ลักษณะพิเศษของอัตถิภาวนิยม


 

Existentialism เป็นคำที่คนอื่นตั้งให้กับปรัชญาของซาร์ต  เป็นคำที่มาจากแนวคิดที่ว่า  เราพบว่าเรามีตัวตนอยู่ในโลก  แล้วจากนั้นจึงต้องเลือกว่าเราจะทำอะไรกับชีวิต  มันอาจเป็นตรงกันข้าม เราอาจเป็นมีดพก ถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง  แต่ซาร์ตเชื่อว่า เรามิได้เป็นเช่นนั้น เขากล่าวว่าการมีตัวตนมาก่อนแก่นสำคัญ  ในขณะที่วัตถุที่ผ่านการออกแบบมานั้นมีแก่นสำคัญก่อนการมีตัวตน  ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่งของอัตถิภาวนิยม คือ ความพิลึกพิลั่น (absurb) ของการดำรงอยู่ของเรา  ชีวิตไม่มีความหมายใด ๆ เลย จนกระทั่งเรามอบความหมายให้กับมันจากการตัดสินใจเลือก  แล้วไม่นานความตายก็จะมาเยือนและพรากความหมายทั้งหมดที่เราสามารถมอบให้แก่ชีวิตไป ซาร์ตพูดถึงประเด็นนี้โดยการนิยามมนุษย์ว่า “ความลุ่มหลงทุ่มเทอันไร้ประโยชน์” (a useless  passion) ชีวิตของคนเราไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น มีเพียงความหมายที่เราแต่ละคนสร้างขึ้นจากการเลือกของเราเท่านั้น  อัลแบร์  กามูส์ นักประพันธ์นวนิยายและนักปรัชญา  ผู้ถูกเชื่อมโยงกับอัตถิภาวนิยม  ใช้ปกรณัมกรีกเกี่ยวกับ ซิซิฟัส (Sisyphas) ในการอธิบายความพิลึกพิลั่นของมนุษย์  หลังจากการใช้กลอุบายหลอกลวงเทพเจ้า ซิซิฟัสถูกลงโทษโดยให้เข็นหินมหึมาก้อนหนึ่งขึ้นเขา  เมื่อไปถึงยอดเขา หินก็กลิ้งกลับลงไปข้างล่างและเขาต้องเริ่มเข็นมันขึ้นมาจากตีนเขาอีกครั้ง ซิซิฟัสต้องทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปตลอดกาล ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนกับภารกิจของซิซิฟัสตรงที่มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง  ไม่มีจุดหมายใด ๆ   ไม่มีคำตอบที่สามารถอธิบายทุกอย่างได้  ชีวิตเป็นเรื่องพิลึกพิลั่น  แต่กามูส์ไม่ได้คิดว่าเราควรเป็นทุกข์ทรมาน  เราไม่ควรฆ่าตัวตาย แทนที่จะคิดเช่นนั้น เราควรเข้าใจว่าซิซิฟัสมีความสุข  เหตุใดเขาจึงมีความสุขหรือ  เพราะมีบางอย่างเกี่ยวกับความไร้ความหมายของการเข็นหินมหึมาก้อนนั้นขึ้นเขาที่ทำให้ชีวิตของเขามีค่า มันยังดียิ่งกว่าการตาย

หมายเลขบันทึก: 660345เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2019 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท