๘๗๗. กล้วยไม้มีดอกช้า...ฉันใด”


" ขณะที่ผักเป็นต้นอ่อน..ก็เหมือนเด็กอนุบาลฯ ต้องดูแลเป็นพิเศษ ใส่ใจพอๆกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องหมั่นรดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพที่นักเรียนทำกันเอง..ตอนนี้ก็เห็นผลแล้วว่า..กระบวนการสร้างอาหารในโรงเรียนของผม..มาถูกทาง ปลอดสารเคมี ไม่มียากำจัดศัตรูพืชอย่างแน่นอน.."

         แม้ว่า..อากาศจะเริ่มร้อนแล้ง น้ำในสระกำลังลดลงเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่แห้งขอด เพราะสระน้ำของโรงเรียนนั้นลึกมาก..

    นั่งมองสระอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ สายตาก็หันมาจับจ้องมองแปลงผัก ที่นักเรียนชั้นป.๖..กำลังขะมักเขม้นเก็บผักบุ้ง ที่มีอายุ ๒๑ วัน เข้าสู่เมนูของโรงอาหาร..วันนี้ขึ้นกระดานไว้ว่า..สุกี้รสเด็ด..

    ปีการศึกษานี้..กิจกรรมปลูกผักมีประสิทธิภาพมากกว่าทุกปี คือ มีความต่อเนื่องด้านผลผลิต..และมีความหลากหลายในประเภทของ “ผัก”

        ผมยกความดีความชอบให้เครื่อง “ปั๊มน้ำ”ที่ไม่ค่อยจะเกเร ยกความขยันขันแข็งและรับผิดชอบให้นักเรียน..และผมก็ชื่นชมตัวเองที่มุ่งมั่นตั้งใจในเรื่อง “เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง”

        ผมไม่มีความรู้ด้านการเกษตร..ต้องเรียนรู้ไปกับครูและนักเรียน ปีแล้วปีเล่าอย่างยาวนาน ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรค ก็เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนรักการทำงาน..ปลูกฝังให้ทานผักปลอดสารพิษ จึงต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำนำสู่โครงการอาหารกลางวัน...

        ทำให้ผมคิดถึง..บทร้อยกรองของ มล.ปิ่น มาลากุล..”กล้วยไม้มีดอกช้า...ฉันใด” ต้องอดทนและรอคอย..กว่าจะมีวันนี้..แม้อาจจะยังไม่ถึงกับกินดีอยู่ดี แต่ผมก็มีส่วนทำให้นักเรียนทานผักที่ไม่มีสารเคมีก็แล้วกัน..

        วันนี้..รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศอย่างเป็นทางการ เรื่อง..”กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งทุกระดับ..เป็นพื้นที่อาหารปลอดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” สรุปว่า..จะมุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์..ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน..นั่นเอง

        และผมก็เชื่อว่า..พรุ่งนี้คงมีหนังสือแจ้งตามมาให้โรงเรียนดำเนินการจัดกิจกรรมฯ ทำอะไรสักอย่าง..แล้วรายงาน.....

        ผมจึงพูดเสมอว่า..การศึกษาไทยจะวนไปวนมาแล้วกลับมาหาที่เดิม ซึ่งอาจไม่ต้องวิ่งตามเพราะยังไงก็ทัน..วันนี้หันมาพูดเรื่องปากท้องใกล้ตัว ซึ่งก็นับว่าดีที่เด็กไทยไม่ถูกวางยามากไปกว่านี้..

        เด็ก..ต้องการการเจริญเติบโต..อาหารมีส่วนไปช่วยหล่อเลี้ยงและบำรุงสมอง เพราะฉะนั้น..ประกาศของกระทรวงฯวันนี้ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ..วิถีการศึกษาไทย..ที่ผู้บริหารการศึกษาต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง...

        ผมจึงคิดว่า..ประกาศแบบนี้หรือจิตสำนึกดีๆของผู้ใหญ่บางคน..มาช้าดีกว่าไม่มา ประมาณนั้นเลย ไม่ใช่เพราะว่าผมไม่ต้องเหนื่อยที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการ เพราะทำอยู่แล้ว...

        แต่ผมมองว่า..นี่คืออนาคตเด็กอนาคตชาติ ก็อย่างที่บอก..”กล้วยไม้มีดอกช้า…ฉันใด การศึกษาเป็นไป…เช่นนั้น..ถ้าเด็กทานแต่อาหารที่มีสารพิษ การศึกษาก็ยิ่งจะไม่พัฒนาหรือพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น..

          ผมยังคงเน้นการปลูกผัก โดยใช้ดินจากปุ๋ยหมักใบไม้ ใช้มูลวัว มูลไก่ แกลบและฟาง ให้เวลากับการเตรียมดินและตากดินอยู่เสมอ..

          ขณะที่ผักเป็นต้นอ่อน..ก็เหมือนเด็กอนุบาลฯ ต้องดูแลเป็นพิเศษ ใส่ใจพอๆกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องหมั่นรดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพที่นักเรียนทำกันเอง..ตอนนี้ก็เห็นผลแล้วว่า..กระบวนการสร้างอาหารในโรงเรียนของผม..มาถูกทาง ปลอดสารเคมี ไม่มียากำจัดศัตรูพืชอย่างแน่นอน..

          วันนี้จึงอยากบอกว่า.”.แต่ดอกออกคราวไร…งามเด่น งานสั่งสอนปลูกปั้น….เสร็จแล้วแสนงาม..”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๓  มกราคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 659459เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2019 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2019 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับท่าน ผอ. อย่างยิ่งครับ …. ผมตกผลึกว่า ปัญหาของการศึกษา คือ การสอนให้เด็กอย่างรวย สอนให้เด็กหนีจากบ้านเพื่อเห็นแก่ตนเองหรือเห็นแก่พ่อแม่ที่เห็นแก่ตนเอง … แท้จริงแล้วแนวทางการศึกษา ร.๙ พระราชทานแนวดำเนินการไว้ชัดเจน คือ จงทำให้โรงเรียนเป็น สถาบันโพธิวิชชาลัย โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย … สอนให้เด็เห็นคุณค่าของไทยและ “พึ่งตนเอง” เกษตรอินทรีย์ปลอดภัยในโรงเรียน คือกระบวนการอันเป็นเครื่องมือ…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท