ตำหนิติเตียน


.
"การตำหนิติเตียน" เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบทำ
โดยเฉพาะเวลาที่มี "คนนำ" ก็จะมี"คนตาม"อย่างสนุกปาก(มือ)
ทั้งๆที่เรายังไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อน

เพียงเพราะเราเชื่อว่า...
ถ้าคนนำเป็นคนที่มีชื่อเสียง สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
โดยไม่ได้ดูแม้แต่น้อย ว่าเรื่องราวนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
เราตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเพียงบางส่วน
แถมยังเป็นข้อมูลส่วนน้อยที่ใครบางคนจงใจตัดทอนมาให้เราเสพ

โดยเราอาจลืมไปว่า..
การจะตัดสินอะไรก็ตาม เราต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้ดีซะก่อน
เช่น สถานการณ์ วันเวลา สถานที่ บุคคล เจตนา ฯลฯ
มิเช่นนั้น ทุกอย่างอาจจบเหมือนกับเรื่องเล่าเรื่องนี้...

เด็กน้อยคนหนึ่งวิ่งกลับบ้านหน้าตาตื่น
พอไปถึงก็ตรงเข้าไปต่อว่าคุณแม่ของเขาทันที
เด็กน้อย : "แม่ๆ..ที่แม่สอนผมน่ะ ผิดหมดเลยอ่ะครับ"
คุณแม่ : "ว่าไงนะลูก แม่สอนอะไรผิดรึ?"
เด็กน้อย : "ก็ที่แม่สอนผมว่า..
การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การผิดลูกเมียเขา การพูดปด
และการกินเหล้าเมายา เป็นสิ่งไม่ดี มันไม่ถูกซะหน่อย
หลวงตาที่วัดยังบอกว่าดีทุกอย่างเลยอ่ะครับ!"

“ไหนๆ หลวงตาเขาบอกว่ายังไง เอ็งเล่าให้แม่ฟังซิ!”
คุณแม่ถามเด็กน้อยด้วยความคลางแคลงใจ

เด็กน้อยตอบด้วยความกระตือรือร้น...
" ตอนที่ผมไปเล่นอยู่ใต้ถุนวัด ผมได้ยินหลวงตาเทศน์ว่า...
  - การฆ่าสัตว์ก็ดี
  - การลักทรัพย์ก็ดี
  - การผิดลูกผิดเมียเขาก็ดี
  - การโกหกก็ดี
  - การดื่มสุรายาเมาก็ดี..."
“ผมก็เลยรีบวิ่งมาบอกแม่นี่ล่ะครับ!”

แต่เด็กน้อยหารู้ไม่ว่า หลังจากที่เขาวิ่งออกจากใต้ถุนวัดไป
หลวงตาได้เทศน์ต่ออีกว่า "ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น!"
เพราะฟังความไม่ครบถ้วนแท้ เลยทำให้ผิดกลายเป็นถูก

ท่านอาจจะคิดว่า...มันก็แค่เรื่องเล่า!

แต่เชื่อไหมครับว่า คนสมัยนี้ก็ทำตัวเหมือนเด็กน้อยคนนี้ไม่มีผิด
เรามักจะฟังความข้างเดียว โดยไม่สนใจข้อมูลอีกด้าน

เราชอบฟังข้อมูลแค่บางส่วน และคาดเดาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอย่างไร
หลังจากนั้น ก็ใช้ประสบการณ์ในอดีตของเราเป็นตัวตัดสิน!
เราจึงมักตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นได้โดยง่าย

ซึ่งผลการตัดสินของเรา มันอาจจะถูกหรือผิดก็ได้!
และหากเรื่องนั้นมันเป็นแค่ความเข้าใจผิดของเรา
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเรา
อย่างมากก็แค่เสียความรู้สึกที่ถูกหลอก
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนที่ถูกเราพิพากษา
มันคงสาหัสสากรรจ์เกินกว่าจะหาคำใดๆมาบรรยาย
ทั้งสับสน เสียใจ เสียขวัญ ร้อนรุ่มใจ
และคงรู้สึกเหมือนตกลงไปในหุบเหวลึกที่ยากจะปีนขึ้นมา

บางที..คำตำหนิติเตียนเหล่านั้น
มันอาจจะถึงกับทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆต่อไปอีกก็ได้

และถึงแม้เขาจะพูดหรือทำผิดจริง
"การตำหนิติเตียน"ก็คงไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับเรานะครับ

สิ่งที่เราควรทำ น่าจะเป็น...
การให้อภัยและให้โอกาสเขาได้แก้ตัวสักครั้ง
แนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ตักเตือนอย่างสร้างสรรค์ฉันท์มิตร
แต่ถ้าเขายังไม่สำนึก และไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข
เราก็แค่ตัดเขาออกไปจากชีวิตเราก็พอ
โดยไม่จำเป็นต้องไปโกรธเขา ด่าว่าเขา
เพราะสุดท้าย...มันจะกลายเป็นไฟที่ย้อนกลับมาเผาใจของเราเอง

นิวัฒน์ ลีวงศ์วัฒน์
31 มกราคม 2562

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก www.pixabay.com

หมายเลขบันทึก: 659595เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2019 03:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2019 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท