แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร


การพัฒนาหลักสูตรจะเกิดประสิทธิภาพถ้าพัฒนาขึ้นจากฐานสารสนเทศและคำนึงถึงพื้นฐานด้านปรัชญา จิตวิทยา สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พรบ. แผนพัฒนาการศึกษาชาติ องค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ

การศึกษา เป็น กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ในสังคมในทางที่ดีขึ้น การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งให้บุคคลเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและส่งเสริมให้บุคคลเจริญเติบโตและมีความเจริญงอกงามทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษาจะใช้หลักสูตรเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษาสำหรับควบคุมคุณภาพของการศึกษาในแต่ละระดับ

หลักสูตร เป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เป็นแนวทางของการสร้างลักษณะของพลเมืองของชาติและสร้างชาติและสามารถทำนายลักษณะของสังคมในอนาคตได้ เป็นเครื่องชี้นำทางและกำหนดแนวทางการจัดความรู้และประสบการณ์เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันหลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์ทั้งมวลที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่พึงปรารถนา อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชนหลักสูตรเป็นหัวใจของการศึกษา  เพราะหลักสูตรเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนมีความมุ่งหมายในการให้การศึกษาแก่เด็กอย่างไรและสามารถให้ความรู้ สร้างเสริมทักษะและเจตคติในด้านใดบ้าง สิ่งต่างๆ ที่ประมวลไว้ในหลักสูตรเป็นเสมือนแนวทางที่ช่วยให้เราทราบได้ทันทีว่าการศึกษาที่จัดให้แก่เด็กนั้นเน้นหนักไปในทางใด มีผลดีต่อตัวเด็กและสังคมมากน้อยเพียงใด หลักสูตร มีลักษณะเป็นพลวัตและเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรที่ดีต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสังคม สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม มีความหมายต่อชีวิตผู้เรียน และเหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม และหลักสูตรที่ดีต้องพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายการสอน หมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดที่จะนำความรู้ไปใช้เกิดทักษะหรือความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม การสอนเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญงอกงามในตัวบุคคล การสอนเป็นกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การสอนเป็นหัวใจสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้ หลักสูตรจะสัมฤทธิ์ผลเพียงไรขึ้นกับการจัดการเรียนการสอน ลักษณะของการสอนที่ดีจะต้องบอกเป้าหมายการเรียนและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ให้แนวปฏิบัติที่ชัดเจน สอน/แนะนำ บนพื้นฐานของความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเดิมของผู้เรียน จัดสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ช่วยให้มีการรับรู้ที่ชัดเจน จัดหา เตรียมสื่อ ทรัพยากรการเรียนรู้ และให้ใช้ได้ง่าย จัดกิจกรรมที่หลากหลาย กระตุ้นให้มีความรับผิดชอบ กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจและมีวินัยในตนเอง กระตุ้นให้แสดงความคิดและมีเหตุผล

หมายเลขบันทึก: 65968เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท