สกว.หนุน ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ศึกษาเมืองบางขลัง สุโขทัย (นสพ.มติชนวันจันทร์ที่ 11 ก.พ.2562 หน้า 15)https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1360773


https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1360773

........สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้เข้ามาส่งเสริม กระตุ้นให้ชาวบ้านเมืองบางขลังดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) และ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism : CBT) ใน 3 โครงการมาตามลำดับ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายขึ้นในดินแดนแห่งนี้

........ผลการพัฒนาเครือข่ายเพื่อร่วม “สร้างแหล่งเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมชุมชนโบราณเมืองบางขลัง สุโขทัย”  ทำให้เกิดกลุ่มคนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวจากองค์ความรู้ที่ชาวบ้านร่วมศึกษาสืบค้น ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นมุมมองและความเชื่อจากชาวบ้าน โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมให้การสนับสนุน เสริมเติมเต็ม ผลการวิจัยสร้างการตื่นรู้ให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักเห็นคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจที่จะร่วมอนุรักษ์  สืบสานสิ่งที่ตนเองค้นพบและได้นำสิ่งที่ค้นพบได้มาเชื่อมโยงสร้างเป็นเส้นทาง/กิจกรรมการท่องเที่ยว

.........ผลการพัฒนา“หลักสูตรท้องถิ่นเมืองบางขลัง”  ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนประถมศึกษาในเขต อ.สวรรคโลก จากแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จนกลายเป็นต้นแบบพัฒนาการเรียนการสอนที่นำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการรื้อฟื้น แล้วนำกลับมาจัดทำเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาโดยความร่วมมือของผู้เรียนและชุมชน ยังเกิดการถ่ายทอดแนวคิดวิธีการปรับเปลี่ยนของครูผู้สอนที่เป็นนักวิจัย ร่วมเป็นวิทยากรเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองต่อสาธารณะชน สถานศึกษาต่าง ๆ รวมถึงเกิดแนวทางสร้างการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ด้านการศึกษาให้กับสังคมด้วย

.........ผลการวิจัย “การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้วิถีชาวนาเมืองบางขลัง” นอกจากเกิดความรู้ ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวใน “เส้นทางสายข้าว” ที่ว่าด้วยขั้นตอนกระบวนการและพิธีกรรมของการทำนา อาหารพื้นบ้าน  ประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดสำนึกรักษ์ หวงแหนมรดกวัฒนธรรมของตน เกิดความรัก ความสามัคคี นำมาซึ่งรายได้แก่ชุมชนในการบริการอื่นๆ    อย่างเป็นห่วงโซ่ที่ร้อยรัดกันเป็น “พลังแห่งเครือข่าย” ที่สร้างเศรษฐกิจ สังคมที่ดี และดึงคนไม่ให้ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดอีกด้วย

.........งานวิจัยจากการสนับสนุนของ สกว. ได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน กล่าวได้ว่า สกว. ได้สถาปนาความเข้มแข็งให้แก่เมืองบางขลัง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การสร้างบ้านแปลงเมือง (ยุคใหม่) ภายใต้งานวิจัย (โดย สกว.)”  ที่ใช้เรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาเป็นตัวถักทอ เชื่อมร้อยผู้คนเข้าหากัน นำมาซึ่งความรัก ความสามัคคี แปรเปลี่ยนเรื่องของประวัติศาสตร์ที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ มาสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นและจับต้องได้ รับรองผลการดำเนินงานโดยรางวัลระดับประเทศ คือ รางวัลพระปกเกล้า, พระปกเกล้าทองคำ ฯลฯ

.........เรื่องของเมืองบางขลังที่ได้มีการศึกษา วิจัย เป็นเพียง “ชุดความรู้ระดับชาวบ้าน”ยังไม่ผ่านการชำระประวัติศาสตร์จากมุมมองของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่มีกรอบเชิงวิชาการที่มีหลักการมากกว่าชาวบ้าน ถึงแม้นว่า สำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้เข้ามาขุดแต่งโบราณสถาน  โบราณวัตถุ นำหลักฐานเรื่องของเมืองเก่าแห่งนี้ให้ปรากฏต่อสายตาบ้างแล้ว  แต่ก็คงเป็นเพียงสภาพของมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเสมือน “โครงกระดูกในตู้”หรือ “ตากแดด ตากลม” ที่ดู “แห้งๆ ไม่มีชีวิต ชีวา และขาดความเชื่อมโยงกับผู้คนและสังคม” 

.........ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ  ได้ผลักดันเรื่องราวการเดินทางของงานวิจัยท้องถิ่นเมืองบางขลัง นำมาสู่การลงพื้นที่ของ ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและมนุษยวิทยาของประเทศไทย พร้อมด้วย สุดารา สุจฉายา,  เมธินีย์ ชอุ่มผล จาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และคณะจากนิตยสารเมืองโบราณเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 หลังจากนั้น ศ.ศรีศักดิ์พร้อมคณะได้เขียนโครงการเสนอ สกว. เพื่อทำการวิจัย “เมืองบางขลัง Live-history Model ประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลัง”  พร้อมได้นำ ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสาผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ดารารัตน์ โพธิ์รักษา, เบญจวรรณ วงศ์คำ, สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์  จาก สกว. สำรวจพื้นที่เมืองบางขลังอีกครั้ง พูดคุย สอบถาม ทำความเข้าใจกับนักวิจัยท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.62

.........โครงการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ถือเป็นมิติใหม่ของการวิจัย เพราะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีระดับชาติกับชุมชนเมืองบางขลังเจ้าของพื้นที่ที่มีชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของตนอันเกิดจากการวิจัยมาแล้วระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายลงพื้นที่ร่วมกัน จะเกิดบรรยากาศการวิจัยที่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ชาวบ้านในพื้นที่ที่ร่วมกระบวนการจะเกิดองค์ความรู้ที่เข้มข้น มีหลักวิชาการ เกิดความน่าเชื่อถือ นำไปสู่การขยายผลที่ดีกับชุมชนในหลายๆ ด้านต่อไป  ที่สำคัญจะนำไปสู่การจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลังอย่างเชื่อมโยงในหลายมิติแก่ผู้มาเยือน ด้วยบรรยากาศที่มีชีวิต ชีวา มิใช่บรรยากาศของการโชว์ซากโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่เรามักพบเห็นทั่วไป 

.........ในขณะที่การศึกษา “ประวัติศาสตร์สังคมเมืองบางขลัง” ที่มีผู้เขียนร่วมเป็นทีมวิจัยกำลังจะเกิดขึ้น แต่การเคลื่อนไหวทางสังคมของเมืองบางขลังก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังคงมีกิจกรรมพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมด้านขยะมูลฝอย   นายวราดิศร  อ่อนนุช นายอำเภอสวรรคโลก ประกาศเจตนารมณ์แนวแน่ที่จะสร้างสวรรคโลกให้เป็น “อำเภอสะอาด” จึงได้จัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครองท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ภาคีเครือข่ายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางในการดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน แผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง” ฯลฯ.

........ 25 ม.ค.2562 ทต.เมืองบางขลัง ได้ร่วมกับผู้นำท้องที่ คณะสงฆ์ ส่วนราชการ เด็ก นักเรียน จิตอาสา ประชาชน ดำเนินกิจกรรมเก็บขยะ รับบริจาคขยะเพื่อนำไปทอดผ้าป่าขยะ ณ วัดขอนซุง (ติดต่อรถมารับซื้อขยะเลย และจะทอดทุกวัดในพื้นที่ในโอกาสต่อๆ ไป) โดยมี นายวราดิศร  อ่อนนุชเป็นประธานฯ.

หมายเลขบันทึก: 659826เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2019 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2019 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท