย่างเป็นระบบ จึงจะได้ผล    ผมตีความว่า ต้องใช้การดำเนินการอย่างซับซ้อน เพื่อเอาชนะปัญหาที่ซับซ้อน   คำที่เขาใช้คือ intersectoral, multistakeholder action, partnership 

ปัญหาใหญ่และซับซ้อน ที่มีอภิสาเหตุที่ซับซ้อนหลากหลายและดิ้นได้  ต้องแก้แบบ “เกลือจิ้มเกลือ”    คือใช้มาตรการที่ซับซ้อน หลากหลาย ดิ้นได้ และเชื่อมโยงกัน   

Boyd Swinburn, Professor of Population Nutrition and Global Health, University of Auckland, New Zealand  พูดเรื่องนโยบายแก้ปัญหาการระบาดของโรคอ้วนในประเทศนิวซีแลนด์ มีสภาพ policy inertia   เพราะสาเหตุ ๓ ประการ  (๑) ภาคธุรกิจขัดขวาง   โครงการเฝ้าระวังระบบอาหารถูกยกเลิก   (๒) รัฐบาลลังเลที่จะเข้าไปกำกับ  คิดว่าการศึกษาและกลไกตลาดจะทำหน้าที่เอง  (๓) กลไกภาคประชาสังคมทำงานแยกกันเป็นส่วนๆ ไม่ผนึกกำลังกัน  และขาดทรัพยากรสนับสนุน  

ในเรื่องแอลกอฮอล์ มีการเรียกร้องให้มี GCAC (Global Convention on Alcohol Control)  แบบเดียวกันกับ GCTC (Global Convention on Tobacco Control)    โดยต้องเน้นลด alcohol harm ซึ่งผลร้ายไม่ได้เกิดต่อผู้ดื่มเท่านั้น ยังก่อผลร้ายต่อคนอื่นๆ และสังคมโดยรวมด้วย   

ศ. นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ หนึ่งใน panelist บอกวิธีการลดการสูบบุหรี่ของไทย ได้แก่  ในคณะกรรมการป้องกันการสูบบุหรี่แห่งชาติ ไม่มีผู้แทนจากกระทรวงที่ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ    ให้ความรู้แก่สังคมในเรื่องการให้ข้อมูลผิดๆ ของบริษัทบุหรี่และตัวแทน   ห้ามบริษัทบุหรี่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR  และต่อมาห้ามกิจกรรม CSR ของบริษัทบุหรี่ ซึ่งเป็นไปตาม GCTC   และส่งเสริม UHC ด้วยการควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพ  เพื่อลดภาระด้านการซ่อมสุขภาพ   ท่านชี้ให้เห็นว่า ต้องมีภาคประชาชน/ประชาสังคมที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับฝ่ายทำธุรกิจบนการเสียสุขภาพ  และต้องมีทรัพยากรสนับสนุน

ในการอภิปราย ผมได้ความรู้ว่า แม้ใน SDG ของ UN เอง    ก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่า มีข้อความที่แฝงผลประโยชน์ของธุรกิจ เหนือผลประโยชน์ของมนุษย์และสภาพแวดล้อม   เป็น CoI ซ่อนอยู่ใน SDG   เรื่องเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ NCD จึง ลับ-ลวง-พราง ยิ่งนัก


PS 2.3 : Imperative Need for Paradigm Shift of Health Systems : A Holistic Approach to NCD

ผมไปเข้า parallel session นี้ด้วยอยากไปค้นหา paradigm shift ในการดำเนินการ   

Anders Nordstrom, Ambassador for Global Health, UN PolicyDepartment, Ministry of Foreign Affairs, Sweden  บอกว่าต้องเปลี่ยนแปลงที่ทรัพยากรมนุษย์ (human resource) เป็นสำคัญ    เปลี่ยนเฉพาะที่ระบบสุขภาพไม่เพียงพอหรือได้ผลน้อย    เขาเล่าประสบการณ์ที่ประเทศสวีเดนไปช่วยเหลือประเทศ เซียรา ลีโอนส์    เขาใช้คำว่า from health systems to systems for health    ที่เป็นระบบที่ส่งเสริมผู้คนให้มีพฤติกรรมสุขภาพ    ให้มีคนในภาคส่วนนอกภาคส่วนสุขภาพทำงานส่งเสริมสุขภาพ    และให้คนในวงการสุขภาพทำงานเชื่อมโยงกัน

หลังจากนั้น รัฐมนตรีของบังคลาเทศนำเสนอแผน ๕ ปีด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งผมสรุปว่าเป็นแผนตาม paradigm เก่า    จึงเปลี่ยนไปเข้าห้อง PS 2.5


PS 2.5 : Best Buys, Wasted Buys, and Do-It-Yourself in NCD Prevention : How Do You Find Them, and How to Make Them Work?

นี่คือการนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินการเขียนหนังสือในชื่อดังกล่าว  มี นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์เป็นต้นคิดเมื่อ ๑ ปีมาแล้ว และรวบรวมทีมทำงานร่วมกันจากอังกฤษ อเมริกา และไทย   มีเป้าหมายเพื่อขอคำแนะนำการเขียนดังกล่าว    ผมเข้าไปตอนที่ ผศ. พญ. กัญญารัตน์ อโณทัยสินทวี กำลังนำเสนอ เรื่อง extended cost effectiveness analysis on NCD   ที่กล่าวถึงเรื่อง evidence synthesis น่าสนใจมากสำหรับผม จึงนำบาง ppt มาให้ดู    ตามด้วย Jessy Bump ที่มาบอกว่า เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ เป็นคู่มือสำหรับ NCD manager ในบริบทต่างๆ    โดยที่ทีมวิจัยกำกลังทำวิจัยค้นหานิยามของคำว่า NCD managers ในหลากหลายบริบท  


PL 3 : Governance of the NCD Response – Who is in Control?

คำตอบคือรัฐบาลต้องรับผิดชอบการป้องกันและควบคุม NCD   โดยที่หลากหลายภาคีในสังคมต้องร่วมดำเนินการ รวมทั้งกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างถูกต้องจริงจัง    มีการตรวจสอบว่า รัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายภาพใหญ่เพื่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจบาป (บุหรี่ สุรา เครื่องดื่มเจือน้ำตาล)  ซึ่งก่อผลร้ายต่อการป้องกันและควบคุม NCD    หรือไม่

ผู้ดำเนินรายการคือ Doug Webb แห่ง UNDA    มี panelist 5 คน    คนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจเครื่องดื่ม ของออสเตรเลีย  คือ Geoff Parker, Executive Director, ICBA Asia Pacific Regional Group    อีกคนหนึ่งเป็นนักกฎหมายและนักจริยธรรม (Lawyer & Bioethicist) ชื่อ Kwanele Asante, African Organization for Research & Training in Cancer, South Africa    จึงหนีไม่พ้นที่จะมี “วิวาทะ” บนฐานธรรมชาติของเศรษฐกิจการเมือง  ที่มีทั้งส่วนที่ผลประโยชน์ขัดกัน  และที่ผลประโยชน์ร่วมกัน  

คนที่ pro health เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมธุรกิจบาปที่มีผลเสียต่อคนส่วนใหญ่     คนที่ pro economy ย่อมต้องการให้รัฐบาลเอื้อต่อธุรกิจ เพื่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ    แต่สองกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อผู้บริหารประเทศต่างกัน    นักธุรกิจ (บาป) ใช้เงิน  คอนเน็คชั่น และกโลบายเบี่ยงเบนความรู้เรื่องผลร้ายของผลิตภัณฑ์ของตน    ส่วนนักเคลื่อนไหวเพื่อสุขภาพ ใช้หลักฐานข้อมูลความรู้ เพื่อกดดันรัฐบาล และกดดันภาคธุรกิจ (บาป)    เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นทั่วโลก    รวมทั้งประเทศไทย   

เมื่อ Doug Webb ถามความเห็นเรื่องการใช้มาตรการขึ้นภาษีต่อผลิตภัณฑ์ที่ก่อ NCD    และขอให้ Geoff Parker ตอบ    คำตอบคือมาตรการนี้ได้ผลดีในธุรกิจบุหรี่    แต่ในกรณีของธุรกิจเครื่องดื่มผลต่างกัน การขึ้นภาษีเครื่องดื่มใส่น้ำตาลในอังกฤษ และในแคลิฟอร์เนีย ฟิลาเดลเฟีย เม็กซิโก ทำให้คนลดการบริโภค  ส่งผลให้รัฐได้ภาษีลดลง    แต่อุบัติการณ์โรคอ้วนยังเพิ่มขึ้น    คำพูดนี้เป็นเชื้อเพลิงให้ Kwanele Asante เถียง    เรียกร้อง trust ระหว่างกัน    และช่วยกันลด distrust gap ระหว่างสองฝ่ายที่ผมกล่าวข้างบน    ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้คน    ลงท้ายด้วยคำว่า การอ้างว่าผลร้ายของนิโคติน กับน้ำตาล แตกต่างกัน ไม่ใช่เหตุผล    สร้างความเครียดขึ้นในห้องประชุม         

Geoff Parker ตอบว่าธุรกิจเป็นทั้งผู้ก่อปัญหา และเป็นผู้ร่วมแก้ปัญหาด้วย    ตนไม่เห็นด้วยกับมาตรการกีดกันภาคธุรกิจออกไปจากโต๊ะเจรจาหามาตรการแก้ปัญหา    ทันใดนั้นก็มีผู้หญิงพูดใส่ไมโครโฟนจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ขอให้หยุดการประชุมที่ภาคธุรกิจผูกขาดการพูด   นี่เป็นการประชุมเรื่องสุขภาพ    เรียกเสียงปรบมือจากห้องประชุม    คนเดียวกันนั้นเอ่ยเรื่องการที่บริษัทเครื่องดื่มในสหรัฐไม่ได้เสียภาษี   และมีพฤติกรรมด้านลบอื่นๆ ของบริษัท    แล้วก็มีผู้หญิงหน้าตาเป็นแขก สำเนียงอังกฤษจ๋า ลุกขึ้นพูดท้าทายให้ภาคธุรกิจไม่พูดวกวน แต่ตกลงกันเรื่องชัดๆ เกี่ยวกับสินค้าเครื่องดื่มใส่น้ำตาล    โดยมีผู้ชายส่งเสียงตะโกนแสดงความพอใจ

บังเอิญผมไปนั่งอยู่ในกลุ่มนั้น  จึงพอจะเดาได้ว่า    เมื่อมีคนจากภาคธุรกิจมาร่วมประชุม และอยู่ในกลุ่มผู้พูด ก็มีกลุ่มต่อต้านรวมตัวกันเตรียมแสดงออกในทางไม่ยอมรับ หรือเป็นศัตรูกัน    ผมเองไม่ชอบบรรยากาศแบบนี้   อยากให้เอาข้อมูลหลักฐานมาโต้กัน   มาเปิดเผยพฤติกรรมไม่เหมาะสมจารึกไว้   

Geoff Parker บอกว่า มาตรการที่ได้ดำเนินการมาแล้วไม่ได้ผล    ตนเห็นด้วยว่าต้องหามาตรการใหม่    และยินดีเปิดรับการเจรจาเสมอ   แต่ในประสบการณ์ ๙ ปีของตนที่ออสเตรเลีย    ไม่มี เอ็นจีโอ ใดมาพูดคุยหารือกันเลย    ถึงตรงนี้ Doug Webb รีบตัดบท    และดำเนินการสรุปการประชุม    ซึ่งก็คือไม่สรุป แต่มีรายละเอียดอยู่ในห้องย่อย

ข้อสรุปของผม ว่าใครควบคุม    คำตอบของผมคือ ในประเทศส่วนใหญ่    ดูเหมือนรัฐบาลควบคุม แต่มีภาคธุรกิจบอกบทอยู่หลังฉากอย่างแยบยล    จึงมี เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ทำงานหาข้อมูลหลักฐานเอามาขับเคลื่อนสังคม

ผมเสียดายที่ไม่มีคนเอ่ยว่า ต้องใช้ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”     


PS 3.4 : No Progress Without Action : A New Era of Accountability to End Empty Promises for NCD Prevention and Control

ฟังแล้วผมได้เรียนรู้เรื่อง accountability (ความรับผิดรับชอบ) ภาคปฏิบัติ ที่ฝรั่งเขาพัฒนาไปไกลมาก    เขาบอกว่า accountability เชื่อมโยงกับ monitoring tool    เชื่อมโยงกับการปฏิบัติ   และเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย    ซึ่งในกรณี NCD ตัวผู้เป็นโรคเป็นผู้เกี่ยวข้องหมายเลขหนึ่ง    รวมทั้งเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

มีการสร้างเครื่องมือวัดที่หลากหลายมาก    ส่วนใหญ่มีเป้าหมายกดดันรัฐบาลให้เอาใจใส่เรื่อง NCD    และเปิดโปงภาคธุรกิจที่ปล่อยความรู้ลวงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (อย่าลืมว่าภาคธุรกิจที่ดีก็มีนะครับ อย่ามองแบบเหมารวม) 

ผมชอบที่ ศาสตราจารย์ Katie Dain สรุปว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของกลไก accountability คือ การเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง   ทำให้ผมตีความต่อว่า ความรับผิดพรับชอบสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบที่ตั้งเป้าไว้    กระบวนการที่ช่วยให้บรรลุผลดังกล่าว เกี่ยวกับ accountability ทั้งสิ้น             

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.พ. ๖๒

บนรถกลับบ้าน จากโรงแรมเซนทารา แกรนด์



1 PL 2 Panelist

2 บรรยากาศในห้องประชุม โปรดสังเกตว่าด้านหลังมีที่ให้ยืนฟังด้วย ... เพื่อสุขภาพ

3 PS 2.3 Panelist




4 PS 2.5 Panelist



5 Evidence Synthesis



6 ข้อแตกต่างระหว่าง Narrative Review กับ Systematic Review



7 Heirarchy of Evidence Synthesis

8 PL 3 Panelist

9 PS 3.4 Panelist

10 Keynote speaker Prof. Katie Dain

11 ความหมายของ accountability

12 หลากหลายมิติของ accountability

13 เป้าหมายสุดท้ายคือการเรียนรู้

14 ปัจจัยที่ทำให้ accountability ประสบความสำเร็จ

15 ความท้าทายในเรื่อง accountability ต่อ NCD control

หมายเลขบันทึก: 660389เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2019 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2019 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท