ต้นบุนนาคใหญ่คู่วัดคุ้งตะเภา


ได้รับยกย่องจากผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรมให้เป็น “บุนนาคพญา” ในวัด ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดใน Upper Siam หรือจังหวัดในกลุ่มวัฒนธรรมสุโขทัยโบราณ
ป้ายต้นบุนนาคใหญ่คู่วัดคุ้งตะเภา
ป้ายต้นบุนนาคใหญ่คู่วัดคุ้งตะเภา

     “บุนนาคคู่วัดคุ้งตะเภา” คาดว่ามีอายุประมาณ 250 ปี จากเส้นรอบวง 3.6 เมตร 

    (วัดจากพื้นดิน 1.30 ม.) ความสูง 25-30 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 8-10 เมตร

    ต้นบุนนาคคู่วัดคุ้งตะเภา ได้รับยกย่องจากผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จ.สุโขทัย ให้เป็น “บุนนาคพญา” ในวัดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดใน Upper Siam หรือจังหวัดในกลุ่มวัฒนธรรมสุโขทัยโบราณ รองจากต้นบุนนาควัดหลวงจอมยอง เมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า (สมชาย เดือนเพ็ญ, 2562)

    ต้นบุนนาคใหญ่ เคยยืนต้นอยู่สร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดคุ้งตะเภา เมื่อครั้งโรงเรียนยังตั้งอยู่ที่ศาลาวัด
    ต้นบุนนาคใหญ่ เคยยืนต้นอยู่สร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดคุ้งตะเภา เมื่อครั้งโรงเรียนยังตั้งอยู่ที่ศาลาวัด

    นอกจากนั้น บุนนาคใหญ่นี้ยังยืนต้นอยู่ในวัดคุ้งตะเภา วัดที่มีความเก่าแก่ติด 1 ใน 9 วัดของเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นวัดในชุมชนคนไทยภาษาถิ่นสุโขทัยโบราณที่อยู่เหนือสุดในกลุ่มวัฒนธรรมหัวเมืองเหนือสมัยอยุธยา เป็นร่องรอยของขนบในการปลูกสมุนไพรเกสรทั้ง 5 ไว้ในวัดตามจารีตสุโขทัยโบราณ จากหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 286 (สมชาย เดือนเพ็ญ, 2562)

    ต้นบุนนาคใหญ่เมื่อเทียบกับคน
    ต้นบุนนาคใหญ่เมื่อเทียบกับคน


    โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุนนาคใหญ่นี้มีความสำคัญต่อประวัติวัดและชุมชน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ ๆ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ บริเวณริมแม่น้ำน่านสายเก่าอันเป็นที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาเดิมในสมัยธนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อคราวยกทัพมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง ในตำบลที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระตำหนักค่ายหาดสูงตามพระราชพงศาวดาร (ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2558: 78-79)วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานการสร้างวัดในปีเดียวกันนั้นหลังการชำระสงฆ์คราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ใน พ.ศ. 2313 (กรมการศาสนา, 2531: 34) และในบริเวณโดยรอบต้นบุนนาคยังพบเศษอิฐและกระเบื้องดินเผาโบราณกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในระดับชั้นดินอีกด้วย (พระมหาเทวประภาส, 2561: 47-51)

    เศษอิฐโบราณบริเวณต้นบุนนาคใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นดินหลังทำการปรับไถหน้าดิน
    เศษอิฐโบราณบริเวณต้นบุนนาคใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นดินหลังทำการปรับไถหน้าดิน


    ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต้นบุนนาคนี้ปลูกขึ้นเมื่อใด มีเพียงตำนานเล่าสืบมาว่าผู้ปลูกอาจเป็นพระสงฆ์หรือผู้สร้างวัด เพราะต้นบุนนาคนี้อยู่ในทิศตะวันตกของวัดติดริมแม่น้ำน่าน การปลูกไว้ในทิศดังกล่าวเป็นทิศปลูกต้นบุนนาคตามตำราโบราณ เพื่อให้อยู่คู่วัดปกป้องคุ้มครองและเป็นสิริมงคลสำหรับวัดและชาวบ้านตราบสิ้นอายุขัย (พระสมุห์สมชาย, 2562)

    ศาลแม่บุนนาค เนื่องจากมีความเชื่อผูกพันกับคนในท้องถิ่น
    ศาลแม่บุนนาค เนื่องจากมีความเชื่อผูกพันกับคนในท้องถิ่น

    จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ล้วนเล่าสืบมารุ่นต่อรุ่นว่าเมื่อเกิดมาก็เห็นต้นบุนนาคขนาดเท่านี้แล้ว บางท่านบอกว่าต้นนี้มีมาตั้งแต่ตั้งวัด (กิ่ง นิยมเดช, 2562. พระอู๋ แสงสิน, 2549) บริเวณต้นบุนนาคนี้เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน เคยมีต้นลั่นทม ต้นพิกุล และต้นมะม่วงใหญ่ขนาดหลายคนโอบอยู่ใกล้กัน แต่ก็ล้มลงไปนานแล้ว (พระสมุห์สมชาย, 2562) ปัจจุบันนอกจากต้นโพธิ์โบราณคู่วัด ต้นบุนนาคนี้เป็นต้นไม้โบราณเพียงต้นเดียวในบริเวณท่าแม่น้ำน่านเก่าที่ยังคงยืนต้นอยู่

    แผนผังพิกัดโบราณสถานในวัดคุ้งตะเภา
    แผนผังพิกัดโบราณสถานในวัดคุ้งตะเภา


    ในช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่เมืองอุตรดิตถ์ ปี พ.ศ. 2493 ที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจย้ายหมู่บ้านจากริมน้ำน่านขึ้นมาอยู่บนที่ราบด้านบนในระดับเดียวกับวัด ต้นบุนนาคต้นนี้เคยอยู่บริเวณหัวสะพานไม้โบราณที่ทอดข้ามบุ่งน้ำน่านเก่าไปยังบ่อน้ำโบราณของวัด ชาวบ้านจะเดินทางมาจากชุมชนริมน้ำน่าน และใช้ต้นบุนนาคนี้เป็นจุดพบปะ นั่งพักผ่อนสังสรรค์กัน ก่อนจะพาไปทำบุญในหอฉันและศาลาหลังเก่าบริเวณต้นตาลใหญ่ (พระอู๋ แสงสิน, 2549)


    ปัจจุบันหลังแม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางห่างจากท่าน้ำวัดเดิมไปกว่า 1 กิโลเมตร และมีการตัดถนนสายเอเชียในประมาณ พ.ศ. 2520 ทำให้หน้าวัดกลายเป็นหลังวัด ต้นบุนนาคหน้าวัดจึงเปลี่ยนสถานะมาอยู่หลังวัด พร้อม ๆ กับการสิ้นสุดเส้นทางสัญจรทางน้ำ และทางบกโบราณ เส้นเลียบน้ำน่าน บุ่งวังงิ้ว-พระฝาง ที่เคยใช้สัญจรกันมาตั้งแต่สมัยธนบุรี (พระมหาเทวประภาส, 2561: 25-27) เหลือเพียงเรื่องเล่าในความทรงจำของปู่ย่าตายาย และต้นบุนนาคโบราณที่ยังยืนต้นเป็นประจักษ์พยานความเก่าแก่ทรงคุณค่าของชุมชนและวัดคุ้งตะเภามาจนปัจจุบัน


    ต้นบุนนาคใหญ่ ถ่ายจากรถกูเกิ้ล เมื่อครั้งยังต้นใหญ่ใบดก
    ต้นบุนนาคใหญ่ ถ่ายจากรถกูเกิ้ล เมื่อครั้งยังต้นใหญ่ใบดก

    ** ต้นบุนนาคเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตร

    ** ต้นบุนนาคเป็นพันธุ์ไม้ในพุทธประวัติ

    ** ต้นบุนนาคปรากฏหลักฐานขนบการปลูกถวายวัดในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒๘๖ จารึกวัดบูรพาราม ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๓ ความว่า “รุกฺเขหิ สญฺฉนฺนํ พกุลมุพหริตกํ ปุนฺนาคํ นาคสุรภิ อสนวฏฺสาลกํ ปทุมปปลสมฺปนฺนํ”


    • ๗. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

    กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.

    ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1

    พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี. (2560). สารพันบันทึกเล่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา : ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น.  กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN: 978-616-543-452-2.

    • ๘. ผู้ให้ข้อมูล
    • (1) นางกิ่ง นิยมเดช อายุ 81 ปี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 7 มกราคม 2562
    • (2) พระอู๋ แสงสิน อายุ 70 ปี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2549
    • (3) พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ อายุ 56 ปี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 7 มกราคม 2562
    • (4) นายสมชาย เดือนเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จ.สุโขทัย เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 8 มกราคม 2562

    คณะเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนต้นบุนนาคใหญ่
    คณะเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนต้นบุนนาคใหญ่
    • ๑. ชื่อต้นไม้ บุนนาคใหญ่, บุนนาคคู่วัดคุ้งตะเภา, บุนนาคพระเจ้าตาก
    • ๒.   สถานที่  ริมแนวแม่น้ำน่านเก่า หน้าวัดคุ้งตะเภาโบราณ วัดคุ้งตะเภา หมู่ ๔ บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
    • ๓. พิกัดภูมิศาสตร์  17°39'13.7"N 100°08'21.8"E (ละติจูด 17 องศา 39 ลิปดา 13.7 ฟิลิปดา เหนือ ลองจิจูด 100 องศา 08  ลิปดา  21.8 ฟิลิปดา ตะวันออก) บนโฉนดที่ตั้งวัดคุ้งตะเภา (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๐๑๖ เล่ม ๕๑ หน้า ๑๖) ใกล้กับพิกัดโบราณสถาน วคภ 59/02 และ  วคภ 59/03


    • ๔. อายุ (อ้างอิงที่มา)        250 ปี โดยประมาณ (กิ่ง นิยมเดช, พระอู๋ แสงสิน, พระสมุห์สมชาย: สัมภาษณ์, Monton Jamroenprucksa, Ph.D.: ค่าคำนวณอายุ)

    • ๕. ขนาด    เส้นรอบวง (วัดจากพื้นดิน 1.30 เมตร).................360.....เซนติเมตร  ความสูง..........25-30.....เมตร  ทรงพุ่มกว้าง......8-10.....เมตร

    • ๙. การคำนวณอายุทางวิชาการ

    เนื่องจากการจะทราบอายุต้นไม้นั้น ปกติจะโค่นต้นและนับวงปี ซึ่งจะได้อายุชัดเจนที่สุด แต่เราไม่สามารถทำได้ จึงต้องใช้ทฤษฎีที่วัดจากค่าประมาณการ ดังนี้

    ต้นบุนนาคนั้นเป็นไม้เนื้อแข็ง และจัดเป็นไม้โตช้า (Slow) ที่มีอัตราความเจริญเติบโตทางเส้นรอบวง ปีละ 1.0 - 1.5 ซ.ม. ตามหลักเกณฑ์การจำแนกไม้ฯ Meijer (After Soerianegara) เมื่อนำมาคำนวนหาอายุโดยประมาณ เราสามารถนำขนาดเส้นรอบวงของต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภาในหน่วยเซนติเมตร ที่วัดตามหลักการคำนวนโดยวัดเส้นรอบวงสูงจากโคน 1.3 เมตร ได้ค่าเท่ากับ 360 เซนติเมตร ซึ่งสามารถคำนวณจำนวนปีของบุนนาควัดคุ้งตะเภาโดยการนำค่าประมาณตามหลักของ Monton คือหารด้วย 1.5 จากเส้นรอบวงที่วัดได้ ได้ค่าเท่ากับ 240 ปี ใกล้เคียงกับอายุของวัดที่นับจากปีตั้งวัดคุ้งตะเภาตามหลักฐานลายลักษณ์อักษรคือ ปี พ.ศ. 2313 และเมื่อนำมาคำนวนประมาณค่าปัจจัยการเติบโตที่อาจไม่เท่ากันในแต่ละปี ทำให้อาจเชื่อได้ว่าต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภาปลูกมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างวัด จึงพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ 

    ที่มา : Monton Jamroenprucksa, Ph.D. Associate Professor Department of Silviculture, Faculty of Forestry, Kasetsart University.

    หมายเลขบันทึก: 659460เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2019 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2019 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท