วังขอนแดง”ปลอดเหล้า เข้าพรรษา-งานบุญประเพณี


ลด ละ เลิก ดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน

        หลายหมู่บ้านอาจฉวยจังหวะเทศกาลเข้าพรรษา ชักจูงให้คนในชุมชนเลิกเหล้า อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 3 เดือน จนกว่าจะถึงวันออกพรรษา เพื่อเป็นการพักและฟื้นฟูตับ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าเกือบทุกหมู่บ้าน ย่อมมีความคาดหวังลึกๆ ว่าหลังจากเลิกดื่มได้ถึง 3 เดือนแล้ว นักดื่มที่ตั้งใจเลิกเหล้าอย่างจริงจัง จะสามารถเลิกดื่มได้อย่างถาวร

            ปุญญสิทธิ์ วีระชัย ผู้ใหญ่บ้านวังขอนแดง หมู่ 11 ต.ห้วยลาน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เล่าว่า การเลิกเหล้าเข้าพรรษา เป็น 1 ในกุศโลบายให้ลูกบ้านเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหมู่บ้านวังขอนแดงทำติดต่อกันมาหลายปี และพบว่ามีคนเลิกเหล้าถาวรได้หลายคน แต่ยังเป็นส่วนน้อย เพราะในยามปกติหมู่บ้านมีเหล้าเลี้ยงทุกงาน ไม่ว่าจะงานบุญ งานประเพณี หรืองานศพ ซึ่งจากที่ได้ร่วมกับทาง รพ.สต.วังขอนแดงสำรวจ พบว่างานศพ เจ้าภาพต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานละ 40,000-50,000 บาท

            แม้แต่ในชีวิตประจำวัน หลังกลับจากทำงานในไร่นาช่วงเย็น ก็จะแวะดื่มก่อนเข้าบ้าน อ้างว่าแก้ปวดหลัง ปวดเอว บางครอบครัวดื่มทั้งสามี-ภรรยา ซึ่งไม่เพียงแค่ดื่มเหล้า ช่วงพักเหนื่อยจากการทำงานยังเล่นไพ่สังสรรค์กันในทุ่งนาด้วย เรียกว่าประชากร 160 ครัวเรือน 730 คน ดื่มเหล้ามากถึง 90%

            “สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าไม่รีบแก้ไขย่อมบานปลายไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการทะเลาะวิวาทย์ หนี้สิน สุขภาพเสื่อมโทรม เกิดอุบัติเหตุ บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชนให้ลดลง จึงได้หารือกับแกนนำชุมชนเพื่อหาทางออก และขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนบ้านวังขอนแดง มุ่งทำให้หมู่บ้านเป็นเขตปลอดการดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานประเพณี” ผู้ใหญ่บ้านวังขอนแดง อธิบาย

            ในการดำเนินกิจกรรม มีคณะทำงานด้านสุขภาพที่สามารถรณรงค์เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีต่างๆ ได้ 11 คน และในจำนวนนี้เป็นตัวแทนร้านค้าในหมู่บ้านที่ขายเหล้า 1 คน เริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลชุมชน และค่าใช้จ่ายงานบุญ เช่น งานแต่งงาน งานบวช ขึ้นบ้านใหม่ งานบุญกระดูก ผ้าป่า ทอดกฐิน ออกพรรษา รวมถึงงานศพ เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ทำให้ชุมชนมีข้อมูลค่าใช้จ่ายของงานบุญ งานศพ ค่อนข้างละเอียด และคนในชุมชนก็นำข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคณะกรรมการไปเปรียบเทียบกับงานที่ตนเองจัดขึ้น ช่วยให้สามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้

            นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเดินรณรงค์ ซึ่งทั้งวัด โรงเรียน และชุมชน ให้ความร่วมมือกันอย่างพร้อมเพรียง มีการติดป้ายรณรงค์ให้ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้านอย่างเห็นได้ชัด ทำให้นักดื่มรู้สึกเขิน และเกรงใจเมื่อเห็นป้าย บางคนก็ถูกคนในครอบครัวขอร้องให้เข้าร่วมโครงการ เพราะไม่อยากให้เมาแล้วทะเลาะเบาะแว้งกันในบ้าน ขณะที่บางครอบครัว สามีลดได้ เลิกได้ แต่ภรรยาดื่มหนักกว่า พอถูกดึงเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะกลุ่มแม่บ้าน เข้ามาเป็นแกนนำช่วยขับเคลื่อนงาน ก็เกิดความอาย ความถี่ในการดื่มของคนในชุมชนจึงลดลงเกินครึ่ง ทั้งยังลดปริมาณลง เงินที่เคยใช้จ่ายเป็นค่าเหล้าเฉลี่ยวันละ 100-200 บาท เหลือ 20-100 บาท และมีนักดื่มที่เลิกได้ 10 คน เป็นผู้ชาย 9 คน หญิง 1 คน ซึ่งทางโครงการก็มอบเกียรติบัตรให้เป็นบุคคลต้นแบบ

            ที่สำคัญ คือชาวบ้านได้ช่วยกันตั้งกฎ กติกาของหมู่บ้าน กำหนดพื้นที่และงานบุญ งานประเพณี ปลอดเหล้าบุหรี่ คือ 1) ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ หรือสูบบุหรี่ ในที่ประชุม ในงานศพ งานบวช งานบุญประเพณีต่างๆ 2) ห้ามดื่มเหล้าในวัด ในโรงเรียน หรือที่สาธารณะโดยเด็ดขาด 3) ห้ามขายเหล้า บุหรี่ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 4) ให้ขายเหล้า บุหรี่ เป็นเวลา ตามที่คณะกรรมการตั้งไว้ 5) ถ้าฝ่าฝืนครั้งที่ 1 จะถูกตักเตือน ครั้งที่ 2 ปรับ 500 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 1,000 บาท และถ้าเป็นผู้นำปรับ 2 เท่า

            เมื่อกฎ กติกา ออกมาจากมติของชาวบ้านเอง ทำให้พวกเขาตอบสนองในทางปฏิบัติ และยังร่วมกับแกนนำคอยสอดส่อง เฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดงานบุญ งานประเพณี และงานศพ ที่ลดละเลิก อันจะนำไปสู่การปลอดเหล้าในอนาคตอันใกล้

            สมศรี  แสงอรุณ ประชาสัมพันธ์โครงการ เล่าว่าโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัด และอำเภอ ที่ต้องการให้แต่ละพื้นที่ลดละเลิกเหล้า เนื่องจากตามสถิติ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยาถือเป็นพื้นที่ที่มีการดื่มเหล้า และฆ่าตัวตาย ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เมื่อลดเหล้าได้ ปัญหาอื่นๆ รวมทั้งการฆ่าตัวตาย ย่อมลดลงเป็นเงาตามตัว

            “คณะทำงานต้องใช้จิตวิทยา ขอความร่วมมือ ดูบริบทของครอบครัว เขาทะเลาะกันไหม ให้เขาได้ตระหนักถึงสาเหตุทำไมเมียหนี เงินหมด เจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรัง เข้าสู่วัฏจักร จน-เครียด-ดื่มเหล้า-ฆ่าตัวตาย ซึ่งการเข้าถึงตัวบุคคลคือวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่าไปในฐานะผู้มีอำนาจ ต้องเข้าหาในฐานะผู้ปรารถนาดี เป็นห่วงเขาและครอบครัว      อีกวิธีการหนึ่ง ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จะทำให้แนะนำ ตักเตือนคนอื่นได้อย่างเต็มปากเต็มคำ” สมศรี กล่าวย้ำ

            ด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าว ทำให้งานศพในหมู่บ้าน ลดปริมาณเหล้า เบียร์ลง จากเดิมเคยสั่งซื้อเป็นคันรถ เพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้ดื่มทุกวัน ตอนนี้เหลือแค่ 3-4 ลังเท่านั้น เลี้ยงเฉพาะคนมาช่วยงานในวันแรก กับวันสุดท้ายหลังจากฌาปนกิจศพแล้ว ที่เรียกกันว่าวันล้างผาม เช่นเดียวกับงานบุญ งานประเพณีอื่นๆ ก็ทยอยลด ละ เลิก การเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโดยปริยาย.

หมายเลขบันทึก: 659867เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท