เวชกรรมไทย๗:แพทย์เวชกรรมไทย (Thai Traditional physician)


แพทย์เวชกรรมไทย (Thai Traditional physician): แพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย 
เป็นแพทย์เวชกรรมไทย ต้องยึดมั่นจรรยาแพทย์และเชี่ยวชาญกิจ ๔ ประการ คือ
๑)รู้จักที่ตั้งแรกเกิดของโรค (Pathogenesis/สมุฏฐานวินิจฉัย) 
๒)รู้จักชื่อโรค(Diagnosis/โรควินิจฉัย)
๓)รู้จักยา/วิธีรักษาโรค(Pharmacy/Thai therapeutic massage/เภสัชกรรมไทย/หัตถเวชกรรมไทย)
๔)รู้ว่ายาใดรักษาโรคใด(Therapy/treatment/การบำบัดโรค) 
กิจข้อที่ ๑ จุดเริ่มต้นของการเป็นแพทย์เวชกรรมไทย ต้องเข้าใจเบญจขันธ์(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)และเบญจมหาภูตรูป (ธาตุดิน/น้ำ/ลม/ไฟและอากาศธาตุ) ที่กำกับ(คุม)การทำงานด้วยตรีธาตุ(ปิตตะ วาตะ เสมหะ) เหมือนการเรียนกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของแพทย์แผนปัจจุบัน กลไกการเกิดโรคและความเจ็บป่วยหรือพยาธิกำเนิดหรือสมุฏฐานวินิจฉัย(Pathogenesis) เริ่มจากมีสาเหตุของโรคหรือสมุฏฐาน(Etiology)ที่ตรีธาตุวิปลาส(กำเริบ หย่อน พิการ) ก็จะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเบญจมหาภูตรูปและเบญจขันธ์ โดยปิตตะ(ส่งผลต่อจตุกาลเตโชธาตุ) ส่งผลต่อวาตะ(ส่งผลต่อฉกาลวาโยธาตุ) ส่งผลต่อเสมหะ(ส่งผลต่อทวาทศอาโปธาตุ) สุดท้ายกระทบต่อโครงสร้าง/หน้าที่/การทำงานของวีสติปัถวีธาตุ เกิดเป็นพยาธิภาพ หรือโรค (Disease) โดยแสดงออกมาให้คนไข้รับรู้บอกได้เป็นอาการ (Symptom) และสิ่งที่แพทย์ตรวจพบเป็นอาการแสดง(Sign) ทั้งนี้ธรรมชาติการเกิดโรคก็คล้ายๆกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เริ่มจาก
๑)ระยะปกติ(Normal/Healthy/สถานัม) 
๒)ระยะภูมิไวรับ(Susseptable/ปิตตะวิปลาส)
๓)ระยะฟักตัว (Incubation/วาตะหรือเสมหะวิปลาส)
๔)ระยะป่วยก่อนมีอาการ(Pre-clinical/เตโชธาตุ+วาโยธาตุ+อาโปธาตุวิปลาส) 
๕)ระยะป่วยมีอาการ (Clinical/ปัถวีธาตุวิปลาส)
๖)ระยะหลังป่วย(RecoveryหรือDeath/สถานัมหรือภินนะ)
การเป็นแพทย์เวชกรรมไทย (มีใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทยหรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์) จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์ (องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทย) และศิลป์ (ปรับใช้ให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคน) ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ (Holistic care) ดูแลแต่แรกทุกเรื่องตั้งแต่เกิดจนตาย(ชาติ จลนะ ภินนะ) ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จผสมผสาน (เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับสมดุลธาตุ บำบัดโรค ฟื้นฟูสภาพ/Promotion, Prevention, Treatment, Rehabilitation) คล้ายๆหลักการของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family physician) หากปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยให้สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนการสอนแพทย์ให้มีความเป็นแพทย์ที่รู้จริง ทำเป็น เป็น “เสฏฐญาณแพทย์” โดยพัฒนาเวชศาสตร์แผนไทยศึกษาหรือการแพทย์แผนไทยศึกษา (Thai Traditional Medical Education; TTME)แล้ว แพทย์เวชกรรมไทย ก็จะช่วยเป็น “หมอครอบครัว” ชดเชยปัญหาการขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของประเทศได้
พิเชฐ บัญญัติ, พบ., พท.บ., สบ.(อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, อว.เวชศาสตร์ครอบครัว, อว.เวชศาสตร์ป้องกัน(สาธารณสุขศาสตร์)
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย
๘/๙/๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 659849เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท