๘๘๙. วิชาทักษะชีวิต


สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้เด็กเข้าถึง “ทักษะชีวิต”ได้ง่ายดาย ภาครัฐต้องทำให้เป็นนโยบาย แล้วโรงเรียนก็ทำให้หลากหลายในส่วนของการปฏิบัติ จัดแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม..พร้อมให้เด็กสร้างสรรค์งานและทำงานร่วมกันนอกห้องเรียน..

         แนวโน้มของการปฏิรูปการศึกษาไทย ยังไม่มีวี่แววว่าจะใช้วิชา”ทักษะชีวิต”เป็นแกนของการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง เพียงแค่พูดถึงความสำคัญ แต่ไม่ปรากฎเครื่องมือหรือตัวชี้วัดใด..เพื่อทำให้ไปถึงจุดนั้น..

    นั่นหมายความว่า..ในสาระหลักและวิชาพื้นฐานยังคงต้องให้แต่ความรู้กันต่อไป สถานศึกษาใดจะมุ่งเน้นทักษะชีวิตก็ไม่มีใครว่า..จะบูรณาการในสาระวิชาหรือพัฒนาในกิจกรรมผู้เรียน ก็ว่ากันไปตามบริบท..

    “ทักษะชีวิต”อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เข้าถึงได้ยาก..รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอาจเห็นความสำคัญ..แต่ขาดความเชี่ยวชาญ..

        วิชาหลักและวิชาพื้นฐาน..จึงเป็นเรื่องง่ายดายและให้ความสำคัญกันอยู่เสมอ จึงทำให้เด็กไทยได้ความรู้..และเน้นท่องจำความรู้กันอยู่ทุกวัน..

        ท่องและจำเพื่อนำไปสอบแข่งขันและพัฒนาผลสัมฤทธิ์..ตลอดเส้นทางของการศึกษาขั้นพื้นฐาน..น่าเสียดายถ้าเด็กส่วนใหญ่ของชาติ ก้าวเข้าสู่ประตูรั้วมหาวิทยาลัยโดยขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต..

        มีวลีที่อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจน นั่นก็คือ “ความรู้อาจเรียนทันกันหมด” และ “ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก” ครูจึงควรให้วิชาทักษะชีวิตแก่เด็กตั้งแต่ระดับประถมฯ เพราะ..อะไรก็ตามที่เป็น “ทักษะ” ต้องสอนบ่อยๆ ฝึกให้ทำบ่อยๆจนเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรประจำวันที่ทำด้วยความรักและความสนใจ..

        ทักษะชีวิต..มิใช่เป็นเพียงทฤษฎี มีลักษณะที่แตกต่างจากข้อสอบ “ปรนัย” แต่เน้นผลงานเชิงประจักษ์..ที่ครูและนักเรียนสัมผัสและวัดผลได้...

        คงไม่ใช่การศึกษาหาความหมายของ “ความดี” และไม่ใช่บอกชื่อคุณธรรมและหาความหมายเท่านั้น..แต่ทักษะชีวิต..คือการลงมือทำเพื่อหาตัวตนที่แท้จริง ให้ซาบซึ้งติดตราตรึงใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต..

        ปัจจุบันก็คงจะพอมองเห็นกันบ้างแล้วว่า..เด็กไทยอดทนไม่พอและรอไม่เป็น..เราคงมิอาจโทษใครได้ นอกจากหันมาร่วมมือกันทุกภาคส่วน..อย่าทำให้เด็กมีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด..แต่ต้องทำให้เขาเรียนรู้คู่การปฎิบัติ...

        เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า “ความรู้คู่คุณธรรม” จริงๆแล้วเราทำให้ถึงจุดนั้นหรือยัง?..คุณธรรมมิใช่การบอกเล่า..แต่ต้องเข้าค่ายฝึกทั้งกายและใจ..สม่ำเสมอและต่อเนื่อง...

        เช่นเดียวกัน..การจะสอนลูกศิษย์ให้มีจิตอาสา เป็น “ผู้ให้” รู้จักและรักที่ “แบ่งปัน” ต้องสร้างด้วยกิจกรรมนำนักเรียนไปสู่ชุมชนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ เชื่อว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้น จะเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งทางความคิด คือคิดเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน..

        “ทักษะชีวิต” จึงมิใช่เรื่องของความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และพื้นฐานงานอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงคุณธรรมประจำใจที่ต้องฝึกไว้แต่วัยเยาว์..

        สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้เด็กเข้าถึง “ทักษะชีวิต”ได้ง่ายดาย ภาครัฐต้องทำให้เป็นนโยบาย แล้วโรงเรียนก็ทำให้หลากหลายในส่วนของการปฏิบัติ จัดแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม..พร้อมให้เด็กสร้างสรรค์งานและทำงานร่วมกันนอกห้องเรียน..

        อนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร?..อนาคตของชาติจะมั่นคงมากน้อยแค่ไหน..? มองกันได้ที่วิธีการศึกษาหาความรู้ในปัจจุบัน..เพราะปัจจุบัน..คือพื้นฐานที่สำคัญของอนาคต..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 659833เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2019 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2019 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท